14 โรคต้องระวัง เมื่อต้องบินข้ามทวีป

14 โรคต้องระวัง เมื่อต้องบินข้ามทวีป

Highlight:

  • แม้ปัจจุบันเครื่องบินส่วนใหญ่มีระบบหมุนเวียนอากาศ ที่ถูกส่งผ่านแผ่นกรองอากาศแบบอนุภาคประสิทธิภาพสูง (HEPA) ชนิดเดียวกับที่ใช้ในห้องผ่าตัดของโรงพยาบาล แต่ด้วยปัจจัยอื่นๆ อาจส่งผลต่อโรคประจำตัวบางชนิดได้  
  • การศึกษาของ WHO พบว่าความเสี่ยงของภาวะลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำ เพิ่มขึ้น 2 ถึง 3 เท่า หลังจากโดยสารเที่ยวบินระยะไกลนานกว่า 4 ชั่วโมง     
  • คนท้องขึ้นเครื่องบินได้ไหม ? นอกจากผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวแล้ว  คุณแม่ตั้งครรภ์  ทารก และผู้ที่เพิ่งดำน้ำ ก็จัดอยู่ในบุคคลที่ต้องระวังในการโดยสารเครื่องบินเช่นกัน  

การเดินทางโดยเครื่องบินเป็นที่นิยมอย่างแพร่หลาย  ปัญหาเรื่องความเจ็บป่วยของผู้โดยสารก็เพิ่มจำนวนมากขึ้นเช่นกัน โดยเฉพาะเมื่อต้องบินระยะไกลข้ามทวีป 

แม้ปัจจุบันเครื่องบินส่วนใหญ่มีระบบหมุนเวียนอากาศ สามารถหมุนเวียนอากาศในห้องโดยสารได้ถึง 50%   มีการระบายอากาศประมาณ 20–30 ครั้งต่อชั่วโมง  โดยอากาศหมุนเวียนจะถูกส่งผ่านแผ่นกรองอากาศแบบอนุภาคประสิทธิภาพสูง (HEPA) ชนิดเดียวกับที่ใช้ในห้องผ่าตัดของโรงพยาบาล  เพื่อดักจับอนุภาคฝุ่น แบคทีเรีย เชื้อรา และไวรัส แต่ด้วยปัจจัยอื่นๆ อาจส่งผลต่อโรคประจำตัวบางประเภทได้  

14 โรค ที่ผู้ป่วยควรระวังเมื่อต้องเดินทางด้วยเครื่องบินเป็นเวลานาน

  1. โรคหัวใจ 
    ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจ (Coronary heart disease)  หรือโรคหัวใจล้มเหลว (Congestive heart failure) ควรตรวจร่างกาย โดยไม่มีอาการเจ็บหน้าอก หอบเหนื่อย หรือไม่มีหัวใจเต้นผิดปกติ อย่างน้อย 6 สัปดาห์ก่อนโดยสารเครื่องบิน  หากมีความจำเป็นสามารถเดินทางหลังมีอาการ 2-3 สัปดาห์  แต่ต้องอยู่ในความดูแลของแพทย์และต้องแจ้งสายการบิน เพื่อเตรียมเครื่องมือในกรณีจำเป็น
     
  2. ผ่าตัดบายพาสหลอดเลือดหัวใจ (Coronary artery bypass grafting)
    เนื่องจากการผ่าตัดอาจเกิดอากาศในโพรงช่องหน้าอก จึงควรรอให้อากาศถูกดูดซึมไปหมดก่อน หรือภายใน 2 สัปดาห์ภายหลังผ่าตัด  และควรเตรียมยาไว้ในกระเป๋าถือขึ้นเครื่อง ให้เพียงพอในการเดินทาง  ทั้งนี้ควรเขียนรายละอียดและวิธีใช้ยาแต่ละชนิดเก็บไว้เผื่อจำเป็นต้องซื้อใหม่ กรณียาสูญหาย
     
  3. โรคความดันโลหิตสูง (Hypertension)
    ผู้ที่เป็นโรคความดันโลหิตสูง สามารถขึ้นเครื่องบินได้ โดยควบคุมความดันโลหิตด้วยการรับประทานยา และควรเตรียมยาให้พร้อมและเพียงพอกับระยะเวลาเดินทาง
     
  4. โรคลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำ (Venous thrombosis)
    แบ่งเป็น 2 ประเภท คือ ภาวะลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำ (Deep Vein Thrombosis) มักเกิดขึ้นบริเวณขา และภาวะลิ่มเลือดอุดตันในปอด (Pulmonary Embolism) เกิดขึ้นเมื่อลิ่มเลือดที่อุดกั้นหลุดไปตามกระแสเลือดและไปอุดตันบริเวณหลอดเลือดดำในปอด ซึ่งผู้โดยสารเครื่องบินมักประสบปัญหา ภาวะลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำภายในกล้ามเนื้อน่อง การศึกษาของ WHO พบว่าความเสี่ยงของภาวะลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำ เพิ่มขึ้น 2 ถึง 3 เท่าหลังจากโดยสารเที่ยวบินระยะไกลนานกว่า 4 ชั่วโมง
     
  5. โรคหืด (Asthma)
    กรณีอาการรุนแรงไม่สามารถควบคุม หรือเพิ่งออกจากโรงพยาบาล  ควรงดการเดินทางด้วยเครื่องบิน  หากอาการไม่รุนแรงควรมียาติดตัวขึ้นเครื่องไปด้วยโดยเฉพาะยาชนิดพ่น
     
  6. โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง (Chronic obstructive pulmonary disease)
    ผู้ป่วยมักมีอาการเมื่ออยู่ในภาวะพร่องออกซิเจน  ดังนั้นจึงควรพกยาขยายหลอดลม และแจ้งให้เจ้าหน้าที่ทราบเพื่อเตรียมอุปกรณ์กรณีเกิดเหตุฉุกเฉิน
     
  7. โรคลมรั่วในช่องเยื่อหุ้มปอด (Pneumothorax) คือภาวะที่มีลมค้างในช่องเยื่อหุ้มปอด
    ส่งผลให้กระบวนการหายใจผิดปกติ หากมีความจำเป็นต้องเดินทางด้วยเครื่องบิน  ควรพบแพทย์เพื่อใส่ท่อระบายลมออกจากปอด หลังจากนั้นต้องรอให้ปอดขยายตัวเต็มที่อย่างน้อย 7 วัน โดยการเอกซเรย์ปอด หรือ คอมพิวเตอร์เอกซเรย์ ก่อนเดินทาง
     
  8. โรคติดเชื้อ (Infectious disease)
    สามารถแพร่เชื้อหรือติดต่อไปยังผู้อื่น ห้ามเดินทางโดยเครื่องบิน  เนื่องจากการแพร่เชื้ออาจเกิดขึ้นระหว่างผู้โดยสารที่นั่งอยู่ในพื้นที่เดียวกันของเครื่องบิน ซึ่งมักเกิดจากการไอหรือจามของบุคคลที่ติดเชื้อหรือโดยการสัมผัส  เพื่อลดความเสี่ยงในการแพร่เชื้อ ผู้ป่วยควรชะลอการเดินทางจนกว่าจะหายดี
     
  9. โรคหลอดเลือดสมอง (Cerebrovascular disease)
    ภาวะต่างๆ ที่ส่งผลต่อการส่งเลือดไปเลี้ยงสมอง ได้แก่  ภาวะสมองขาดเลือดชั่วขณะ (Transient ischemic attack) ภาวะเลือดออกในสมอง (Intracerebral hemorrhage) และภาวะหลอดเลือดตีบ อุดตัน หรือแตก (Stroke) ซึ่งส่งผลให้เซลล์สมองได้รับออกซิเจนน้อยลง เมื่อขึ้นเครื่องบินซึ่งมีภาวะพร่องออกซิเจน อาจส่งผลให้อาการกำเริบ ดังนั้นก่อนเดินทางควรพบแพทย์เพื่อปรึกษาและรับยา รวมถึงข้อควรปฏิบัติขณะอยู่บนเครื่องบิน โดยอาการต้องคงที่อย่างน้อย 2 สัปดาห์ก่อนเดินทาง
     
  10. โรคลมชัก (Epilepsy)
    โรคลมชัก มีโอกาสชักได้ง่ายขึ้นในภาวะพร่องออกซิเจน เหนื่อยล้าอ่อนเพลีย วิตกกังวล และการเปลี่ยนแปลงของเวลา ควรพบแพทย์เพื่อเตรียมยาหรืออาจเพิ่มขนาดของยา ขึ้นกับความสามารถในการควบคุมโรค และไม่ควรเดินทางหลังจากชักหมดสติ อย่างน้อย 1 สัปดาห์
     
  11. โรคโลหิตจาง (Anemia)
    ร่างกายมีปริมาณเม็ดเลือดแดงน้อยกว่าปกติ ทำให้นำออกซิเจนไปยังเซลล์และเนื้อเยื่อต่างๆ ได้น้อยลง  ซึ่งเสี่ยงอันตรายจากภาวะพร่องออกซิเจนบนเครื่องบิน กรณีมีความเข้มข้ของฮีโมโกลบินต่ำกว่า 10 กรัม/เดซิลิตร ควรระมัดระวังเป็นพิเศษ และไม่ควรขึ้นเครื่องบินหากค่าฮีโมโกลบินน้อยกว่า 7.5 กรัม/เดซิลิตร
     
  12. โรคเบาหวาน (Diabetes)
    แม้สภาพภายในห้องโดยสารเครื่องบินจะไม่ส่งผลอันตรายต่อผู้ป่วยเบาหวาน แต่การบินข้ามเวลา อาจทำให้ผู้ป่วยสับสนในการรับประทานอาหารและยา  รวมถึงประเภทของอาหารที่อาจส่งผลกระทบต่อโรค ผู้ป่วยควรติดต่อขอให้สายการบินจัดเตรียมอาหารสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน และนำยาติดตัวขึ้นเครื่องบิน ทั้งยารับประทาน และยาฉีด พร้อมอุปกรณ์ สำหรับการรับประทานยาให้ยึดเวลาต้นทาง แล้วค่อย ๆ ปรับเปลี่ยนให้เข้ากับเวลาใหม่
     
  13. โรคทางจิตเวช (Psychiatric disorders)
    ก่อนเดินทางด้วยเครื่องบินต้องได้รับคำรับรองจากแพทย์ผู้ทำการรักษาว่าอาการสงบ เพื่อความปลอดภัยของผู้ป่วยและผู้โดยสารอื่น ๆ  แพทย์อาจสั่งยาระงับประสาทหรือยานอนหลับ สำหรับใช้ระหว่างการเดินทาง
     
  14. ผู้ป่วยผ่าตัด
    การผ่าตัดหรือการบาดเจ็บที่อาจมีอากาศหรือก๊าซหลงเหลืออยู่  เช่น การผ่าตัดช่องท้องและทางเดินอาหาร การผ่าตัดกะโหลกศีรษะและใบหน้า รวมถึงการผ่าตัดตาที่เกี่ยวข้องกับลูกตา  ผู้ป่วยที่เพิ่งผ่านการผ่าตัด ควรปรึกษาแพทย์ผู้รักษา ว่าควรรอนานแค่ไหนก่อนที่จะเดินทางด้วยเครื่องบิน 

คนท้องขึ้นเครื่องบินได้ไหม

นอกจากโรคและความเจ็บป่วย คุณแม่ตั้งครรภ์ และทารก ก็จัดอยู่ในบุคคลต้องระวังในการโดยสารเครื่องบินเช่นกันโดยทารกอายุต่ำกว่า 48 ชั่วโมงไม่ได้รับอนุญาตให้โดยสารเครื่องบิน  อย่างไรก็ตามควรรอให้เด็กทารกมีอายุเกิน 1 สัปดาห์ เพื่อให้ร่างกายแข็งแรงและมีความต้านทานต่อโรคมากขึ้น  

สำหรับภาวะตั้งครรภ์ แม้การโดยสารทางด้วยเครื่องบินไม่เป็นอันตรายต่อการตั้งครรภ์และทารกในครรภ์ แต่ความเปลี่ยนแปลงทางสรีรวิทยาขณะเดินทาง อาจกระตุ้นให้เกิดการคลอดก่อนกำหนด  โดยเฉพาะอายุครรภ์เกินกว่า 36 สัปดาห์ หรือก่อนครบกำหนดคลอดในช่วง 4 สัปดาห์  ไม่ควรขึ้นเครื่องบิน ยกเว้นการเดินทางในประเทศประมาณ 1-2 ชั่วโมง และไม่มีอาการผิดปกติ หรือภาวะแทรกซ้อนจากการตั้งครรภ์ 

นักดำน้ำขึ้นเครื่องบินทันที เสี่ยงขาดออกซิเจน

ทั้งนี้ผู้ที่ดำน้ำลึก ไม่ควรโดยสารเครื่องบินอย่างน้อย 12 ชั่วโมงหลังจากการดำน้ำครั้งสุดท้าย และ 24 ชั่วโมงหลังจากการดำน้ำหลายครั้ง  เนื่องจากแรงดันอากาศในห้องโดยสารที่ระดับความสูงจะต่ำกว่าความกดอากาศที่ระดับน้ำทะเล เป็นผลให้ออกซิเจนในเลือดลดลง ส่งผลให้ขาดออกซิเจน รวมถึงผลกระทบจากความกดอากาศในห้องโดยสารที่ลดลง ทำให้ก๊าซภายในร่างกายขยายตัว  ทำให้ปวดหู ปวดไซนัส  แน่นหน้าอก หรือหมดสติ (Decompression sickness)

ปัจจัยที่อาจส่งผลต่อโรค หากขึ้นเครื่องบินเป็นเวลานาน

  1. ภาวะพร่องออกซิเจน (Hypoxia)
    เมื่ออยู่บนเครื่องบินความหนาแน่นของอากาศจะลดลง ทำให้ระดับออกซิเจนในเลือดต่ำกว่าปกติ เลือดไม่สามารถนำออกซิเจนไปเลี้ยงเนื้อเยื่อต่างๆ ในร่างกาย ส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการไอ ผิวหนังเปลี่ยนสี และระบบหายใจผิดปกติ  อย่างไรก็ตามเมื่อเครื่องบินบินสูง  30,000 ฟุต  จะมีการปรับความกดดันบรรยากาศในห้องผู้โดยสารให้อยู่ในระดับความสูงเท่ากับ 5,000-8,000 ฟุต  ซึ่งเป็นภาวะที่ออกซิเจนลดลงกว่าปกติประมาณ 15 % และไม่เป็นอันตรายต่อผู้ที่มีสุขภาพปกติ แต่ในผู้ป่วยบางโรค อาจส่งผลให้อาการกำเริบ เช่น โรคหัวใจ โรคหอบหืด โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง โรคโลหิตจาง และโรคลมชัก  เป็นต้น
     
  2. ความเปลี่ยนแปลงความกดดันบรรยากาศ (Effect of barometric pressure changes) 
    ขณะทำการบินสูงขึ้นไป ความกดดันบรรยากาศจะลดลง ทำให้ก๊าซขยายตัวขึ้น ในทางกลับกัน เมื่อบินต่ำลง ความกดบรรยากาศก็จะเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ก๊าซหดตัวลง ซึ่งการเปลี่ยนแปลงความกดบรรยากาศมีผลต่อร่างกายมนุษย์มากมาย จำแนกตามลักษณะของก๊าซในร่างกายได้ดังนี้ 
    • ก๊าซที่ขังอยู่ในร่างกาย (Trapped gas) อยู่ตามโพรงต่าง ๆ ของร่างกาย เช่น หูชั้นกลาง โพรงไซนัส กระเพาะอาหาร ลำไส้ ฟัน และปอด เมื่อมีความเปลี่ยนแปลงความกดดันบรรยากาศ  ก๊าซจะมีการขยายตัวและหดตัว ส่งผลให้เกิดอาการ เช่น ปวดหู ปวดไซนัส ปวดฟัน แน่นหน้าอก แน่นท้อง 
    • ก๊าซที่ละลายอยู่ในของเหลวของร่างกาย (Evolved gas) เช่น เลือด น้ำไขข้อ น้ำหล่อเลี้ยงสมอง ไขสันหลัง และไขมัน ก๊าซที่ละลายส่วนใหญ่คือไนโตรเจน ซึ่งจะคืนตัวกลับเป็นฟองก๊าซ เมื่อความกดบรรยากาศลดลง  ในขณะที่เครื่องบินบินสูงขึ้น ส่งผลให้เกิดอาการ อาการปวดข้อ เจ็บหน้าอก รวมถึงอาการทางระบบประสาท  
       
  3. ความชื้นของอากาศต่ำ (Low humidity) 
    ความชื้นในห้องโดยสารเครื่องบินจะน้อยกว่า 20%  ซึ่งความชื้นปกติบนพื้นดินมีมากกว่า 30% ความชื้นต่ำอาจทำให้ผิวหนังแห้งและไม่สบายตา ปาก และจมูก แต่ไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ควรใช้โลชั่นเพิ่มความชุ่มชื้นแก่ผิว และสเปรย์น้ำเกลือฉีดจมูก  การใส่แว่นสายตาแทนคอนแทคเลนส์สามารถบรรเทาหรือป้องกันความรู้สึกไม่สบายตาได้ ทั้งนี้ไม่มีหลักฐานแสดงว่าความชื้นต่ำทำให้เกิดภาวะขาดน้ำ  ดังนั้นจึงไม่จำเป็นต้องดื่มมากกว่าปกติ อย่างไรก็ตาม เนื่องจากคาเฟอีนและแอลกอฮอล์มีฤทธิ์ขับปัสสาวะ จึงควรจำกัดการบริโภคเครื่องดื่มดังกล่าวในระหว่างเที่ยวบินระยะไกล
     
  4. การเคลื่อนไหวร่างกายลดลง (Decreased mobility) 
    นั่งเครื่องบินนานๆ เท้าบวม เนื่องจากการต้องนั่งเป็นเวลานาน ทำให้เลือดบริเวณร่างกายส่วนล่างไหลเวียนไม่สะดวก เกิดอาการขาบวม เท้าบวม หรือหลอดเลือดดำโป่งพอง อุดตัน
     
  5. ภาวะเมาอากาศ (Air sickness) 
    เกิดจากการตอบสนองของร่างกายขณะเครื่องบินเคลื่อนไหวบนอากาศ ซึ่งอาการมากหรือน้อย ขึ้นกับบุคคลและความเคยชิน
     
  6. ภาวะเจ็ทแล็ก (Jet lag)
    เจ็ทแล็ก (Jet lag) เป็นกลุ่มอาการด้านสรีรวิทยา เนื่องจากระบบนาฬิกาชีวภาพของร่างกายเกิดการแปรปรวน   จากการเดินทางระยะไกล อาจทำให้อาหารไม่ย่อยและรบกวนการทำงานของลำไส้ ง่วงนอนในตอนกลางวัน นอนหลับยากในตอนกลางคืน และทำให้สมรรถภาพทางร่างกายและจิตใจลดลง อาการเจ็ทแล็กจะค่อยๆ ลดลงเมื่อร่างกายปรับตัวเข้ากับเวลาของสถานที่ใหม่

การเตรียมตัวก่อนขึ้นเครื่องบินระยะไกล

การเตรียมตัวก่อนขึ้นเครื่องบินเพื่อการเดินทางระยะไกลข้ามทวีปที่ราบรื่น และส่งผลเสียต่อสุขภาพน้อยที่สุด ผู้โดยสารควรเตรียมตัวก่อนเดินทาง ดังนี้

  • พักผ่อนให้เพียงพอ ก่อนวันเดินทาง  และหาโอกาสพักผ่อนระหว่างเที่ยวบินโดยการงีบสั้นๆ (น้อยกว่า 40 นาที) ก็ช่วยได้
  • ออกกำลังกายสม่ำเสมอ  
  • เลือกระยะเวลาการเดินทางที่เหมาะสม เช่น กรณีที่ใช้เวลาเดินทางนานกว่า 12 ชั่วโมง ควรเลือกใช้เที่ยวบินต่อ เพื่อให้ร่างกายค่อยๆ ปรับเวลา รวมถึงได้ออกไปยืดเส้นยืดสาย และผ่อนคลาย
  • เลือกเที่ยวบินที่สอดคล้องกับเวลานอน
  • เตรียมสิ่งของจำเป็นระหว่างเดินทางติดตัว โดยเฉพาะยารักษาโรคให้เพียงพอกับระยะเวลาบนเครื่องบิน
  • สวมเสื้อผ้าที่สบาย ไม่อึดอัด ขณะอยู่บนเครื่องบิน รวมถึงเตรียมชุดที่เหมาะกับสภาพอากาศปลายทาง
  • ตรวจเช็กสุขภาพอย่างสม่ำเสมอ  หากมีโรคประจำตัวควรพบแพทย์เพื่อปรึกษา เพื่อเตรียมร่างกาย ยา และข้อควรปฏิบัติกรณีอาการกำเริบ หรือมีเหตุฉุกเฉิน
  • องค์การอนามัยโลกแนะนำให้ลุกขึ้นเดินไปรอบๆ ห้องโดยสารหรือไปเข้าห้องน้ำทุกๆ 2-3 ชั่วโมง ในระหว่างเที่ยวบินยาวๆ เพื่อลดภาวะภาวะลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำที่ขา  รวมถึงแนะนำว่าไม่ควรวางกระเป๋าถือไว้ในที่ที่จำกัดการเคลื่อนไหวของขาและเท้า  
  • กรณีมีภาวะเมาอากาศ  ควรขอที่นั่งตรงกลางห้องโดยสารและเก็บกระเป๋าที่มีอุปกรณ์แก้เมา เช่น ยารับประทาน ยาดม ไว้ในที่ที่หยิบได้ง่าย หรือ เก็บไว้ในแต่ละที่นั่งซึ่งสามารถเข้าถึงได้ง่าย  
  • รับประทานอาหารว่างแต่น้อย และจำกัดการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ คาเฟอีน และหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารหนัก 4-6 ชั่วโมง ก่อนการนอนหลับบนเครื่องบิน
  • นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอภายใน 24 ชั่วโมงหลังจากถึงปลายทาง การนอนหลับอย่างน้อย 4 ชั่วโมง ถือเป็นสิ่งจำเป็น เพื่อให้นาฬิกาภายในของร่างกายปรับให้เข้ากับเขตเวลาใหม่  

การเตรียมตัวขึ้นเครื่องบินระยะไกลสำหรับผู้ป่วย

  • ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว ควรพบแพทย์ก่อนเดินทาง  และเตรียมยาประจำตัวพกพาในกระเป๋าที่ถือขึ้นเครื่องบิน กรณี  ใช้ข้อเทียม ใส่เครื่องกระตุ้นหัวใจ หรือต้องมีเครื่องมือแพทย์ขึ้นเครื่อง ต้องมีใบรับรองแพทย์ติดตัว
  • ผู้ป่วยที่ต้องใช้ยาตามตารางเวลาที่เข้มงวด เช่น อินซูลินหรือยาคุมกำเนิด ควรขอคำแนะนำจากแพทย์ ก่อนการเดินทาง
  • ผู้พิการที่ต้องได้รับความช่วยเหลือระหว่างอยู่บนเครื่องควรมีผู้ร่วมเดินทางด้วย และแจ้งต่อสายการบินล่วงหน้า
  • ผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาที่มีอาการคงที่ หรืออาจมีอาการทรุดลงระหว่างเดินทางต้องยื่นเอกสารขออนุมัติการเดินทางกับสายการบิน (MEDIF หรือ Medical Information Form) ก่อนจองที่นั่ง และควรระบุปริมาณออกซิเจนที่ต้องใช้บนเครื่องบิน รวมถึงหากต้องใช้อุปกรณ์ช่วยเหลืออื่นๆ   
  • เด็กแรกเกิดอายุต่ำกว่า 7 วัน และเด็กคลอดก่อนกำหนดต้องยื่น MEDIF เพื่อขออนุมัติการเดินทาง
  • สตรีมีครรภ์ที่ไม่มีปัญหาสุขภาพ  อายุครรภ์เกิน 28  สัปดาห์ต้องมีใบรับรองแพทย์บอกกำหนดการคลอด และรับรองความปลอดภัยในการเดิน และไม่ได้รับการอนุมัติให้ขึ้นเครื่องบินเมื่ออายุครรภ์เกิน 36 สัปดาห์ 

การเดินทางโดยเครื่องบิน มีปัจจัยหลายอย่างที่อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพผู้ป่วย หรือมีเงื่อนไขทางการแพทย์   อาจส่งผลต่อความปลอดภัยและความสะดวกสบายในการเดินทาง ดังนั้นผู้ป่วยโรคประจำตัว สตรีมีครรภ์ ทารกแรกเกิดและผู้ที่เพิ่งผ่านการดำน้ำมา ควรปรึกษาแพทย์เพื่อทำความเข้าใจและความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากการเดินทางด้วยเครื่องบิน  ทั้งนี้นโยบายของสายการบินแตกต่างกันไป ควรตรวจสอบข้อกำหนดเสมอ ก่อนทำการจองเที่ยวบิน รวมถึงหาวิธีที่จะทำให้การเดินทางปลอดภัยและสะดวกสบายสำหรับตนเอง ผู้โดยสารอื่นๆ และลูกเรือ

คะแนนบทความ

มีบัญชีผู้ใช้อยู่แล้ว?