ลูกหัวโน เด็กศีรษะกระแทก อย่าชะล่าใจ วิธีสังเกตอาการอย่างใกล้ชิด

ลูกหัวโน เด็กศีรษะกระแทก อย่าชะล่าใจ วิธีสังเกตอาการอย่างใกล้ชิด

ลูกล้มหัวฟาดพื้น เด็กเกิดอุบัติเหตุศีรษะกระแทก อาจเกิดขึ้นได้ทั้งในเวลาที่เด็กๆ อยู่ในสายตาผู้ใหญ่และเวลาที่ไม่มีใครเห็น ทําให้เป็นการยากที่ผู้ปกครองจะบอกความรุนแรงของการบาดเจ็บได้ โดยส่วนใหญ่การบาดเจ็บมักไม่รุนแรง อาจพบแค่ รอยเขียวช้ำเล็กๆ น้อยๆ แต่บางครั้งการบาดเจ็บก็รุนแรงอาจถึงแก่ชีวิตได้ ดังนั้นหากเด็กๆ มีอุบัติเหตุที่ศีรษะผู้ปกครองควรพามาพบแพทย์

ควรพาเด็กไปโรงพยาบาลทันที หรือโทร 1669 เมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินดังนี้

  • เด็กประสบอุบัติเหตุค่อนข้างรุนแรง เช่น ตกจากที่สูง หรือประสบอุบัติเหตุจราจร
  • หลังเกิดเหตุเด็กสลบ (หมดสติ) ปลุกไม่ตื่น หรือมีอาการชัก
  • เด็กมีอาการป่วยมากหลังจากประสบเหตุ เช่น ซึมมาก ลูกอาเจียนมากกว่า 5 ครั้ง หรือมีอาการทางระบบประสาท เช่น ตามัว พูดไม่ชัด หน้าเบี้ยว หรือแขนขาอ่อนแรง
  • หากเด็กมีอาการรุนแรง หรือแย่ลงอย่างรวดเร็ว โทร 1669 หรือ ไปโรงพยาบาลใกล้บ้านทันที
  • หรือโทร 0 2022 2222 โรงพยาบาลเด็กสมิติเวช เพื่อเรียกรถพยาบาลฉุกเฉิน ตลอด 24 ชม.

โรงพยาบาลเด็กสมิติเวช มีบริการรับส่งผู้ป่วยเด็กวิกฤติด้วยรถพยาบาลฉุกเฉิน Super Bear ตลอด 24 ชม. และทีมเคลื่อนย้ายทางอากาศที่ผ่านการฝึกอบรมจากประเทศสหรัฐอเมริกา


อาการบาดเจ็บที่ศีรษะ “Concussion Syndrome” เมื่อศีรษะกระแทก คืออะไร

Concussion Syndrome คือกลุ่มอาการของสมองที่ถูกกระทบกระเทือน ซึ่งทําให้เกิดการทํางานผิดปกติ โดยทั่วไปอาการเหล่านี้จะเป็นแค่ชั่วคราว และส่วนใหญ่จะหายเป็นปกติภายใน 6 สัปดาห์ แต่ถ้ามีอาการ ยาวนานกว่านั้นจะต้องกลับมาพบแพทย์

ลูกล้มหัวฟาดพื้น ควรสังเกตอาการ Concussion Syndrome เพราะสมองอาจได้รับการกระทบกระเทือน

กลุ่มอาการนี้ประกอบด้วย

  • อารมณ์เปลี่ยนแปลง สับสน หงุดหงิดง่าย งอแง หรือเรียกร้องมากผิดปกติ
  • ไม่เป็นตัวของตัวเอง ไม่สามารถทนต่อสิ่งเร้าต่างๆได้ เช่น ที่ที่มีคนพลุกพล่าน หรือเสียงดัง
  • นอนหลับไม่สนิท มีผวาตื่น หรือฝันร้าย
  • มีปัญหาเกี่ยวกับความจํา การเรียน คิดช้าทําช้าและไม่มีสมาธิ
  • ปวดศีรษะไม่รุนแรง นอนพักหรือกินยาพาราเซตามอลก็หายได้เอง
  • การมองเห็นไม่เป็นปกติ พูดไม่ชัดหรือติดขัดในการคิดคําพูด
  • อาเจียนเล็กน้อย เช่น 1-2 ครั้งต่อวัน มักเป็นเวลาเหนื่อย หรือปวดศีรษะ

ผู้ป่วยเด็กได้รับบาดเจ็บที่ศีรษะ อาจมีอาการ Cognitive Fatigue ตามมา

Cognitive Fatigue คืออาการที่เกิดตามหลังการบาดเจ็บทางศีรษะ เกิดจากสมองยังไม่กลับสู่ภาวะปกติ ทําให้ต้องทํางานหนักมาก เพื่อที่จะสามารถทําหน้าที่ได้ตามปกติ ทําให้เกิดความเหนื่อยล้า อย่างรวดเร็วและไม่สามารถใช้ชีวิตประจําวันได้อย่างที่เคยทํา หรือมีปัญหากับการทํากิจกรรมหลายอย่าง เช่น การเรียนหนังสือ การเล่นเกมคอมพิวเตอร์ หรือดูทีวี การพบปะพูดคุยเป็นเวลานาน ปัญหานี้ถ้าได้รับการพักผ่อนที่เพียงพอก็สามารถหายเองได้ มีส่วนน้อย ที่ต้องกลับมารับการรักษาในภายหลัง

อาการที่ควรพาเด็กกลับมาโรงพยาบาลอีกครั้ง หลังเฝ้าระวังอาการ 72 ชั่วโมง

หากเด็กๆ มาพบแพทย์และได้รับอนุญาตให้กลับบ้าน ผู้ปกครองยังคงต้องสังเกตอาการของลูกต่อที่บ้านอย่างใกล้ชิด ตามระยะเวลาที่แพทย์แนะนํา ซึ่งส่วนใหญ่จะไม่เกิน 72 ชม. หลังประสบเหตุ แต่หากเด็กๆ แย่ลง หรือมีอาการดังต่อไปนี้ ควรพากลับมาโรงพยาบาลทันที

  • ปวดศีรษะมากขึ้นมาก
  • ซึมลง ปลุกตื่นยาก
  • อาเจียนมากขึ้น หรืออาเจียนติดกันมากกว่า 5 ครั้ง
  • มีอาการชัก
  • ตามัว หรือมองเห็นภาพซ้อน
  • เดินเซ แขนขาอ่อนแรง เดินชนข้าวของหรือซุ่มซ่ามผิดปกติ
  • อารมณ์เปลี่ยนแปลง ก้าวร้าว หรือเศร้าสับสน ไม่เป็นตัวของตัวเอง
  • ไม่สามารถทนต่อสิ่งเร้าต่างๆ ได้ เช่น ที่มีคนพลุกพล่าน หรือเสียงดัง
  • มีปัญหาเกี่ยวกับความจํา การเรียน และไม่มีสมาธิ
  • มีอาการของ Cognitive fatigue ที่รุนแรงจนไม่สามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ โดยอาการ Cognitive fatigue คืออาการที่เกิดตามหลังการบาดเจ็บทางศีรษะ เกิดจากสมองยังไม่กลับสู่ภาวะปกติ

เมื่อไหร่ที่ควรให้เด็กๆ กลับไปเรียนหรือเล่นกีฬา

การรักษาที่ดีที่สุดของการบาดเจ็บที่ศีรษะ คือการพักผ่อนให้เพียงพอ แนะนําให้

  • งดไปเรียนจนกว่าอาการจะดีขึ้น แพทย์มักแนะนําให้พักไม่เกิน 1-2 สัปดาห์ การกลับไปเรียนในช่วงแรกแนะนําให้ไปแค่ครึ่งวันก่อน ขอให้คุณครูสังเกตอาการ หากเด็กไม่ไหวแนะนําให้พักที่ห้องพยาบาล หรือรับกลับมาพักที่บ้าน หากไม่มีปัญหาก็สามารถกลับไปเรียน เต็มวันได้ แต่ให้งดคาบพละหรือกิจกรรมกลางแจ้งไปจนกว่าจะครบ 6 สัปดาห์
  • งดเล่นกีฬาที่มีการปะทะหรือทํากิจกรรมที่มีความเสี่ยงที่จะบาดเจ็บซ้ำ เช่น ปีนป่ายที่สูง การเล่นแทรมโพลีน ขี่จักรยาน หรือจักรยานยนต์ หรือการทิ้งเด็กไว้ลําพังบนที่สูง เป็นต้น โดยงดเป็นเวลาอย่างน้อย 6 สัปดาห์ หากเด็กสบายดีหรือกลับเป็นปกติได้เร็วอาจให้ ออกกําลังกายเบาๆที่ไม่มีการปะทะ เช่น วิ่งเหยาะๆ เดินเล่นในสวน เต้นรํา ได้ตั้งแต่ 4 สัปดาห์หลังการบาดเจ็บ
  • การทํากิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับความเร็ว เช่น ขี่จักรยาน ซ้อนมอเตอร์ไซด์ เซิร์ฟสเก็ต ควรใส่หมวกกันน็อค หรือเครื่องป้องกัน ที่เหมาะสมทุกครั้ง
  • การใช้หรือเล่นอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ควรจํากัดเวลาไม่เกิน 30 นาทีต่อครั้ง และไม่เกิน 2 ชม.ต่อวัน เพื่อช่วยพักสมองประมาณ 1-2 สัปดาห์หลังจากอุบัติเหตุ
  • กิจกรรมที่แนะนําช่วงพักฟื้นคือ อ่านหนังสือ ฟังเพลงบรรเลงเบาๆ และนอนหลับให้เพียงพอ
  • หากเด็กมีนัดให้กลับมาพบแพทย์ ถึงแม้ว่าเด็กหายดีแล้ว ก็ควรมาตามนัด

โรงพยาบาลเด็กสมิติเวช #SavingYoungLives

คะแนนบทความ

มีบัญชีผู้ใช้อยู่แล้ว?