การส่องกล้องทางเดินอาหาร ตรวจง่าย ปลอดภัย ไม่น่ากลัว

การส่องกล้องทางเดินอาหาร ตรวจง่าย ปลอดภัย ไม่น่ากลัว

Highlights:

  • การส่องกล้องระบบทางเดินอาหาร เหมาะสำหรับผู้ที่มีอายุ 45 ปีขึ้นไป หรือผู้ที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไปที่ครอบครัวมีประวัติการป่วยหรือเสียชีวิตจากการเป็นมะเร็งกระเพาะอาหาร มะเร็งลำไส้ใหญ่หรือมะเร็งที่เกี่ยวข้องกับระบบทางเดินอาหาร
  • วิธีส่องกล้องทางเดินอาหาร ทำได้ 2 วิธี คือ การพ่นยาชาเฉพาะที่ที่คอ และ การฉีดยาสลบ โดยทั้งสองวิธีจะอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญอย่างใกล้ชิด
  • การส่องกล้องระบบทางเดินอาหารส่วนบนใช้เวลาประมาณ 20–30 นาที และการส่องกล้องระบบทางเดินอาหารส่วนล่างใช้เวลาประมาณ 30–45 นาที และควรเตรียมตัวก่อนเข้าทำหัตถการตามคำแนะนำของแพทย์

การส่องกล้องระบบทางเดินอาหาร คืออะไร

การส่องกล้องระบบทางเดินอาหาร คือ อีกหนึ่งกระบวนการวินิจฉัยและให้การรักษาโรคระบบทางเดินอาหาร โดยใช้กล้องที่มีสายยาวสอดเข้าไปทางปากหรือทวารหนัก แบ่งเป็น

  1. การส่องกล้องทางเดินอาหารส่วนบน (Gastroscopy) เพื่อตรวจดูหลอดอาหาร กระเพาะอาหาร และลำไส้เล็กส่วนต้น ใช้เวลาตรวจประมาณ 20-30 นาที 
  2. การส่องกล้องทางเดินอาหารส่วนล่าง (Colonoscopy) เพื่อตรวจดูลำไส้เล็กส่วนปลาย ลำไส้ใหญ่และทวารหนัก ใช้เวลาตรวจประมาณ 30-45 นาที 

นอกจากนี้ยังมีการส่องกล้องด้วยวิธีกลืนแคปซูลทางปากสำหรับตรวจวินิจฉัยบริเวณลำไส้เล็กส่วนกลาง โดยปกติใช้เวลาตรวจประมาณ 8-12 ชั่วโมง
 

วิธีการส่องกล้องระบบทางเดินอาหาร สามารถทำได้ 2 วิธี

  1. การพ่นยาชาเฉพาะที่ที่คอ วิธีนี้หลังจากตรวจเสร็จ ผู้ป่วยสามารถกลับบ้านได้ทันที
  2. การฉีดยาสลบ จะต้องรอประมาณ 2 ชั่วโมง ให้ผู้ป่วยฟื้นตัวได้ดีจากฤทธิ์ยา จึงจะกลับบ้านได้ แต่ทั้งนี้ผู้เข้ารับบริการ ไม่ควรขับรถกลับบ้านเองหลังจากทำการส่องกล้อง เพราะยาระงับความรู้สึกหรือยาชาเฉพาะจุดที่ได้รับระหว่างการตรวจส่องกล้องอาจมีผลให้อ่อนเพลีย ง่วงนอน หรือมึนงงหลังการตรวจ จึงควรพักผ่อนมากๆ และมีญาติรับกลับบ้าน

อาการที่ควรเข้ารับการตรวจระบบทางเดินอาหาร

  • ผู้ที่อายุ 45 ปีขึ้นไป หรือผู้ที่มีอายุมากกว่า 40 ปีที่มีประวัติครอบครัวเป็นมะเร็งกระเพาะอาหารและมะเร็งลำไส้ใหญ่ หรือติ่งเนื้อลำไส้ใหญ่
  • มีอาการปวดท้องร่วมกับมีภาวะเลือดจาง อาจมีความเสี่ยงเรื่องแผลเรื้อรังในกระเพาะอาหารหรือมีก้อนเนื้อที่ทำให้เกิดภาวะเลือดออกในกระเพาะอาหาร
  • มีอาการปวดท้องร่วมกับน้ำหนักลดลงอย่างรวดเร็ว ทั้งที่ไม่ได้อดหรือลดอาหาร
  • มีอาการกลืนลำบาก กลืนแล้วเจ็บ ซึ่งเป็นการบ่งบอกถึงความผิดปกติของหลอดอาหาร
  • มีอาการปวดท้องเรื้อรัง ท้องอืดหรืออาเจียนบ่อย หรืออาเจียนเป็นเลือด
  • ท้องเสียสลับท้องผูก ถ่ายอุจจาระเป็นเลือดหรือถ่ายอุจจาระเป็นสีดำ โดยที่ไม่ได้รับประทานยาที่ส่งผลต่อสีของอุจจาระในช่วงนั้น

ขั้นตอนการส่องกล้องระบบทางเดินอาหาร

  1. หลังจากผู้ป่วยชาบริเวณคอเต็มที่ หรือหลับสนิทแล้ว แพทย์จะนำกล้องซึ่งเป็นสายยางขนาดเล็ก ใส่ผ่านปากลงไป โดยที่ปลายกล้องจะมีหลอดไฟเพื่อให้เห็นภาพภายในระหว่างการตรวจ
  2. แพทย์จะให้ผู้รับการตรวจนอนตะแคงด้านซ้าย แล้วใส่กล้องส่องเข้าทางปาก ให้ผู้ป่วยทำตัวผ่อนคลาย ไม่เกร็ง ซึ่งจะทำให้การส่องกล้องง่ายขึ้น โดยแพทย์จะตรวจดูตั้งแต่ในคอ หลอดอาหาร กระเพาะอาหาร จนถึงลำไส้เล็กส่วนต้น หากเจอรอยโรคหรือความผิดปกติ แพทย์จะสามารถนำชิ้นเนื้อส่วนนั้นๆ ออกมาตรวจได้ทันที
  3. กรณีพบติ่งเนื้อขนาดเล็ก แพทย์จะมีเครื่องมือในการตัดติ่งเนื้อออกเพื่อทำการตรวจ และรักษาต่อไปได้ในเวลาเดียวกัน โดยจะใช้เวลาเพิ่มเติมไม่เกิน 2-3 นาที การตัดติ่งเนื้อนี้ไม่ทำให้ผู้ป่วยรู้สึกเจ็บเพิ่มเติมแต่อย่างใด

การส่องกล้องระบบทางเดินอาหารส่วนบน (Gastroscopy, EGD)

การตรวจระบบทางเดินอาหารส่วนบนโดยการส่องกล้อง (Gastroscopy, EGD) หรือการส่องกล้องกระเพาะอาหาร เป็นการตรวจเพื่อให้แพทย์สามารถเห็นสาเหตุที่ทำให้เกิดรอยโรคได้ชัดเจนผ่านกล้อง ซึ่งเป็นวิธีการตรวจวินิจฉัยโรคบริเวณหลอดอาหาร กระเพาะอาหารและลำไส้เล็กส่วนต้น เพื่อหาสาเหตุความผิดปกติของทางเดินอาหารส่วนบน โดยใช้เวลาในการตรวจประมาณ 20–30 นาที

โดยผู้ป่วยจำเป็นต้องงดน้ำ งดอาหาร 6-8 ชั่วโมง และในกรณีที่ผู้ป่วยสวมใส่ฟันปลอมให้ถอดออกหรือถ้าพบว่ามีฟันซี่ใดโยกหรือผิดปกติควรแจ้งแพทย์ให้ทราบ

การส่องกล้องตรวจท่อทางเดินน้ำดีและตับอ่อน (ERCP) เป็นการตรวจรักษาโดยการกล้องส่องเข้าไปทางปากผ่านหลอดอาหาร กระเพาะอาหาร และลำไส้เล็กส่วนต้น จนถึงท่อเปิดของน้ำดีในลำไส้เล็ก ใช้ในการตรวจหาความผิดปกติของท่อทางเดินน้ำดีและตับอ่อน เช่น ภาวะดีซ่าน นิ่วในท่อทางเดินน้ำดี ท่อทางเดินน้ำดีอุดตัน ท่อตับอ่อนอุดตัน เนื้องอกท่อทางเดินน้ำดี หรือตับอ่อนอักเสบจากนิ่วในท่อทางเดินน้ำดี

โดยผู้ป่วยจำเป็นต้องงดน้ำและอาหารก่อนตรวจอย่างน้อย 6-8 ชั่วโมง และงดยาละลายลิ่มเลือดอย่างน้อย 7 วัน

การส่องกล้องระบบทางเดินอาหารส่วนล่าง (Colonoscopy)

การตรวจระบบทางเดินอาหารส่วนล่างโดยการส่องกล้อง (Colonoscopy) เป็นการใช้กล้องชนิดอ่อนใส่ผ่านเข้าทางทวารหนักขึ้นไป เพื่อเป็นการตรวจความผิดปกติของลำไส้ใหญ่ทั้งหมด อาจรวมถึงการตรวจลำไส้เล็กส่วนปลาย และช่วยในการเก็บตัวอย่างชิ้นเนื้อส่งตรวจเพื่อทำการวินิจฉัยต่อ โดยใช้เวลาในการตรวจประมาณ 30 - 45 นาที

โดยผู้ป่วยจำเป็นต้องงดน้ำและอาหารก่อนตรวจอย่างน้อย 8 ชั่วโมง หรือรับประทานยาระบายก่อนตรวจเพื่อเคลียร์ลำไส้ให้สะอาดหรือตามดุลพินิจของแพทย์ผู้ทำการตรวจ

หลังส่องกล้องระบบทางเดินอาหาร ควรปฏิบัติตัวอย่างไร

สำหรับผู้ป่วยที่ใช้ยาชาเฉพาะที่ ควรรอให้ยาชาหมดฤทธิ์ประมาณ 15-30 นาที จึงค่อยเริ่มจิบน้ำ หากไม่รู้สึกชาในคอหรือกลืนลำบากแล้ว จึงสามารถเริ่มรับประทานอาหารอ่อนได้

ในกรณีที่ใช้ยานอนหลับ ยาอาจมีฤทธิ์จนถึงช่วง 5-15 นาที หลังแพทย์ส่องกล้องเสร็จ ผู้ป่วยควรนอนพักจนร่างกายตื่นเต็มที่ จากนั้นจึงค่อยไปพบแพทย์เพื่อฟังผลตรวจ

ผลข้างเคียงหลังการส่องกล้องระบบทางเดินอาหาร

  1. หลังจากตรวจอาจมีอาการระคายเคืองบริเวณลำคอ
  2. อาจมีอาการปวดบริเวณหน้าอก ท้อง หรือหายใจไม่คล่องเหมือนก่อนทำหัตถการ
  3. หากมีการเก็บตัวอย่างชิ้นเนื้อจะสังเกตน้ำลายที่บ้วนออกมาอาจมีเลือดปนเล็กน้อย

จะเห็นได้ว่าการส่องกล้องระบบทางเดินอาหารไม่น่ากลัว อีกทั้งยังรวดเร็ว ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพในการระบุหรือวินิจฉัยอาการผิดปกติที่ท่านกำลังเผชิญอยู่ และหากท่านเป็นคนหนึ่งที่มีอาการดังกล่าว หรือครอบครัวมีประวัติเจ็บป่วยจากอาการข้างต้น แนะนำให้มาพบแพทย์เฉพาะทางเพื่อตรวจตั้งแต่เนินๆ เพื่อที่จะได้ดูแลตัวเองหรือทำการรักษาได้ทันท่วงที

คะแนนบทความ

มีบัญชีผู้ใช้อยู่แล้ว?