ตากระตุก เสียงจากร่างกายที่ไม่ใช่แค่เรื่องของโชคลาง

ตากระตุก เสียงจากร่างกายที่ไม่ใช่แค่เรื่องของโชคลาง

HIGHLIGHTS:

  • ตากระตุก (Eye Twitching) คือ อาการที่เปลือกตามีการขยับเคลื่อนไหวอย่างรวดเร็ว อาจเป็นเพียงเล็กน้อย หรืออาจเกิดขึ้นถี่ๆ จนทำให้เกิดความรำคาญได้ มักเป็นอาการที่ไม่รุนแรง สามารถเกิดขึ้น และหายได้เองในเวลาอันสั้น ในบางกรณีอาจเป็นสัญญาณเตือนถึงโรคร้ายบางชนิดได้เช่นกัน
  • ปัจจัยกระตุ้นให้เกิดอาการตากระตุก เช่น นอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพอ ความเครียด การดื่มชา/กาแฟหรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไป การสูบบุหรี่มากเกินไป แสงสว่างจ้า ลม มลพิษทางอากาศ หรือโรคภูมิแพ้
  • สามารถดูแลตัวเองง่ายๆ ด้วยการลด/หลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงที่กระตุ้นให้เกิดอาการ แต่หากอาการยังไม่ดีขึ้น ควรรีบพบแพทย์โดยเร็วที่สุด เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยและการรักษาที่เหมาะสมต่อไป

เชื่อว่าหลายคนคงเคยเป็นหรือเคยได้ยินเกี่ยวกับอาการตากระตุก หรือตาเขม่นกันมาไม่มากก็น้อย บางคนก็นำไปเชื่อมต่อกับเรื่องดวงหรือโชคลางเสียด้วยซ้ำ อย่างที่เคยได้ยินประโยคที่ว่า "ขวาร้ายซ้ายดี"

ตากระตุก คืออะไร

ตากระตุก (Eye Twitching) คือ อาการที่เปลือกตามีการขยับเคลื่อนไหวอย่างรวดเร็ว อาจเป็นเพียงเล็กน้อย หรืออาจเกิดขึ้นถี่ๆ จนทำให้เกิดความรำคาญได้ เป็นอาการที่เกิดขึ้นได้บ่อยๆ สามารถเกิดขึ้นได้ทั้งเปลือกตาบนและเปลือกตาล่าง แต่มีอัตราการเกิดที่เปลือกตาบนมากกว่า โดยทั่วไปอาการตากระตุกนั้นมักเป็นอาการที่ไม่รุนแรง ไม่ก่อให้เกิดความเจ็บปวดและมักไม่เป็นอันตราย สามารถเกิดขึ้นและหายได้เองในเวลาอันสั้น แต่ในบางกรณีอาการอาจรุนแรงและไม่สามารถหายเองได้ เช่น อาการตากระตุกเกร็งจนทำให้เปลือกตาด้านบนปิดลงมา หรืออาจเป็นสัญญาณเตือนของโรคร้ายแรงบางอย่าง เช่น โรคอัมพาตใบหน้า (Bell’s Palsy)  โรคกล้ามเนื้อบิดเกร็ง (Dystonia) เป็นต้น แต่กรณีนี้พบได้น้อยมาก

ตากระตุก เกิดจากอะไร

อาการตากระตุกสามารถเกิดขึ้นได้เองโดยไม่มีสัญญาณเตือนให้เรารู้ล่วงหน้า โดยมักเกิดขึ้นจากปัจจัยที่กระตุ้นให้เกิดอาการ ดังนี้

  1. นอนหลับไม่เป็นเวลา พักผ่อนไม่เพียงพอ
  2. มีความเครียดสะสมเป็นเวลานาน
  3. ดื่มกาแฟหรือเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนมากเกินไป
  4. สูบบุหรี่ หรือดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไป
  5. แสงสว่าง แสงจ้า
  6. ลม หรือมลพิษทางอากาศ
  7. ตาล้า ตาแห้ง
  8. เกิดการระคายเคืองที่เปลือกตาด้านใน  โรคภูมิแพ้
  9. การขาดวิตามิน แร่ธาตุ และสารอาหารบางชนิด
  10. ผลข้างเคียงจากยาบางชนิด

การดูแลตัวเองเบื้องต้นเมื่อมีอาการ ตากระตุก

  1. นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ
  2. พยายามลดการใช้ Smart phone หรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ลง
  3. ลด/หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน เช่น ชา กาแฟ
  4. งดการสูบบุหรี่ รวมถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
  5. พยายามหาสิ่งที่ช่วยให้ผ่อนคลาย ไม่เครียดกับอาการที่เป็น
  6. นวดกล้ามเนื้อรอบดวงตา
  7. ประคบร้อน/อุ่นบริเวณดวงตา ประมาณ 10 นาที
  8. หากเกิดอาการตาแห้ง หรือเกิดอาการระคายเคืองตา สามารถหยอดน้ำตาเทียมได้

เมื่อไหร่ที่ควรพบแพทย์

ตาขวากระตุกอาจไม่ได้หมายถึงโชคร้าย โดยทั่วไปแล้ว อาการตากระตุกมักจะเป็นเพียงไม่กี่วันและสามารถหายเองได้ แต่หากมีอาการดังต่อไปนี้ ควรรีบมาพบแพทย์โดยเร็วที่สุด เพื่อรับการวินิจฉัยและรักษาที่เหมาะสม

  • มีอาการตากระตุกติดต่อกันนานเป็นเวลา 2 สัปดาห์ หรือมากกว่านั้น
  • มีตำแหน่งที่เกิดตากระตุกเพิ่มขึ้นจากบริเวณเดิม อาจเป็นที่ตาอีกข้างหนึ่ง เช่น ตาขวากระตุก แล้วตาซ้ายกระตุก หรือเป็นที่บริเวณอื่นๆ ของใบหน้า
  • บริเวณที่เกิดตากระตุกมีอาการอ่อนแรงหรือหดเกร็ง
  • มีอาการบวม แดง หรือมีสารคัดหลั่งไหลออกมาจากดวงตา
  • เปลือกตาด้านบนห้อยย้อยลงมา รบกวนการมองเห็น
  • เปลือกตาปิดสนิททุกครั้งที่เกิดอาการตากระตุก

การรักษาอาการตากระตุก

หากมีอาการดังกล่าวข้างต้น และดูแลตัวเองเบื้องต้นแล้วอาการไม่ดีขึ้น ควรรีบพบแพทย์เพื่อรับการรักษาที่เหมาะสมกับอาการ ซึ่งการรักษานั้นจะเป็นไปตามความรุนแรงและดุลยพินิจของแพทย์ ดังนี้

  1. การให้ยารับประทาน ตามคำแนะนำของแพทย์ เพื่อช่วยบรรเทาอาการและหยุดอาการตากระตุกชั่วคราว เช่น ยาลอราซีแพม (Lorazepam) ยาไตรเฮกซีเฟนิดิล (Trihexyphenidyl) และยาโคลนาซีแพม (Clonazepam) แต่เนื่องด้วยยาเหล่านี้ยังมีผลข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์ จึงต้องใช้ภายใต้คำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด
  2. การฉีด Botulinum Toxin หรือ Botox  การฉีดโบท็อกซ์นั้นได้ผ่านการรับรองให้ใช้รักษาอาการกล้ามเนื้อหดเกร็งที่ควบคุมไม่ได้ ปัจจุบันเป็นวิธีที่นิยมและแนะนำมากที่สุดที่ใช้ในการรักษาอาการตากระตุก แพทย์จะฉีดยาโบท็อกซ์ลงไปบริเวณกล้ามเนื้อรอบดวงตาที่มีอาการกระตุก เพื่อให้กล้ามเนื้อเหล่านั้นอยู่ในสภาพอ่อนแรงชั่วคราว ไม่สามารถหดเกร็งตัวได้ เปรียบเสมือนการผ่อนคลายกล้ามเนื้อเปลือกตามัดนั้นๆ และช่วยบล็อคไม่ให้เส้นประสาทส่งสัญญาณไปที่กล้ามเนื้อให้เกิดการกระตุกนั่นเอง
    หลังจากฉีดโบท็อกซ์แล้วอาการตากระตุกจะลดลงอย่างเห็นได้ชัด อย่างไรก็ตาม ผลของโบท็อกซ์นั้นจะอยู่เพียงแค่ 3-6 เดือนเท่านั้น เพราะฉะนั้น เมื่อยาหมดฤทธิ์แล้วอาการตากระตุกอาจจะกลับมาได้ จึงแนะนำให้กลับไปพบแพทย์อีกครั้งหากยังมีอาการ

จะเห็นได้ว่า อาการตากระตุกนั้น แม้เป็นอาการที่ไม่อันตราย และส่วนใหญ่มักจะเกิดขึ้นและหายไปเองอย่างรวดเร็ว แต่ก็สร้างความรำคาญให้ผู้ที่เป็นได้พอสมควร ดังนั้น เพื่อลดความเสี่ยงการเกิดอาการตากระตุกที่อาจเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ จึงควรดูแลตัวเองด้วยการหลีกเลี่ยงปัจจัยการเกิดตากระตุกแทน

โดยแนะนำให้ใส่ใจดูแลสุขภาพของตัวเอง ด้วยการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ให้ครบ 5 หมู่ พักผ่อนให้เพียงพอ จำกัดการใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และสมาร์ทโฟน จำกัดปริมาณการสูบบุหรี่ และปริมาณการดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน เช่น ชา กาแฟ และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ รวมถึงควรหากิจกรรมที่ช่วยผ่อนคลายความเครียดด้วยเช่นกัน เช่น โยคะ ออกกำลังกาย ปลูกต้นไม้ เป็นต้น เท่านี้ก็จะช่วยลดความเสี่ยงและโอกาสการเกิดตากระตุกได้ แต่หากมีอาการต่อเนื่องยาวนาน ดูแลตัวเองเบื้องต้นแล้วยังไม่ดีขึ้น ควรรีบพบแพทย์เพื่อทำการตรวจวินิจฉัยและรับการรักษาที่ถูกต้องเหมาะสม

คะแนนบทความ

มีบัญชีผู้ใช้อยู่แล้ว?