เอ็นข้อมืออักเสบ

เอ็นข้อมืออักเสบ

Highlights:

  • ภาวะเอ็นข้อมืออักเสบ พบมากในผู้ที่มีอายุ 30-60 ปี  และในเพศหญิง เป็นกลุ่มเสี่ยงมากกว่าผู้ชายถึง 8 เท่า
  • อาการของภาวะเอ็นข้อมืออักเสบ มักจะปวดและบวมบริเวณข้อมือด้านนิ้วโป้ง โดยสัมพันธ์กับการเคลื่อนไหวของข้อมือ
  • อาการเอ็นข้อมืออักเสบ แม้จะรักษาหายแล้วก็อาจกลับเป็นซ้ำได้อีก หากยังมีพฤติกรรมการใช้ข้อมือหนักซ้ำ ๆ ผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาแล้วควรทบทวนหาสาเหตุของอาการปวดข้อมือ เพื่อหลีกเลี่ยงพฤติกรรมดังกล่าว    

ข้อมือเป็นข้อต่อที่ใช้งานมากที่สุดส่วนหนึ่งของร่างกาย สามารถเคลื่อนไหวในแนวต่างๆ โดยมีเอ็นข้อมือช่วยยึดและดึง นอกจากนี้ยังมีปลอกหุ้มเอ็น คลุมเอ็นข้อมือไว้ คอยรั้งเอ็นให้อยู่แนบข้อมือ แม้จะช่วยกันทำงาน แต่หากใช้งานข้อมือซ้ำๆ หรือผิดท่าทางเป็นเวลาติดต่อกันยาวนาน รวมถึงเกิดอุบัติเหตุจนส่งผลให้เอ็นและปลอกหุ้มเอ็นอักเสบ อาจส่งผลให้ให้เกิดอาการเจ็บข้อมือ ซึ่งพบได้บ่อยที่สุดบริเวณข้อมือฝั่งนิ้วหัวแม่มือ ซึ่งเรียกว่า ภาวะปลอกหุ้มเอ็นข้อมืออักเสบ (De Quervain’s Tenosynovitis)

ภาวะเอ็นข้อมืออักเสบ คืออะไร

เอ็นข้อมืออยู่บริเวณข้อมือฝั่งทางด้านนิ้วโป้ง เป็นเส้นเอ็นที่ใช้ในการขยับเคลื่อนไหวของนิ้วโป้งและข้อมือ ซึ่งเป็นจุดที่มีการอักเสบได้บ่อยที่สุด ตัวเส้นเอ็นนี้มีปลอกหุ้มเส้นเอ็นคลุมตัวเส้นเอ็นอีกชั้นหนึ่ง ถัดลงไปเป็นกระดูกข้อมือ ส่วนที่เกิดอาการเจ็บส่วนใหญ่เกิดการอักเสบรอบๆ ปลอกหุ้มเอ็น เมื่อเกิดการอักเสบทำให้การเคลื่อนไหวของเส้นเอ็นที่อยู่ภายในปลอกเส้นเอ็นมีการติดขัด บวมและเจ็บปวด โดยเฉพาะเมื่อมีการเคลื่อนไหวของนิ้วโป้งหรือข้อมือ

เอ็นข้อมืออักเสบ อาการเป็นอย่างไร

นอกจากปลอกหุ้มเอ็นข้อมือและเอ็นข้อมือ ยังมีกระดูกที่อยู่ลึกลงไป หากมีการบาดเจ็บของกระดูกอาจส่งผลให้เจ็บปวดบริเวณข้อมือได้เช่นกัน  แต่มีอาการแสดงที่แตกต่างออกไป เช่น กระดูกข้อมือหักหรือร้าว ข้อโคนนิ้วโป้งเสื่อม เป็นต้น
สำหรับอาการปลอกหุ้มเอ็นข้อมืออักเสบ จะมีอาการดังนี้ 

  • อาการเจ็บข้อมือ ขณะมีการเคลื่อนไหวในแนวเส้นเอ็น กรณีมีการอักเสบมากอาจมีภาวะข้อมือบวม แดง   
  • ปวดบริเวณข้อมือด้านนิ้วโป้งที่สัมพันธ์กับการเคลื่อนไหว ปวด บวมมากกว่ามืออีกข้าง และจำกัดการเคลื่อนไหว เช่น เมื่อขยับข้อมือ นอนสะดุ้งตื่นเพราะข้อมือบิดหมุนช่วงหลับโดยไม่รู้ตัว และอาจมีอาการบวมแดงร่วมด้วย

กรณีพบอาการปวดที่รบกวนการทำงานในชีวิตประจำวัน ไม่สามารถใช้ชีวิตหรือทำงานได้ตามปกติ ควรพบแพทย์เพื่อทำการวินิจฉัยและรักษาอย่างถูกวิธี

สาเหตุและปัจจัยเสี่ยงต่ออาการเอ็นข้อมืออักเสบ

  • อุบัติเหตุ เช่น ล้ม ในท่าที่มีแรงกระแทก ที่ทำให้เกิดการบาดเจ็บเส้นเอ็น จนส่งผลให้เกิดการอักเสบ 
  • ผู้ที่ใช้งานข้อมือซ้ำ ๆ ต่อเนื่องกันเป็นเวลานาน จนเกิดการกระตุ้นให้มีภาวะอักเสบ
  • การขยับข้อมือผิดลักษณะ หรือใช้อุปกรณ์ที่ต้องใช้ข้อมือแบบผิดวิธี
  • คุณแม่ตั้งครรภ์ อาจเริ่มปวดตั้งแต่ไตรมาสสุดท้าย เนื่องจากเป็นช่วงที่น้ำหนักตัวเพิ่ม ร่างกายมีการสะสมของน้ำและเกลือแร่ร่วมกับการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน ทำให้ปลอกหุ้มเอ็นบวม และจำกัดการเคลื่อนไหวของเส้นเอ็นที่อยู่ภายในปลอกหุ้มเอ็น  ส่งผลให้มีอาการปวดตามมา โดยอาการอาจจะคงอยู่จนถึงหลังคลอด 
  • คุณแม่ที่เลี้ยงลูกโดยใช้ข้อมือมากๆ เช่น เปิดปิดขวดนม บิดผ้าอ้อม และอุ้มลูก เป็นต้น
  • กลุ่มนักกีฬา ที่ใช้งานข้อมือมากเกินไป รวมถึงการจับอุปกรณ์ที่ไม่เหมาะสม   
  • เพศหญิง เป็นกลุ่มเสี่ยงปลอกหุ้มเอ็นข้อมืออักเสบมากกว่าผู้ชายถึง 8 เท่า
  • ผู้ป่วยโรคข้ออักเสบเรื้อรัง เช่น โรครูมาตอยด์  
  • พบมากในผู้ที่มีอายุ 30-60 ปี  

การรักษาอาการเอ็นข้อมืออักเสบ

  • หยุดพักการใช้งานข้อมือข้างที่ปวด บางกรณีแพทย์อาจแนะนำให้เข้าเฝือกข้อมือและนิ้วโป้ง เพื่อลดการใช้งานของเส้นเอ็น
  • รับประทานยาลดการอักเสบที่ไม่ใช้สเตียรอยด์ 
  • กายภาพบำบัด และการประคบอุ่น  
  • ฉีดยาสเตียรอยด์ (Steroid) โดยส่วนใหญ่แพทย์แนะนำให้ฉีดไม่เกิน 2 ครั้ง หากอาการยังไม่ทุเลาลง ควรจะพิจารณาการรักษาด้วยการผ่าตัดเป็นลำดับถัดไป
  • การผ่าตัด  โดยผ่าตัดปลอกหุ้มเอ็นเพื่อลดการกดเบียดเส้นเอ็น ช่วยให้เส้นเอ็นเคลื่อนไหวได้ดีขึ้น โดยเป็นการผ่าตัดเล็กเฉพาะที่ ที่มีขนาดเพียงประมาณ 1 เซนติเมตร ใช้เวลาไม่นาน และไม่จำเป็นต้องพักฟื้นที่โรงพยาบาล  

การป้องกันอาการเอ็นข้อมืออักเสบ

การป้องกันที่ดีที่สุด  คือ การหลีกเลี่ยงการใช้งานข้อมือที่ส่งผลต่ออาการบาดเจ็บ ทั้งการใช้งานหนัก ใช้งานซ้ำๆ ติดต่อกันเป็นเวลานาน สำหรับผู้ที่ต้องทำงานบ้าน คุณแม่ที่ดูแลลูก หรือนักกีฬา ที่ต้องใช้ข้อมือเป็นประจำ ควรลองปรับวิธีการใช้งาน และศึกษาวิธีการออกกำลังกายอย่างถูกวิธี

การกลับมาเป็นซ้ำของอาการเอ็นข้อมืออักเสบ

อาการเอ็นข้อมืออักเสบ หรือ โรคปลอกหุ้มเอ็นข้อมืออักเสบ แม้จะรักษาหายแล้วก็อาจกลับเป็นซ้ำได้อีก หากยังมีพฤติกรรมการใช้ข้อมือหนักซ้ำ ๆ 

ผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาแล้วควรทบทวนหาสาเหตุของอาการปวดข้อมือ เพื่อหลีกเลี่ยงพฤติกรรมดังกล่าว

แม้ภาวะปลอกหุ้มเอ็นข้อมืออักเสบ ไม่สามารถลุกลามไปเป็นโรคอื่นๆ ได้ แต่ภาวะเจ็บปวดบริเวณข้อมือขณะเคลื่อนไหวอาจรบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน หรือบางกรณีอาจสร้างปัญหากับการนอนและการทำงาน ดังนั้นหากพบอาการปวดข้อมือ อย่านิ่งนอนใจควรรีบพบแพทย์เพื่อทำการวินิจฉัยและรักษาอย่างถูกวิธี

คะแนนบทความ

มีบัญชีผู้ใช้อยู่แล้ว?