อาการไอเรื้อรังในเด็ก

อาการไอเรื้อรังในเด็ก

Highlights:

  • เด็กไอเรื้อรัง เกิดได้ทั้งจากการติดเชื้อหรือแต่อาจเกิดจากที่เป็นโรคทางเดินหายใจ และผลกระทบจากสิ่งแวดล้อมที่เป็นมลพิษต่างๆ มีอาการทั้งไอแห้ง  ไอเสียงก้องๆ ไอมีเสมหะ
  • การล้างจมูกเป็นการควบคุมอาการไม่ให้กำเริบได้ดี เพราะทำให้ไม่มีน้ำมูกตกค้างในโพรงจมูก จะไม่ไปกระตุ้นการไอนอกจากนั้นควรใช้ยาที่แพทย์สั่งให้สม่ำเสมอ  และรู้จักหลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นที่จะไม่ให้อาการไอกำเริบ

อาการไอเรื้อรังในเด็ก อาจส่งผลรบกวนไปถึงการนอน รบกวนคนรอบข้างและการใช้ชีวิตประจำวัน การไอติดต่อกันยาวทั้งวัน แม้กระทั่งในเวลานอนหลับก็ยังไอ  จะสร้างความวิตกกังวลให้กับพ่อแม่ ผู้ปกครอง ว่าอาการไอนั้นเกิดความผิดปกติที่ปอดหรือไม่

สาเหตุของอาการไอเรื้อรัง

สาเหตุของอาการไอเรื้อรังสามารถแบ่งได้เป็นสองประเภทใหญ่ๆ คือ

  1. เกิดจากการติดเชื้อโรค สามารถแพร่กระจายเชื้อให้คนใกล้ชิดได้  เช่น ติดเชื้อไวรัส เชื้อแบคทีเรีย หรือเชื้อวัณโรค ที่จมูก หลอดลม โพรงไซนัส ปอด ทำให้เกิดอาการไอขึ้น
  2. อาการไอเรื้อรังที่ไม่ได้มาจากการติดเชื้อ อาจมาจากหลายปัจจัย เช่น เด็กเป็นภูมิแพ้โพรงจมูก  โรคหืด กรดไหลย้อน  มีสิ่งแปลกปลอมค้างอยู่ในทางเดินหายใจ โรคหัวใจบางชนิด หรือเกิดจากผลข้างเคียงของยา รวมไปถึงหลอดลมไวต่อสิ่งแวดล้อมทั้งในบ้านและนอกบ้าน เช่น ควันบุหรี่ ควันต่างๆ สารเคมี  และยังเกิดได้จากปัจจัยอีกหลายอย่าง โดยลักษณะอาการไอมี 2 รูปแบบ คือ ไอแห้งๆ ไอก้องๆ และไอแบบมีเสมหะ

ทำอย่างไรเมื่อลูกไอเรื้อรัง

ปกติเวลามีการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ เด็กสามารถมีอาการไอตามหลังการติดเชื้อได้หลายสัปดาห์ หลังจากนั้นเมื่อหายสนิทก็จะหยุดไอภายในหนึ่งเดือน แต่ถ้าไอเรื้อรัง นานกว่าหนึ่งเดือน พ่อแม่ควรพาเด็กไปพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุและรับการรักษาอย่างถูกต้อง เช่น หากกุมารแพทย์ตรวจพบว่ามีไซนัสอักเสบก็จะสั่งยาปฏิชีวนะ ยาลดน้ำมูก ยาลดอาการจมูกบวม และให้เด็กหมั่นล้างจมูกด้วยน้ำเกลือ  ส่วนเด็กที่เป็นโรคหืด กุมารแพทย์จะให้ยาสูดควบคุมอาการอักเสบของหลอดลม และ ยาสูดขยายหลอดลม

การตรวจวินิจฉัยโรคไอเรื้อรังในเด็ก

การตรวจวินิจฉัยอาการไอเรื้อรังในเด็ก เป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่ง พ่อแม่ต้องสังเกตอาการลูกอย่างละเอียด เพื่อเล่าให้แพทย์ฟัง ว่าลูกเริ่มไอตั้งแต่เมื่อไหร่ อาการไอนี้เกิดขึ้นนานแค่ไหน ลักษณะของการไอเป็นไอแบบแห้งหรือไอเปียก โดยเฉพาะช่วงเวลา สถานที่ หรือสิ่งแวดล้อมที่ทำให้เกิดอาการไอ 

รวมถึงเล่าประวัติโรคทางเดินหายใจต่าง ๆ เช่น มีประวัติเป็นโรคภูมิแพ้ หอบหืด โรคติดต่ออย่างวัณโรคในครอบครัว มีคนในบ้านสูบบุหรี่ หรืออาศัยอยู่ในโรงงาน หรือแหล่งสารเคมีใดๆ หรือไม่ เพื่อแพทย์จะใช้ข้อมูลประกอบการตรวจร่างกายทั้งทางเดินหายใจส่วนบนและทางเดินหายใจส่วนล่าง 

หากประวัติและการตรวจร่างกายยังไม่สามารถวินิจฉัยได้ จำเป็นต้องส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการเพิ่มเติม เช่น ตรวจเลือด ตรวจน้ำมูก/เสมหะ ตรวจหัวใจและหลอดเลือด เอกซเรย์ระบบทางเดินหายใจ ตรวจสมรรถภาพปอด ตรวจหาสารก่อภูมิแพ้ระบบทางเดินหายใจ 

การรักษาอาการไอเรื้อรังในเด็ก

การรักษาอาการไอเรื้อรัง จำเป็นต้องทราบสาเหตุที่ทำให้เกิดการไอ ซึ่งหลังจากซักประวัติและตรวจอย่างละเอียด แพทย์จะทราบสาเหตุและปัจจัยที่ทำให้ไอ ให้การการรักษาอย่างตรงจุดและเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ จะทำให้อาการไอเรื้อรังนั้นหมดไป การดูแลอาการประคับประคอง โดยปกติจะหายภายใน 1 ถึง 3 สัปดาห์ (ขึ้นอยู่กับอาการและความรุนแรง) 

การดูแลเด็กที่มีอาการไอเรื้อรัง

  • ให้เด็กรับประทานอาหารที่เป็นประโยชน์และเหมาะสม หลีกเลี่ยงอาหารแห้ง กรอบ อาหารทอดหรืออบกรอบ
  • ดื่มน้ำอุ่นหรือน้ำในอุณหภูมิปกติ เลี่ยงการดื่มน้ำเย็น เพราะการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิ จะไปกระตุ้นให้หลอดลมหดตัว และเกิดอาการไอ ในเด็กที่มีภาวะหลอดลมไวได้
  • ให้เด็กออกกำลังกายสม่ำเสมอ อย่างน้อยวันละ 30 นาที
  • ให้เด็กพักผ่อนให้เพียงพอ อย่างน้อย 8 ชั่วโมง
  • เลือกอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี มีอากาศถ่ายเท หลีกเลี่ยงให้ห่างไกลสถานที่ที่มีสารเคมี ควัน และมลพิษ

การป้องกันไม่ให้ เด็กไอเรื้อรัง

การที่น้ำมูกและเสมหะไหลลงหลอดลมเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้เด็กไอ ดังนั้นควรล้างจมูกเพื่อไม่ให้มีน้ำมูกตกค้างในโพรงจมูกจะได้ไม่กระตุ้นอาการไอ นอกจากนั้นควรใช้ยาควบคุมอาการอย่างสม่ำเสมอ รู้จักหลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้น เพื่อไม่ให้อาการกำเริบขึ้นมาอีก

การล้างจมูก เพื่อป้องกันอาการไอเรื้อรัง

  • การล้างจมูกเด็กเล็ก ให้ใช้น้ำเกลือ 1-2 หยด หยดลงในจมูกทีละข้างขณะนอนตะแคงหน้า จับหน้าให้นิ่ง น้ำเกลือจะไหลทำให้น้ำมูกไม่เหนียวและไหลลงไปได้เอง ถ้ามีน้ำมูกมากอาจใช้ลูกยางแดงเบอร์ 0-1 ช่วยดูดน้ำมูกโดยใส่ในรูจมูกลึกประมาณ 1-1.5 ซม. บางคนอาจต้องใส่ลึกถึง 3-4 ซม. แต่ต้องทำด้วยความระมัดระวัง
  • การล้างจมูกเด็กโต ถ้าน้ำมูกไม่มากนัก ให้ทำขณะนั่ง โดยแหงนหน้าเล็กน้อย ใช้น้ำเกลือหยดเข้าจมูกข้างละ 3-4 หยด ทิ้งไว้สักครู่แล้วก้มหน้า อ้าปาก สั่งน้ำมูกในจมูกเบาๆ ทำซ้ำหลายครั้งจนสะอาด แล้วจึงทำอีกข้างที่เหลือแต่ถ้าน้ำมูกมีปริมาณมากแนะนำให้ใช้หลอดฉีดยา ขนาด 10 ซีซี (ไม่ใส่เข็ม) ดูดน้ำเกลือครั้งละ 5-10 ซีซี ค่อย ๆ ฉีดเข้าในรูจมูก ขณะก้มหน้า และมีภาชนะรองรับ ไม่จำเป็นต้องฉีดแรง จะพบน้ำมูกไหลตามออกมา จากนั้นให้อ้าปาก สั่งน้ำมูกเบาๆ แล้วทำซ้ำหลาย ๆ ครั้งในแต่ละข้างจนสะอาด ควรทำอย่างน้อยเมื่อตื่นนอนตอนเช้าและก่อนเข้านอน ช่วงกลางวันถ้าแน่นจมูกหรือน้ำมูกมากก็สามารถล้างจมูก ช่วงที่ท้องว่างเพิ่มได้

การล้างจมูกบ่อยๆ อันตรายหรือไม่

ส่วนมากคุณพ่อคุณแม่รวมทั้งตัวเด็กจะบอกตรงกันว่าสบายขึ้นและโล่งจมูก นอนได้ดีขึ้น ไม่ไอ รับประทานนมและอาหารได้ สำหรับเด็กเล็ก การดูดน้ำมูกต้องทำด้วยความนุ่มนวลและจับหน้าให้นิ่ง เด็กโตไม่จำเป็นต้องสั่งน้ำมูกรุนแรง แต่ให้อ้าปาก สั่งน้ำมูกเบาๆ สามารถทำได้หลาย ๆ ครั้ง จนกว่าล้างจมูกแล้วไม่มีน้ำมูกออกมา น้ำเกลือที่ใช้มีสัดส่วนใกล้เคียงกับสารในร่างกาย จึงไม่มีอันตราย ถ้ากลืนลงคอไปบ้างก็ไม่มีอันตรายเช่นเดียวกัน

หากเด็กมีอาการไอติดต่อกัน ไอแม้ในขณะนอน รบกวนชีวิตประจำวัน ควรรีบพาเด็กไปพบแพทย์เพื่อทำการตรวจหาสาเหตุอย่างละเอียด อย่าปล่อยเรื้อรังไว้นาน เด็กจะได้เรียนรู้และพักผ่อนได้อย่างเต็มที่ 

คะแนนบทความ

มีบัญชีผู้ใช้อยู่แล้ว?