การสวนหลอดเลือดหัวใจ (CAG - Coronary Artery Angiography) และการขยายหลอดเลือดหัวใจ (PCI)

การสวนหลอดเลือดหัวใจ (CAG - Coronary Artery Angiography) และการขยายหลอดเลือดหัวใจ (PCI)

Highlights:

  • ภาวะหลอดเลือดหัวใจตีบหรือตัน  จะมีอาการเหนื่อย แน่นหน้าอกเหมือนมีอะไรมาทับ ร้าวไปที่แขน ไหล่ หรือกรามซ้าย มีอาการเหงื่อออก มักเป็นเวลาที่ออกแรง ผู้ที่เคยมีอาการเจ็บแน่นหัวใจหากพักแล้วไม่ดีขึ้น แต่มีอาการแย่ลงโดยอาการไม่หายไปเมื่อพัก หรือไม่ดีขึ้นหลังอมยาอมใต้ลิ้น
  • หากพบมีการตีบหรือตันของหลอดเลือดหัวใจ แพทย์จะพิจารณารักษาด้วยการขยายหลอดเลือดหัวใจโดยใช้บอลลูนขยายหลอดเลือดและขดลวด โดยปกติมักทำเมื่อมีการตีบที่รุนแรงมากกว่า 70%
  • การสวนหลอดเลือดหัวใจ (Coronary Artery Angiography - CAG) คือ การวินิจฉัยภาวะหลอดเลือดหัวใจตีบหรือตัน หรือภาวะผิดปกติของหัวใจอื่น ๆ เพื่อพิจารณาแนวทางการรักษาต่อด้วยวิธีใช้บอลลูนขยายหลอดเลือด (Percutaneous Coronary Intervention - PCI) ซึ่งไม่ต้องทำการผ่าตัด หรือการรักษาด้วยวิธีการผ่าตัดเพื่อสร้างทางเดินของเลือดใหม่

การสวนหลอดเลือดหัวใจทางหลอดเลือดแดง (Coronary Artery Angiography - CAG) และการขยายหลอดเลือดหัวใจ PCI คืออะไร

การสวนหลอดเลือดหัวใจทางหลอดเลือดแดง (Coronary Artery Angiography - CAG) คือการใส่สายสวนเข้าไปทางหลอดเลือดแดง โดยสามารถทำได้ที่เส้นเลือดแดงที่แขนและขาหนีบ และฉีดสารทึบรังสี เข้าไปดูหลอดเลือดแดงที่ไปเลี้ยงหัวใจว่ามีการตีบหรือตันของเส้นเลือดหัวใจหรือไม่ มากน้อยเพียงใด 

รวมทั้งการฉีดสารทึบรังสีในห้องหัวใจเพื่อตรวจสอบความสามารถในการบีบตัวของหัวใจ ความดันของห้องหัวใจ และการรั่วของลิ้นหัวใจ หากพบมีการตีบหรือตัน แพทย์จะพิจารณารักษาด้วยการขยายหลอดเลือดหัวใจโดยใช้บอลลูนขยายหลอดเลือดและขดลวด (Percutaneous Coronary Intervention - PCI) โดยปกติมักทำเมื่อมีการตีบที่รุนแรงมากกว่า 70% 

ใครที่ควรทำการสวนหลอดเลือดหัวใจ (CAG)

ผู้ที่มีข้อบ่งชี้ในการตรวจโดยวิธีสวนหลอดเลือดหัวใจทางหลอดเลือดแดงคือ

  • ผู้ป่วยที่สงสัยภาวะหลอดเลือดหัวใจตีบ เช่น ผู้ที่มีอาการเหนื่อย แน่นหน้าอก หัวใจเต้นผิดจังหวะ มีคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าหัวใจเข้าได้กับภาวะหัวใจขาดเลือด
  • มีอาการเจ็บแน่นหน้าอกที่แย่ลง เป็นถี่ขึ้น เป็นนานขึ้น หรือเกิดขึ้นในขณะพัก
  • มีอาการเจ็บแน่นหน้าอกที่ไม่ตอบสนองโดยการให้ยา
  • มีภาวะหัวใจล้มเหลว
  • มีปัญหาลิ้นหัวใจรั่ว
  • มีความผิดปกติของหัวใจเมื่อทำการวัดด้วยการออกกำลังหรือวิ่งสายพาน
  • ต้องการวัดความดันของห้องหัวใจ
  • การตรวจเพื่อเตรียมการผ่าตัดหัวใจ
  • มีอาการเจ็บหน้าอกที่ไม่สามารถอธิบายด้วยผลการตรวจชนิดอื่น

การสวนหลอดเลือดหัวใจ CAG และ PCI ใช้ในการรักษาโรคอะไร

การสวนหลอดเลือดหัวใจเป็นการวินิจฉัยภาวะหลอดเลือดหัวใจตีบหรือตัน หรือภาวะผิดปกติของหัวใจอื่น ๆ เพื่อพิจารณาแนวทางการรักษาต่อด้วยวิธีใช้บอลลูนขยายหลอดเลือด (Percutaneous Coronary Intervention - PCI) ซึ่งไม่ต้องทำการผ่าตัด หรือการรักษาด้วยวิธีการผ่าตัดเพื่อสร้างทางเดินของเลือดใหม่ (Coronary Artery Bypass Graft : CABG)

อาการบ่งชี้ของภาวะหลอดเลือดหัวใจตีบหรือตัน

  • มีอาการเหนื่อย แน่นหน้าอกเหมือนมีอะไรมาทับ ร้าวไปที่แขน ไหล่ หรือกรามซ้าย 
  • มีอาการเหงื่อออก มักเป็นเวลาที่ออกแรง 
  • ผู้ที่เคยมีอาการเจ็บแน่นหัวใจมาก่อน  เมื่อพักแล้วดีขึ้น แต่ต่อมาอาจมีอาการแย่ลง โดยอาการไม่หายไปเมื่อพัก หรือไม่ดีขึ้นหลังอมยาอมใต้ลิ้น เป็นต้น

การเตรียมตัวก่อนทำการสวนหลอดเลือดหัวใจ

ก่อนทำการสวนหลอดเลือดหัวใจ แพทย์จะให้ข้อมูลแก่ผู้ป่วยเพื่อให้รับทราบขั้นตอน ข้อควรระวัง และความเสี่ยง โดยจะแนะนำการงดน้ำงดอาหาร 6 ชั่วโมงก่อนทำการตรวจ รวมถึงการงดยาบางชนิด ยกเว้นในกรณีเร่งด่วน จะมีการเปิดสายน้ำเกลือเพื่อให้น้ำเกลือและยา ติดขั้วสื่อไฟฟ้าเพื่อสังเกตคลื่นไฟฟ้าหัวใจ 
ขั้นตอนการสวนหัวใจ

แพทย์จะทำความสะอาด และฉีดยาชาบริเวณแขนหรือขาหนีบ ในบริเวณที่ทำหัตถการ  หลังจากนั้นจะใส่สายสวนขนาดเล็กเข้าไปตามหลอดเลือดแดงจนไปถึงหลอดเลือดหัวใจ 
แพทย์จะฉีดสารทึบรังสีและถ่ายภาพเอกซเรย์เป็นชุดอย่างรวดเร็ว โดยขั้นตอนการสวนหัวใจและฉีดสีใช้เวลาประมาณ 30-60 นาที หลังจากนั้นแพทย์จะดึงสายสวนออกและใช้พลาสเตอร์ปิดแผลกดเพื่อห้ามเลือดที่บริเวณแผลสักระยะหนึ่ง

ข้อปฏิบัติและแนวทางการดูแลหลังสวนหัวใจ

  • นอนหงายราบบนเตียงหลังเสร็จสิ้นการตรวจประมาณ 4-6 ชั่วโมง หรือตามความเหมาะสม อาจมีที่ประคบเพื่อห้ามเลือด งดขยับแขน ขา ข้างที่ทำการสวนหลอดเลือด
  • โดยทั่วไปแนะนำให้สังเกตอาการในโรงพยาบาล 1 คืนหลังการสวนหลอดเลือดหัวใจ
  • สังเกตภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้น เช่น อัมพฤกษ์ อัมพาต เลือดออกบริเวณที่ใส่สายสวน
  • หากมีอาการผิดปกติ เช่น ปวด บวม จ้ำเลือดเกิดขึ้นควรปรึกษาแพทย์

การพักฟื้นหลังจากได้รับการสวนหัวใจ

  • งดใช้งานหนัก แขนหรือขาข้างที่ทำการสวนหลอดเลือดแดง  งดยกของหนัก 2-4 สัปดาห์
  • ผิวหนังอาจมีรอยช้ำและจ้ำเขียวได้และมักหายไปเองภายใน 2-3 สัปดาห์
  • หลังจาก 2-4 สัปดาห์ หากไม่มีภาวะแทรกซ้อน สามารถกลับไปทำกิจกรรมตามปกติได้

การสวนหัวใจควรทำโดยแพทย์ที่มีความชำนาญ

แพทย์ที่ทำการสวนหลอดเลือดหัวใจและรักษาโดยการใช้บอลลูนขยายหลอดเลือด ต้องเป็นแพทย์อายุรศาสตร์โรคหัวใจ ซึ่งเชี่ยวชาญด้านหัตถการการรักษาโรคหัวใจและหลอดเลือดโดยเฉพาะ และต้องทำในโรงพยาบาลที่มีความสามารถในการรองรับการสวนหลอดเลือดหัวใจและรักษาโดยการใช้บอลลูนขยายหลอดเลือด  ที่ศูนย์หัวใจ โรงพยาบาลสมิติเวช ให้บริการฉุกเฉินทุกวันตลอด 24 ชั่วโมง   หลังจากการรักษา มีการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ป่วยโดยผู้เชี่ยวชาญและนักกายภาพบำบัด เพื่อลดความเสี่ยงของภาวะแทรกซ้อนในอนาคต

คะแนนบทความ

มีบัญชีผู้ใช้อยู่แล้ว?