ไส้ติ่งอักเสบ

ไส้ติ่งอักเสบ

Highlightds:

  • ไส้ติ่งอักเสบ พบได้บ่อย โดยเฉพาะในคนวัยหนุ่มสาวอายุไม่เกิน 30 ปี  สามารถพบได้ทั้งผู้ชายและผู้หญิง 
  • หากไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกวิธี หรือได้รับการรักษาช้าเกินไป อาจทำให้ไส้ติ่งแตก จนมีการติดเชื้อในช่องท้องหรือในกระแสเลือด  อาจทำให้มีอันตรายถึงชีวิต
  • ปัจจุบัน การผ่าตัดไส้ติ่งเป็นเรื่องไม่ยาก แผลเล็ก พักฟื้นไม่นาน และสามารถฟื้นตัวได้เร็ว ด้วยวิธีผ่าตัดผ่านกล้องแผลเล็ก (MIS)    

ไส้ติ่ง เป็นอวัยวะส่วนหนึ่งของทางเดินอาหาร ลักษณะเป็นท่อปลายตันรูปร่างเรียวยาวคล้ายหนอน ยาวประมาณ 8-10 เซนติเมตร ยื่นออกมาเป็นติ่งทางด้านขวาของลำไส้ใหญ่ส่วนต้น หรือบริเวณท้องน้อยด้านขวา มีหน้าที่เกี่ยวกับระบบภูมิคุ้มกัน สร้างและปกป้องเชื้อจุลินทรีย์ในช่องท้อง ที่ช่วยกระตุ้นระบบย่อยอาหารให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

กรณีเกิดการอุดตันของโพรงในไส้ติ่งไม่ว่าจากสาเหตุใด จะทำให้มีการบวมอักเสบ หากไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกวิธี หรือได้รับการรักษาช้าเกินไป อาจทำให้ไส้ติ่งแตก จนมีการติดเชื้อในช่องท้องหรือในกระแสเลือด  อาจทำให้มีอันตรายถึงชีวิตได้
 

อาการไส้ติ่งอักเสบ

ไส้ติ่งอักเสบ (Appendicitis) พบได้บ่อย โดยเฉพาะในคนวัยหนุ่มสาวอายุไม่เกิน 30 ปี  สามารถพบได้ทั้งผู้ชายและผู้หญิง ไส้ติ่งอักเสบมักแสดงอาการปวดคล้ายอาการปวดท้องทั่วไป ดังนั้นต้องหมั่นสังเกตด้วยตัวเอง ซึ่งส่วนใหญ่อาการของโรคไส้ติ่งอักเสบจะเกิดขึ้นเป็นลำดับ  ดังนี้

  •  ไส้ติ่งเริ่มมีการอุดตัน อาการแรกที่พบบ่อยคือปวดรอบๆ หน้าท้อง บริเวณสะดือ หรือระบุตำแหน่งที่รู้สึกปวดไม่ได้
  •  เมื่อไส้ติ่งมีการอักเสบ อาการปวดจะค่อยๆ เพิ่มมากขึ้น  และเป็นอยู่นานราวๆ 6 ชั่วโมง 
  •  เริ่มมีอาการเหมือนคนท้องร่วงแต่ถ่ายไม่ออก เบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน มีไข้
  •  อาการปวดชัดเจนบริเวณท้องน้อยข้างขวา  รู้สึกปวดเสียดตลอดเวลา อาการเพิ่มมากขึ้นจนทนไม่ไหว หรือไม่สามารถเคลื่อนไหวได้
  • หากไม่ได้รับการรักษา ไส้ติ่งมีการอักเสบและติดเชื้อรุนแรง กลายเป็นฝีหนอง โดยระยะอาการปวดมักไม่เกิน 3 วัน 
  • สุดท้ายไส้ติ่งจะแตกทะลุ ทำให้มีการติดเชื้อในโพรงช่องท้อง อาจส่งผลให้ติดเชื้อในกระแสเลือด ไข้สูง ปากแห้ง คอแห้ง อ่อนเพลียอย่างมาก และอาจเสียชีวิตได้

ไส้ติ่งอักเสบเกิดจากอะไร

ไส้ติ่งอักเสบ เกิดจากการอุดตันของไส้ติ่งจนมีภาวะอักเสบ เนื่องจากมีสิ่งแปลกปลอม เศษอุจจาระแข็งตัว พยาธิ ก้อนเนื้องอก เศษอาหารหรือแบคทีเรียก่อโรคสะสมในไส้ติ่ง

การตรวจวินิจฉัย

เมื่อผู้ป่วยไปโรงพยาบาลด้วยอาการปวดท้อง แพทย์จะทำการซักประวัติ ตรวจร่างกาย ตรวจเลือด และตรวจปัสสาวะ อาจมีการตรวจเพิ่มเติม เช่น การตรวจอัลตร้าซาวด์ การตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT Scan) ของช่องท้องเพิ่มเติม เพื่อการวินิจฉัยที่รวดเร็วและแม่นยำมากขึ้น

การผ่าตัดไส้ติ่ง

เมื่อผู้ป่วยได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นไส้ติ่งอักเสบ การรักษาที่เหมาะสมคือ การได้รับการผ่าตัดเอาไส้ติ่งที่อักเสบออกมาโดยเร็ว ร่วมกับการใช้ยาปฏิชีวนะ 

การผ่าตัดไส้ติ่งมี 2 แบบ คือ

  • การผ่าตัดแบบเปิด (Open Appendectomy) โดยมีบาดแผลบริเวณท้องน้อยด้านขวา ตรงตำแหน่งของไส้ติ่งที่อักเสบ
  • การผ่าตัดไส้ติ่งโดยการส่องกล้อง (Laparoscopic Surgery) หรือ MIS (Minimal Invasive Surgery)   ซึ่งได้รับความนิยมในปัจจุบัน  แผลมีขนาดเล็ก เจ็บน้อย และใช้เวลาพักฟื้นไม่นาน สิ่งสำคัญคือ แพทย์สามารถเห็นความผิดปกติได้ชัดเจนผ่านกล้อง ทำให้การผ่าตัดมีความปลอดภัยและแม่นยำ  

การผ่าตัดไส้ติ่ง ด้วยวิธีส่องกล้อง

ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักเกิดความวิตกกังวลที่ต้องผ่าตัด ตั้งแต่การดมยาสลบ การเปิดหน้าท้องแผลใหญ่ หลังผ่าตัดต้องพักฟื้น  รวมถึงารฟื้นตัวหลังผ่าตัด  

ในปัจจุบันทั้งความก้าวหน้าทางวิชาการและวิวัฒนาการของเครื่องมือทางการแพทย์ ส่งผลให้การผ่าตัดไส้ติ่งเป็นเรื่องไม่ยาก แผลเล็ก พักฟื้นไม่นาน และสามารถฟื้นตัวได้เร็ว  ด้วยวิธีผ่าตัดผ่านกล้องแผลเล็ก  (MIS)  

วิธีการผ่าตัดรักษาไส้ติ่งอักเสบด้วยการส่องกล้อง แพทย์จะทำการเจาะรูเล็กๆ และสอดกล้องเข้าไปในช่องท้องบริเวณใต้สะดือ เมื่อพบว่าไส้ติ่งอักเสบ  แพทย์จะทำการตัดเส้นเลือดที่เลี้ยงไส้ติ่ง รวมทั้งตัดไส้ติ่งออก เย็บปิดแผลซึ่งมีขนาดเล็กเพียง 1-2 เซนติเมตร การผ่าตัดผ่านกล้อง ศัลยแพทย์สามารถเห็นอวัยวะที่ต้องการผ่าตัดผ่านจอภาพ ซึ่งขยายใหญ่เห็นชัดเจนทำให้มีความแม่นยำสูง   

ข้อจำกัดในการผ่าตัดไส้ติ่งด้วยการส่องกล้อง

อย่างไรก็ตาม การผ่าตัดด้วยกล้องมีข้อจำกัด ดังนี้

  • กรณีถ้าไส้ติ่งอักเสบรุนแรง หรือมีการติดกันของเนื้อเยื่อข้างเคียง การผ่าตัดส่องกล้องอาจไม่สามารถทำได้  
  • ไส้ติ่งแตก เดิมทีแพทย์จำเป็นต้องเปิดหน้าท้อง เพื่อทำความสะอาดช่องท้อง ปัจจุบันสามารถทำผ่านกล้องได้ โดยแพทย์ต้องมีความเชี่ยวชาญในการล้างช่องท้องผ่านกล้อง  
  • แพทย์ผู้ทำการผ่าตัดต้องมีความชำนาญ  เพื่อความปลอดภัยของผู้ป่วย
  • ค่าใช้จ่ายในการผ่าตัดผ่านกล้องยังมีราคาค่อนข้างสูง 

อาการข้างเคียงและผลกระทบหลังการผ่าตัดไส้ติ่งอักเสบ

หลังผ่าตัดผู้ป่วยอาจมีอาการท้องอืด รับประทานอาหารได้น้อยลงภายใน 1-2 วัน 

กรณีที่ผู้ป่วยมีภาวะไส้ติ่งแตก แพทย์ต้องใช้น้ำเกลือล้างทำความสะอาดในช่องท้อง ร่วมกับใส่สายระบายเพื่อดักเชื้อที่ยังหลงเหลืออยู่ให้ออกไปจากร่างกาย ร่วมกับการให้ยาฆ่าเชื้อที่ได้ผลต่อเชื้อ ซึ่งจะทราบได้จากการเพาะเชื้อ กรณีที่มีเชื้อดื้อยาอาจจำเป็นต้องได้รับยาฆ่าเชื้อทางเส้นเลือดนานขึ้น อาจทำให้ต้องพักฟื้นในโรงพยาบาลนานขึ้นประมาณ 3-7 วัน อาการข้างเคียงจากการได้รับยาฆ่าเชื้อติดต่อกันหลายวันอาจพบอาการท้องเสีย ถ่ายเหลวได้ 

ทั้งนี้ภาวะแทรกซ้อนที่เกิดขึ้น อาจเกิดจากการผ่าไส้ติ่งบริเวณที่มีแบคทีเรียปนเปื้อน ซึ่งเกิดขึ้นได้น้อยมากประมาณ  2-3 % ในผู้ที่ผ่าตัดแบบเปิด และเพียง 1% กรณีผ่าตัดผ่านกล้อง

การดูแลหลังการผ่าตัดไส้ติ่ง

หลังผ่าตัดผู้ป่วยควรปฏิบัติ ดังนี้

  • รับประทานอาหารอ่อนและย่อยง่ายในช่วงแรก  
  • หลีกเลี่ยงอาหารที่อาจทำให้ท้องเสีย เช่น อาหารที่ปรุงไม่สุก
  • พักผ่อนนอนหลับให้เพียงพอ
  • พบแพทย์ตามนัด เพื่อติดตามผล กรณีพบสิ่งผิดปกติ ควรรีบพบแพทย์ทันที

การพักฟื้นและฟื้นตัวหลังผ่าตัดไส้ติ่ง

ผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัด หากไม่มีภาวะแทรกซ้อน แพทย์จะอนุญาตให้กลับบ้านได้ภายในเวลา 2 วัน การนอนพักฟื้นในโรงพยาบาลเพื่อดูแลหลังผ่าตัด โดยมีการให้ยาฆ่าเชื้อ เฝ้าระวังอาการแทรกซ้อน กรณีผ่าตัดแบบส่องกล้อง ผู้ป่วยจะสามารถลุกขึ้นเดินได้หลังผ่าตัดภายใน 1 วัน เท่านั้น   โดยแผลผ่าตัดจะค่อยๆ ดีขึ้น ดังนี้

  • แผลผ่าตัด บริเวณผิวหนัง 7 วัน  ซึ่งแพทย์เย็บปิดแผลด้วยไหมละลาย
  • แผลบริเวณไส้ติ่งที่ถูกตัดทิ้ง ใช้เวลา   3 วัน
  • แผลในชั้นกล้ามเนื้อที่เจาะผ่าน จะแข็งแรงเต็มที่ภายใน 1 เดือน

ทั้งนี้ผู้ป่วยสามารถกลับไปทำงานได้ตามปกติ หลังจากผ่าตัดประมาณ  2-3 วัน กรณีที่ผู้ป่วยทำงานที่ต้องใช้แรง เช่น นักกีฬา หรือต้องยกของหนักมากกว่า 15 กิโลกรัม ควรพักจนกว่าแผลในชั้นกล้ามเนื้อจะแข็งแรง ใช้เวลาประมาณ 1 เดือน ผู้ที่ชอบออกกำลังกายควรต้องรอหลัง 1 เดือน  เช่นกัน

คะแนนบทความ

มีบัญชีผู้ใช้อยู่แล้ว?