ไวรัสอะดีโน (Adenovirus) ตัวการร้ายทำลายระบบของร่างกาย

ไวรัสอะดีโน (Adenovirus) ตัวการร้ายทำลายระบบของร่างกาย

HIGHLIGHTS:

  • ไวรัสอะดีโน (Adenovirus) เป็นไวรัสที่ส่งผลให้เกิดโรคได้ในหลายระบบของร่างกาย มีอาการได้ตั้งแต่เป็นไข้หวัด คออักเสบ หลอดลมอักเสบ ปอดอักเสบ ท้องเสีย หรือตาแดง
  • เด็กเล็ก อายุน้อยกว่า 3 เดือน ที่ได้รับไวรัสอะดีโนอาจมีอาการรุนแรงได้ คุณพ่อ คุณแม่ ต้องหมั่นสังเกตอาการ หากเด็กมีอาการซึม ไม่ดื่มน้ำหรือดื่มนม ควรพาไปพบแพทย์
  • ไวรัสอะดีโนมีชีวิตอยู่ได้นานถึง 30 วัน ตามพื้นผิวสิ่งแวดล้อม จึงสามารถระบาดได้ตลอดทั้งปี

ไวรัสอะดีโน (Adenovirus) เป็นไวรัสที่ส่งผลให้เกิดโรคได้ในหลายระบบของร่างกาย มีอาการได้ตั้งแต่เป็นไข้หวัด คออักเสบ หลอดลมอักเสบ ปอดอักเสบ ท้องเสีย ตาแดง ความรุนแรงมีได้ตั้งแต่น้อยจนถึงรุนแรงมาก พบอัตราการป่วยในเด็กมากกว่าผู้ใหญ่ โดยมีอาการรุนแรงในเด็กที่มีภาวะบกพร่องทางภูมิคุ้มกัน มีโรคประจำตัวในระบบทางเดินหายใจหรือระบบหัวใจที่ผิดปกติ โดยไวรัสอะดีโนนี้สามารถระบาดได้ตลอดทั้งปี ไม่สัมพันธ์กับฤดูกาลใดๆ

ไวรัสอะดีโนติดต่อได้อย่างไร

การติดต่อของไวรัสอะดีโนเกิดได้หลายวิธี ทั้งจากการแพร่กระจายทางฝอยละออง (aerosol droplets) คือ ติดต่อได้ในระยะใกล้ มีการไอจามใส่กัน หรือติดต่อทางอาหารและน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อโรค (fecal-oral route) รวมทั้งติดต่อทางการสัมผัสโดยอ้อมจากสิ่งของที่ปนเปื้อนเชื้อโรค (contact with contaminated fomites) เชื้อไวรัสอะดีโนมีชีวิตอยู่ได้นานถึง 30 วันตามพื้นผิวสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ สามารถถูกกำจัดได้โดยความร้อน สารเคมีฟอร์มาลดีไฮด์ (Formaldehyde) และสารฟอกขาว (bleach)

อาการของการติดเชื้อ Adenovirus

อย่างที่บอกในตอนต้นว่า ไวรัสอะดีโนส่งผลกระทบให้เกิดโรคได้ในหลายระบบ อาการจึงแตกต่างกันไปตามระบบของร่างกายที่มีการติดเชื้อ โดยมักมีไข้ร่วมกับอาการอื่น เช่น เจ็บคอ เสียงแหบ น้ำมูกไหล ไอ เจ็บหู ตาแดง หรือท้องเสีย หากเป็นเด็กเล็กอายุน้อยกว่า 3 เดือน อาจมีอาการรุนแรง หากเด็กมีอาการซึม ไม่ยอมดื่มน้ำหรือนม ผู้ปกครองควรรีบพาไปพบแพทย์

การวินิจฉัย

การตรวจหาเชื้อไวรัสอะดีโนทำได้โดยเก็บสารคัดหลั่งจากโพรงจมูก คอ หรือขี้ตา เพื่อส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ หรือตรวจหาเชื้อทางอุจจาระ

การรักษา

เมื่อติดเชื้อไวรัสอะดีโนแล้ว จะต้องรักษาตามอาการที่เป็น พ่อแม่ต้องดูแลให้เด็กได้พักผ่อนอย่างเพียงพอ ดื่มน้ำเยอะๆ ช่วยดูดน้ำมูกหรือล้างจมูก ให้ยาลดไข้เมื่อมีไข้สูง หากอาการรุนแรง ควรต้องพามาพบกุมารแพทย์เพื่อรักษาตัวในโรงพยาบาล ให้น้ำเกลือ พ่นยาขยายหลอดลม หรือให้ออกซิเจน สำหรับรายที่มีอาการรุนแรงมากหรือมีโรคประจำตัวอื่นๆ นั้นถือว่ามีความเสี่ยงสูง แพทย์อาจพิจารณาให้ยาต้านเชื้อไวรัสร่วมด้วย

การป้องกันเชื้อไวรัสอะดีโน

วิธีป้องกันการติดเชื้อไวรัสอะดีโนที่ดีที่สุด คือ การล้างมือบ่อยๆ ด้วยน้ำและสบู่ หรือแอลกอฮอล์เจล และรักษาความสะอาดภายในบ้าน อาทิ เช็ดโต๊ะ เช็ดเก้าอี้ ของเล่นของลูก และไม่พาลูกไปในแหล่งชุมชนที่มีคนแออัด หลีกเลี่ยงการใกล้ชิดผู้ป่วย รวมทั้งสอนให้ปิดปากและจมูกด้วยผ้าเช็ดหน้าหรือกระดาษเวลาไอหรือจามด้วย

Reference

คะแนนบทความ

มีบัญชีผู้ใช้อยู่แล้ว?