MIS-C ภาวะแทรกซ้อนรุนแรงในเด็ก หลังติดเชื้อโควิด-19

MIS-C ภาวะแทรกซ้อนรุนแรงในเด็ก หลังติดเชื้อโควิด-19

Highlight:

  • MIS-C คือ กลุ่มอาการอักเสบจากหลายระบบในร่างกาย ที่เป็นภาวะแทรกซ้อนรุนแรงหลังจากเด็กติดเชื้อโควิด-19 
  • เด็กที่ติดเชื้อโควิด-19 สามารถพบภาวะ MIS-C ได้ โดยอาจเฝ้าระวังจากการมีไข้สูง ≥ 38 °C นานมากกว่า 24 ชั่วโมง มีผื่น ตาแดง มือเท้าบวมแดง ปากแดงแห้งแตก ปวดท้อง ถ่ายเหลว คลื่นไส้อาเจียนหายใจหอบชัก ปวดศีรษะรุนแรง ซึมลง 
  • เด็กอายุตั้งแต่ 5 ปีขึ้นไปควรได้รับวัคซีนโควิด-19 ตามเกณฑ์ พร้อมทั้งดูแลตนเองอยู่เสมอ โดยการหมั่นล้างมือด้วยแอลกอฮอล์ รักษาระยะห่าง และสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา เพื่อลดโอกาสการติดเชื้อโควิด-19 ให้น้อยที่สุด เพราะถ้าไม่ติด ก็จะไม่มีโอกาสเป็นภาวะ MIS-C  

ภาวะ MIS-C คืออะไร ?

MIS-C ย่อมาจาก Multisystem Inflammatory Syndrome in Children หมายถึง กลุ่มอาการอักเสบจากหลายระบบที่เป็นภาวะแทรกซ้อนรุนแรงหลังจากติดเชื้อโควิด-19

ภาวะ MIS-C จะเกิดขึ้นช่วงไหน ?

อาการ MIS-C ที่เกิดขึ้นอาจเริ่มได้ตั้งแต่ในช่วงที่กำลังจะหายจากโรคโควิด-19 หรืออาจเกิดขึ้นตามหลังจากการติดเชื้อแล้วประมาณ 2 - 6 สัปดาห์  โดยอายุเฉลี่ยของเด็กที่พบคือช่วงอายุ 9 ปี และพบอัตราการเกิดภาวะ MIS-C ในเด็กผู้ชายมากกว่าเด็กผู้หญิง

อาการของภาวะ MIS-C ?

ผู้ป่วยที่พบภาวะ MIS-C อาจมีอาการอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือหลายอาการ หลังการติดเชื้อโควิด-19 ดังต่อไปนี้ 

  • มีไข้สูง ≥  38 °C นานมากกว่า 24 ชั่วโมง  
  • มีผื่น ตาแดง มือเท้าบวมแดง ปากแดงแห้งแตก หรือมีอาการอักเสบของเยื่อบุต่างๆ  
  • มีต่อมน้ำเหลืองโต 
  • มีอาการทางระบบหัวใจและหลอดเลือด เช่น หัวใจเต้นเร็ว ความดันโลหิตต่ำ หรือเกิดอาการช็อก 
  • มีภาวะเลือดออกง่าย จากการแข็งตัวของเลือดผิดปกติ 
  • มีอาการทางระบบทางเดินอาหาร เช่น ปวดท้อง ถ่ายเหลว คลื่นไส้อาเจียน 
  • มีอาการทางระบบทางเดินหายใจ เช่น เหนื่อย หายใจหอบ 
  • มีอาการทางระบบประสาท เช่น ชัก ปวดศีรษะรุนแรง ซึมลง 
  • มีอาการไตวายเฉียบพลัน   

เด็กที่เป็นโรคโควิด-19 และพบกลุ่มอาการ MIS-C หากมีอาการรุนแรง อาจทรุดลงอย่างรวดเร็วและถึงแก่ชีวิตได้ คุณพ่อคุณแม่ควรสังเกตอาการอย่างใกล้ชิด โดยหากพบอาการผิดปกติตามที่กล่าวมา พ่อแม่ควรตัดสินใจและรีบพาเด็กมาพบกุมารแพทย์เพื่อทำการตรวจวินิจฉัยและให้การรักษาทันที 

ความรุนแรงของภาวะ MIS-C ?

ภาวะ MIS-C จากการอักเสบของระบบภายในของร่างกายในเด็กที่เคยติดเชื้อโควิด-19 มีหลายระดับ  

  • ในผู้ป่วยเด็กที่มีอาการไม่มากและไม่มีอาการช็อก ผู้ป่วยสามารถหายกลับมาเป็นปกติหลังได้รับการรักษา และสามารถกลับไปโรงเรียนได้  
  • ส่วนเด็กที่มีอาการหนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กที่มีอาการที่เกี่ยวข้องกับระบบหัวใจและหลอดเลือดหัวใจนั้นน่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง จำเป็นที่ต้องให้กุมารแพทย์โรคหัวใจทำการวินิจฉัย  รักษา ตรวจติดตาม และประเมินอาการ เพื่อให้คำตอบคุณพ่อคุณแม่ได้ชัดเจนที่สุดว่า ผู้ป่วยสามารถกลับมาวิ่งเล่นออกกำลังกายได้ตามปกติหรือไม่  

ดังนั้น การดูแลเด็กขึ้นอยู่กับความรุนแรงของผู้ป่วยแต่ละคน โดยจะมีกุมารแพทย์โรคหัวใจเป็นผู้ประเมินว่าผู้ป่วยสามารถกลับมาทำกิจกรรม ออกกำลังกายได้มากน้อยเพียงใด  

การรักษาภาวะ MIS-C ?

การรักษาภาวะ MIS-C มีความจำเป็นต้องได้ยากลุ่มต้านการอักเสบ และให้การรักษาตามอาการตามระบบต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ร่วมกับการติดตามประเมินอาการหลังจากได้รับการรักษาอย่างใกล้ชิด ในผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการหนักและอาจส่งผลรุนแรงถึงชีวิต จึงมีความจำเป็นในการดูแลรักษาและสังเกตอาการในหออภิบาลผู้ป่วยวิกฤต หรือ PICU โดยมีทีมกุมารแพทย์เวชบำบัดวิกฤตที่พร้อมให้การดูแลตลอด 24 ชั่วโมง ร่วมกับทีมกุมารแพทย์เฉพาะทางสหสาขาต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นกุมารแพทย์โรคติดเชื้อ โรคระบบหัวใจ ระบบทางเดินหายใจ ระบบทางเดินอาหาร ระบบสมองและประสาท โรคไต รวมถึงโรคเลือด และมีการติดตามอาการหลังจากอาการดีขึ้น เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถกลับไปใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างปกติต่อไป

เด็ก ๆ ควรป้องกันตัวเองอย่างไรไม่ให้ติดเชื้อโควิด-19

เมื่อเข้าสู่ระบบการเรียนการสอน on site ตามปกติแล้ว อีกหนึ่งหนทางที่จะป้องกันไม่ให้เด็กๆ ต้องพบกับภาวะ MIS-C ก็คือการดูแลตัวเองและป้องกันไม่ให้ติดเชื้อโควิด-19 เพราะอาการดังกล่าวจะเกิดตามหลังการติดเชื้อโควิด-19  

  • สร้างภูมิคุ้มกันให้เด็กๆ และคนในครอบครัว โดยฉีดวัคซีนโควิด-19 ตามเกณฑ์ที่ควรได้รับ โดย ณ ขณะนี้การฉีดวัคซีนโควิด-19 ในเด็ก ฉีดได้ตั้งแต่อายุ 5 ปีขึ้นไป (ข้อมูลปี 2022) 
  • สวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา โดยผู้ปกครองควรเลือกซื้อขนาดที่มีความเหมาะสมรับกับใบหน้าของเด็ก 
  • พกสเปรย์แอลกอฮอล์ เลือกแบบที่สะดวกในการใช้ให้กับเด็กๆ เช่น แบบห้อยคอ เพราะหากเก็บไว้ในกระเป๋าหรือโต๊ะอาจลืมฉีดหรือลืมทิ้งไว้ได้ 
  • หมั่นสอนให้เด็กๆ เว้นระยะห่างจากผู้อื่น อย่างน้อย 1 เมตร หรือ 1 ช่วงแขนขึ้นไป  โดยเฉพาะเมื่อพบเพื่อนหรือคนที่มีอาการป่วย เช่น ไอ หรือมีน้ำมูก  
  • เวลาทานข้าว โดยเฉพาะที่โรงเรียน หรือนอกบ้าน งดการรับประทานอาหารโดยใช้ช้อนส้อมหรือแก้วร่วมกับผู้อื่น ควรให้เด็กพกขวดน้ำ อาหารไปเอง  
  • ควรกำชับให้เด็กๆ ล้างมือให้สะอาด ทั้งก่อนและหลังรับประทานอาหาร  
  • สอนให้เด็กๆ ไม่พูดคุยกันระหว่างรับประทาน  
  • หากออกไปเล่นนอกสถานที่ ควรเลือกไปเล่นในบริเวณที่เปิดโล่ง มีอากาศถ่ายเท จะช่วยลดโอกาสการติดเชื้อได้อีกระดับหนึ่ง 
  • ระหว่างนั่งเรียนอยู่ในห้องแอร์ ให้สวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา ไม่นั่งใกล้ชิดกัน โดยให้เว้นระยะห่าง 1 – 2 เมตร 
  • ไม่เอามือจับหน้า จับตา ซึ่งควรต้องฝึกตอนอยู่ที่บ้านตลอดเวลาเพื่อให้เด็กๆ รู้สึกเคยชิน 

หลังเลิกเรียน เด็กๆ ต้องป้องกันตัวเองอย่างไร

  • ก่อนขึ้นรถกลับบ้าน ให้ล้างมือให้สะอาดด้วยสบู่เหลวหรือแอลกอฮอล์ 
  • เมื่อกลับถึงบ้านให้รีบอาบน้ำเปลี่ยนเสื้อผ้าก่อนทำอย่างอื่น  
  • ถอดเปลี่ยนเสื้อผ้าแล้วให้ใส่ตระกร้าซัก และพ่นสเปรย์แอลกอฮอล์ที่รองเท้า  

ผู้ปกครองควรฝึกหรือเตือนเด็กๆ ตามคำแนะนำนี้ทุกวัน เพื่อให้ปฏิบัติตามข้อแนะนำเหล่านี้ได้อย่างคล่องแคล่วเป็นขั้นเป็นตอนจนเคยชิน และนำไปปฏิบัติจนเป็นนิสัย ก็จะช่วยป้องกันการติดเชื้อได้ 

คะแนนบทความ

มีบัญชีผู้ใช้อยู่แล้ว?