โรคไข้เลือดออกเกิดจากเชื้อไวรัสเด็งกี่ โดยมียุงลายเป็นพาหะนำโรค สามารถระบาดได้อย่างรวดเร็ว เกือบครึ่งหนึ่งของประชากรโลกมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคไข้เลือดออก ในทุกๆ ปีมีประชากรจำนวน 390 ล้านคนทั่วโลกเป็นโรคนี้ โดยเป็นชนิดที่แสดงอาการทั้งหมด 96 ล้านคน และมีผู้ป่วยจำนวน 500,000 คนที่ต้องนอนรักษาตัวในโรงพยาบาลด้วยโรคไข้เลือดออกชนิดรุนแรง และ 2.5% ของจำนวนดังกล่าวนี้ต้องเสียชีวิตลง หรือเสียชีวิต 1.5 รายต่อชั่วโมงในแต่ละปี[2] โดยในปี พ.ศ. 2562 ประเทศไทย มีผู้ป่วยเป็นโรคไข้เลือดออกที่มีอาการ จำนวน 128,421 ราย และเสียชีวิต 133 ราย[4]
ปัจจัยสำคัญที่ทำให้โรคไข้เลือดออกเกิดการระบาด มีการขยายพื้นที่การติดต่อของโรคไปอย่างกว้างขวาง และเกิดการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสอย่างรวดเร็ว ได้แก่ การเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากร โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือมีการขยายชุมชนเมืองมากขึ้น มีจำนวนยุงลายบ้านมากขึ้นจากการเพิ่มจำนวนของภาชนะที่มีน้ำขังในชุมชน มีการเคลื่อนไหวของประชากรมากขึ้นจากการคมนาคมที่สะดวกมากขึ้นทั้งภายในและต่างประเทศ แม้ว่าจะมีร่างกายที่แข็งแรง อาศัยอยู่ในตัวเมืองที่มีสภาพแวดล้อมที่สะอาด แต่ก็ไม่สามารถมั่นใจได้ว่าจะไม่เสี่ยงต่อการเป็นโรคไข้เลือดออก
และยิ่งสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 ทำให้ระยะเวลาในการอาศัยอยู่ภายในบ้านมีมากขึ้น จึงอาจเป็นปัจจัยสำคัญปัจจัยหนึ่งที่ทำให้โรคไข้เลือดออก มีอัตราการระบาดของโรคที่สูงขึ้น
ยุงลายที่เป็นพาหะนำโรคไข้เลือดออก มี 2 ชนิด คือ
ยุงลายเป็นยุงสะอาด เพาะพันธุ์ในจุดที่มีน้ำใส นิ่ง ไม่ใช่ยุงที่อยู่ตามท่อระบายน้ำ หรือน้ำเน่าเสีย ยุงลายมักกัดคนในเวลากลางวัน ช่วงเวลาที่ชอบออกหากินมากที่สุด มี 2 ช่วง คือ 9.00-11.00 น. และ 13.00-15.00 น.
คนส่วนใหญ่คิดว่าโรคไข้เลือดออกเกิดจากไวรัสเด็งกี่เพียงแค่ชนิดเดียว แต่ในความเป็นจริงแล้วไวรัสเด็งกี่นั้นมีถึง 4 ชนิด ซึ่งในแต่ละชนิดมีความแตกต่างกัน หลังจากที่เราติดเชื้อไวรัสเด็งกี่ชนิดหนึ่งแล้ว ร่างกายจะมีภูมิคุ้มกันต่อเชื้อไวรัสเด็งกี่ ชนิดนั้นเท่านั้น เรายังสามารถเป็นโรคไข้เลือดออกจากไวรัสเด็งกี่ที่เหลืออีก 3 ชนิดได้ และมีความเป็นไปได้ที่ในคนๆ เดียว จะสามารถเป็นโรคไข้เลือดออกได้ถึง 4 ครั้ง ซึ่งนั่นมาจากการที่ติดเชื้อไวรัสเด็งกี่ที่ต่างชนิดกัน นอกจากนี้ การติดเชื้อไวรัสเด็งกี่ในครั้งต่อไปมีโอกาสที่จะมีอาการรุนแรงมากกว่าที่เคยติดเชื้อในครั้งแรก
จากการเก็บข้อมูลในช่วง พ.ศ. 2557-2561 โดยกรมควบคุมโรค ช่วงอายุที่พบผู้ป่วยไข้เลือดออกมากที่สุด คือ 15-44 ปี รองลงมา คือ 10-14 ปี
จากการศึกษา พบว่า ในผู้ที่มีอายุมากกว่า 9 ปีขึ้นไป พบว่าเคยติดเชื้อโรคไข้เลือดออกมาแล้วมากกว่า 80% และพบจำนวนผู้ที่เคยเป็นโรคไข้เลือดออกมากขึ้นเมื่ออายุมากขึ้น
ในทุกๆ ปี ประชากรทั่วโลกกว่าครึ่งล้านคนต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลจากการเป็นโรคไข้เลือดออกชนิดรุนแรง และมีราว 12,500 ราย ที่เสียชีวิตลง เด็กและผู้ที่เคยติดเชื้อไวรัสเด็งกี่มาแล้วและถ้าติดเชื้ออีกครั้งจะมีความเสี่ยงสูงที่โรคจะพัฒนาไปสู่โรคไข้เลือดออกชนิดรุนแรง แต่อย่างไรก็ตาม ผู้ที่ยังไม่เคยเป็นโรคไข้เลือดออกไม่ควรชะล่าใจว่าเป็นโรคไข้เลือดออกครั้งแรกจะไม่รุนแรง เพราะโรคไข้เลือดออกชนิดรุนแรงนั้นอาจเกิดขึ้นได้ตั้งแต่การติดเชื้อครั้งแรก อีกทั้ง 75% ของผู้ที่ติดเชื้อเด็งกี่จะไม่มีอาการ ผู้ที่ติดเชื้อมาก่อนจึงอาจไม่รู้ตัวว่าเคยติดเชื้อมาแล้ว
หากติดเชื้อไข้เลือดออก ให้สังเกตอาการที่สำคัญคือ
หากสงสัยว่าเป็นไข้เลือดออก ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัย หากเป็นไข้เลือดออก ช่วงที่ไข้ลดลงในวันที่ 3-4 ถ้ามีอาการซึม กินดื่มไม่ได้ ให้รีบมาพบแพทย์เพื่อรักษาให้ทันท่วงที หากจำเป็นต้องใช้ยา ควรใช้ยาลดไข้พาราเซตามอลเท่านั้น ห้ามใช้ยาแอสไพริน หรือกลุ่มยาเอ็นเสด เช่น ไอบูโปรเฟน เพราะจะทำให้เลือดออกในอวัยวะภายในได้ง่ายมากขึ้น ให้อาหารอ่อน และงดอาหารที่มีสีคล้ายเลือด เช่น แตงโม (เพราะเมื่ออาเจียนจะแยกไม่ออกว่าเป็นเลือดหรือไม่)
วิธีช่วยลดความเสี่ยงจากการติดเชื้อ คือ
ยุงลายทุกตัว รวมถึงตัวที่เป็นพาหะนำโรค มักชอบบินมากัดทางด้านหลังข้อเท้าและข้อศอกโดยที่เราไม่รู้ตัว ดังนั้น ไม่ว่าจะอยู่ที่ใด เราจึงต้องคอยระมัดระวังป้องกันไม่ให้ยุงกัด โดยใช้ยาทากันยุง กำจัดยุงภายในบ้าน หรือกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุง ซึ่งเป็นวิธีที่ง่าย ได้ผลดี ไม่สิ้นเปลืองค่าใช้จ่าย โดยการปิดภาชนะให้มิดชิด เทน้ำทิ้งเมื่อไม่ใช้ เทน้ำในจานรองกระถางต้นไม้ทิ้งอย่างสม่ำเสมอ หมั่นเปลี่ยนน้ำสำหรับสัตว์เลี้ยงทุกสัปดาห์ เก็บเศษภาชนะที่ไม่ใช้ทิ้งเพื่อไม่ให้มีน้ำขัง ปล่อยปลากินลูกน้ำ ใช้สารเคมีกำจัดลูกน้ำในกรณีที่ภาชนะไม่สามารถเทน้ำทิ้งหรือเปลี่ยนถ่ายได้บ่อยๆ
นอกเหนือจากการดูแลบ้านเรือนให้สะอาดไม่มีน้ำขัง เพื่อกำจัดวงจรการแพร่พันธุ์ของลูกน้ำยุงลายแล้ว ยังสามารถปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อรับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้เลือดออก
วัคซีนป้องกันโรคไข้เลือดออกที่มีใช้ในปัจจุบันเป็นวัคซีนเชื้อเป็น ป้องกันไวรัสเด็งกี่ได้ครอบคลุมทั้งหมด 4 ชนิด อาการข้างเคียงของวัคซีนป้องกันโรคไข้เลือดออกจะมีน้อยเมื่อเทียบกับวัคซีนอื่นๆ ส่วนใหญ่จะมีอาการปวด บวม แดง บริเวณที่ฉีดวัคซีน อาจพบอาการไข้ต่ำๆ และผื่นหลังจากฉีดวัคซีนบ้าง แต่สามารถหายได้เอง
วัคซีนสามารถลดโอกาสการเป็นโรคไข้เลือดออกชนิดรุนแรงได้ 84% ลดอัตราการเข้าพักรักษาตัวในโรงพยาบาลได้ 79%[3] และป้องกันโรคไข้เลือดออกทั้ง 4 สายพันธุ์แบบมีอาการได้ 82%[1] ในกลุ่มประชากรที่เคยติดเชื้อโรคไข้เลือดออกมาก่อนแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประเทศที่มีการระบาดของโรคในอัตราสูง เช่น ประเทศในแถบเอเชีย รวมถึงประเทศไทย องค์การอนามัยโลก (WHO) แนะนำให้ฉีดวัคซีนไข้เลือดออก[2]สำหรับผู้ที่มีอายุ 9-45 ปี และเคยติดเชื้อไวรัสเด็งกี่มาก่อน โดยฉีดจำนวน 3 เข็ม ที่ 0, 6 และ 12 เดือน
วัคซีนไข้เลือดออก ยังไม่สามารถป้องกันโรคได้อย่างสมบูรณ์ แม้จะฉีดวัคซีนครบแล้วก็ยังสามารถเป็นโรคได้เช่นเดียวกับวัคซีนป้องกันโรคอื่น ๆ และยังพบโรครุนแรงได้ในผู้ที่ฉีดวัคซีนแล้วด้วย การป้องกันไข้เลือดออกสามารถทำได้หลายวิธีร่วมกัน ได้แก่การป้องกันยุงกัด การกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุง รวมทั้งการใช้วัคซีน ดังนั้นหากมีอาการสงสัยว่าเป็นไข้เลือดออก จะต้องรีบมาพบแพทย์ไม่ว่าจะเคยได้รับวัคซีนมาก่อนหรือไม่ก็ตาม[6]
สมัครสมาชิกเพื่อจัดเก็บข้อมูลของคุณสำหรับการนัดหมายครั้งต่อไป
มีบัญชีผู้ใช้อยู่แล้ว? เข้าสู่ระบบที่นี่