เราไม่อยากให้ใคร “หัวใจสลาย”

เราไม่อยากให้ใคร “หัวใจสลาย”

HIGHLIGHTS:

  • ภาวะหัวใจสลาย (Broken heart syndrome) คือ ภาวะที่ความสามารถในการบีบตัวของหัวใจลดลงอย่างเฉียบพลัน จนมีอาการเจ็บหน้าอกรุนแรงอย่างกะทันหันคล้ายอาการของภาวะหัวใจขาดเลือด
  • ประมาณ 90% ของโรคหัวใจสลาย มักเกิดขึ้นกับผู้หญิง และ 80% เป็นผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน
  • อาการของหัวใจสลาย สามารถแยกโรคออกจากกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันได้ จากการฉีดสีดูหลอดเลือดหัวใจ (Coronary angiogram)

วาเลนไทน์เมื่อไหร่ เรามักเห็นใครต่อใครเดินจูงมือกันออกไปฉลองความรัก แต่ส่วนหนึ่งก็ผิดหวังจากความรัก

เชื่อหรือไม่ว่า? ความโศกเศร้าเสียใจหรือความเครียดอย่างมาก สามารถทำให้ “ใจสลาย” ได้จริงๆ

ภาวะหัวใจสลาย (Broken heart syndrome)

มีชื่ออย่างเป็นทางการว่า Stress-induced Cardiomyopathy, Takotsubo Cardiomyopathy หรือ Apical ballooning syndrome คือ ภาวะที่ความสามารถในบีบตัวของหัวใจลดลงอย่างเฉียบพลัน โดยสาเหตุของโรคยังเป็นที่ถกเถียงกัน แต่ทางการแพทย์ส่วนใหญ่เชื่อว่าเกิดจากฮอร์โมน Catecholamine ที่สูงขึ้นเฉียบพลันจากความเศร้าเสียใจหรือความเครียดอย่างมาก เช่น ความสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รักกระทันหันจากอุบัติเหตุ หรือเกิดจากการใช้ยาบางชนิด

โดยผู้ป่วยโรคนี้จะมีระดับฮอร์โมนความเครียดหลั่งออกมาสูงมากอย่างเฉียบพลัน (stress-induced catecholamine release) ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด

โรคหัวใจสลายมักเกิดกับใคร

จากการศึกษาพบว่า ประมาณ 90% ของผู้ป่วยเป็นผู้หญิง และ 80% เป็นผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน  ช่วงอายุที่พบบ่อย 58-77 ปี

อาการของหัวใจสลาย จะไม่สามารถแยกโรคออกจากกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันได้ จนกว่าจะได้รับการฉีดสีดูหลอดเลือดหัวใจ (Coronary angiogram) ซึ่งในผู้ป่วยที่แพทย์สงสัยว่าเป็นกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันนั้น มีประมาณ 1% ที่เป็น Stress-induced Cardiomyopathy

อาการของโรคหัวใจสลาย

ที่พบคือ เจ็บหน้าอกรุนแรงอย่างกะทันหันคล้ายอาการของภาวะหัวใจขาดเลือด นานหลายนาทีหรือเป็นชั่วโมง  หน้ามืด ความดันเลือดต่ำ หัวใจเต้นผิดจังหวะ หายใจลำบาก มีภาวะน้ำท่วมปอด

การดูแลรักษา

หลังจากได้รับการฉีดสีหลอดเลือดหัวใจ และวินิจฉัยแยกโรคจากกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันแล้ว แพทย์จะให้ยาที่ไปควบคุมการเต้นและการบีบตัวของหัวใจ รวมถึงแก้ไขปัจจัยที่ทำให้เกิดโรค (ซึ่งพบได้เพียง สองในสามในผู้ป่วยทั้งหมด)

ในกรณีที่เกิดจากความเครียด เหนือสิ่งอื่นใดคือ การดูแลสุขภาพจิตใจของผู้ป่วยด้วยการรับมือกับปัญหาและจัดการความเครียด โดยร่วมปรึกษาหารือกับครอบครัว และจิตแพทย์

References
  • Medina de Chazal H et al, J Am Coll. Cardiol 2018;72:1955-71.
  • Prasad A, Lerman A, Rihal CS. Apical ballooning syndrome (Tako-Tsubo or stress cardiomyopathy): a mimic of acute myocardial infarction. Am Heart J. 2008;155(3):408–17
  • Gianni M, Dentali F, Grandi AM, Sumner G, Hiralal R, Lonn E. Apical ballooning syndrome or takotsubo cardiomyopathy: a systematic review. Eur Heart J. 2006;27(13):1523–9
คะแนนบทความ

มีบัญชีผู้ใช้อยู่แล้ว?