เด็กตาบวม ตัวบวม ปัสสาวะเป็นฟอง อาจบ่งบอกอาการ “โปรตีนรั่ว”

เด็กตาบวม ตัวบวม ปัสสาวะเป็นฟอง อาจบ่งบอกอาการ “โปรตีนรั่ว”

HIGHLIGHTS:

  • อาการ หนังตาบนบวม ขาบวม เท้าบวม ตัวบวม หรือปัสสาวะเป็นฟองมาก ควรนึกถึงอาการ โปรตีนรั่ว ในปัสสาวะเนฟโฟรติก
  • โปรตีนรั่วในปัสสาวะเนฟโฟรติกในเด็ก การรักษาด้วยยาสเตียรอยด์ จะตอบสนองต่อการรักษาดีกว่าในผู้ใหญ่ ทั้งยังทำให้ลดความเสี่ยงจากการติดเชื้อซ้ำซ้อนในภาวะโรคกำเริบรุนแรง
  • การได้รับวัคซีนตามคำแนะนำ สามารถช่วยป้องกันการติดเชื้อที่เป็นเหตุกระตุ้นอาการโปรตีนรั่วในปัสสาวะเนฟโฟรติกได้

หากคุณพ่อคุณแม่สังเกตเห็นเด็กๆ มีอาการหนังตาบนบวม ขาบวม เท้าบวม ตัวบวม หรือปัสสาวะเป็นฟองมาก อาจเป็นกลุ่มอาการที่เรียกว่า อาการโปรตีนรั่วในปัสสาวะเนฟโฟรติก (Nephrotic syndrome) หรือที่เรียกว่า ไข่ขาวรั่วในปัสสาวะ

อาการที่พบ

  • บวมที่หนังตา บวมที่ขา หน้าเท้า ตาตุ่มด้านใน ท้องบวม หรือตัวบวมทั้งตัว
  • มีโปรตีนรั่วออกมาในปัสสาวะ ทำให้เกิดเป็นฟองในปริมาณมาก
  • มีระดับโปรตีนในเลือดต่ำ
  • มีระดับไขมันคลอเลสเตอรอลในเลือดสูง

สามารถเกิดได้ทุกช่วงอายุ แต่มักพบบ่อยในช่วงอายุ 1-8 ปี โดยมีสาเหตุการเกิดที่แตกต่างกันไป อาจพบว่ามีการอักเสบของเส้นเลือดฝอยที่หน่วยการกรองของไต ที่เรียกว่า glomerulus ทำให้มีการรั่วของโปรตีน อัลบูมิน Albumin ซึ่งเป็นส่วนประกอบที่สำคัญของร่างกายปนออกมาในปัสสาวะ จึงส่งผลให้เกิดอาการดังกล่าวข้างต้นขึ้น นอกจากนั้นยังสามารถทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนหลายอย่างตามมาได้

ภาวะ โปรตีนรั่ว ในปัสสาวะเนฟโฟรติก เกิดขึ้นกับใครได้บ้าง?

  • ในเด็ก ส่วนมากสาเหตุการเกิดยังไม่สามารถบอกได้ชัดเจน (idiopathic) แต่อาจพบความผิดปกติเพียงเล็กน้อยจากระดับการกรองของไต เรียกว่า minimal change disease ที่เหลืออาจจะมีความผิดปกติเป็นผังผืดบางส่วน หรือมีการหนาตัวของผนังการกรองของไต จะมีเพียงส่วนน้อยที่เกิดจากโรคที่ทราบสาเหตุ เช่น SLE การติดเชื้อไวรัส หรือเป็นภาวะแทรกซ้อนจากการใช้ยา
  • ในผู้ใหญ่ 30% ของสาเหตุความผิดปกติเกิดจากโรคประจำตัวเดิมของผู้ป่วย นั่นคือ เบาหวานและความดันโลหิตสูง ที่เหลือส่วนมากเป็นสาเหตุจาก การติดเชื้อ, ภาวะแพ้ภูมิตัวเอง SLE, ยา หรือโลหะหนักต่างๆ  มีเพียงส่วนน้อยที่ไม่ทราบสาเหตุ

ภาวะแทรกซ้อน

  • ตัวบวมท้องบวม อวัยวะเพศบวม
  • น้ำหนักเพิ่มขึ้นรวดเร็วอย่างผิดปกติ
  • มีน้ำในช่องปอด ช่องท้อง
  • ไขมันในเลือดสูง ระยะยาวหากไม่ตอบสนองต่อการรักษาตามปกติ ก็มีผลต่อเส้นเลือดที่หัวใจได้
  • เลือดข้นหนืด และเสี่ยงต่อเส้นเลือดอุดตัน
  • ติดเชื้อซ้ำซ้อนได้ง่ายและรุนแรง
  • ความดันโลหิตต่ำ
  • ปัสสาวะออกน้อย/ปัสสาวะไม่ออก/ไตวาย

ภาวะแทรกซ้อนต่างๆ เหล่านี้ถือว่าค่อนข้างอันตรายอย่างมาก จำเป็นต้องเฝ้าติดตามดูแลอย่างใกล้ชิด รวมทั้งการปฏิบัติตัวของผู้ป่วยเอง เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงขึ้น

การรักษาอาการโปรตีนรั่วในปัสสาวะเนฟโฟรติก

  • ใช้ยา Steroid ซึ่งถือเป็นยาที่เป็นมาตรฐานในการรักษา และพิจารณาเป็นอันดับแรก ซึ่งต้องใช้ระยะเวลาในการรักษาเป็นเวลาหลายเดือน โดยจะปรับตามการตอบสนองการรักษาและมาตรฐานการรักษาที่กำหนด โดยต้องเฝ้าระวังไม่ให้มีภาวะแทรกซ้อนรุนแรง
  • ใช้ยากดภูมิคุ้มกัน (กลุ่มที่ไม่ใช่สเตียรอยด์) โดยใช้เมื่อผู้ป่วยไม่ตอบสนองต่อการใช้ steroid ตามระยะเวลาที่กำหนด หรือตอบสนองเพียงเล็กน้อย หรือกลับเป็นซ้ำบ่อยครั้งจนไม่สามารถลด steroid ได้ หรือเพราะมีผลข้างเคียงจากยา steroid ค่อนข้างมาก ซึ่งยากลุ่มนี้มีหลายชนิดและราคาค่อนข้างสูง รวมทั้งสามารถเป็นพิษต่อไตได้ด้วย แนะนำให้มีการเจาะตรวจชิ้นเนื้อไต ก่อนการใช้ยา ตามแต่ชนิดของยาที่แพทย์พิจารณา
  • ยาขับปัสสาวะ มีการใช้ได้ทั้งแบบยาฉีดหรือยากิน ทั้งนี้แล้วแต่ความรุนแรงของโรค แต่แพทย์มักพิจารณาใช้ในผู้ป่วยที่ ตัวบวมมากหรืออวัยวะเพศบวมค่อนข้างมาก
  • การให้ Albumin ทางเส้นเลือดร่วมกับการให้ยาขับปัสสาวะ ทั้งนี้จะให้ในผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง บวมมาก มีภาวะน้ำเกินในร่างกายมาก ซึ่งเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนอันตราย ทั้งนี้เพื่อให้ผู้ป่วยมาอยู่ในระดับที่ปลอดภัยและใช้ยากินต่อไปได้
  • ในกรณีเป็นกลุ่มที่ทราบสาเหตุ ก็จะรักษาตามสาเหตุนั้นๆ ไป

ถึงแม้อาการโปรตีนรั่วที่เกิดกับเด็กๆ ส่วนมากจะเป็นกลุ่มอาการที่ไม่ทราบสาเหตุ แต่ไม่ต้องกังวลว่าจะรักษาไม่ได้  เพราะในทางกลับกันกลุ่มไม่ทราบสาเหตุนี้จะตอบสนองต่อการรักษาดีถึง  80%  จะมีเพียง 20% เท่านั้นที่การตอบสนองต่อการรักษาอาจจะช้าหรือตอบสนองไม่ดี

ในผู้ป่วยผู้ใหญ่ ซึ่งส่วนมากทราบสาเหตุการเกิด จะให้รักษาตามสาเหตุ และควบคุมรักษาโรคประจำตัวที่เป็นอยู่ให้ดีขึ้น ยาอื่นที่พิจารณาก็อาจเป็น ยาลดโปรตีนในปัสสาวะ ยาลดระดับไขมันในเลือด ยาป้องกันการแข็งตัวหรือลิ่มเลือดอุดกั้นผิดปกติ หรือ steroid ก็มีการใช้ตามข้อบ่งชี้

ส่วนที่สงสัยว่าอาการจะหายขาดไหมนั้น ส่วนที่ทราบสาเหตุก็ขึ้นอยู่กับว่าดูแลควบคุมได้ดีแค่ไหน อาจหายขาดได้ หรืออาจประคับประคองให้ดีได้ตามแต่ชนิดและสาเหตุการเกิด  แต่ส่วนที่ไม่ทราบสาเหตุซึ่งส่วนมากพบในเด็ก สามารถควบคุมอาการได้ แต่จะมีการกลับเป็นซ้ำได้เป็นระยะ โดยทั่วไปเด็กกลุ่มนี้ในปีแรกจะมีการกลับเป็นซ้ำประมาณ  50%  ตามลักษณะของตัวโรคเอง และ 80% จะมีการกลับเป็นซ้ำอย่างน้อย 2-3 ครั้งได้ แต่เมื่อผ่านพ้นช่วงที่พบโรคนี้ชุก เข้าสู่ช่วงวัยรุ่น โรคก็จะค่อย ๆน้อยลงจนหายไป

ปัจจัยการเกิดเป็นซ้ำในกลุ่มผู้ป่วยเด็ก

การติดเชื้อ ที่พบบ่อยคือการติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบน รองลงมาก็คือฟันผุ และการติดเชื้อพยาธิในทางเดินอาหาร ซึ่งควรเฝ้าระวังไม่ให้มีการติดเชื้อดังกล่าว และรีบมาพบแพทย์ ตรวจปัสสาวะซ้ำเมื่อพบว่ามีการติดเชื้อ

  1. การไม่ทานยาสม่ำเสมอตามที่แพทย์สั่ง ทำให้ควบคุมโรคได้ไม่ดีและมีการเกิดเป็นซ้ำหรือควบคุมโรคได้ยาก
  2. การกลับมาเป็นซ้ำจากธรรมชาติของตัวโรคเอง กลุ่มนี้คงไม่ต้องกังวลมาก แต่ก็ต้อง หาสาเหตุอื่นที่ทำให้กลับเป็นซ้ำอื่นร่วมด้วยและมารับการรักษา ร่วมกับทานยาและติดตามอาการอย่างเคร่งครัดตามที่แพทย์แนะนำ

การป้องกัน

ต้องระวังป้องกันการติดเชื้อตามที่แพทย์แนะนำ ทานยาและมาพบแพทย์ตามนัดสม่ำเสมอ

การใช้สเตียรอยด์ (Steroid) รักษาเด็กเนฟโฟรติก และผลข้างเคียงที่ควรรู้

สเตียรอยด์ เป็นยามาตรฐานที่ใช้ในการรักษาสำหรับกลุ่มอาการโปรตีนรั่วในปัสสาวะ Nephrotic syndrome นับว่ามีประสิทธิภาพในการรักษามาก ปัจจุบันสามารถลดระยะเวลาการใช้ยาให้สั้นลงจากเดิม จากที่เคยใช้เวลาให้ยานาน 2-7 เดือน เหลือเพียง 2-3 เดือนเท่านั้น ผลข้างเคียงจากการใช้ยาน้อย โดยสเตียรอยด์เป็นยาที่มีมานานและมีประโยชน์ในการรักษาโรคอย่างมาก ตั้งแต่ใช้สำหรับลดการอักเสบ รักษากลุ่มอาการจากภูมิแพ้ รักษาโรคภูมิคุ้มกันผิดปกติ โรคมะเร็ง เป็นต้น  ทั้งยังมีข้อบ่งชี้เป็นมาตรฐานการรักษาโรคหลายอย่าง และพบว่าประสิทธิภาพในการรักษาดี รวมทั้ง อาการโปรตีนรั่วในปัสสาวะด้วย

โดยสเตียรอยด์มีชื่อเล่นในกลุ่มชาวบ้านว่า “ยาผีบอก” เชื่อว่ารักษาโรคได้สารพัดเหมือนชื่อที่ตั้งให้ มีการปลอมปนเข้ามาในผลิตภัณฑ์ยาสมุนไพรยาลูกกลอนบางยี่ห้อ ทำให้อาการอักเสบบางอย่างดีขึ้นอย่างฉับพลัน ทำให้ผู้ใช้รู้สึกว่ายาได้ผลดี ได้รับยาแล้วอาการดีขึ้นอย่างรวดเร็ว

แต่ทั้งนี้ หากมีความจำเป็นต้องใช้ยาเป็นระยะเวลานาน ก็อาจจะทำให้มีผลข้างเคียงจากยาได้มากขึ้นและรุนแรงขึ้น ทั้งนี้ขึ้นกับว่าตอบสนองต่อการรักษาดีแค่ไหน อัตราการเกิดเป็นซ้ำบ่อยแค่ไหน ระดับยา ขนาดยาที่ให้ เป็นชนิดรับประทานหรือชนิดฉีด และระยะเวลาการทานยายาวนานมากน้อยแค่ไหนด้วย ซึ่งมีความจำเป็นต้องใช้ยากลุ่มกดภูมิคุ้มกันอื่นมาช่วย

10 ผลข้างเคียงหลักของการใช้สเตียรอยด์

  1. ผลต่อผิวหนังและความสวยงามcosmetic side effect  เช่น ใบหน้าบวมกลมเหมือนพระจันทร์ (Moon face) แก้มแดง มีผิวบางแตกท้องลาย (Purplish stria) ผิวหนังบางลง เวลาเกิดการกระแทกจะมีแผลฟกช้ำง่าย อาจมีโหนกที่หลังคอ (Buffalo hump) มีสิวที่หน้า หรือสังเกตมีลักษณะขนดก โดยเฉพาะใบหน้าและตามตัวแขนขา (Hirsutism) แต่ข้อดีในกลุ่มนี้ก็คือ หลังจากหยุดใช้ยา โดยเฉลี่ย 3-6 เดือน ลักษณะความผิดปกติต่างๆ เหล่านั้น สามารถกลับมาสู่ภาวะปกติได้
  2. น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นเร็ว อ้วน ยาสเตียรอยด์เพิ่มความอยากอาหารทำให้กินเก่งขึ้น มีน้ำหนักเกินผิดปกติ ทั้งนี้ยายังมีผลต่อการสะสมไขมันตามร่างกายที่ผิดปกติไป ทำให้มีการสะสมของไขมันตามส่วนแกนกลางร่างกาย คือ ใบหน้า หลังคอ หน้าท้อง เว้นแขนขา  แต่หากมีการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ส่วนไขมันที่สะสมก็จะเห็นผลข้างเคียงเพียงเล็กน้อย
  3. ผลต่อการเจริญเติบโตมีผลต่อฮอร์โมนทำให้กดการเจริญเติบโต ลูกจะตัวเตี้ย ไม่สูง ทั้งนี้เกิดจากผลที่ยาไปยับยั้งการสร้างและหลั่ง Growth Hormone ฮอร์โมนกระตุ้นการเจริญเติบโต และยับยั้งฮอร์โมนที่ไปมีผลต่อการเจริญเติบโตของกระดูก แต่ทั้งนี้ Nephrotic syndrome เอง ก็สามารถทำให้การเจริญเติบโตไม่ดีได้ เพราะการสูญเสียฮอร์โมนกระตุ้นการเจริญเติบโตไปทางปัสสาวะ โดยเฉพาะกลุ่มที่ตอบสนองต่อการรักษาไม่ดี หรือดื้อยา ทำให้ต้องมีการใช้สเตียรอยด์ในระยะยาวนานกว่าปกติ
  4. กดภูมิคุ้มกันของร่างกายเสี่ยงต่อการติดเชื้อโรคได้ง่าย ซึ่งเป็นผลจากยาเองที่มีฤทธิ์ไปกดภูมิคุ้มกันตามธรรมชาติ รวมทั้งกดต่อมหมวกไตและแกนการทำงานของระบบหมวกไต ทำให้ตอบสนองต่อการติดเชื้อผิดปกติ หรือจากการที่โปรตีนรั่วนี้เองที่จะทำให้ภูมิคุ้มกันในร่างกายทำงานได้ไม่ดีในการกำจัดเชื้อโรค ดังนั้นในผู้ป่วยโปรตีนรั่วทุกคนจะได้รับคำแนะนำถึงวิธีการป้องการติดเชื้อและการดูแลระหว่างที่มีการติดเชื้อร่วมด้วยเสมอ เพราะการติดเชื้อเป็นสาเหตุหลักของการกลับเป็นซ้ำบ่อยและทำให้ตอบสนองต่อการรักษาไม่ดี
  5. ความดันโลหิตสูงเกิดจากสเตียรอยด์ส่วนเกินที่มาจากตัวยาเอง ทำให้มีการกระตุ้นการทำงานของฮอร์โมนที่ไตส่วนควบคุมความดัน ให้ทำงานมากผิดปกติและทำให้เกิดความดันโลหิตสูง แต่หลังจากลดขนาดของสเตียรอยด์ให้ต่ำลง ระดังความดันโลหิตก็จะค่อยๆ ลดลง และกลับสู่ปกติได้ ทั้งนี้ขึ้นกับวิธีการให้ยา ชนิด ขนาดยาที่ให้และ ระยะเวลาที่ให้ร่วมด้วย
  6. เบาหวานไขมันในเลือดสูง มีผลต่อกลไกเมตาบอลิกของร่างกาย ทำให้กลไกการผลิตและการนำน้ำตาลไปใช้มีความผิดปกติ ทำให้มีปริมาณน้ำตาลในเลือดที่สูงขึ้น และเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นเบาหวานจากการชักนำของยาได้ ส่วนกลไกที่มีผลต่อไขมันก็ลักษณะคล้ายๆ กัน และยังมีการทำให้มีการสะสมไขมันตามร่างกายที่ผิดปกติร่วมด้วย ทำให้มีโหนกที่หลัง (buffalo hump) หรือมีไขมันสะสมตามหน้าท้อง ใบหน้า รวมถึงอวัยวะภายในช่องท้องด้วย
  7. กล้ามเนื้ออ่อนแรงในกลุ่มยาที่ใช้สำหรับการรักษาอาการด้วยสเตียรอยด์ ที่ชื่อว่า Prednisolone เป็นหลัก ซึ่งปกติเกิดผลข้างเคียงตรงนี้น้อย โดยมากมักจะเกิดในกลุ่มสเตียรอยด์ที่ใช้ในการฉีด เช่น Dexamethasone มากกว่า ซึ่งมักทำให้มีการอ่อนแรงของกล้ามเนื้อ การฝ่อตัวหรือมีการทำลายกล้ามเนื้อฉับพลันได้ ดังนั้นในกลุ่มที่ใช้ Prednisolone  จึงมักไม่ค่อยพบภาวะแทรกซ้อนด้านนี้นัก
  8. กระดูกบาง กระดูกพรุนจากผลของยาที่ไปกระตุ้นการทำงานของเซลล์เร่งการสลายของกระดูกมากกว่าปกติ และลดอัตราการสร้างเซลล์กระดูก ทำให้มีอัตราการทำลายกระดูกมากกว่าการสร้างตามปกติ มีผลให้กระดูกบางและเกิดกระดูกพรุนได้ แพทย์จึงมักจะให้แคลเซียมและแนะนำให้ทานอาหารที่มีแคลเซียมสูงร่วมด้วย
  9. ผลต่อสายตาและการมองเห็นเสี่ยงต่อการเป็นต้อกระจกหรือต้อหิน สามารถเกิดขึ้นได้และจะมีอาการเหมือนผู้สูงอายุที่เป็นต้อกระจกหรือต้อหิน ในเด็กมีแนวโน้มที่จะมีผลข้างเคียงต่อการเกิดต้อกระจกและต้อหินได้ง่ายกว่าโดยเฉพาะในกลุ่มที่ใช้สเตียรอยด์ระยะยาว ดังนั้นในกลุ่มที่ได้รับยาในระยะยาว แนะนำให้ตรวจตาทุกปี
  10. ผลต่ออารมณ์และพฤติกรรมมีอารมณ์และพฤติกรรมเปลี่ยน อาจจะหงุดหงิดง่าย หรือก้าวร้าวขึ้น ในเด็กบางราย บางครั้งในเด็กเล็กๆ อาจจะดูก้าวร้าว ซึ่งพ่อ แม่ต้องเข้าใจลูก นอกจากนั้นในวัยรุ่น ยายังมีผลข้างเคียงต่อความสวยงามด้วย ซึ่งภาพลักษณ์ภายนอกสำคัญสำหรับเด็กกลุ่มนี้มาก หากรูปลักษณ์ภายนอกเปลี่ยนก็ย่อมจะมีผลกระทบต่อจิตใจ เกิดภาวะซึมเศร้า ขาดความมั่นใจในตนเองและมีปัญหาในการเข้าสังคมได้ แต่ทั้งนี้ผู้ป่วยส่วนมากที่เกิดอาการด้านอารมณ์จากยาสเตียรอยด์ จะสามารถหายกลับมาเป็นปกติได้ และมีเพียงส่วนน้อยที่จะมีภาวะแทรกซ้อนนี้แบบรุนแรง

ดังนั้นในกลุ่มผู้ป่วยที่ได้รับผลข้างเคียงจากยาสเตียรอยด์ค่อนข้างมาก ก็จะมีการพิจารณากลุ่มยากดภูมิคุ้มกันตัวอื่นเข้ามาร่วมด้วย เพื่อลดความเสี่ยงและโอกาสในการเกิดภาวะแทรกซ้อนของสเตียรอยด์ที่เพิ่มมากขึ้น

การรักษา อาการโปรตีนรั่วเนฟโฟรติก จึงจำเป็นต้องติดตามผลการรักษา การเฝ้าระวังภาวะติดเชื้อ รวมถึงผลข้างเคียงจากยาร่วมด้วย ดังนั้นการติดตามอาการรักษาอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง เพื่อให้ได้การรักษาที่มีประสิทธิภาพสูงสุดและได้รับผลข้างเคียงจากยาน้อยที่สุดจึงมีความสำคัญมาก ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ป่วยและผู้ปกครองเองหากเข้าใจและตระหนักถึงความสำคัญ มารับการรักษาตามนัดอย่างต่อเนื่อง

การให้วัคซีนป้องกันโปรตีนรั่วในปัสสาวะในเด็ก

การป้องกันการติดเชื้อ

  1. หลีกเลี่ยงความเสี่ยงที่จะทำให้มีการติดเชื้อ
  • ควรล้างมือบ่อยๆ ทุกครั้ง ก่อนและหลังสัมผัสสิ่งสกปรกหรือคาดว่ามีการปนเปื้อนสิ่งสกปรก
  • หลีกเลี่ยงไม่ไปที่ชุมชนที่มีคนพลุกพล่าน ใส่ผ้าปิดปากปิดจมูกเพื่อป้องกันการติดเชื้อเมื่อจำเป็น
  • ไม่ไปเยี่ยมหรือสัมผัสกับผู้ป่วย
  • ทานอาหารปรุงสุกสะอาด หลีกเลี่ยงอาหารสดที่มีสิ่งปนเปื้อนทำความสะอาดยาก รวมถึงของหมักดองซึ่งมักมีความเสี่ยงต่อการปนเปื้อนเชื้อโรคสูง
  • สวมใส่รองเท้าให้เป็นปกติ และพยายามอย่าเดินเท้าเปล่าในพื้นที่สกปรกหากไม่จำเป็น
  • เมื่อเริ่มเจ็บป่วยไม่สบาย ควรปรึกษาและพบแพทย์ ร่วมกับการตรวจปัสสาวะเพื่อคัดกรองภาวะไข่ขาวรั่ว
  1. การดูแลความสะอาดช่องปากและฟัน และพบทันตแพทย์ตามแนะนำ
  2. การฉีดวัคซีนป้องกันโรคตามคำแนะนำ

การให้วัคซีนป้องกันโรคโปรตีนรั่วในปัสสาวะเนฟโฟรติก (เนฟโฟรติกซินโดรม)

  • ให้วัคซีนกลุ่มเชื้อตาย เมื่อปริมาณสเตียรอยด์ที่ได้รับขนาดที่น้อยกว่า 20 mg (วันเว้นวัน) ซึ่งถือว่าผู้ป่วยได้รับสเตียรอยด์ในขนาดต่ำแล้ว
  • ให้วัคซีนกลุ่มเชื้อเป็นขณะมีอาการของโรคหรือขณะรักษาไม่ได้ ต้องให้หลังหยุดยาและโรคอยู่ในระยะสงบ โดยหลังหยุดสเตียรอยด์แล้วอย่างน้อย 1 เดือน หรือหลังหยุดยากดภูมิอื่น อย่างน้อย 3 เดือน
ตารางการให้ยา วัคซีนที่ให้ได้ วัคซีนที่ควรหลีกเลี่ยง
 

 

  • ให้ยาขนาดต่ำและทานสเตียรอยด์วันเว้นวัน (< 20 mg วันเว้นวัน)

 

  • วัคซีนเชื้อตายหรือทำให้อ่อนแรง
  • วัคซีนสุกใส
  • BCG ป้องกันวัณโรค
  • Polio โปลิโอชนิดหยอด
  • MMR หัด หัดเยอรมัน คางทูม
  • JE ไข้สมองอักเสบเจอี
  • ยา Cyclophosphamide/ Tacrolimus
  • ไม่สามารถรับวัคซีนได้ทุกชนิด
  • หลีกเลี่ยงวัคซีนทุกชนิด
  • ระยะโรคสงบและหยุดยา
    • สเตียรอยด์ > 1 เดือน
    • Cyclophosphamide/ Tacrolimus/MMF > 3 เดือน
  • รับวัคซีนได้ทุกชนิด
 

 

 

 

  • ไม่มี

 

 

อ้างอิง:  Sickkids, Toronto

ความเสี่ยงของการให้วัคซีนในช่วงที่ไม่เหมาะสม

  1. เสี่ยงต่อการควบคุมโรคไม่ได้ หรือมีการกลับเป็นซ้ำของโรค ผ่านการกระตุ้นภูมิของร่างกายจากวัคซีนที่ได้รับ ที่ไม่จำเพาะของวัคซีนแต่ละชนิด
  2. วัคซีนจะกระตุ้นการสร้างภูมิได้ต่ำหรือไม่เพียงพอต่อการป้องกันโรค จากการถูกกดภูมิคุ้มกันจากยา หรือนับช่วงเวลาความผิดปกติของภูมิคุ้มกันเปลี่ยนไปจากเดิม
  3. การทำงานของภูมิคุ้มกันผิดปกติไปจากเดิม ต้องใช้ยากดภูมิในระยะเวลาที่ยาวนานขึ้นจากเดิม รวมทั้งการยังคงมีโปรตีน/ไข่ขาวรั่วในปัสสาวะนานกว่าปกติด้วย ซึ่งทำให้การวินิจฉัยเป็นกลุ่มไม่ตอบสนองต่อยา, ตอบสนองบางส่วน หรือเป็นกลุ่มดื้อยาไปเลย

*ดังนั้นจึงแนะนำให้มุ่งเน้นการรับวัคซีนตามตารางข้างต้นเป็นหลัก

ในกลุ่มผู้ป่วยโปรตีนรั่วเนฟโฟรติกจำเป็นต้องได้รับวัคซีนครบทั้งหมด และเน้นในกลุ่มวัคซีนดังต่อไปนี้

  1. วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ ควรได้รับทุกปี และผู้ที่ดูแลใกล้ชิดผู้ป่วยควรได้รับวัคซีนด้วยเช่นกัน เพื่อลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อมายังผู้ป่วย
  2. วัคซีนสุกใส
  3. วัคซีนนิวโมคอคคัส (Pneumococcal vaccine) ในเด็กๆ เราจะคุ้นชื้อ IPD วัคซีน ในผู้ใหญ่มักเรียกว่า “วัคซีนป้องกันปอดบวม” ซึ่งจริงๆแล้วในเด็กมีความสำคัญในการป้องกันมากกว่านั้น คือ
    • การติดเชื้อในกระแสเลือด
    • การติดเชื้อเยื่อหุ้มสมอง
    • การติดเชื้อในปอดที่รุนแรง
    • การติดเชื้อหูชั้นกลางอักเสบชนิดดื้อยา และเป็นแหล่งของการติดเชื้อในสมอง

วัคซีนนิวโมคอคคัส แบ่งเป็น 2 ชนิดวัคซีนหลักคือ

  • IPD วัคซีน: ในผู้ป่วยโปรตีนรั่วเนฟโฟรติก แนะนำให้ฉีด PCV13 เท่านั้น
  • Pneumococcal 23 วัคซีน (PPSV23)

ซึ่งแนะนำการรับวัคซีนตามด้านล่างนี้:  (อ้างอิง Redbook.solution.aap.org; Redbook2018)

อายุ 2-5 ปี:

  • เด็กที่ได้รับวัคซีนไม่ครบ
    • เคยได้รับ PCV13 (Prevnar13) แค่ 3 ครั้ง
    • ให้ฉีด PCV13 เพิ่มอีก 1 ครั้ง  (หลังที่เคยได้รับ PCV13 ครั้งก่อนหน้า อย่างน้อย 8 สัปดาห์)
    • เคยได้รับ PCV13 น้อยกว่า 3 ครั้ง
  • ให้ฉีด PCV13 อีก 2 ครั้ง (หลัง PCV13 ครั้งก่อนหน้าอย่างน้อย 8 สัปดาห์ และถัดไปอีก 8 สัปดาห์สำหรับ ครั้ง ถัดไป
  • เด็กที่ไม่เคยมีประวัติได้รับ Pneumococcal 23 วัคซีน (PPSV23)
    • ให้รับ Pneumococcal 23 วัคซีน 1 ครั้ง (หลัง PCV13 ครั้งก่อนหน้า อย่างน้อย 8 สัปดาห์)
    • และให้ ครั้ง ที่ 2 ห่างจาก ครั้ง แรกในอีก 5 ปีถัดไป

อายุ 6-18 ปี:

  • เด็กไม่เคยมีประวัติได้รับวัคซีนทั้ง PCV13 และ PPSV23
    • ให้รับ PCV13 1 ครั้ง และ PPSV23  2 ครั้ง (หลัง PCV13 ครั้งก่อนหน้า อย่างน้อย 8 สัปดาห์ และให้ ครั้งที่ 2 ห่างจาก ครั้งแรกในอีก 5 ปีถัดไป)
  • เด็กที่ได้รับ PCV13 ครบ แต่ไม่เคยได้ PPSV23
    • ให้รับ PPSV23 2 ครั้ง (หลัง PCV13 ครั้งก่อนหน้า อย่างน้อย 8 สัปดาห์ และให้ ครั้ง ที่ 2 ห่างจาก ครั้งแรกในอีก 5 ปีถัดไป)
  • เด็กที่ได้รับ PPSV23 แต่ไม่เคยได้รับ PCV13
    • ให้ 1 ครั้ง ของ PCV13 อย่างน้อย 8 สัปดาห์ หลังจาก PPSV23 ครั้งสุดท้าย และให้ ครั้ง ที่ 2 ของ PPSV23 ห่างจาก ครั้ง แรก 5 ปี และห่างจาก PCV13 ครั้งนี้อย่างน้อย 8 สัปดาห์

“ประเทศกำลังพัฒนา อาจมีการแยกเป็นวัคซีนบังคับและวัคซีนเสริม ซึ่งเป็นภาระของผู้ป่วยที่ต้องจ่ายค่าวัคซีนเอง ทำให้เข้าใจว่าเป็นเพียงวัคซีนเสริมไม่จำเป็นต้องรับก็ได้ ซึ่งประเทศพัฒนาแล้วทุกวัคซีนถูกบังคับให้ได้รับเกือบทั้งหมด”

คะแนนบทความ

มีบัญชีผู้ใช้อยู่แล้ว?