เหงื่อออกมือ ปัญหากวนใจ

เหงื่อออกมือ ปัญหากวนใจ

HIGHLIGHTS:

  • ไทรอยด์เป็นพิษ ซึ่งทำให้ร่างกายมีการเผาผลาญสูง อาจทำให้เกิดภาวะเหงื่อออกมือมากกว่าปกติได้
  • เหงื่อออกมือมากผิดปกติ ไม่ได้มีอันตรายถึงชีวิต แต่มีผลกระทบด้านจิตใจ การงานและการเข้าสังคม

หากพูดถึงอาการ “เหงื่อออกมือ” หลายคนคงนึกถึง โรคหัวใจ ขึ้นมาทันที เพราะอาจจะเคยได้ยินได้ฟังมา แต่ในความเป็นจริงแล้วการที่มีเหงื่อออกบริเวณมือมากกว่าปกติ โดยไม่สัมพันธ์กับอากาศร้อน ความเครียด หรือการออกกำลังกาย อาจเป็นภาวะเหงื่อออกมากผิดปกติ (Hyperhidrosis) ที่มีสาเหตุจากต่อมเหงื่อและประสาทอัตโนมัติ (Autonomic nervous system) ที่ควบคุมต่อมเหงื่อทำงานผิดปกติ

ทั้งนี้อาการของภาวะเหงื่อออกมากผิดปกติ มักเกิดขึ้นเฉพาะจุด อาจจะเกิดขึ้นที่บริเวณฝ่ามือ ฝ่าเท้า หรือรักแร้

เหงื่อออกแบบไหนจัดว่าผิดปกติ

คนเราทุกคนย่อมมีเหงื่อออกได้ แต่ถ้ามีเหงื่ออกในลักษณะต่อไปนี้อาจจัดว่าอยู่ในภาวะที่ผิดปกติ

  • เหงื่อออกมากจนเห็นได้ชัด แม้ในวันที่อากาศไม่ร้อน ไม่มีอาการตื่นเต้นหรือเครียด และไม่ได้เกิดขึ้นขณะออกกำลังกาย
  • เหงื่อออกไม่เป็นเวลา
  • เหงื่อออกมากจนรู้สึกว่ามีผลกระทบ หรือสร้างปัญหา ต่อการใช้ชีวิตประจำวัน การทำงาน บางคนอาจมีเหงื่อออกมามากโดยเฉพาะบริเวณมือ จนเขียนหนังสือหรือจับสิ่งของไม่ได้ จะจับมือกับใครก็ไม่มั่นใจ

สาเหตุของเหงื่อออกมากผิดปกติ

แบ่งเป็น 2 กลุ่มคือ

  • กลุ่มที่มีสาเหตุจากภาวะความผิดปกติในร่างกาย
    • ผู้ที่มีเหงื่อออกมือมากกว่าปกติในกลุ่มนี้ มักมีสาเหตุมาจากผลข้างเคียงของโรคอื่นๆ โดยเฉพาะโรคไทรอยด์เป็นพิษ ซึ่งทำให้ร่างการมีการเผาผลาญสูง ผู้ที่มีภาวะอ้วนหรือเป็นโรคอ้วน หญิงวัยใกล้หมดประจำเดือน การรับประทานยาบางชนิด
  • กลุ่มที่ไม่ทราบสาเหตุ
    • อาการของภาวะเหงื่อออกมากผิดปกติกลุ่มไม่ทราบสาเหตุ มักมีเพียงอาการเดียว คือ มีเหงื่อออกมากผิดปกติ เฉพาะจุด ที่พบบ่อย คือ ฝ่ามือ ฝ่าเท้า และรักแร้ เกิดจากการทำงานมากขึ้นของต่อมเหงื่อและการทำงานผิดปกติของประสาทอัตโนมัติ (Autonomic nervous system) ที่ควบคุมต่อมเหงื่อตามจุดนั้นๆ
    • ส่วนใหญ่มักพบในกลุ่มคนอายุน้อย แม้จะเป็นอาการเหงื่อออกมากผิดปกติที่ไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด แต่ก็พบว่ามีความสัมพันธ์กับพันธุกรรม โดยมีญาติสายตรง หรือพ่อแม่ที่มีภาวะเหงื่อออกมากผิดปกติได้เช่นกัน

อันตรายจากเหงื่อออกมือ

ปกติแล้วภาวะเหงื่อออกมือ ไม่ได้มีอันตรายร้ายแรงแต่อย่างใด จะมีแค่ในบางกรณีอาจสื่อถึงผลข้างเคียงของโรคอื่นๆ ได้เช่นกัน โดยเฉพาะโรคไทรอยด์เป็นพิษ เนื่องจากร่างกายมีการเผาผลาญสูง ส่วนโรคหัวใจ ไม่มีผลทำให้เหงื่อออกมือตามที่กล่าวถึงกันมาก

แม้การมีเหงื่อออกตามมือมากผิดปกติจะไม่เป็นอันตรายถึงชีวิต แต่การมีเหงื่อออกมากอาจสร้างความกังวลใจ ความไม่มั่นใจ และไม่กล้าเข้าสังคม ส่งผลให้คุณภาพชีวิตลดลง ดังนั้นจึงควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อรับการวินิจฉัยและรับการรักษาที่ตรงจุด โดยแพทย์จะดูจากลักษณะการออกของเหงื่อ ร่วมกับการตรวจร่างกายด้านอื่น ๆ เพื่อวางแผนการรักษาที่ต้นเหตุ เพื่อให้คนไข้กลับมาใช้ชีวิตได้อย่างมั่นใจมากขึ้น

สำหรับการรักษาอาการเหงื่อออกมือ มีตั้งแต่การเลือกใช้ยาระงับกลิ่นกาย ที่ทำให้ต่อมเหงื่อทำงาน การฉีดโบท็อกซ์ หรือการใช้กระแสไฟฟ้าที่เรียกว่า ไอออนโตฟอรีซีส (Iontophoresis) และการรักษาที่ได้ผลระยะยาวได้ และสามารถเห็นผลได้ทันที อย่าง การรักษาด้วยการผ่าตัดส่องกล้อง

คะแนนบทความ

มีบัญชีผู้ใช้อยู่แล้ว?