เที่ยวทะเล ให้ปลอดภัย

เที่ยวทะเล ให้ปลอดภัย

HIGHLIGHTS:

  • การรับประทานอาหารก่อนเดินทาง เป็นสาเหตุของการเมาเรือ เป็นเรื่องเข้าใจผิด เพราะจริงๆ แล้ว ยิ่งปล่อยให้ท้องว่าง จะยิ่งทำให้เมาเรือเร็วขึ้น
  • ตัวร้อนจัด มีอาการเพ้อ ความดันเลือดลดลง สับสน อาจเป็นสัญญาณเตือน “ลมแดด”
  • หากพบคนจมน้ำ ต้องทำการช่วยเหลือภายใน 4 นาที ก่อนที่ร่างกายขาดออกซิเจนส่งผลให้หัวใจหยุดเต้น

เตรียมตัวเที่ยวทะเล ให้ปลอดภัย

เรามักล้อกันเล่นเสมอว่า ประเทศไทยมี 3 ฤดู ร้อน ร้อนกว่า และร้อนที่สุด การได้ไปเที่ยวทะเลจึงเป็นเรื่องที่คนไทยคุ้นเคยกันดี โดยเฉพาะเด็กๆ เฝ้ารอให้ถึงฤดูร้อน (ที่สุด) เพื่อจะได้เล่นน้ำกันอย่างจุใจ แต่จะสนุกอย่างไรก็ห้ามมองข้ามความปลอดภัยนะครับ

อันตรายที่อาจเกิดจากการท่องเที่ยวทางน้ำ

เมาเรือ เวียนศีรษะ

อาการเมารถ เมาเรือ เป็นของคู่กันกับการเดินทาง ทำให้หลายคนหมดสนุกตั้งแต่ยังไม่ถึงจุดหมาย อาการเมาเกิดจากการเสียสมดุลของระบบประสาททรงตัว ซึ่งได้รับแรงกระตุ้น เช่น เมื่อนั่งรถผ่านทางโค้งมากๆ หรือนั่งเรือขณะมีคลื่น ทำให้เกิดการเหวี่ยงหรือโคลงเคลงเป็นเวลานาน จนประสาทการทรงตัวไม่สามารถรักษาสมดุลได้ เกิดอาการเวียนศีรษะ คลื่นไส้ และอาเจียน ซึ่งอาจเป็นเหตุให้ตกน้ำได้
ทั้งนี้ผู้ที่เมาเรือง่าย เคยเป็นโรคเวียนศีรษะ มีอาการบ้านหมุน หรือระบบประสาทการทรงตัวผิดปกติ ควรระวังการดำน้ำคนเดียว เพราะขณะดำน้ำต้องใช้ประสาทการทรงตัวอย่างมาก หากประสาทการทรงตัวไม่ดี อาจทำให้จมน้ำได้

โดนพิษของสัตว์ทะเลที่มีอันตราย

การไปเที่ยวทะเล คงเป็นไปไม่ได้ที่จะไม่ลงเล่นน้ำทะเล ซึ่งในทะเลมีสัตว์อาศัยอยู่หลากหลาย ทั้งมีพิษและไม่มีพิษ สัตว์ทะเลมีพิษที่พบบ่อยและควรระวังได้แก่ แมงกะพรุน โดยพิษในแมงกะพรุนเกิดจากเข็มพิษนีมาโตซิส(Nematocyst) ซึ่งมีความรุนแรงแตกต่างกันตามชนิดและขนาดตัว บางชนิดมีพิษน้อยไม่เป็นอันตราย แต่บางชนิดพิษร้ายแรงอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้โดยเฉพาะแมงกะพรุนไฟ สังเกตได้จากหนวดที่ยาวรุ่มร่าม พบได้ทั้งบนชายหาดและในทะเลลึก พิษของแมงกะพรุนจะอยู่บริเวณหนวดปะการังไฟ เป็นสัตว์น้ำมีพิษอีกชนิดที่ควรระวังอย่างมาก ดูผิวเผินอาจเหมือนปะการังสวยงามทั่วไป แต่มีพิษร้ายแรงเหมือนแมงกะพรุนไฟ พบตามชายหาดไปจนถึงน้ำลึกแทรกตัวอยู่กับปะการัง หากเข้าใกล้หรือไปเหยียบโดนมันจะยิงเข็มพิษออกมาทันที แม้พิษจะไม่มากเท่าแมงกะพรุนไฟ แต่ด้วยความตกใจอาจทำให้ผู้ที่ดำน้ำอยู่จมน้ำได้เม่นทะเล มีอยู่ 2 ชนิด คือ หนามใหญ่และหนามเล็ก โดยเม่นทะเลหนามใหญ่มักไม่มีพิษ แต่ความแหลมคมของหนามก็ทำให้เจ็บปวด สำหรับเม่นทะเลหนามเล็กบางชนิดจะมีหนามพิษอยู่ทางด้านล่างของลำตัวและปลายหนามมีถุงน้ำพิษ ในผู้ที่แพ้พิษอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้

โรคลมแดด

ขณะเที่ยวทะเลหลายคนอาจมองข้ามโรคลมแดด (Heat Stroke) เนื่องจากมีลมทะเลเย็นๆ พัดมาคลายร้อน แต่การอยู่กลางแดดนานๆ หรือในบริเวณที่ไม่มีอากาศถ่ายเทก็อาจทำให้เป็นลมแดดได้ ซึ่งสามารถเกิดได้กับทุกคนที่ร่างกายไม่สามารถปรับความสมดุลระหว่างร่างกายกับความร้อนภายนอก ทั้งนี้ยังควรระวังโรคลมแดดในกลุ่มผู้สูงอายุ ผู้เป็นโรคเรื้อรัง และเด็กเล็ก รวมถึงผู้ที่รับประทานยาคลายกล้ามเนื้อ และยานอนหลับ ข้อสังเกตเบื้องต้นคือตัวร้อนจัด อุณหภูมิอาจสูงถึง 41 องศาเซลเซียส บางรายมีอาการเพ้อ ความดันเลือดลดลง สับสน อาจร้ายแรงถึงขั้นหมดสติได้

จมน้ำ

เด็กกับการจมน้ำก็มักมาคู่กันเสมอ ยิ่งเล่นน้ำทะเลเพลินๆ อาจไม่ระวังตัว ลอยออกห่างจากฝั่งมากจนจมน้ำได้ แม้ในผู้ใหญ่บางคนที่ว่ายน้ำเป็น หากเกิดตะคริวหรือเล่นน้ำกลางแดดร้อนๆ อาจเป็นอันตรายถึงกับชีวิตได้เช่นกัน

วิธีป้องกันและช่วยเหลือเบื้องต้น

เมาเรือ เวียนศีรษะ

  • อย่าปล่อยให้ท้องว่าง อาจมีความเข้าใจผิดว่าการรับประทานอาหารก่อนเดินทาง เป็นสาเหตุของการเมาเรือ แต่ในความเป็นจริง ยิ่งปล่อยให้ท้องว่าง จะยิ่งทำให้เมาเรือเร็วขึ้น ดังนั้นก่อนออกเดินทาง หากเป็นเวลาของมื้ออาหารก็ควรรับประทานอาหารตามปกติ เคี้ยวช้าๆ และพักประมาณ 30 นาทีก่อนขึ้นเรือ
  • เลือกนั่งบริเวณกลางลำเรือและมีอากาศถ่ายเท มองออกไปไกล ๆ หลีกเลี่ยงการจ้องมองคลื่น และไม่ก้มหน้าอ่านหนังสือหรือเล่นโทรศัพท์มือถือ ซึ่งจะยิ่งทำให้เมาเรือได้ง่ายขึ้น
  • คนที่มีการอาการเมาเรือมาก อาจรับประทานยาแก้เมา 1 เม็ดประมาณครึ่งชั่วโมงก่อนลงเรือ เพื่อให้ยาสามารถดูดซึม ช่วยลดความไวต่อสิ่งกระตุ้นของประสาทการทรงตัว
  • พบแพทย์ เพื่อตรวจหาสาเหตุการเมาเรือ หากพบว่าเกิดจากประสาทการทรงตัวเสื่อม จะได้รับการรักษาอย่างถูกวิธี

โดนพิษของสัตว์ทะเลที่มีอันตราย

  • หลีกเลี่ยงบริเวณที่มีสัตว์ทะเลมีพิษ หรือช่วงที่มีการประกาศว่ามีแมงกะพรุนไฟระบาด ทั้งนี้การหาข้อมูลก่อนเดินทางก็สามารถช่วยให้ทราบล่วงหน้าได้
  • ไม่แตะตัวสัตว์ทะเล หรือใช้เท้าเขี่ย ไม่ว่าจะมีพิษหรือไม่มีพิษก็ตาม
  • หากโดนพิษของแมงกะพรุนไฟหรือปะการังไฟ ควรรีบขึ้นจากน้ำทะเลโดยเร็วที่สุด และหลีกเลี่ยงการใช้น้ำจืดล้าง เพราะน้ำจืดจะช่วยกระตุ้นพิษให้พิษกระจายมากขึ้น อย่าใช้มือเปล่าหยิบออกเด็ดขาด ให้ใช้หาผ้าหรือไม้เขี่ยออก จากนั้นให้รีบพบแพทย์ เพื่อรับการรักษาที่ถูกวิธี ป้องกันแผลติดเชื้อ
  • ถ้าถูกหนามของเม่นทะเล มักบ่งไม่ออกเนื่องจากหนามเปราะ ให้ใช้ของแข็ง เช่น ขวดน้ำ ท่อนไม้ หรือก้อนหิน ทุบลงไปตรงบริเวณหนาม เพื่อให้หนามแตกออกเป็นชิ้นเล็ก ความเจ็บปวดก็จะหายไป แต่หากอาการปวดไม่หายหรือแผ่ขยายวงกว้างขึ้น ควรรีบไปโรงพยาบาลโดยเร็วที่สุด

ลมแดด

  • ดื่มน้ำให้เพียงพอ อย่างน้อย 2 ลิตร/วัน
  • หลีกเลี่ยงการออกไปว่ายน้ำขณะแดดจัด
  • ควรสวมหมวกหากต้องการเดินเล่นกลางแจ้ง
  • หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์ รวมถึงยาบางชนิด หากเป็นผู้ป่วยเรื้องรัง ควรปรึกษาแพทย์ก่อนออกเดินทาง
  • ช่วยเหลือผู้มีอาการลมแดดด้วยการพาเข้าที่ร่ม ให้นอนราบและยกเท้าสูง เพื่อเพิ่มการไหลเวียนเลือด ใช้น้ำเย็นเช็ดตัวอาจเปิดพัดลมเป่าช่วยระบายความร้อน จากนั้นรีบนำส่งโรงพยาบาล

จมน้ำ

  • พักผ่อนให้เพียงพอ ไม่ดื่มแอลกอฮอล์ รวมถึงไม่รับประทานอาหารอิ่มเกินไปก่อนลงน้ำ เพราะอาจทำให้เป็นตะคริวที่ท้อง เป็นสาเหตุให้จมน้ำได้
  • หากเห็นธงสีแดงหรือสัญลักษณ์แสดงว่าเป็นเขตอันตรายหรือเป็นเวลาคลื่นสูง ไม่ควรฝ่าฝืนลงเล่นน้ำเด็ดขาด
  • หากว่ายน้ำไม่เป็น ควรสวมใส่เสื้อชูชีพหรือห่วงยาง และไม่ควรเล่นน้ำตามลำพัง
  • ไม่ว่ายน้ำหรือเล่นน้ำในบริเวณที่มีเรือหรือสกู๊ตเตอร์ที่แล่นด้วยความเร็วสูง
  • หากจะดำน้ำ ควรตรวจสอบสภาพอากาศ และปฏิบัติตามกฎระเบียบของพื้นที่บริเวณไปดำน้ำอย่างเคร่งครัด
  • หากถูกคลื่นลมซัดออกจากฝั่งไปไกล ให้โบกมือขอความช่วยเหลือ และใช้วิธีลอยตัวตามกระแสน้ำ รอจนกว่าจะมีคนมาช่วย ห้ามว่ายทวนน้ำเด็ดขาด เพราะอาจทำให้หมดแรง
  • หากพบคนจมน้ำ ควรขอความช่วยเหลือด้วยการเรียกหรือตะโกนเรียกให้ผู้มีความสามารถมาช่วย หรือโทรศัพท์เรียกหน่วยกู้ภัย

การช่วยชีวิตเด็กจมน้ำเบื้องต้น

หากพบเหตุการณ์เด็กจมน้ำ ต้องทำการช่วยเหลือภายใน 4 นาที ก่อนที่ร่างกายขาดออกซิเจนส่งผลให้หัวใจหยุดเต้นได้
ในกรณีที่เด็กรู้สึกตัว ให้รีบนำส่งโรงพยาบาลอย่างรวดเร็วที่สุด

กรณีหมดสติ ให้ตรวจชีพจรภายใน 10 วินาที

  • ถ้ายังมีชีพจร ให้ช่วยหายใจ 1 ครั้ง ทุก 3 วินาที และเริ่มกดหน้าอกถ้าชีพจรน้อยกว่า 60 ครั้ง/นาที
    • การช่วยหายใจโดย การเปิดทางเดินหายใจ เด็กนอนราบ กดหน้าผากลง เชยคางขึ้น ใช้นิ้วชี้ กับนิ้วหัวแม่มือบีบจมูก จากนั้นใช้ปากครอบลงบนปากของเด็ก แล้วเป่าลมเข้าไปจนสุดลมหายใจ สังเกตที่หน้าอกของเด็กว่าขยายหรือไม่
    • ทำซ้ำประมาณ 20 ครั้งต่อนาที (หรือเป่าปากครั้งละ 3 วินาที)
  • ไม่มีชีพจร หรือหัวใจหยุดเต้น ต้องทำการช่วยนวดกดกระตุ้นหัวใจทันที
    • การกระตุ้นหัวใจ โดยการกดหน้าอกตรงตำแหน่งกลางช่องอกใต้เส้นสมมติที่ลากระหว่างหัวนมทั้ง 2 ข้าง ประมาณ 1 ความกว้างของนิ้วมือ
    • กดโดยใช้สันมือในเด็กโต และใช้นิ้ว 2 นิ้วในเด็กเล็ก
    • กดให้ได้ความลึก โดยให้หน้าอกยุบลงอย่างน้อย 1/3 ของหน้าอก (1 ½ – 2 นิ้ว)
    • ความถี่ในการกดถ้าไม่มีผู้ช่วย ให้กดหน้าอก 30 ครั้ง สลับกับการช่วยหายใจ 2 ครั้ง ถ้ากรณีมีผู้ช่วยให้กดหน้าอก 15 ครั้ง ช่วยหายใจ 2 ครั้ง
  • ตรวจการหายใจ และชีพจรซ้ำทุก 2 นาที
  • การนวดกระตุ้นหัวใจสลับกับเป่าปาก จนกว่าหน่วยฉุกเฉินจะมาถึง หรือระหว่างทางการนำส่งจนถึง โรงพยาบาล

เมื่อฤดูท่องเที่ยวทะเลมาถึง หากมีการเตรียมตัวและหาข้อมูลให้พร้อม การเดินทางท่องเที่ยวก็จะมีแต่ความสนุกสนานและความทรงจำที่ดีตลอดไป

คะแนนบทความ

มีบัญชีผู้ใช้อยู่แล้ว?