ช่วงนี้อาจเห็นข่าวเด็กติดเชื้อ SARS-CoV-2 เยอะขึ้นพอสมควร พ่อแม่หลายคนมีความกังวลใจว่าจะดูแลลูกๆ อย่างไรไม่ให้มีความเสี่ยงหรือติดโรค COVID-19 หรือหากเรื่องร้ายแรงไปถึงขั้นที่ว่า หากเด็กเกิดการติดเชื้อแล้ว จะมีอาการรุนแรงหรือไม่ หรือต้องทำอย่างไรต่อไป แพทย์ผู้ชำนาญการด้านโรคติดเชื้อมีคำแนะนำมาให้เพื่อคลายข้อกังวลใจสำหรับคุณพ่อคุณแม่ ดังนี้
ในสถานการณ์การระบาดของโรค COVID-19 ตลอด 1 ปีที่ผ่านมา พบเด็กที่ติดเชื้อ SARS-CoV-2 ที่ก่อให้เกิดโรค COVID-19 ประมาณร้อยละ 13 ของผู้ป่วยทั้งหมด แต่ส่วนใหญ่จะมีอาการไม่รุนแรงหรือไม่มีอาการเลย และพบน้อยมากที่เด็กติดเชื้อแล้วมีอาการรุนแรงและต้องรับการรักษาในหอผู้ป่วยวิกฤตหรือใช้เครื่องช่วยหายใจ แต่อย่างไรก็ตาม เด็กก็มีแนวโน้มที่จะเกิดอาการรุนแรงหรือมีภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงได้ หากผู้ป่วยเด็กคนนั้นมีภาวะอ้วน เป็นโรคเบาหวาน โรคหอบหืด โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด โรคพันธุกรรมเมตาบอลิก หรือภาวะผิดปกติทางระบบประสาท
ส่วนในเด็กเล็กที่อายุต่ำกว่า 1 ขวบ หากติดโควิด-19 จะมีอาการมากกว่าเด็กโต เนื่องจากระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายยังพัฒนาได้ไม่ดีพอและช่องทางเดินหายใจยังมีขนาดเล็ก พูดให้เห็นภาพชัดขึ้นก็คือ มีลักษณะเหมือนเด็กที่เป็นโรคไข้หวัดใหญ่ ซึ่งจะมีปัญหาของระบบทางเดินหายใจ ส่วนเด็กที่ได้รับวัคซีนป้องกันการติดเชื้อแบคทีเรียที่รุนแรงก็จะป้องกันได้เฉพาะเชื้อที่ฉีดวัคซีนป้องกันไปเท่านั้น
สภาพแวดล้อมที่เด็กจะติดเชื้อ SARS-CoV-2 ได้ ก็ไม่ต่างจากในผู้ใหญ่ นั่นก็คือ การอยู่ใกล้ชิดผู้ป่วยหรือผู้ติดเชื้อ อยู่ในพื้นที่ที่มีผู้คนรวมกันอยู่มาก พบปะผู้คนโดยไม่มีการป้องกันโรค ไม่สวมหน้ากากอนามัย ไม่ทำความสะอาดร่างกาย ไม่รักษาระยะห่าง ผู้ที่อยู่ใกล้ชิดผู้ติดเชื้อทั้งที่มีและไม่มีอาการ ก็อาจติดเชื้อได้หากไม่มีการป้องกันการติดเชื้อที่เหมาะสมและดีพอ ไม่เว้นแม้แต่พ่อแม่ก็อาจติดเชื้อจากลูกที่ป่วยได้
ทั้งนี้ องค์การอนามัยโลก (WHO) และศูนย์ป้องกันและควบคุมโรคแห่งสหรัฐอเมริกา (CDC) ได้ให้คำแนะนำแนวทางสำหรับครอบครัวที่มีลูกเล็กในการป้องกันการแพร่เซื้อไวรัส SARS-CoV-2 ที่ก่อโรค COVID-19 จากเด็กที่ติดเชื้อไปสู่บุคคลอื่นไว้ ดังนี้
การดูแลและล้างมือให้สะอาดอยู่เสมอ (Keep your Hands Clean)
การเว้นระยะห่าง (Practice Social Distancing)
การทำความสะอาดและฆ่าเชื้อภายในบ้าน (Clean and Disinfected your Home)
การสวมใส่หน้ากากอนามัย (Wear Face Mask)
ที่สำคัญที่สุดคือ ควรพาเด็กไปรับการตรวจสุขภาพและรับวัคซีนตามนัด โดยเฉพาะเด็กอายุต่ำกว่า 2 ขวบ โดยเลือกรับบริการเฉพาะสถานพยาบาลที่แยกบริเวณเด็กป่วยกับเด็กไม่ป่วยออกจากกัน ไม่ให้ปะปนกันอย่างชัดเจน
โรงพยาบาลเด็กสมิติเวช ให้ความร่วมมือกับสถาบันการศึกษา ฉีดวัคซีนโควิด-19 สร้างภูมิคุ้มกันให้แก่เด็กๆ ตามนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการและกระทรวงสาธารณสุข ให้กับเด็กนักเรียนอายุ 12-18 ปี ต้องเตรียมตัวก่อนฉีดวัคซีน Pfizer อย่างไร และผลข้างเคียงจากการฉีดวัคซีน Pfizer ในเด็ก อาจทำให้มีอาการอย่างไรบ้าง อาการแบบไหนที่ควรรีบมาพบแพทย์ทันที อ่านเพิ่มเติมในภาพด้านล่าง
เด็กไม่ได้ฉีดวัคซีนโควิด-19 ต้องทำอย่างไร แล้ววัคซีนในเด็กที่ควรฉีดในช่วงนี้มีอะไรบ้าง
เด็กๆ ถึงจะยังไม่ได้รับวัคซีน COVID-19 แต่วัคซีนของเด็กๆ เองก็จะช่วยสร้างภูมิคุ้มกันให้เด็กๆ มีร่างกายที่เเข็งแรง ต่อสู้กับเชื้อโรคได้ ซึ่งมีทั้ง วัคซีนป้องกันโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ Hib , วัคซีนป้องกันโรคปอดอักเสบ Pneumococcal vaccine และวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ Influenza vaccine
สุดท้ายนี้ พ่อ แม่ ผู้ใหญ่ในบ้านควรปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรค COVID-19 เพื่อเป็นตัวอย่างที่ดีให้เด็กๆ สามารถทำตามได้
สมัครสมาชิกเพื่อจัดเก็บข้อมูลของคุณสำหรับการนัดหมายครั้งต่อไป
มีบัญชีผู้ใช้อยู่แล้ว? เข้าสู่ระบบที่นี่