เด็กหัวร้อน เพราะติดเกม

เด็กหัวร้อน เพราะติดเกม

HIGHLIGHTS:

  • เด็กสมาธิสั้น เด็กที่มีปัญหาทางอารมณ์ เด็กที่เป็นโรคซึมเศร้า อาจมีความเสี่ยงที่จะติดเกมมากกว่าเด็กทั่วไป
  • การให้เวลากับเด็กมากขึ้น พาเด็กออกไปนอกบ้านเพื่อไปทำกิจกรรมที่เด็กชอบ เพื่อไม่ให้พวกเขารู้สึกเหงาหรือเบื่อเป็นวิธีหนึ่งที่จะช่วยแก้ปัญหาเด็กติดเกมได้
  • หากคุณพ่อ คุณแม่ พยายามทำทุกวิถีทางเพื่อช่วยให้เด็กเลิกติดเกมแล้วแต่ไม่สำเร็จ ควรพาเด็กมาพบจิตแพทย์ เนื่องจากเด็กอาจจะป่วยและมีปัญหาด้านสุขภาพจิต

การเล่นเกมทำให้เด็กมีความสุข สนุก รู้สึกผ่อนคลาย แต่ถ้าเล่นทุกวันอาจทำให้เด็กติดเกมจนส่งผลกระทบต่อสุขภาพกาย สุขภาพจิต และการเรียนรู้ของเด็กได้ แล้วถ้าเด็กถูกบังคับให้เลิกเล่นเกมหรือหยุดเสพสื่อ อาจทำให้เกิดการต่อต้าน ไม่พอใจ หรือทำให้หงุดหงิดอย่างรุนแรงถึงขั้นอาละวาด ก้าวร้าว และมีปัญหาด้านพฤติกรรม

ปัจจัยที่ทำให้ เด็กติดเกม

ถ้าพูดถึงอุปกรณ์หรือสื่อที่เข้าถึงเด็กได้มากที่สุดในยุคนี้คงไม่พ้น เรื่องเกม ซึ่งสาเหตุของการติดเกมไม่ได้มีเพียงสาเหตุใดสาเหตุหนึ่ง แต่เกิดได้จากหลายปัจจัยผสมผสานและเกี่ยวข้องกันอยู่ อันได้แก่

1. การเลี้ยงดู

เราอาจมักพบเด็กติดเกมในครอบครัวที่มีภารกิจและหน้าที่การงานเยอะ ไม่ค่อยมีเวลากับลูกเท่าที่ควร ขาดตกบกพร่องด้านการฝึกวินัย ขาดการฝึกให้เคารพกฎ กติกา เมื่อพ่อแม่มีเวลาเมื่อใด อาจตามใจเด็กๆให้ทำในสิ่งต่างๆ เพราะอยากทดแทนเวลาให้กับลูก หรือบางครั้งพ่อแม่ก็ใจอ่อนไม่ลงโทษเมื่อเด็กกระทำผิด หรือการขาดเวลาคุณภาพที่สมาชิกในครอบครัวจะมีกิจกรรมร่วมกัน นั่นอาจสร้างความรู้สึกเหงาและเบื่อให้เด็ก เด็กจึงหันไปหากิจกรรมอื่นๆ ทำเพื่อให้สร้างความสุขและความเพลิดเพลินให้ตัวเอง ซึ่งคงไม่พ้นการเล่นเกม

2. สังคมที่เปลี่ยนแปลงไป

สังคมวัตถุนิยมยุคนี้มีเครื่องมือสร้างความสนุกตื่นเต้นให้เด็กมากมาย ขาดสถานที่ที่จะให้เด็กๆ ได้เรียนรู้สิ่งต่างๆ รอบตัวอย่างเพลิดเพลินและปลอดภัยหรือปลดปล่อยความเครียดจากการเรียนหนังสือหรือจากการใช้ชีวิตประจำวัน ทั้งนี้เองจึงทำให้เด็กหันไปใช้การเล่นเกมเป็นทางออก

3. ปัจจัยของตัวเด็กเอง

เด็กบางคนมีความเสี่ยงต่อการติดเกมมากกว่าเด็กคนอื่นๆ อาทิ เด็กสมาธิสั้น (ADHD) เด็กที่มีปัญหาทางอารมณ์ รวมถึงเด็กที่เป็นโรคซึมเศร้า เด็กที่มีปัญหาจากโรงเรียน เป็นต้น

การรับมือ เด็กติดเกม

  1. หากในบ้านยังไม่มีกฎหรือกติกาการเล่นเกม จำเป็นที่จะต้องพูดคุยกับเด็กและให้เด็กเข้ามามีส่วนร่วมใน การวางกติกา กำหนดเวลาการเล่น
  2. ให้เวลากับเด็กมากขึ้น รู้จักพาเด็กออกไปนอกบ้านเพื่อไปทำกิจกรรมที่เด็กชอบ เพื่อไม่ให้พวกเขารู้สึกเหงาหรือเบื่อ
  3. หลีกเลี่ยงการดุ บ่น ตำหนิ หรือใช้อารมณ์และถ้อยคำรุนแรง ลองเปลี่ยนจากการดุการบ่น เป็นการแสดงออกถึงความเห็นใจ
  4. ผู้ปกครองควรร่วมกันแก้ปัญหา และหาทางออกร่วมกัน กลุ่มพ่อแม่ที่ลูกติดเกมเหมือนกัน อาจต้องทำความรู้จักกันมากขึ้น โดยอาจจัดกิจกรรมหลังเลิกเรียน กิจกรรมวันหยุด เช่น ไปเที่ยวสวนสัตว์ สวนสนุก หรือกิจกรรมท่องเที่ยวนอกสถานที่หรือต่างจังหวัด ให้เด็กๆ ได้มีกิจกรรมทำ
  5. สำหรับเด็กที่ติดเกมมากจริงๆ จนมีพฤติกรรมก้าวร้าว แสดงการต่อต้านที่รุนแรง พ่อแม่อาจลองเล่นเกมกับเด็กดู หากพบว่าเป็นเกมที่รุนแรงไม่เหมาะสม ให้ลองหาทางเบี่ยงเบนความสนใจให้เด็กไปลองเล่นเกมอื่นที่คิดว่าดีและได้ประโยชน์กว่า ระหว่างเล่นเกมหรือหลังเล่นเกมนั้นจบ ให้นั่งคุยกับเด็กโดยดึงส่วนดีของเกมมาคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็น เพื่อเป็นการสอนไปในตัว เมื่อรู้สึกว่าเด็กเริ่มดีขึ้น ให้พ่อแม่หาทางดึงเด็กให้มาสนใจในกิจกรรมอื่น โดยอาจเริ่มให้ทำบ้างนิดหน่อย และทำบ่อยๆ เพื่อให้เกิดความเคยชิน
  6. หากทำทุกทางแล้วไม่สำเร็จ พ่อแม่ควรพาเด็กมาพบจิตแพทย์ เนื่องจากเด็กอาจจะป่วยและมีปัญหาด้านสุขภาพจิต เพื่อจะได้วินิจฉัย วางแผนการรักษาอย่างมีประสิทธิภาพและถูกต้องต่อไป
คะแนนบทความ

มีบัญชีผู้ใช้อยู่แล้ว?