“เซฟ” ก่อน “เซิร์ฟ” (สเก็ต)

“เซฟ” ก่อน “เซิร์ฟ” (สเก็ต)

HIGHLIGHTS:

  • การเล่นเซิร์ฟสเก็ต  เป็นการออกกำลังกายผสมผสานคาร์ดิโอและเวทเทรนิ่ง หากเล่นแบบต่อเนื่องจะช่วยเผาผลาญพลังงานต่อชั่วโมงมากถึง 400-600 กิโลแคลลอรี่   
  • ก่อนเล่นเซิร์ฟสเก็ต ทุกครั้งต้องวอร์มอัพร่างกายเช่นเดียวกับการออกกำลังกายอื่นๆ  เพื่อช่วยลดโอกาสบาดเจ็บของกล้ามเนื้อ และหลังเล่นเซิร์ฟสเก็ตควรมีการคูลดาวน์เพื่อให้กล้ามเนื้อผ่อนคลายเช่นกัน
  • การเล่นเซิร์ฟสเก็ตสามารถทำให้เกิดการบาดเจ็บได้กับทุกส่วนของร่างกาย การใส่อุปกรณ์เซฟตี้จะมีส่วนช่วยลดอาการบาดเจ็บได้มาก หากได้รับบาดเจ็บจากการเล่นที่ไม่รุนแรง ให้ประคบเย็นบริเวณที่เจ็บ รับประทานยาแก้ปวดและยาลดการอักเสบ หากอาการไม่ดีขึ้น ควรพบแพทย์

ณ เวลานี้คงไม่มีใครไม่รู้จักเซิร์ฟสเก็ต (Surf Skate)   กีฬาที่มาจากการผสมผสานระหว่างสเก็ตบอร์ดกับเซิร์ฟ ผู้เล่นต้องใช้การทรงตัวอยู่บนแผ่นกระดาน  เคลื่อนไหวด้วยการบิดสะโพกให้เกิดแรงเหวี่ยงเพื่อควบคุมทิศทาง และใช้เทคนิคการถ่ายเทน้ำหนักที่เท้าในการเลี้ยว  คล้ายการโต้คลื่นบนบกด้วยล้อ แล้วจะเล่นเซิร์ฟสเก็ตยังไงให้ปลอดภัย ก่อนอื่นก็คงต้องทำความเข้าใจกับมันก่อน เพราะนอกจากจะช่วยให้ไม่บาดเจ็บแล้ว ยังได้ร่างกายที่แข็งแรงอีกด้วย

คนวัยไหนก็เล่นเซิร์ฟสเก็ตได้ ?

การเล่นเซิร์ฟสเก็ตไม่ได้มีข้อจำกัดในเรื่องเกี่ยวกับสุขภาพหรืออายุของผู้เล่น แต่การเล่นต้องอยู่ในการดูแลและให้คำแนะนำโดยผู้เชี่ยวชาญอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะผู้ที่เริ่มต้นเล่น เพราะอาจเกิดอุบัติเหตุในจังหวะที่ไม่คาดคิด ทำให้เกิดการบาดเจ็บ ดังนั้นอายุจึงไม่ใช่ปัจจัยหรือข้อห้ามในการเล่นเซิร์ฟสเก็ต  แต่ขึ้นอยู่กับการฝึกฝนและความเชี่ยวชาญในการเล่น อย่างไรก็ตามผู้ที่มีโรคประจำตัวอาจเล่นได้ในเวลาที่จำกัดกว่าคนปกติทั่วไป หรือปรึกษาแพทย์ประจำตัวก่อนที่จะเล่น

เล่นเซิร์ฟสเก็ตยังไงให้ปลอดภัย

นอกจากการฝึกฝนและเริ่มต้นอย่างถูกต้องภายใต้การดูแลที่เหมาะสมแล้ว การเลือกขนาดของเซิร์ฟสเก็ตก็จะช่วยเพิ่มความปลอดภัยให้มากขึ้น  เซิร์ฟสเก็ตควรมีขนาดเหมาะสมกับสรีระของร่างกาย น้ำหนักและส่วนสูงของผู้เล่น เนื่องจากขนาดของบอร์ดที่ต่างกัน การรับน้ำหนักก็ต่างกัน  ทั้งนี้ยังรวมถึงอุปกรณ์เซฟตี้ต่างๆ ก็ควรมีให้พร้อม จะช่วยลดความรุนแรงของอาการบาดเจ็บได้ เช่น  หมวกกันน็อก สนับเข่า สนับศอก  อีกสิ่งสำคัญที่ไม่ควรมองข้ามคือสถานที่ การเล่นเซิร์ฟสเก็ตควรเล่นในสถานที่ที่มีความปลอดภัย ซึ่งปัจจุบันมีหลายสถานที่เปิดให้เล่น  มีคนคอยดูแล แนะนำ เพื่อช่วยลดความเสี่ยงและอันตรายจากการเล่นได้

ประโยชน์ของการเล่นเซิร์ฟสเก็ต

เซิร์ฟสเก็ตเป็นอุปกรณ์ที่พัฒนามาจากสเก็ตบอร์ด   แต่เซิร์ฟสเก็ตจะมีล้อที่สามารถเปลี่ยนมุมองศาได้  ผู้เล่นต้องขยับลำตัวและสะโพกเพื่อช่วยในการเคลื่อนที่ รวมถึงการถ่ายเทน้ำหนักตัวให้เกิดความสมดุลดังนั้นผู้เล่นจะอยู่ในท่าทางเหมือนกำลังทำสควอทตลอดเวลา  มีการศึกษาพบว่าการเล่นเซิร์ฟสเก็ต 1 ชั่วโมง ช่วยเผาผลาญพลังงานได้มากถึง  400-600 กิโลแคลลอรี่ หากเล่นแบบต่อเนื่อง  และยังช่วยเสริมสร้างกล้ามเนื้อแกนกลางและกล้ามเนื้อต้นขา เนื่องจากต้องใช้กล้ามเนื้อแกนกลางในการบังคับทิศทางของเซิร์ฟสเก็ต และกล้ามเนื้อต้นขาในการทรงตัว  ถือเป็นหนึ่งในการออกกำลังกายที่ดี 

การเตรียมตัวเล่นเซิร์ฟสเก็ต เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุหรือบาดเจ็บ

  • ผู้เล่นควรรู้ว่าตัวเองอยู่ระดับไหน หากเพิ่งเริ่มต้นควรอยู่ภายใต้การดูแลของผู้ชำนาญ  โดยมีคนคอยสอนหรือแนะนำ
  • มีอุปกรณ์เซฟตี้พร้อม
  • เซิร์ฟสเก็ตต้องได้มาตรฐานและปลอดภัย
  • เล่นในสถานที่เหมาะสม ปลอดภัย
  • สวมรองเท้าที่รัดกุม เช่น รองเท้าผ้าใบพื้นเรียบขนานไปกับตัวบอร์ด ให้มีแรงยึดเกาะบนตัวบอร์ดได้ดี
  • ก่อนเล่นทุกครั้งต้องวอร์มอัพร่างกายเช่นเดียวกับการออกกำลังกายอื่นๆ  เพื่อช่วยลดโอกาสบาดเจ็บของกล้ามเนื้อ ด้วยการยืดเหยียดกล้ามเนื้อ หรือวิ่งเหยาะๆ ให้กล้ามเนื้อยืดหยุ่น ผ่อนคลาย
  • หลังเล่นเซิร์ฟสเก็ตควรมีการคูลดาวน์เพื่อให้กล้ามเนื้อผ่อนคลาย
  • หากมีปัญหาสุขภาพที่เป็นข้อจำกัดในการเล่นเช่น ปัญหาที่หัวเข่าหรือหลัง อาจจะเล่นเป็นเวลานานต่อเนื่องไม่ได้

กรณีเกิดอุบัติเหตุจากการเล่นเซิร์ฟสเก็ตควรทำอย่างไร ?

การเล่นเซิร์ฟสเก็ตสามารถทำให้เกิดการบาดเจ็บได้กับทุกส่วนของร่างกายขึ้นอยู่กับว่าส่วนไหนที่ได้รับแรงกระแทก เช่น ข้อมือ ข้อศอก หัวไหล่ เข่า สะโพก การใส่อุปกรณ์เซฟตี้จะมีส่วนช่วยลดอาการบาดเจ็บได้มาก หากได้รับบาดเจ็บจากการเล่น ในเบื้องต้นมีวิธีการดูแลหรือปฐมพยาบาลเบื้องต้นดังนี้

  • สำรวจตัวเองว่าบาดเจ็บส่วนไหน มีอาการบวม ผิดรูปหรือไม่ สามารถลงน้ำหนักในส่วนที่บาดเจ็บได้หรือไม่
  • ประคบเย็นบริเวณที่เจ็บ
  • ไม่ควรขยับอวัยวะที่บวม ผิดรูป หรือลงน้ำหนักไม่ได้
  • รับประทานยาแก้ปวดหรือยาลดการอักเสบ
  • รีบขอความช่วยเหลือและพบแพทย์ทันที หากพบว่ามีอาการบวม  ผิดรูป หรือลงน้ำหนักไม่ได้  
  • สังเกตอาการ หากประคบเย็น รับประทานยาแก้ปวด และยาลดการอักเสบแล้วอาการไม่ดีขึ้น ควรพบแพทย์

การรักษากรณีบาดเจ็บรุนแรง

การบาดเจ็บจากการเล่นเซิร์ฟสเก็ตส่วนใหญ่เกิดจากอุบัติเหตุ กรณีบาดเจ็บรุนแรง แพทย์จะวินิจฉัยด้วยการเอกซเรย์ ซีทีสแกน หรือเอ็มอาร์ไอ (หากจำเป็น) เพื่อตรวจดูกระดูกหรือข้อที่บาดเจ็บรวมถึงอาการบาดเจ็บร่วมอื่น ๆ  อย่างในกรณีที่ ลูกสะบ้าแตก อาจเกิดจากการกระแทกโดยตรง ล้มแล้วเข่าไปกระแทกของแข็ง พื้น หรือบอร์ด จนทำให้ลูกสะบ้าแตกหรือร้าว การรักษาขึ้นกับว่ากระดูกที่แตกมีการเคลื่อนออกหรือไม่ ถ้าลูกสะบ้าแค่ร้าว สามารถรักษาแบบไม่ผ่าตัดได้ แต่หากกระดูกเคลื่อนออกเห็นได้ชัดจากการเอกซเรย์ จำเป็นต้องรักษาด้วยการผ่าตัด ซึ่งโดยปกติแล้วหากลูกสะบ้ามีการกระแทกอย่างรุนแรงมักจะแตกและเคลื่อน เพราะลูกสะบ้าเป็นกระดูกที่อยู่ภายใต้แรงดึงของเส้นเอ็น ซึ่งจะใช้วิธีการผ่าตัดแบบเปิด แล้วใช้วัสดุยึดกระดูกให้เข้าที่    ซึ่งหากลูกสะบ้าไม่เข้าที่จะมีผลต่อผิวสัมผัสบริเวณข้อเข่าส่งผลต่อการใช้งานได้

การเล่นเซิร์ฟสเก็ต  เป็นการออกกำลังกายผสมผสานคาร์ดิโอและเวทเทรนนิ่ง ที่เผาผลาญพลังงานต่อชั่วโมงมากถึง 400-600 กิโลแคลลอรี่    สามารถเล่นได้ทุกเพศทุกวัย โดยผู้มีโรคประจำตัวควรเล่นในเวลาที่เหมาะสม ไม่ฝืนร่างกาย  ควรเลือกตัวเซิร์ฟสเก็ตให้เหมาะสมกับตัวผู้เล่น สวมอุปกรณ์เซฟตี้ทุกครั้ง เลือกเล่นภายใต้ผู้ดูแลที่มีประสบการณ์ ในสถานที่ที่ปลอดภัย ไม่ลืมที่จะวอร์มอัพและคูลดาวน์ หากเกิดอุบัติเหตุควรปฐมพยาบาลเบื้องต้น กรณีรุนแรงควรรีบพบแพทย์ทันที เพียงเท่านี้การเล่นเซิร์ฟสเก็ตก็จะได้ทั้งประโยชน์ สนุกสนานและปลอดภัย

คะแนนบทความ

มีบัญชีผู้ใช้อยู่แล้ว?