เคล็ดลับ เลิกบุหรี่

เคล็ดลับ เลิกบุหรี่

HIGHLIGHTS:

  • การสูบบุหรี่เป็นประจำเป็นการเพิ่มความเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพหลายอย่าง เช่น โรคหลอดเลือดสมองและหัวใจ โรคมะเร็งปอดและโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง
  • ผู้ที่ “หักดิบ” ในครั้งเดียวมักจะประสบความสำเร็จในการเลิกบุหรี่ได้มากกว่าผู้ที่ค่อย ๆ ลดจำนวนการสูบลง
  • มียาที่สามารถช่วยลดความอยากบุหรี่ลงได้ บางชนิดสามารถหาซื้อได้ตามท้องตลาด ในขณะที่บางชนิดจำเป็นต้องได้รับการสั่งโดยแพทย์เท่านั้น เนื่องจากยาอาจมีผลข้างเคียง และมีข้อห้ามใช้ในผู้ที่มีโรคประจำตัวบางชนิด เช่น โรคหัวใจ โรคลมชัก เป็นต้น

เลิกสูบบุหรี่ ดีอย่างไร

เป็นที่ทราบกันดีว่าการสูบบุหรี่เป็นประจำสามารถก่อให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพได้หลายประการ ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดสมองและหัวใจ โรคมะเร็งปอดและโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง รวมไปถึงผลกระทบที่อาจมีต่อบุคลิกภาพได้ ยิ่งไปกว่านั้น ผู้คนรอบข้างที่ได้สูดดมควันบุหรี่ก็มีผลกระทบต่อสุขภาพด้วยเช่นกัน ดังนั้นการเลิกสูบบุหรี่จึงได้ประโยชน์ในแง่สุขภาพทั้งต่อตัวผู้สูบเอง ญาติและบุคคลรอบข้าง อีกทั้งยังได้ประโยชน์ในแง่สังคม เช่น เป็นแบบอย่างที่ดีแก่ลูกหลานได้ เป็นต้น

ทำไมสูบบุหรี่ถึง “ติด”

นิโคติน (Nicotine) คือสารชนิดหนึ่งที่อยู่ในบุหรี่ ทำให้มีการหลั่งสารสื่อประสาทชื่อ โดปามิน (Dopamine) ซึ่งทำหน้าที่ก่อให้เกิด “ความสุข” และ “ความพึงพอใจ” ดังนั้นผู้ที่สูบบุหรี่เป็นประจำ เมื่อไหร่ก็ตามที่หยุดสูบ หรืออยู่ในช่วงระหว่างที่ไม่ได้สูบบุหรี่ เช่น นั่งเครื่องบินเป็นเวลานาน ระดับของสารสื่อประสาทโดปามินในสมองจะลดลง ทำให้เกิดความรู้สึก “อยากบุหรี่” ขึ้นมาเพื่อจะทำให้ระดับของสารโดปามินกลับมาอยู่ในระดับที่สูงขึ้น  การสูบบุหรี่ในหลาย ๆ ครั้งของผู้ที่สูบบุหรี่เป็นประจำเป็นเพียงกิจวัตร หรือมีตัวกระตุ้น (Trigger) เช่น หลังดื่มกาแฟจะต้องสูบบุหรี่ หรือแม้กระทั่งก่อนเข้านอนจะต้องสูบบุหรี่  ทั้ง ๆ ที่อาจจะไม่ได้มีอาการ “อยากบุหรี่” เลยก็ตาม

อยากเลิกสูบบุหรี่ ต้องทำอย่างไร

  1. สิ่งสำคัญที่สุดของกระบวนการเลิกสูบบุหรี่คือ การตัดสินใจที่แน่วแน่และการตั้งเป้าหมายของการเลิกสูบบุหรี่ หากมีเป้าหมายที่แน่วแน่โอกาสที่จะประสบความสำเร็จในการเลิกสูบบุหรี่ ก็จะเพิ่มมากขึ้น เช่น ตั้งเป้าจะเลิกให้ได้ใน 2 สัปดาห์ หรืออาจจะเลิกบุหรี่เพื่อให้เป็นของขวัญในวันเกิดของลูก เป็นต้น
  2. รู้เท่าทันอาการ “อยากบุหรี่” เพื่อจะได้เตรียมตัวและรู้แนวทางการปฏิบัติตนเมื่อมีอาการ คนที่พยายามจะเลิกบุหรี่แต่ไม่ประสบผลสำเร็จ ส่วนหนึ่งมาจากการไม่สามารถทนต่ออาการอยากบุหรี่ได้ อาการดังกล่าวคือ หงุดหงิด กระวนกระวาย วิตกกังวล เครียด นอนไม่หลับ ปวดศีรษะ เป็นต้น โดยอาการที่ว่านี้จะปรากฎในช่วง 2-4 สัปดาห์แรกของการหยุดสูบบุหรี่ หากพ้นระยะนี้ไปแล้ว อาการเหล่านี้จะค่อย ๆ ลดลงจนหายไปในที่สุด
  3. เมื่อเราทราบว่ากำลังมีอาการ “อยากบุหรี่” สิ่งที่ต้องทำคือเบี่ยงเบนความสนใจ เพื่อไม่ให้มีการหยิบมวนบุหรี่ขึ้นมาสูบ เช่น ออกกำลังกาย หางานอดิเรกทำ ดูหนัง ฟังเพลง ดื่มน้ำมาก ๆ ฝึกหายใจลึก ๆ ทำสมาธิ โดยส่วนใหญ่อาการ “อยากบุหรี่” จะมีอาการมาก ๆ ในช่วง 3-5 นาทีแรกเท่านั้น ดังนั้นหากสามารถผ่านช่วงเวลาสั้น ๆ นี้ไปได้ ก็จะเกิดอาการอยากบุหรี่ลดลง
  4. สภาพแวดล้อมมีส่วนสำคัญต่อการช่วยให้การเลิกสูบบุหรี่นั้นประสบความสำเร็จได้มากขึ้น ยกตัวอย่างเช่น เก็บซองบุหรี่ให้พ้นระยะสายตา พยายามลดการพบปะหรืออยู่กับกลุ่มเพื่อนที่สูบบุหรี่ในช่วงที่พยายามเลิกบุหรี่ รวมไปถึงกำลังใจจากคนในครอบครัวก็มีความสำคัญไม่น้อย เพราะเป็นแรงผลักดันให้ผู้ที่กำลังจะเลิกสูบบุหรี่สามารถบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ได้
  5. มีงานวิจัยว่าผู้ที่สามารถ “หักดิบ” ในครั้งเดียวมักจะประสบความสำเร็จในการเลิกบุหรี่ได้มากกว่าผู้ที่ค่อย ๆ ลดจำนวนการสูบลง

ยาช่วยให้เลิกบุหรี่

ในปัจจุบันมียาที่สามารถช่วยลดการอยากบุหรี่ได้อยู่หลายชนิด โดยที่มีใช้ในประเทศไทยคือชนิดที่มีส่วนผสมของนิโคตินในปริมาณต่ำในรูปของหมากฝรั่งและแผ่นแปะผิวหนัง และยาชนิดเม็ดรับประทานชื่อ Bupoprion และ Varenicline (ตัวหลังนี้ยังไม่มีในประเทศไทย) ยาชนิด Nicotine ในรูปของหมากฝรั่งและแผ่นแปะสามารถหาซื้อได้ตามร้านขายยาทั่วไป แต่สำหรับยาเม็ดชนิดรับประทานนั้น จำเป็นต้องได้รับการสั่งโดยแพทย์เท่านั้น เนื่องจากยาอาจมีผลข้างเคียงได้ และยังมีข้อห้ามใช้ในผู้ที่มีโรคประจำตัวบางชนิด เช่น โรคหัวใจ โรคลมชัก เป็นต้น

คะแนนบทความ

มีบัญชีผู้ใช้อยู่แล้ว?