ด้วยไลฟ์สไตล์และวิถีชีวิตของผู้คนในยุคปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไปมากจากยุคก่อน คนมีความเร่งรีบมากขึ้น จึงทำอะไรด้วยความไม่ระมัดระวังอยู่เสมอ การเดินก็มีโอกาสพลัดตกหกล้มได้ง่าย การขับขี่ก็เสี่ยงต่อการบาดเจ็บมากยิ่งขึ้น เพราะด้วยความเร่งรีบคนมักจะขับขี่ด้วยความเร็ว อีกทั้งกระแสสังคมเริ่มให้ความสนใจกับการออกกำลังกายใหม่ๆ โอกาสที่จะทำให้ร่างกายบาดเจ็บก็จึงมีมากขึ้นตามไปด้วย หมอจึงไม่แปลกใจเลยว่าในวันหนึ่งๆ ทำไมถึงมีคนไข้ที่มีปัญหาเรื่องกระดูกและข้อ อย่างข้อไหล่ ข้อสะโพกและข้อเข่า เข้ามาพบหมออย่างน้อย 5 – 6 คนต่อวัน และยิ่งโดยเฉพาะข้อเข่า เพราะเป็นข้อที่เกิดการบาดเจ็บได้บ่อยที่สุดในร่างกาย และปัญหาข้อเข่าที่พบได้บ่อยมากๆ ก็คืออาการ เข่าบวมน้ำ เชื่อว่าหลายๆ คนอาจจะไม่รู้จัก หมอจึงขอมาให้ความรู้ในเรื่องนี้กันในครั้งนี้
เข่าบวมน้ำคือลักษณะของความผิดปกติอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นกับอวัยวะโครงสร้างภายในของข้อเข่า ซึ่งจะสังเกตเห็นได้ค่อนข้างชัดเจนว่า ข้อเข่าด้านในตรงบริเวณลักยิ้มใกล้ๆ ลูกสะบ้าจะไม่มีรอยบุ๋ม คือจะมีน้ำดันออกมาจนดูบวมขึ้นใหญ่ขึ้น ลักษณะนี้ก็คือเข่าบวมน้ำนั่นเอง
ก่อนอื่นเลยเราต้องทำความเข้าใจกับเรื่องของสรีระของข้อเข่าก่อน ซึ่งในข้อเข่านั้นมีอวัยวะสำคัญอันเป็นโครงสร้างที่ให้ความมั่นคงของข้อเข่า อยู่ 5 ชนิด คือ กระดูกอ่อนรองข้อเข่า (Articular cartilage) เอ็นไขว้หน้า (Anterior Cruciate Ligament-ACL) เอ็นไขว้หลัง (Posterior Cruciate Ligament-PCL) หมอนรองกระดูก (Meniscus) และ เยื่อหุ้มข้อ (Synovial membrane) เมื่อไหร่ที่เกิดอันตรายกับอวัยวะเหล่านี้ หรือเกิดการอักเสบของโครงสร้างทั้ง 5 นี้อย่างใดอย่างหนึ่ง เข่าก็จะทำการป้องกันตนเอง จึงกระตุ้นให้เยื่อหุ้มข้อ (Synovial membrane) สร้างสารน้ำขึ้นมาเพื่อป้องกันตนเอง ให้นึกถึงการตั้งครรภ์ของคุณสุภาพสตรีที่มีการสร้างน้ำคร่ำป้องกันตัวเด็กไว้ ตัวน้ำที่ถูกสร้างขึ้นมานั้นจะช่วยลดแรงกระทำจากภายนอก ข้อเข่าก็เป็นเช่นนั้นไม่ต่างกัน ดังนั้น ถ้าถามว่าสาเหตุอะไรบ้างที่ทำให้เข่าสร้างสารน้ำขึ้นและนำไปสู่อาการเข่าบวมน้ำก็สามารถอธิบายสาเหตุใหญ่ๆ ได้ดังนี้
ส่วนใหญ่ที่มาพบแพทย์ด้วยอาการเข่าบวมน้ำนั้น คนไข้ก็จะมีอาการเข่าบวมใหญ่ขึ้น ซึ่งจะสังเกตเห็นได้ค่อนข้างชัดเจนอยู่แล้ว แต่บางคนก็เข่าอาจจะบวมไม่มากแต่มีอาการปวดขณะงอหรือยืดเหยียดเข่า บางคนก็มีอาการบวมแดงรอบๆ ข้อเข่า ซึ่งส่วนใหญ่แล้วมักจะมีการบวมแดงทางด้านหน้า เพราะผิวหนังทางด้านหน้าข้อเข่าจะบาง บางรายที่หมอเคยรักษาก็จะคลำได้ก้อนที่ด้านหลังหัวเข่า เนื่องจากเวลาเข่าสร้างสารน้ำขึ้นมาจะดันออกไปข้างหน้าไม่ได้ เพราะติดลูกสะบ้า น้ำจึงต้องดันออกมาด้านหลัง เพราะด้านหลังจะเป็นแผ่นแคปซูลหุ้มข้อ จึงเกิดเป็นก้อนลักษณะคล้ายลูกปิงปองขึ้นมาทางการแพทย์เรียกว่า Baker’s cyst อันนี้ก็เป็นอีกหนึ่งลักษณะของอาการเข่าบวมน้ำเช่นกัน รวมไปถึงการมีเสียงดังที่ข้อเข่าขณะที่มีการเคลื่อนไหวข้อเข่าด้วย
เนื่องจากว่าเข่าบวมน้ำนั้นมีสาเหตุค่อนข้างหลากหลาย ตรงนี้หมอจึงขอแนะนำว่า ถ้าคนไข้เริ่มมีอาการปวดข้อเข่า หรือเข่าเริ่มมีอาการบวมจนเห็นได้ชัดให้ไปพบแพทย์เพื่อเข้ารับการตรวจโดยด่วนจะดีที่สุด หลายคนบอกว่าถ้ามีอาการเข่าบวมน้ำให้เจาะน้ำออก แต่สำหรับหมอแล้ววิธีการเจาะน้ำออกนั้นหมอจะเลือกใช้เป็นวิธีสุดท้ายแล้วจริงๆ การรักษาที่เหมาะสมที่สุดสำหรับอาการเข่าบวมน้ำนั้นก็คือการรักษาที่สาเหตุ
ประการแรกหมอจะทำการตรวจร่างกายทั่วไปก่อน อาจจะต้องมีการตรวจพิเศษร่วมด้วย นั่นคือจะต้องมีการทำ MRI ถึงจะทราบได้ว่าโครงสร้างเข่าส่วนไหนที่เกิดความเสียหาย กรณีที่คนไข้มีอาการลักษณะนี้มาสักระยะแล้ว หมอก็จะพิจารณาหาสาเหตุและรักษาที่สาเหตุ เช่น ถ้าสาเหตุเกิดจากอุบัติเหตุ ก็ต้องดูว่าอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นเข้าไปทำลายอวัยวะโครงสร้างทั้ง 5 อย่างด้วยหรือเปล่า ถ้าอุบัติเหตุส่งผลกระทบต่ออวัยวะโครงสร้างทั้ง 5 อย่างนี้ แพทย์ก็จะไปทำการรักษาที่อวัยวะเหล่านั้นด้วย ถ้าสาเหตุเกิดจากการระคายเคืองและอักเสบจากโรคบางชนิด หมอก็อาจจะส่งคนไข้ต่อไปยังแพทย์ที่ดูแลโรคข้อเฉพาะเพื่อที่จะได้ทำการรักษาที่ตรงจุดมากขึ้น หรือถ้าสาเหตุเป็นเรื่องของความเสื่อม แพทย์ก็จะแนะนำให้มีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต การออกกำลังกาย การลดน้ำหนัก อย่างนี้เป็นต้น
แต่ถ้าเป็นกรณีที่เกิดอุบัติเหตุฉับพลันและมีอาการอักเสบและบวมขึ้นมาทันที หมอก็จะแนะนำให้ทำตามหลัก RICE อันย่อมาจาก Rest = การพัก Ice = น้ำแข็ง Compression = การประคบ และ Elevation = การยกสูง ทั้งหมดนี้อาจจะทำร่วมไปกับการใช้ยาลดการอักเสบและบวม โดยส่วนใหญ่แล้วหากเกิดความเสียหายต่อโครงสร้างข้อเข่าทั้ง 5 ประการนี้ 80 – 90 % จะต้องแก้ไขโดยการผ่าตัดทั้งสิ้น ซึ่งปัจจุบันการผ่าตัดจะเป็นการผ่าตัดโดยวิธีส่องกล้อง (Arthroscopic surgery) ซึ่งเป็นรูปแบบหนึ่งของการผ่าตัดแบบ MIS (Minimal Invasive surgery) ปัจจุบันในวงการแพทย์ด้านกระดูกและข้อจัดว่าวิธีการรักษาด้วยการผ่าตัดผ่านกล้องนั้นเป็นวิธีมาตรฐานในการรักษาอาการที่เกี่ยวกับข้อเข่าและอาการเข่าบวมน้ำ ซึ่งวิธีนี้ช่วยให้คนไข้เจ็บน้อย และช่วยให้แพทย์สามารถตรวจวินิจฉัยภายในข้อเข่าได้อย่างชัดเจนมากขึ้น และทำการรักษาได้ตรงจุดมากยิ่งขึ้นด้วย
เนื่องจากการผ่าตัดแบบ MIS มีแผลผ่าตัดเล็กมาก ร่างกายจึงมีความบอบช้ำน้อย ทำให้ผู้ป่วยสามารถฟื้นตัวได้เร็วหลังผ่าตัด การดูแลรักษาในเรื่องการฟื้นฟูข้อเข่าและการฟื้นฟูกล้ามเนื้อจึงสามารถทำไปได้พร้อมๆ กัน การดูแลหลังผ่าตัดจึงไม่ต้องกังวลมาก เพียงแค่ทำกายภาพบริหารกล้ามเนื้อ เคลื่อนไหวข้อเข่าตามที่แพทย์กำหนดก็เพียงพอแล้ว
การรักษาอาการเข่าบวมน้ำที่ดีจริงๆ ขึ้นการรักษาที่สาเหตุ ดังนั้น ถ้าคุณหรือคนรอบข้างมีอาการเข่าบวมน้ำก็ไม่ต้องกลัวคุณหมอ ให้ไปที่โรงพยาบาล เพื่อให้แพทย์วินิจฉัยหาสาเหตุที่แท้จริงและทำการรักษาตามสาเหตุแบบนี้ถึงจะเป็นการรักษาอาการเข่าบวมน้ำที่เหมาะสมที่สุด
FitLAB ดูแลรักษานักกีฬาอาชีพ และผ่าตัดแบบส่องกล้องเพื่อรักษาผู้ที่มีปัญหาการบาดเจ็บเอ็นและข้อมากกว่า 1,600 ราย* ให้กลับมาฟิตและโชว์ฟอร์มได้แกร่งกว่าเดิม เข้าไปฟิตที่ FitLAB คลิก
สมัครสมาชิกเพื่อจัดเก็บข้อมูลของคุณสำหรับการนัดหมายครั้งต่อไป
มีบัญชีผู้ใช้อยู่แล้ว? เข้าสู่ระบบที่นี่