เจาะลึกสารกันแดด ยุค 4.0

เจาะลึกสารกันแดด  ยุค 4.0

HIGHLIGHTS:

  • ผลิตภัณฑ์กันแดดที่ดีควรปกป้องผิวได้ทั้งรังสี UVA-I, UVA-II และ UVB
  • แดดเมืองไทยแนะนำให้เลือกผลิตภัณฑ์กันแดดที่มีค่า SPF 30-50 ,PA มากกว่า 3+ หรือ PPD มากกว่า 10
  • ในโลกนี้ไม่มีผลิตภัณฑ์กันแดดใดๆ ที่กัน UVA และ UVB ได้สมบูรณ์แบบ 100% การทาผลิตภัณฑ์กันแดดเป็นเพียงส่วนหนึ่งในการป้องกันความเสียหายของ DNA ที่ผิวเรา สิ่งที่ควรทำไปควบคู่กันไป คือการหลีกเลี่ยงแสงแดด

ย้อนไปเมื่อ 10 ปีที่แล้ว ผลิตภัณฑ์ป้องกันแสงแดด ไม่ค่อยมีความหลากหลายในการตอบโจทย์ปัญหาผิวของผู้บริโภค  ซ้ำยังพบปัญหาอื่นๆตามมา เช่น ผลิตภัณฑ์ที่มีค่า SPF สูงๆ หลังทาจะรู้สึกเหนียว เหนอะหนะ ทำให้ผิวมัน เกิดสิวตามมา สารกันแดดชนิดสะท้อนหรือหักเหแสง (Physical Sunscreen) ทำให้สีผิวหน้าลอยขาวหรือหน้าวอก อีกทั้งสารกันแดดรุ่นเก่ายังไม่มีความเสถียรพอที่จะปกป้องรังสียูวีได้ยาวนาน ปัญหาฝ้า กระ รอยดำ จึงไม่ลดลง แม้จะทาไปในปริมาณมากและสม่ำเสมอ

ในปัจจุบัน นับเป็นความโชคดีที่ได้มีการพัฒนาและปรับปรุงแก้ปัญหาของผลิตภัณฑ์กันแดดที่ผ่านมา จนเริ่มเป็นที่ยอมรับและใช้กันแพร่หลายมากขึ้น มาลองอัพเดท 3 Tips การเลือกผลิตภัณฑ์กันแดดแบบครอบคลุมและเจาะลึกกันค่ะ

1.ผลิตภัณฑ์กันแดดที่ดีควรปกป้องผิวได้ทั้งรังสี UVA-I, UVA-II และ UVB

แสงยูวีที่จะก่ออันตรายต่อผิวหนังจะประกอบด้วยรังสี UVA I และ UVA II มีอำนาจทะลุทะลวงสูงเข้าสู่ชั้นหนังแท้ ทำให้เกิดการทำลายคอลลาเจนซึ่งเป็นสาเหตุหลักของรอยย่น ความหย่อนคล้อย กระ และมะเร็งผิวหนัง โดยที่รังสี UVA I หรือ Long UVA มีอำนาจทะลุทะลวงสูงที่สุด  ส่วนรังสี UVB มีอำนาจทะลุทะลวงผิวหนังน้อยกว่า จึงเข้าสู่ชั้นหนังกำพร้าทำให้เกิดฝ้า ผิวคล้ำ ผิวไหม้จากแดด (sunburn )

Sunscreen หรือสารกันแดดที่ผสมในผลิตภัณฑ์ แบ่งได้เป็น 3 ประเภทใหญ่ ๆ ตามคุณสมบัติคือ

  • Physical Sunscreen สารกันแดดแบบฟิสิคัล ทำหน้าที่เหมือนเป็นกระจกเงาสะท้อนหรือหักเหรังสี UV ออกไปจากผิว สารในกลุ่มนี้มีอยู่สองตัวคือ Titanium Dioxide และ Zinc Oxide (ปกป้องผิวจากรังสี UVA-I,UVA-II,UVB ได้)
  • Chemical Sunscreen สารกันแดดแบบเคมีคัล ทำหน้าที่ดูดซับรังสีไม่ให้ทะลุผ่านไปยังผิวหนังได้ เป็นสารกันแดดที่พบได้ทั่วไป (ปกป้องผิวจากรังสี UVB ได้ทุกตัว แต่การปกป้องจากรังสี UVA-I, UVA-II แตกต่างกันไป)
  • Hybrid Sunscreen สารกันแดดแบบผสม มีคุณสมบัติทั้งสะท้อนและดูดซับรังสีในตัวเอง เช่น Bis-Benzotriazolyl Tetramethylbutylphenol หรือ Tinosorb M (ปกป้องผิวจากรังสี UVA-I,UVA-II, UVB ได้)

Sunscreen หรือสารกันแดดทุกตัว สามารถปกป้องผิวจากรังสี UVB ได้ทุกตัว แต่จะป้องกันรังสี UVA-I และ UVA-II ได้ครบหรือไม่นั้น นอกจากคำชวนเชื่อที่ผลิตภัณฑ์อ้างที่ตัวบรรจุภัณฑ์ เราสามารถดูสารกันแดดที่ปกป้องได้ครบถ้วน ว่าสารเหล่านี้มีในผลิตภัณฑ์ที่เราใช้หรือไม่

สารที่ป้องกันผิวจากรังสี UVA ได้ครบทั้ง UVA-I ,UVA-II และ UVB ก็คือ Titanium Dioxide ,Zinc Oxide ,Butyl Methoxydibenzoylmethane (Avobenzone) ,Bis-Ethylhexyloxyphenol Methoxyphenyl Triazine (Tinosorb® S), Drometrizole TriSiloxane (Mexoryl® XL), Terephthalylidene Dicamphor Sulfonic Acid (Mexoryl® SX) ,Methylene Bis-Benzotriazolyl Tetramethylbutylphenol (Tinosorb® M)

2.ค่าในการปกป้องผิวจากรังสี UVA และ UVB ต้องสูงเข้าไว้

มาตรฐานทั่วโลกที่ใช้วัดค่าการป้องกันรังสี UVB คือ SPF (Sun Protection Factor)

  • ค่า SPF 30 หากกล่าวแบบง่ายๆ หมายถึงผลิตภัณฑ์ตัวนั้นสามารถป้องกันรังสี UVB ได้มากกว่าปกติ 30 เท่า สมมติถ้าเราไปตากแดด 15 นาทีผิวถึงจะเริ่มไหม้แสบแดง การที่ทา Sunscreen ที่มี SPF 30 ก็จะอยู่กลางแดดได้นานขึ้นอีก 30 เท่า นั่นก็คือ 450 นาที (15 x 30 = 450) หรือประมาณ 7 ชั่วโมง หากเราเราอยู่กลางแดดนานเกินกว่านี้ก็ควรทาซ้ำ
  • สิ่งที่ควรทราบคือ เราต้องใช้ผลิตภัณฑ์ ในปริมาณ 1/2 ช้อนชา ทาให้ทั่วใบหน้าหรือลำคอเพื่อที่จะได้ค่า SPF ตามที่ระบุเอาไว้บนฉลาก (ส่วนตามร่างกายประมาณ 1-2 ช้อนโต๊ะสำหรับแขนและขา)
  • ที่ SPF 30 ป้องกันรังสี UVB ได้ 97% ในขณะที่ SPF มากกว่า 50 ป้องกันได้ 98% ซึ่งแตกต่างกันเพียง 1% จึงอาจไม่มีความจำเป็นที่จะต้องเลือกใช้ครีมกันแดดที่มี SPF สูงๆ และในเมืองไทยอนุญาตให้เคลมได้ที่ SPF50 หากมากกว่านั้น ผลิตภัณฑ์จะระบุว่า SPF50+
  • สำหรับแดดที่ร้อนระอุในเมืองไทย และ UV Index แรงขนาดนี้ แนะนำให้เลือกผลิตภัณฑ์ที่มี SPF มากกว่า 30 ขึ้นไป

มาตรฐานที่ใช้วัดค่าการป้องกันรังสี UVA

ปัจจุบันยังไม่มีการกำหนดมาตรฐานสากลในการวัดค่าการป้องกัน UVA ที่พบได้บ่อยเราจะเห็นมี PPD กับ PA (+)

  • PPD (Persistent Pigment Darkening) ค่า PPD นั้นใช้บอกว่าผลิตภัณฑ์ตัวนั้นจะช่วยปกป้องผิวจาก UVA ได้มากกว่าปกติกี่เท่า ซึ่งเราจะพบผลิตภัณฑ์ที่ระบุค่า PPD ได้จากผลิตภัณฑ์ที่ผลิตในยุโรปหรือผลิตเพื่อจำหน่ายในยุโรป หากจะเลือกใช้ แนะนำให้เลือกที่ PPD มากกว่า 10 ขึ้นไป
  • PA (+) หรือ Protection grade of UVA เป็นค่าการป้องกัน UVA ซึ่งริเริ่มโดยสมาคมอุตสาหกรรมเครื่องสำอางประเทศญี่ปุ่นในปี ค.ศ. 2006 โดยมีหลักการดังนี้
    • PA+ หมายถึง มีประสิทธิภาพในการป้องกันรังสี UVA เริ่มต้น
    • PA++ หมายถึง มีประสิทธิภาพในการป้องกันรังสี UVA กลาง
    • PA+++ หมายถึง มีประสิทธิภาพในการป้องกันรังสี UVA สูง
    • PA++++ หมายถึง มีประสิทธิภาพในการป้องกันรังสี UVA สูงสุด

สำหรับแดดเมืองไทย ควรเลือกที่ PA มากกว่าหรือเท่ากับ 3+ ( PA+++, PA++++)

3.หากผิวแพ้ง่าย ควรเลือกผลิตภัณฑ์แบบไหน สำหรับผิวแพ้ง่าย หรือผิวเด็กนั้น มีหลักการดังนี้

  • เลือกผลิตภัณฑ์ที่ผสมสารกันแดดอย่าง Zinc Oxide และ Titanium Dioxide ( กลุ่ม Physical Sunscreen) เพราะไม่ตกค้างหรือดูดซึมสู่ผิว และอุดตันรูขุมขนน้อย
  • เลี่ยงน้ำหอม Fragrance Oil โดยเฉพาะน้ำมันจากลาเวนเดอร์ (Lavender oil) น้ำมันจากพืชตระกูลส้ม มะนาว มะกรูด (Citrus Oil) เพราะทำให้ผิวระคายเคืองง่าย เมื่อโดนแดด ทางที่ดีมองหาสูตรปราศจากน้ำหอมที่บอกว่า Fragrance Free หรือ Perfume Free ดีที่สุด
  • เลี่ยงสูตรที่ผสมแอลกอฮอล์ (Alcohol) เพราะสามารถก่อให้เกิดอนุมูลอิสระกับผิวได้ และก่อให้เกิดความระคายเคืองได้ในผิวแพ้ง่าย
  • เราควรทาผลิตภัณฑ์กันแดดก่อนออกจากบ้านอย่างน้อย 30 นาที เพื่อให้สารกันแดดชนิดเคมีคัลเซตตัวกับผิว (ถ้าผลิตภัณฑ์นั้นมีเพียงสารกันแดดฟิสิคัล ก็สามารถออกแดดได้เลย)
  • หากเราต้องทำกิจกรรมที่โดนน้ำหรือเป็นคนมีเหงื่อออกมากก็ต้องหาผลิตภัณฑ์ที่ระบุว่าเป็น Water Resistance (กันแดดได้ 40 นาทีหากว่ายน้ำ) / Very Water Resistance (กันแดดได้ 80 นาทีหากว่ายน้ำ) ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นสารกันแดดแบบเคมีคัล สูตรแบบกันน้ำ ส่วนมากมักทำให้หน้าดูมันเงาเนื่องจากผลิตภัณฑ์สร้างชั้นฟิลม์ที่สามารถทนน้ำได้หากเราไม่ได้มีกิจกรรมทางน้ำ จึงไม่ค่อยแนะนำให้ใช้ แต่ถ้าใครมีกิจกรรมทางน้ำ แนะนำให้ทาซ้ำทุก 1-2 ชั่วโมงหากเป็นไปได้
  • เลือกเนื้อผลิตภัณฑ์ที่เหมาะกับสภาพผิว ในปัจจุบัน ผลิตภัณฑ์กันแดดนั้นมีอยู่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น Cream, Lotion, Gel , Spray ถ้าคนผิวหน้ามันง่ายควรเลือกสูตร Gel หรือ Spray แต่ถ้าจะมีกิจกรรมทางน้ำเลือกแบบครีมเข้มข้นจะเหมาะกว่า เพราะแบบอื่นๆ จะไม่เสถียรและหลุดง่าย แม้ว่าจะเคลมว่ากันน้ำได้ดี
  • สำหรับสาวๆ ที่รักการแต่งหน้า อาจพบปัญหาผลิตภัณฑ์กันแดดไม่เข้ากันกับรองพื้นหรือแป้งแต่งหน้า แนะนำให้ซื้อผลิตภัณฑ์กันแดดขนาดเล็กมาทดลองก่อน เพื่อหายี่ห้อที่เหมาะสมกับเครื่องสำอางที่เรามี
  • ในปัจจุบัน มีผลิตภัณฑ์กันแดดที่ผสมสารปรับสีผิวให้กระจ่างใส หรือสารต้านอนุมูลอิสระป้องกันริ้วรอยก่อนวัย ใครที่อยากมีผิวกระจ่างใส ผิวหน้าเด้งไปนานๆ พร้อมปกป้องผิวจากแสงแดดก็สามารถเลือกได้
  • ผลิตภัณฑ์กันแดด ห้ามแช่เย็น เพราะการแช่เย็น จะทำให้ประสิทธิภาพการกันแดดของสารกันแดดกลุ่มเคมีคัล (Chemical Sunscreen) ลดลง เนื่องจากเกิดการตกผลึกของสารกันแดดแยกชั้นออกจากส่วนผสม แนะนำให้เก็บในอุณหภูมิห้องที่ไม่ร้อน หลีกเลี่ยงแสงแดดในบริเวณที่เก็บ หากหมดอายุควรทิ้ง อย่าเสียดาย

สิ่งสำคัญที่หมออยากบอกไว้คือ ในโลกนี้ไม่มีผลิตภัณฑ์กันแดดใดๆ ที่กัน UVA และ UVB ได้สมบูรณ์แบบ 100% และการทาผลิตภัณฑ์กันแดดเป็นเพียงส่วนหนึ่งในการป้องกันความเสียหายของ DNA ที่ผิวเรา สิ่งที่ควรทำไปควบคู่กันไป คือการเลี่ยงแดดในช่วง 11.00-13.00 น. ซึ่งเป็นช่วงที่มีความเข้มข้นของรังสี UV มากที่สุด กางร่มหรือหลบแดดเท่าที่ทำได้ และควรสวมแว่นตากันแดดที่มีการเคลือบสารกรองรังสี UV เพื่อปกป้องดวงตาเป็นประจำด้วยค่ะ

8 เคล็ดไม่ลับ ครีมกันแดดและการแต่งหน้า

  1. เคยมีคำกล่าวว่า ผู้ที่มีผิวมันหรือผิวผสม ควรเลือกผลิตภัณฑ์กันแดดชนิดน้ำนม โลชั่น เจล ส่วนผู้ที่มีผิวแห้งแนะนำผลิตภัณฑ์กันแดดชนิดครีม แต่ทั้งนี้ขึ้นกับความชอบส่วนบุคคลและผลลัพธ์หลังทาผลิตภัณฑ์ไปแล้ว เช่น ครีมกันแดดบางยี่ห้อก็ออกแบบมาสำหรับผิวมันหรือผิวผสม หากมีผิวที่มันมาก ควรมองหาผลิตภัณ์ที่ระบุว่า ควบคุมความมัน หรือ Oil Control จะเหมาะกับผิวที่สุด
  2. สิ่งที่ลืมไม่ได้ในการใช้ผลิตภัณฑ์ป้องกันแสงแดดให้ได้ค่าการปกป้องตามที่ฉลากระบุไว้ ต้องทาให้ถูกวิธี คือ ทาก่อนที่จะออกแดด 15-30 นาที และต้องใช้ปริมาณ 2 ข้อนิ้วชี้หรือ 1 เหรียญสิบบาท สําหรับหน้าและคอ หรือแบ่งทาทีละ 1 ข้อนิ้ว ซ้ำสองครั้ง
  3. ต้องไม่ลืมว่า หากมีเหงื่อมากหรือโดนน้ำบ่อยหรือไปทะเล ควร“ทาซ้ำ” เนื่องจากครีมกันแดดจะถูกเหงื่อและการเสียดสี ชะล้างออกจากผิวหนังเมื่อเวลาผ่านไป โดยควรทาทุกๆ 2-3 ชั่วโมง
  4. หากเรามีผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางหลายแบบที่ผสมสารป้องกันแสงแดด เช่น ครีมกันแดด SPF 50 PA++++ และครีมรองพื้น SPF 20 PA++ ค่าการปกป้องผิวจะเท่ากับผลิตภัณฑ์ที่มีค่าการปกป้องสูงที่สุดของแต่ละตัว เช่น แต่งหน้าในครั้งนี้ จะประมาณค่าการปกป้องได้ SPF50 PA++++
  5. ขั้นตอนการลงเครื่องสำอางเวลาแต่งหน้า ได้แก่ ทาครีมบำรุงผิว ทาครีมกันแดด ลงเบสเมคอัพ ลงคอนซีลเลอร์ ลงรองพื้น เติมลงแป้งฝุ่นหรือแป้งแต่งหน้า จากนั้นเติมสีแก้มเล็กน้อย ให้ผิวดูสวยขึ้น
  6. แป้งแต่งหน้า เมคอัพเบส และครีมรองพื้นที่ผสมสารปกป้องแสงแดด อาจไม่สามารถทดแทนครีมกันแดดได้ เพราะหากต้องการการปกป้อง จะต้องใช้ในปริมาณที่มาก ซึ่งในทางปฏิบัติไม่สามารถนำไปใช้ได้ เพราะผลิตภัณฑ์เหล่านี้เน้นการแต่งเพื่อการปกปิดผิวเท่านั้น
  7. All in one make up หรือเครื่องสำอางที่รวมครีมบำรุงผิว เมคอัพเบส ครีมกันแดด ครีมรองพื้นไว้ด้วยกัน มาในหลากหลายชื่อ เช่น BB Cream, CC Cream เป็นต้น ซึ่งแดดเมืองไทย ควรเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ BB หรือ CC Cream ที่มี SPF มากกว่า 30 ขึ้นไป และ PA มากกว่าหรือเท่ากับ +++
  8. ปัจจุบันมีครีมกันแดดที่คลายร้อนและปลอบประโลมผิว ซึ่งมีส่วนผสมของน้ำมันยูคาลิปตัสหรือเมนทอล ทาแล้วจะรู้สึกเย็นสบายผิว แต่อาจก่อให้เกิดการระคายเคืองได้ในผิวบางคน จึงควรทดสอบที่ผิวบริเวณหลังหูหรือท้องแขนก่อนเสมอ
คะแนนบทความ

มีบัญชีผู้ใช้อยู่แล้ว?