วัคซีนแต่ละช่วงวัย…ฉีดไว้ ไกลโรค

วัคซีนแต่ละช่วงวัย…ฉีดไว้ ไกลโรค

เนื่องด้วยภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป เชื้อโรคหลายชนิดมีการเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา โรคติดเชื้อบางอย่างได้หายไปจากโลกนี้ ขณะที่มีการเกิดโรคติดเชื้อชนิดใหม่ๆขึ้นมาอยู่เรื่อยๆ ร่างกายของเราก็มีการปรับตัวเพื่อให้อยู่รอด แต่ก็มีเชื้อโรคบางชนิดที่ภูมิคุ้มกันของร่างกายอาจไม่สามารถสร้างขึ้นได้อย่างเพียงพอ ในการป้องกันหรือต่อสู้กับโรคนั้นๆ และอาจก่อให้เกิดผลกระทบทางสุขภาพที่รุนแรงหรืออาจทำให้เสียชีวิตได้ การฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันโรคจึงเป็น สิ่งจำเป็นที่เราไม่ควรมองข้าม อย่าคิดว่า ร่างกายแข็งแรงดี หรือ เคยได้รับวัคซีนในวัยเด็กแล้ว ภูมิคุ้มกันโรคทุกอย่างจะอยู่ได้ยาวนานตลอดชีวิต

วัคซีนสำหรับผู้ใหญ่

ไม่ใช่เฉพาะเด็กเท่านั้น ที่วัคซีนมีความสำคัญ ในวัยรุ่น-วัยผู้สูงอายุก็จำเป็นต้องได้รับวัคซีนป้องกันโรคสำหรับผู้ใหญ่เช่นกัน โดยวัคซีนที่จำเป็นต้องฉีดในช่วงอายุตั้งแต่ 19 – 64 ปี ได้แก่

1. วัคซีนป้องกันคอตีบและบาดทะยัก

ควรรับการฉีดกระตุ้นทุก 10 ปีต่อเนื่องจากในวัยเด็ก เนื่องจากระดับภูมิคุ้มกันในร่างกายจะมีการลดลงตามอายุที่มากขึ้น

2. วัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบ บี

ตั้งแต่ปีพ.ศ. 2535 เป็นต้นมา เด็กทุกคนจะได้รับวัคซีนนี้ในช่วงแรกเกิด แต่ในผู้ที่เกิดก่อนปีพ.ศ. 2535 หากตรวจเลือดแล้วพบว่าไม่มีภูมิคุ้มกัน ก็ควรที่จะได้รับการฉีดวัคซีนนี้ ร่างกายเราไม่สามารถสร้างภูมิคุ้มกันโรคไวรัสตับอักเสบบีขึ้นมาเองได้ นอกจากผู้ที่เคยเป็นโรคนี้แบบเฉียบพลันมาก่อน และเมื่อหายจากโรค ร่างกายจะสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นมา ซึ่งเป็นภูมิคุ้มกันที่สามารถอยู่ได้ตลอดชีวิต แต่ในผู้ที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ บี ตั้งแต่ยังเด็ก โอกาสที่เป็นโรคแล้วหายจะน้อย คือจะมีเชื้อนี้อยู่ในร่างกายไปตลอด เรียกว่าเป็นพาหะของโรคไวรัสตับอักเสบบี เนื้อเยื่อตับมีโอกาสจะถูกเชื้อไวรัสทำลาย โดยเฉพาะตอนที่ร่างกายอ่อนแอ และเป็นสาเหตุสำคัญที่ก่อให้เกิดโรคมะเร็งตับ โดยปกติการให้วัคซีนนี้จะให้ทั้งหมด 3 เข็มในระยะเวลา 6 เดือน โดยทั่วไปแล้วไม่มีความจำเป็นต้องตรวจระดับภูมิคุ้มกันหลังรับวัคซีน และไม่จำเป็นต้องรับวัคซีนซ้ำอีก

3. วัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่

จริงๆ แล้วผู้มีสุขภาพแข็งแรงในวัยผู้ใหญ่ไม่ได้ถือว่าเป็นกลุ่มเสี่ยงที่จะมีอาการรุนแรงจากโรคไข้หวัดใหญ่โดยตรง เมื่อเป็นแล้วมักจะหายได้เอง โอกาสที่จะเป็นโรครุนแรง เช่น ปอดอักเสบ หรือเสียชีวิตจากโรคไข้หวัดใหญ่ พบได้น้อย ความน่ากลัวของเชื้อในกลุ่มคนที่มีความแข็งแรงอาจไม่น่ากลัว แต่ถ้าเมื่อใดที่เชื้อไปติดในกลุ่มเด็กเล็กหรือกลุ่มคนที่มีโรคภูมิต้านทานน้อย มีโอกาสที่จะทำให้เสียชีวิตได้ แต่เดิมวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ ถูกแนะนำให้ฉีดเฉพาะในกลุ่มเสี่ยงที่ภูมิต้านทานน้อยเท่านั้น แต่เมื่อเกิดการระบาดในวงกว้าง ประชากรทั่วไปที่ถึงแม้จะใช่กลุ่มเสี่ยง ถ้าได้รับการฉีดวัคซีนก็เท่ากับเป็นการช่วยกลุ่มเสี่ยง เพราะเป็นการจำกัดการแพร่ระบาดของเชื้อให้อยู่ในวงแคบลง และกลุ่มเสี่ยงก็จะสัมผัสเชื้อน้อยลง ลดโอกาสติดเชื้อรุนแรงและลดการสูญเสียได้มาก โดยปกติเชื้อโรคไข้หวัดใหญ่จะมีการเปลี่ยนแปลงอยู่เรื่อยๆทุกปี ข้อแนะนำสำหรับบุคคลทั่วไปคือ ควรรับวัคซีนนี้อย่างน้อยปีละครั้ง

4. วัคซีนป้องกันโรคหัด คางทูม หัดเยอรมัน (measles mumps rubella vaccine : MMR)

สำหรับวัยรุ่นหรือผู้ใหญ่ที่ไม่มีภูมิต้านทานต่อโรคหัด ได้แก่ ไม่เคยฉีดวัคซีน และไม่เคยเป็นโรคหัดมาในอดีตหรือตรวจไม่พบภูมิต้านทานต่อโรคหัด หรือในหญิงที่วางแผนจะมีบุตรและตรวจไม่พบภูมิต้านทานโรคหัดเยอรมัน หรือในกรณีผู้ที่เรียนระดับอุดมศึกษาสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยโรคหัด หรือในขณะนั้นกำลังมีโรคหัดระบาด รวมทั้งนักเรียนที่ต้องเดินทางไปศึกษาต่อต่างประเทศ โดยแนะนำให้ฉีดวัคซีนนี้ 1 เข็ม และกระตุ้นอีก1 เข็มห่างจากเข็มแรกอย่างน้อย 4 สัปดาห์

5. วัคซีนป้องกันเชื้อไวรัส HPV

ช่วยป้องกันเชื้อไวรัส HPV ซึ่งก่อโรคมะเร็งปากมดลูก ในกลุ่มผู้หญิงอายุตั้งแต่ 9 – 26 ปี ถือว่าเป็นกลุ่มที่ได้ประโยชน์จากวัคซีนนี้ โดยกลุ่มที่ยังไม่เคยมีเพศสัมพันธุ์จะเป็นกลุ่มที่ได้ประโยชน์สูงสุด ส่วนผู้หญิงที่มีอายุเกิน 26 ปีก็จะยังได้รับประโยชน์จากวัคซีนนี้ โดยควรปรึกษาสูตินรีแพทย์ก่อนการรับวัคซีน

วัคซีนสำหรับผู้สูงอายุ

โดยทั่วไป เมื่ออายุย่างเข้า 65 ปี จะจัดว่าเป็นกลุ่มผู้สูงอายุ ซึ่งภูมิต้านทานโรคตามธรรมชาติในร่างกายจะเริ่มลดลง ข้อแนะนำสำหรับวัคซีนที่จำเป็นในวัยนี้ ได้แก่

  • ควรได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันคอตีบและบาดทะยักทุก 10 ปี
  • ควรได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่เป็นประจำทุกปี เพราะในวัยผู้สูงอายุ ภูมิต้านทานโรคอาจน้อยลง หากเป็นโรคไข้หวัดใหญ่ขึ้นมาก็มีโอกาสที่จะมีอาการของโรครุนแรงมากขึ้น
  • อีกชนิดหนึ่งคือ วัคซีนป้องกันเชื้อนิวโมคอคคัส (IPD) ซึ่งเป็นกลุ่มเชื้อแบคทีเรียซึ่งมีจำนวนหลายสายพันธุ์ ที่ก่อโรคปอดบวม เยื่อหุ้มสมองอักเสบ และติดเชื้อในกระแสเลือด ถ้าโรคนี้เกิดขึ้นในผู้สูงอายุแล้วเป็นชนิดที่รุนแรงก็จะทำให้เสียชีวิตได้ ปัจจุบันมีข้อแนะนำให้ฉีดวัคซีนนี้ในผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป โดยแนะนำให้รับวัคซีน IPD ทั้งชนิด 13 และ 23 สายพันธุ์ เพียงชนิดละ 1 ครั้ง

คำแนะนำในการฉีดวัคซีนต่างๆ ในปัจจุบันนี้ อาศัยข้อมูลจากในอดีตเป็นบทเรียน ว่าในสมัยก่อนเราต้องเจอกับโรคติดเชื้อร้ายแรงอะไรมาบ้าง มีอันตรายกับประชากรมากน้อยแค่ไหน กลุ่มแพทย์และกลุ่มนักวิจัยที่เกี่ยวข้องได้ช่วยกันทำงาน คิดค้น วิจัย และพัฒนาวัคซีนออกมาใช้ เพื่อประโยชน์ในการลดความสูญเสียจากกลุ่มโรคติดเชื้อต่างๆ ซึ่งในปัจจุบันการพัฒนาเรื่องวัคซีนเพื่อป้องกันโรคติดเชื้อร้ายแรงต่างๆก็ยังไม่หยุด โดยในปี 2559 นี้ มีโอกาสที่จะมีการนำวัคซีนป้องกันโรคไข้เลือดออกมาใช้ในกลุ่มประชากรในประเทศที่มีความเสี่ยงสูงในการติดเชื้อไข้เลือดออก ซึ่งรวมถึงในประเทศไทยด้วย เราจึงควรติดตามข้อมูลข่าวสารและหาโอกาสรับวัคซีนที่จำเป็นตามคำแนะนำ เพื่อป้องกันไม่ให้ร่างกายติดเชื้อต่างๆที่มีความสำคัญ หรือจะช่วยผ่อนหนักให้เป็นเบาหากต้องเป็นโรคเหล่านั้นขึ้นมาจริงๆ

*ตารางแสดงวัคซีนที่ควรได้รับในแต่ละช่วงอายุ

อายุ

วัคซีนที่ควรได้รับ

19 – 64 ปี วัคซีนป้องกัน คอตีบ บาดทะยัก, วัคซีนไวรัสตับอักเสบ บี, วัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่, วัคซีนป้องกันโรคหัด คางทูม หัดเยอรมัน, วัคซีนป้องกันเชื้อไวรัส HPV
65 ปีขึ้นไป วัคซีนป้องกัน คอตีบ บาดทะยัก, วัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่, วัคซีนป้องกันเชื้อนิวโมคอคคัส
คะแนนบทความ

มีบัญชีผู้ใช้อยู่แล้ว?