ลูกชอบอั้น แม่ชอบสวน

ลูกชอบอั้น แม่ชอบสวน

อุจจาระ หรือ “อึ” เป็นเรื่องที่คนทั่วไปอยากหลีกเลี่ยง เพราะคิดว่ามันสกปรกและมีกลิ่นอันไม่พึงประสงค์ แต่ตรงกันข้ามกับผู้ปกครองที่มีลูกเล็กที่มักจะให้ความสนใจกับอุจจาระของลูกในทุกๆ วัน ปัญหาการขับถ่ายของลูกถือเป็นเรื่องใหญ่ เป็นปัญหาหนักที่คุณพ่อคุณแม่ทุกคนกังวลว่า ลูกท้องผูกรึเปล่า? ถ่ายแบบไหนถึงจะเรียกว่าปกติ? แล้วจะฝึกให้ลูกนั่งกระโถนได้ไหม? เป็นต้น

อุจจาระที่ปกติเป็นอย่างไร? ยังเป็นสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่หลายคนอาจเข้าใจไม่ตรงกัน เวลาที่คุณพ่อคุณแม่พาลูกน้อยไปฉีดวัคซีน ลองขอคุณหมอดูชาร์ทลักษณะของอุจจาระที่เป็นปกติของเด็กๆ ดูนะคะ เพราะเด็กแต่ละช่วงวัยลักษณะอุจจาระที่เป็นปกติก็แตกต่างกันออกไป ถ้าลองดูแบบง่ายๆ ให้คุณพ่อคุณแม่พอเข้าใจกันในเบื้องต้นก็คือ ถ้าเป็นเด็กทารกก่อน6 เดือน ซึ่งทานนมแม่ อุจจาระจะมีลักษณะเหลว หรือถ่ายเป็นเม็ดๆ คล้ายนมบูด เมื่อเด็กอายุ 6 เดือนขึ้นไปเริ่มมีการทานอาหารเสริม อุจจาระจะเริ่มเป็นรูปเป็นร่างมากขึ้น แต่ก็ยังควรจะต้องนิ่ม ไม่ถึงกับเป็นก้อนหรือเป็นแท่ง แต่ถ้าเด็กก่อนอายุ 2 ขวบถ่ายออกมาเป็นแท่งเหนียวๆ เป็นรูปของลำไส้ หรือมีลักษณะเหมือนการบีบยาสีฟันออกมา แบบนี้ถือว่าไม่ปกติแปลว่าเด็กต้องมีการอั้นอุจจาระเอาไว้จึงทำให้อุจจาระตกค้างไปอยู่ที่ลำไส้ส่วนปลาย เมื่อถ่ายออกมาจึงมีลักษณะแบบนี้ ซึ่งนั่นอาจหมายถึงสัญญาณของอาการท้องผูก

ลักษณะอุจจาระแบบใดจึงเรียกว่าท้องผูก เพราะแม่บางคนก็บอกว่าลูกของตัวเอง 2-3 วันถ่ายครั้งหนึ่ง แต่อุจจาระก็ดูนิ่มดี ลูกก็ไม่มีปัญหาในการเบ่งถ่ายหรือบางคนก็บอกว่าลูกถ่ายทุกวัน บางวันอาจจะถ่าย 2 ครั้งด้วยซํ้าไป แบบนี้จะเรียกว่าท้องผูกได้อย่างไร ในความเป็นจริงนิยามของคำว่าท้องผูกแบ่งออกเป็น 2 อย่าง คือนิยามตามจำนวนและนิยามตามลักษณะ
หากลูกได้ถ่ายวันเว้นวัน หรือรวมกันแล้ว 3 ครั้งต่อสัปดาห์ถือว่าเป็นปกติ แต่ถ้าถ่ายได้ 2 ครั้งต่อสัปดาห์ถือว่าเข้าข่ายท้องผูกและในบางครั้งเด็กที่ 2-3 วันถ่ายครั้ง เวลาถ่ายก็ไม่ต้องเบ่งนาน แถมปริมาณที่ออกมาก็เยอะเสียด้วย ซึ่งคุณแม่อย่าเพิ่งดีใจว่าลูกท้องไม่ผูกเพราะความจริงคือมีอุจจาระค้างอยู่ในลำไส้ใหญ่ เมื่อเด็กทนไม่ไหวแล้วจึงถ่ายออกมา ซึ่งอุจจาระที่ออกมาส่วนแรกมักจะแข็ง แล้วจึงค่อยนิ่ม แบบนี้ก็อาจทำให้เด็กก้นฉีกและเจ็บได้ พอเป็นแบบนี้เด็กก็จะอั้นไว้อีก 2-3 วัน เก็บไว้จนเต็มลำไส้ พอไม่ไหวแล้วจึงค่อยถ่ายอีกครั้ง กรณีนี้คุณพ่อคุณแม่ก็ต้องคอยสังเกตให้ดีด้วย ไม่เช่นนั้นจะเป็นปัญหาสะสมวนเวียนอยู่แบบนั้น หากปล่อยทิ้งไว้นานๆ การแก้ปัญหาก็ยิ่งยากและต้องใช้เวลาในการรักษานานมากขึ้น

หากลูกถ่ายได้ทุกวันแต่อุจจาระนั้นแข็งและปริมาณน้อย แบบนี้เรียกว่าท้องผูกแน่นอนค่ะ โดยปกติลำไส้ของคนเราจะยาวมากมีความสามารถในการสะสมอุจจาระไว้ได้มากเลยทีเดียว ดังนั้นเวลาที่เด็กอุจจาระออกมาน้อยและแข็ง นั่นเป็นเพราะอุจจาระที่ออกมามันคือส่วนปลายเท่านั้น แต่ยังมีค้างสะสมอยู่ในลำไส้อีกมาก ส่วนปลายที่จะออกมาจะเป็นก้อนกลมเล็กๆ สูงขึ้นไปอัดรวมตัวกันเป็นก้อนอ้วนๆ ทำให้ลำไส้ใหญ่ยืดพอง และถ่ายออกมาไม่เกลี้ยง เมื่อออกมาไม่หมดเด็กก็จะมีอาการท้องอืด ไม่สบายตัว พอท้องอืดมากๆ เด็กก็ไม่อยากทานข้าว หรือทานได้น้อย ทำให้นํ้าหนักไม่เพิ่มขึ้นปัญหาเด็กไม่โตตามวัยตามมาได้

ท้องผูกในเด็ก ไม่ใช่โรคที่ร้ายแรงก็จริงแต่เป็นอาการที่จะนำสู่ปัญหาทางพฤติกรรมอื่นๆ เช่น ต่อต้าน ร้องกวนง่าย ขลาดกลัวเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งคุณพ่อคุณแม่ไม่ควรวางใจ เพราะหากปล่อยให้ลูกมีอาการท้องผูกไปนานๆ โดยไม่ทำการรักษา อาจส่งผลเสียต่อสุขภาพของลูกทั้งทางร่างกายและจิตใจ การรักษาอาการท้องผูกเป็นเรื่องยากต้องใช้ทั้งศาสตร์และศิลป์หลายด้าน ต้องปรับทั้งอารมณ์และจิตใจของเด็ก ส่วนใหญ่คุณแม่มักจะลงเอยด้วยการใช้ยาสวนหรือยาระบายเพื่อตัดปัญหาลูกท้องผูก ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องอย่างยิ่ง เพราะทั้งยาสวนและยาระบายต่างมีผลข้างเคียงต่อลูกน้อยทั้งสิ้น ทางที่ดีควรพาลูกไปพบคุณหมอดีกว่าค่ะ

การสวน

จะทำก็ต่อเมื่อมีอุจจาระอุดตันในลำไส้ เด็กมีอาการแน่นท้องจนอาเจียน เพราะอุจจาระมันดันขึ้นมา ซึ่งต้องใช้ยาในปริมาณที่ถูกต้อง หัวยาสวนต้องไม่แข็ง เพื่อไม่เป็นการทำร้ายก้นเด็ก หากคุณพ่อคุณแม่ไปซื้อยามาสวนเองก็อาจจะใช้ยาในปริมาณที่ไม่ถูกต้อง และเด็กส่วนใหญ่ก็ไม่ค่อยเต็มใจที่จะถูกสวนอยู่แล้ว จึงต้องมีการช่วยกันจับช่วยกันยึดไว้ นั่นยิ่งทำให้เด็กกลัวการขับถ่าย ส่งผลทางลบกับจิตใจเด็กให้รู้สึกว่าถูกคนที่รักทำร้าย ทำไมคุณแม่ถึงกลายร่างเป็นนางมารร้ายไปได้ จนบางครั้งเด็กอาจกลัวการถูกจับถูกยึดมากกว่าการอุจจาระเสียอีก

ยาระบาย

ในการใช้ยาแต่ละตัวมีเงื่อนไขและข้อกำหนดที่แตกต่างกันออกไป ต่อให้ปลอดภัยอย่างไรก็ต้องมีผลข้างเคียง โรคท้องผูกไม่ใช่รักษากันง่ายๆ ยิ่งปล่อยให้เด็กท้องผูกนานเท่าไหร่ ก็ต้องใช้เวลาในการรักษานานเท่านั้น อาจจะ 3 เดือน หรือ 6 เดือน ในเด็กบางคนต้องรักษากันนานเป็นปีก็มีให้พบเจอ ซึ่งต้องมีการปรับยา ลดยา เปลี่ยนยาอยู่ตลอดเวลา คุณพ่อคุณแม่จึงไม่ควรซื้อยามาให้ลูกรับประทานเองโดยเฉพาะอย่างยิ่งในเด็กเล็กที่มีอายุตํ่ากว่า 6 ขวบ เนื่องจากร้านขายยาไม่มีประวัติของน้อง ไม่รู้ว่าน้องได้รับยามานานแค่ไหน ดื้อยาหรือไม่ น้องมีโรคอื่นที่ต้องทานยาซึ่งอาจมีผลกับยาที่ทานอยู่เป็นประจำหรือไม่ ซึ่งอาจจะทำให้มีการใช้ยาที่ซับซ้อนหรือเสริมฤทธิ์กันจนกระทั่งเกิดพิษและเป็นอันตรายได้

ผลข้างเคียงของยา

ผลข้างเคียงของยา เช่น ในกลุ่มยาที่มีส่วนผสมของนํ้ามัน ถ้าเป็นเด็กที่กินยายาก หากเกิดการสำลักทำให้น้ำมันเข้าไปในปอด อาจเกิดอาการปอดอักเสบซึ่งจะกลายเป็นปัญหาใหญ่ได้ แทนที่จะรักษาแค่อาการท้องผูกซึ่งยากอยู่แล้วกลับต้องมารักษาเรื่องปอดอักเสบเสียอีกด้วย ดั้งนั้นจึงห้ามใช้ยานี้ในเด็กที่อายุตํ่ากว่า 3 ขวบ หรือยาในกลุ่มมิลค์ออฟแมกนีเซีย หากใช้มากเกินไป ไตขับถ่ายไม่ทันจนเกิดการสะสมแมกนีเซียมในร่างกาย หรือยาแลคตูโลสที่หวานทำให้เด็กกินอร่อย กินง่าย แต่ถ้าหากกินต่อเนื่องนาน 2-3 อาทิตย์ ก็จะทำให้เกิดลมท้องอืด เพราะยากลุ่มนี้ถูกย่อยสลายโดยแบคทีเรียในลำไส้ให้กลายเป็นสารที่ดึงนํ้าเข้ามาละลายอุจจาระ เกิดเป็นแก๊สไฮโดรเจนจำนวนมาก และขับถ่ายอุจจาระเหลวออกมา

การใช้ยาสวนหรือยาระบายเป็นการแก้ไขปัญหาและการรักษาที่ปลายเหตุ อยากให้คุณพ่อคุณแม่หมั่นสังเกตและฝึกพฤติกรรมการขับถ่ายที่ถูกวิธีเพื่อให้ลูกน้อยมีสุขอนามัยที่ดีโดย

1. คลำท้องบริเวณด้านซ้ายเหนือกระดูกเชิงกราน ว่ามีอุจจาระค้างในลำไส้หรือไม่หากคลำได้เป็นก้อนลักษณะกลมหรือแท่ง เคลื่อนได้ตามมือเรา ถ้าพบลักษณะแบบนี้แปลว่าเด็กเกิดการอั้นสะสมมานาน จนทำให้อุจจาระมาค้างอยู่ตรงลำไส้ส่วนบนได้ จะต้องช่วยทำให้เด็กขับถ่ายให้เกลี้ยง

2. สังเกตดูก้นของลูกว่ามีแผลหรือติ่งอะไรไหมเด็กเจ็บก้นหรือเปล่า ถ้ามีแผลต้องใช้ยาทาก้นยาฆ่าเชื้อ สำหรับเด็กหรือใช้วาสลีนทาก้น เพื่อช่วยให้เด็กขับถ่ายได้ง่ายขึ้น

3. ฝึกให้ลูกเข้าห้องนํ้า นั่งในท่าที่ถูกต้อง คือ เท้าเหยียบเต็มพื้น ก้นแตะบนชักโครกที่มีขนาดพอดีกับขนาดก้นของเด็ก ระดับเข่าสูงกว่าสะโพก ให้นั่งเอนมาข้างหน้าเล็กน้อย การนั่งลักษณะแบบนี้จะเป็นท่าที่ทำให้ลำไส้ตั้งตรงกับรูทวาร ทำให้อุจจาระไหลลงมาได้ดี ถ้าเป็นที่โรงพยาบาลสมิติเวชจะมีห้องนํ้าสำหรับเด็กโดยเฉพาะ เพื่อฝึกการขับถ่ายแต่ถ้าเป็นที่บ้านคุณพ่อคุณแม่ควรซื้อฝารองชักโครกสำหรับเด็ก และถ้าหากเท้าลอย ก็จะต้องหาเก้าอี้มารองเพื่อให้เท้าเหยียบเต็มพื้น ไม่แกว่งไปแกว่งมา เวลาที่เหมาะจะฝึกให้ลูกเข้าห้องนํ้าคือหลังมื้ออาหารเช้าประมาณ 15 นาทีหรือครึ่งชั่วโมง เพราะเมื่อเราทานข้าวเข้าไปจะมีรีเฟลกซ์ไปที่ลำไส้ทำให้อยากถ่าย และในช่วงเช้าเป็นช่วงจังหวะที่ลำไส้บิดตัวแรงทำให้ขับถ่ายได้ง่ายขึ้น

4. อย่ากดดันเด็กจนเกินไป เพื่อช่วยป้องกันปัญหาเด็กกลัวห้องนํ้า (ToiletPhobia) คุณพ่อคุณแม่ต้องพยายามฝึก แต่ต้องไม่คาดคั้นว่าลูกจะต้องนั่งชักโครกให้ได้ ต้องอึให้ได้เดี๋ยวนี้วันนี้ เราต้องช่วยให้ลูกผ่อนคลาย ลองฝึกลองนั่งหลังอาหารทุกมื้อ ครั้งนี้ยังอึไม่ออกแต่แค่ผายลมก็ยังดี การฝึกเด็กไม่ใช่จะทำได้ภายในแค่วันสองวัน ส่วนใหญ่ใช้เวลา 1-3 เดือน บางครั้งถึง 6 เดือน คุณพ่อคุณแม่ต้องอดทนและใจเย็นๆ นะคะ

5. ช่วยให้อุจจาระของนิ่มขึ้นได้โดย

– ดื่มนํ้าส้ม นํ้าลูกพรุน
– ดื่มนํ้าในปริมาณที่เพียงพอ
– ทานผักและผลไม้เพื่อเพิ่มกากใย
– ดูปริมาณนมที่เด็กดื่มว่าเพียงพอหรือไม่ในเด็ก 1 ขวบขึ้นไป ที่ทานข้าวด้วยครบ 3 มื้อ ควรดื่มนม 24-30 ออนซ์ต่อวัน หรือประมาณ 8 ออนซ์ต่อมื้อ
– เลือกนมที่มีการเสริมใยอาหารชนิดพิเศษที่เรียกว่า พรีไบโอติกและโพรไบโอติก ซึ่งเป็นแบคทีเรียที่ช่วยย่อยสลายเพื่อให้อุจจาระนิ่ม เวลาที่คุณพ่อคุณแม่ซื้อนมให้ลูกก็อย่าลืมดูที่มีการเสริมพรีไบโอติก ด้วยนะคะ และกินโยเกิร์ตเสริม

สุดท้ายนี้ขอเน้นยํ้าว่า “การจัดระเบียบชีวิตเรื่องกิน เรื่องถ่ายของเด็กเล็กๆ ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ก็ไม่ยากเกินไปที่คุณพ่อคุณแม่จะทำ ปัญหาท้องผูกเป็นปัญหาที่ป้องกันได้ คุณแม่ที่มีลูกเล็กๆ ไม่ควรปล่อยให้ลูกถ่ายน้อยครั้งหรือแข็ง ซึ่งควรป้องกันตั้งแต่อายุน้อยๆ อย่าปล่อยไว้ให้เรื้อรัง เพราะมันจะใช้เวลาในการรักษายาวนาน เมื่อถึงโอกาสพาลูกมาฉีดวัคซีนสามารถปรึกษาคุณหมอได้เลยค่ะว่า ต้องทานอาหารเท่าไหร่ ต้องดื่มนมแค่ไหน ส่วนเรื่องการสวนอุจจาระควรงดไปเลยจะดีกว่า หากมีปัญหาให้รีบมาปรึกษาคุณหมอ อย่าปล่อยทิ้งไว้และอย่าสวนเอง ที่สำคัญต้องหมั่นสังเกตพฤติกรรมการขับถ่ายของลูกด้วย”

ที่สมิติเวชมีการฝึกสอนการขับถ่ายที่ถูกวิธี มีห้องนํ้าที่ถูกต้องสำหรับเด็กโดยเฉพาะ ใช้วิธีการฝึกเหมือนทางกายภาพบำบัด ฝึกหายใจ ฝึกเบ่ง เรียกว่า Balloon Expulsion Exercise และ Breathing Exercise คุณพ่อคุณแม่ที่มีปัญหาเรื่องลูกท้องผูกลองเข้ามาปรึกษาคุณหมอกันดูนะคะ

คะแนนบทความ

มีบัญชีผู้ใช้อยู่แล้ว?