หนุ่มเข้าเลข 4 สาวย่างเลข 5 ต้องระวังลิ้นหัวใจรั่ว

หนุ่มเข้าเลข 4 สาวย่างเลข 5 ต้องระวังลิ้นหัวใจรั่ว

HIGHLIGHTS:

  • หนุ่มเข้าเลข 4 สาวย่างเลข 5 ต้องระวังลิ้นหัวใจรั่ว  ควรตรวจเช็คร่างกายว่าเสี่ยงหรือไม่
  • อาการ เหนื่อยง่าย ใจสั่น เจ็บหน้าอก เท้าบวม ควรรีบไปปรึกษาแพทย์เพราะอาจเสี่ยงลิ้นหัวใจรั่วได้

ลิ้นหัวใจรั่วเป็นภัยเงียบและใกล้ตัว ถ้าไม่ได้เป็นมาแต่กำเนิด เพราะคนในปัจจุบันไม่ค่อยออกกำลังกาย โหมหนักงานจนไม่มีเวลาดูแลตัวเอง เมื่ออายุมากขึ้นก็ส่งผลให้สุขภาพไม่ดี ต้องคอยหาหมออยู่บ่อยครั้ง ป่วยด้วยโรคต่างๆมากมาย เช่น โรคเบาหวาน โรคความดัน หรือโรคไขมัน แต่ใครจะรู้ว่าโรคเหล่านี้จะเป็นส่งผลให้เรากลายเป็นโรคอื่นได้อีก

ลิ้นหัวใจของคนเราจะประกอบด้วยลิ้นหัวใจทั้งหมด 4 ลิ้น สำหรับลิ้นหัวใจที่พบว่าเกิดการรั่วได้บ่อยจะมีอยู่ 2 ชนิด คือ ลิ้นหัวใจไมทรัล(Mitral valve) และ ลิ้นหัวใจเอออร์ติค (Aortic valve)

โรคลิ้นหัวใจรั่วมีสาเหตุมาจากอะไร

สาเหตุของลิ้นหัวใจรั่ว แบ่งเป็น 2 สาเหตุ

  1. เกิดจากตัวลิ้นหัวใจเอง อาจเป็นตั้งแต่กำเนิด หรือว่าเป็นตอนโต
  2. เกิดจากผลแทรกซ้อนจากโรคอื่น
    1. การติดเชื้อ เช่น การติดเชื้อจากแบคทีเรียในลำคอหรือทางเดินหายใจ และเกิดผลแทรกซ้อนตามมา มักจะเกิดในเด็ก ผู้สูงอายุหรือกลุ่มผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง
    2. ภาวะหลอดเลือดหัวใจตีบ ทำให้กล้ามเนื้อหัวใจตายและเกิดลิ้นหัวใจรั่วตามมา ปัจจัยเสี่ยงของหลอดเลือดหัวใจตีบ เช่น โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันสูง การสูบบุหรี่่ อายุที่มากขึ้น หรือ กรรมพันธุ์

ใครบ้างที่มีความเสี่ยงเป็นโรคลิ้นหัวใจรั่ว

  1. เป็นตั้งแต่กำเนิด
  2. กลุ่มที่สามารถติดเชื้อได้ง่าย เช่น เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง
  3. กลุ่มที่มีความเสี่ยงกับภาวะหลอดเลือดหัวใจตีบ ได้แก่ ผู้ชายที่มีอายุมากกว่า 40 ปี หรือผู้หญิงที่มีอายุมากกว่า 50 ปี ผู้หญิงที่หมดประจำเดือนไปแล้ว ร่วมกับปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ เช่น เบาหวาน ความดัน ไขมัน สูบบุหรี่ กรรมพันธุ์

ผู้ที่เป็นโรคลิ้นหัวใจรั่วจะมีอาการอย่างไร

  1. เสียงหัวใจผิดปกติ เป็นลักษณะเสียงฟู่
  2. เริ่มมีอาการตั้งแต่ เหนื่อยง่าย จนกระทั่งหอบเหนื่อย
  3. น้ำท่วมปอด นอนราบไม่ได้
  4. มีอาการใจสั่น หรือเจ็บหน้าอก
  5. มีอาการบวมที่เท้าและข้อเท้า
  6. เคลื่อนไหวตลอดเวลา

วินิจฉัยโรคลิ้นหัวใจรั่วได้อย่างไร

วินิจฉัยด้วยการฟังเสียงหัวใจ และ X-ray เพื่อดูขนาดของเงาหัวใจ ดูภาวะน้ำท่วมปอด หลังจากนั้นจะใช้การตรวจที่เรียกว่า คลื่นเสียงสะท้อนหัวใจ (Echocardiogram) เพื่อตรวจดูว่า พยาธิสภาพของตัวลิ้นหัวใจผิดปกติอย่างไร รั่วแบบไหน และประเมินความรุนแรงของตัวโรคว่ารั่วมาก หรือรั่วน้อยและมีข้อบ่งชี้ในการรักษาต่อไปอย่างไร

ลิ้นหัวใจรั่วจะแบ่งระดับความรุนแรงตั้งแต่ รั่วน้อย รั่วปานกลาง รั่วมาก ในกรณี รั่วปานกลางร่วมกับอาการแสดง หรือรั่วมาก จะต้องพิจารณาว่าจะต้องทำการรักษา เช่น การผ่าตัด หรือการรักษาแบบอื่น

แนวทางการรักษา

แนวทางรักษา จะต้องรักษาทั้งอาการแสดงทางคลินิค ร่วมกับ การรักษาตัวโรคโดยตรง โดยการใช้ยาควบคุมอาการและผลแทรกซ้อน ซึ่งต้องติดตามอาการและความรุนแรงของภาวะลิ้นหัวใจรั่วเป็นระยะๆ หากมีลิ้นหัวใจรั่วรุนแรงหรือไม่สามารถคุมอาการโดยใช้ยา มีแนวทางดังต่อไปนี้

  1. การรักษามาตรฐาน ปัจจุบันยังเป็นการผ่าตัดในกรณีที่มีข้อบ่งชี้ การผ่าตัดมี 2 แบบ คือ การผ่าตัดแบบเปลื่ยนลิ้นหัวใจ กับ การผ่าตัดเย็บซ่อมลิ้นหัวใจที่รั่ว ซึ่งปัจจุบันจะนิยมใช้ การผ่าตัดเย็บซ่อมลิ้นหัวใจ(ในกรณีลิ้นหัวใจไมทรัลรั่ว)
  2. การรักษาโดยใช้เทคโนโลยีใหม่ คือ การใช้สายสวนเข้าไปเพื่อเปลี่ยนลิ้นหัวใจ (Transcatheter Aortic Valve Implantation) ในกรณีที่เป็นลิ้นหัวใจเอออร์ติค (Aortic valve) หรือการใช้สายสวนเข้าไปเพื่อเย็บซ่อมลิ้นหัวใจ (Transcatheter Mitral Valve repair) ในกรณีที่เป็นลิ้นไมทรัล (Mitral valve) จะเป็นการรักษาที่คนไข้โดยไม่ต้องผ่าตัด ลดอาการรั่ว แต่คนไข้จะไม่หายขาด เพราะฉะนั้นจะใช้กับคนไข้ที่มีความเสี่ยงในการผ่าตัดสูง จะพิจารณาเป็นรายๆไป

การป้องกันเพื่อไม่ให้เป็นโรคลิ้นหัวใจรั่ว

ในกรณีที่ติดเชื้อลำคอ หรือติดเชื้อทางเดินหายใจ แล้วไม่หายสักที ต้องไปตรวจเช็คว่าการติดเชื้อนั้นเป็นลักษณะการติดเชื้อเข้ากระแสเลือดหรือไม่ หรือว่าถ้าติดเชื้อแล้วมีอาการอื่นที่ไม่เกี่ยวกับระบบนั้น เช่น มีเหนื่อยมากขึ้นผิดปกติ มีใจสั่น เจ็บหน้าอก ควรมาตรวจเพิ่มเติมว่าเกิดภาวะลิ้นหัวใจรั่วหรือไม่

ลิ้นหัวใจรั่วโดยส่วนใหญ่มักจะค่อยๆแสดงอาการ ดังนั้นหากมีอาการ ใจสั่น เจ็บหน้าอก เหนื่อยง่าย เท้าบวม หรือมีโรคที่เป็นกลุ่มเสี่ยง เช่นเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ควรจะพบแพทย์ตรวจเช็คร่างกายทุกปี ออกกำลังกาย หมั่นดูแลตัวเอง ทานอาหารที่เป็นประโยชน์เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิด และมีสุขภาพแข็งแรง คุณภาพชีวิตที่ดี

คุณสามารถตรวจสอบความเสี่ยงด้วยตนเองได้ที่

Reference Heart


คะแนนบทความ

มีบัญชีผู้ใช้อยู่แล้ว?