ลำไส้แปรปรวน ชีวิตปรวนแปร

ลำไส้แปรปรวน ชีวิตปรวนแปร

HIGHLIGHTS:

  • ความเครียดก็เป็นตัวกระตุ้นอย่างหนึ่งที่ทำให้เกิดลำไส้แปรปรวน เนื่องจากการบีบตัวของลำไส้เปลี่ยนแปลงไป
  • หลีกเลี่ยงอาหารรสจัด ของหมักดอง กาแฟ น้ำอัดลม จะช่วยลดอาการจากลำไส้แปรปรวน

ลำไส้แปรปรวน ชีวิตปรวนแปร

ช่วงปีที่ผ่านมามีการกล่าวถึงโรคลำไส้แปรปรวนกันมาก ซึ่งพบในประเทศไทยถึงราวร้อยละ 15 ของประชากร โรคลำไส้แปรปรวน มักมีอาการปวดท้องร่วมกับการขับถ่ายผิดปกติ โดยอาจมีอาการท้องผูก ท้องเสีย หรือท้องผูกสลับกับท้องเสียก็ได้ ซึ่งอาการปวดท้องจะปวดบีบเกร็งบริเวณท้องน้อยด้านล่าง โดยเฉพาะด้านซ้ายและอาการจะดีขึ้นหลังจากถ่ายอุจจาระ รวมถึงอาจมีการเปลี่ยนแปลงของลักษณะอุจจาระ เช่น ถ่ายเป็นน้ำหรืออุจจาระเป็นก้อนแข็ง ถ่ายมีมูก( โดยไม่ควรมีสัญญาณอันตราย ได้แก่ น้ำหนักลด ถ่ายเป็นเลือด ถ่ายดำ อาเจียนเป็นเลือด มีไข้ หรือคลำได้ก้อน) ผู้ป่วยบางคนอาจมีอาการแน่นท้อง มีแก๊ส หรือถ่ายไม่สุด

แม้โรคลำไส้แปรปรวน (Irritable Bowel Syndrome – IBS) จะเป็นโรคที่ไม่กลายเป็นมะเร็งลำไส้ และไม่ทำให้เกิดอันตรายถึงชีวิต แต่โรคลำไส้แปรปรวนเป็นโรคเรื้อรัง อาจมีอาการเป็นๆ หายๆ นานเป็นปีหรือตลอดชีวิต สร้างความรำคาญและวิตกกังวลให้ผู้ป่วย จนรบกวนต่อชีวิตประจำวันและการทำงาน

สาเหตุ

ปัจจุบันยังไม่พบสาเหตุที่แน่นอนของโรคลำไส้แปรปรวน เชื่อว่าเกิดจากหลายปัจจัยร่วมกัน ได้แก่

  • การบีบตัวของลำไส้ผิดปกติ อาจเพิ่มขึ้นหรือลดลงกว่าปกติ และมักตอบสนองไวต่อความเครียด
  • การรับรู้ของระบบทางเดินอาหารไวต่อสิ่งกระตุ้นมากกว่าปกติ โดยตัวกระตุ้นที่พบได้บ่อย คือ อาหาร ความเครียด และการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ ซึ่งทำให้การบีบตัวของลำไส้เปลี่ยนแปลงไป
  • ภาวะหลังการติดเชื้อ ผู้ป่วยบางกลุ่มที่มีอาการลำไส้แปรปรวนตามหลังการติดเชื้อทางเดินอาหาร ซึ่งเชื่อว่าน่าจะเกิดจากการติดเชื้อทำลายเยื่อบุลำไส้ ส่งผลให้เส้นประสาทที่ลำไส้เกิดความไวต่อสิ่งกระตุ้น
  • ภาวะจิตใจ ผู้ป่วยโรคลำไส้แปรปรวนบางรายมีภาวะวิตกกังวลหรือโรคซึมเศร้า

การวินิจฉัย

ตรวจจากอาการเป็นหลัก บางครั้งแพทย์อาจทำการตรวจเพิ่มเติมในรายที่มีสัญญาณเตือน เช่น อายุมากกว่า 50 ปี หรือมีประวัติมะเร็งลำไส้ในครอบครัว โดยทำการตรวจเลือด ตรวจค่าไทรอยด์ ตรวจอุจจาระ เอ็กซเรย์ลำไส้ใหญ่ หรือส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่

การรักษา

เนื่องจากยังไม่ทราบสาเหตุของโรคชัดเจน การรักษาจึงเป็นไปตามอาการของผู้ป่วยเป็นหลัก ดังนี้

  • อาหาร สำหรับผู้ป่วยกลุ่มที่มีอาการหลังจากรับประทานอาหารบางอย่างเป็นตัวกระตุ้น แนะนำให้ทำไดอารี่ของอาการ จดบันทึกว่ารับประทานอาหารอะไรแล้วเกิดอาการอย่างไร วิธีนี้จะช่วยให้ทราบถึงชนิดของอาหารที่เป็นตัวกระตุ้นอาการได้ เพื่อหลีกเลี่ยงอาหารกลุ่มดังกล่าว ซึ่งอาหารที่พบว่าทำให้เกิดอาการบ่อยได้แก่ อาหารรสจัดและมีไขมันสูง ของหมักดอง กาแฟ น้ำอัดลม และแอลกอฮอล์ นอกจากนี้ยังไม่ควรรับประทานอาหารจนอิ่มเกินไป โดยแบ่งรับประทานทีละน้อยแต่บ่อยขึ้น
  • ยา ส่วนใหญ่เป็นยารักษาตามอาการ เช่น ไฟเปอร์หรือยาระบายสำหรับกรณีท้องผูก หากท้องเสียให้ใช้ยาลดการถ่าย อาการปวดท้องก็เป็นยาลดการบีบเกร็งลำไส้ ส่วนอาการอืดแน่นท้องจากแก๊สให้ยาขับแก๊ส รวมถึงมีการให้ยากลุ่มยาปฏิชีวนะหรือโปรไบโอติกส์ (Probiotics) ซึ่งเป็นแบคทีเรียที่ดีเพื่อปรับสมดุลแบคทีเรียในร่างกาย สามารถช่วยลดอาการได้
  • สภาวะจิตใจ เนื่องจากความเครียดมีผลต่อโรคลำไส้แปรปรวน ผู้ป่วยจึงควรผ่อนคลายความเครียด ทำใจให้สบาย บางครั้งการใช้ยารักษาโรคซึมเศร้าก็สามารถช่วยได้เช่นกัน

เนื่องจากโรคลำไส้แปรปรวนเป็นโรคเรื้อรังและมีแนวโน้มจะกลับมาเป็นอีกหลังอาการดีขึ้นแล้ว หากไม่อยากให้ชีวิตปรวนแปรน่ารำคาญ ผู้ป่วยควรปรับการดำเนินชีวิตและการปฏิบัติตนตามแพทย์แนะนำไปตลอด นอกจากจะทำให้อาการลดลงแล้ว ยังช่วยป้องกันไม่ให้เกิดอาการขึ้นใหม่ได้อีกด้วย

คะแนนบทความ

มีบัญชีผู้ใช้อยู่แล้ว?