รักษาอาการปวดกล้ามเนื้อและข้อเรื้อรังด้วย ‘NEURAC’ (Red cord)

รักษาอาการปวดกล้ามเนื้อและข้อเรื้อรังด้วย ‘NEURAC’ (Red cord)

HIGHLIGHTS:

  • NEURAC ​​เหมาะสำหรับ ผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับกล้ามเนื้อและข้อชนิดเรื้อรัง เช่น ปวดเรื้อรังบริเวณ คอ บ่า ไหล่ เอว สะโพกหรือข้ออื่นๆ ในร่างกาย​ กำลังกล้ามเนื้อถดถอย หรือความสมดุลของร่างกายทั้งสองข้างไม่เท่ากัน
  • วิธีรักษาแบบ NEURAC ด้วยอุปกรณ์ Red Cord เน้นไปที่การจัดระเบียบกล้ามเนื้อให้ทำงานอย่างถูกต้อง โดยใช้วิธีการกระตุ้นกล้ามเนื้อที่อาจไม่เคยได้ใช้งาน หรือใช้งานน้อย ให้กลับมาทำงานเต็มประสิทธิภาพ

NEURAC คืออะไร?

NEURAC มาจากคำว่า NEURomuscular ACtivation เป็นชื่อเรียกวิธีออกกำลังเพื่อการบำบัดรักษา (Therapeutic Exercise) รูปแบบหนึ่งซึ่งถูกคิดค้นและพัฒนาโดยอดีตนักกีฬายิมนาสติกและนักกายภาพบำบัด ในประเทศนอร์เวย์ ตั้งปี ค.ศ. 1991 โดยมีจุดประสงค์เพื่อฟื้นฟู แก้ไข รูปแบบการทำงานและการเคลื่อนไหวของร่างกายที่ผิดปกติ ผ่านการกระตุ้นระบบประสาทและกล้ามเนื้อ ให้ทำงานอย่างจำเพาะเจาะจงและถูกหลักชีวกลศาสตร์ (Biomechanics) อันจะนำไปสู่การบรรเทาความเจ็บปวดได้ในที่สุด

อุปกรณ์ Red cord คืออะไร

เนื่องจาก NEURAC เป็นวิธีการบำบัดรักษาที่เน้นการจัดระเบียบกล้ามเนื้อให้ทำงานอย่างถูกต้อง จึงต้องอาศัยอุปกรณ์ชนิดพิเศษ ที่เรียกว่า “Red cord” ซึ่งมีลักษณะเป็นห่วงเชือกแขวนสีแดงสำหรับช่วยพยุงร่างกายแต่ละส่วน โดยอุปกรณ์นี้ได้รับการออกแบบมาให้ปรับใช้น้ำหนักตัวเปลี่ยนเป็นแรงต้านขณะออกกำลังเพื่อบำบัดรักษา และสามารถกระตุ้นกล้ามเนื้อที่อาจไม่เคยได้ใช้งาน หรือใช้งานอยู่แต่น้อย ไม่เต็มประสิทธิภาพ ให้กลับมาเริ่มทำงานอีกครั้งหรือทำงานได้เต็มประสิทธิภาพมากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ ดังนั้นผู้รับการบำบัดจะต้องเป็นผู้ออกแรงฝึกด้วยตนเองเท่านั้น จึงจะเกิดประสิทธิภาพได้สูงสุด

ปัจจุบัน NEURAC ถือเป็นรูปแบบการบำบัดรักษาที่กำลังได้รับความนิยมและความสนใจเป็นอย่างมาก เพราะมีการนำหลักการและผลวิจัยทางวิทยาศาสตร์การแพทย์มาปรับใช้เพื่อพัฒนาอย่างต่อเนื่อง จนมีการถ่ายทอดไปมากกว่า 25 ประเทศทั่วโลกเกิดเป็นเครือข่ายความร่วมมือระดับนานาชาติขึ้น

การรักษาด้วยวิธี NEURAC สามารถช่วยบรรเทาอาการปวดเรื้อรังได้อย่างไร?

จากผลการศึกษาและวิจัย พบว่า ความเจ็บปวด (Pain) การหยุดใช้กล้ามเนื้อหรือใช้กล้ามเนื้อลดน้อยลง (Muscle disuse) รวมถึงการใช้งานกล้ามเนื้ออย่างไม่ถูกหลักชีวกลศาสตร์ซ้ำๆอย่างต่อเนื่องจนเกิดการบาดเจ็บสะสมขึ้นในกล้ามเนื้อ (Repetitive muscle injury) สามารถยับยั้ง (Inhibition) กระบวนการส่งสัญญาณทางระบบประสาทที่ใช้ควบคุมกล้ามเนื้อได้ จึงส่งผลให้การประสานงานของกล้ามเนื้อต่างๆ บกพร่องไป รวมถึงกำลังของกล้ามเนื้อ (Power) และความมั่นคงรอบข้อต่อ (Instability) นั้นๆก็จะลดลงตามไปด้วย ทำให้เกิดรูปแบบการเคลื่อนไหวที่ผิดปกติ (Abnormal Movement Pattern) ซึ่งท้ายที่สุดจะทำให้ประสิทธิภาพการเคลื่อนไหวของร่างกายถดถอยลง เพราะกล้ามเนื้อเหล่านั้นมีความเครียด ตึงสะสม หรือมีความเจ็บปวดเรื้อรัง จนเกิดเป็นวงจรแห่งความเจ็บปวด (Pain Cycle) ที่ยากต่อการแก้ไข

รักษาอาการปวดกล้ามเนื้อและข้อเรื้อรังด้วย ‘NEURAC’ (Red cord)

ดังนั้นการบำบัดรักษาด้วยวิธี NEURAC จึงถูกพัฒนาขึ้นโดยมุ่งเน้นไปที่การสร้างกระบวนการเรียนรู้ใหม่ ให้เกิดขึ้นอีกครั้งในระบบประสาทและกล้ามเนื้อที่เป็นปัญหา (Neuromuscular Control Re-learning & Re-activation) เพื่อที่กล้ามเนื้อเหล่านั้นจะสามารถกลับมาทำงานได้ดีขึ้น โดยใช้หลักการของชีวกลศาสตร์ สร้างกำลังภายในกล้ามเนื้อ เพื่อให้กล้ามเนื้อที่ได้รับการกระตุ้นสามารถทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ และร่างกายสามารถสั่งการควบคุมระบบประสาทและกล้ามเนื้อได้อย่างถูกต้อง เหมาะสม และยั่งยืน (Restore functional movement patterns) ซึ่งจะช่วยป้องกันการกลับมาบาดเจ็บหรือปวดซ้ำๆที่จุดเดิมต่อไปได้ในระยะยาว (Stop the Pain Cycle)

จุดประสงค์ของการรักษาด้วยวิธี NEURAC

คือช่วยทำให้กล้ามเนื้อทำงานอย่างถูกมัด ในเวลาที่ถูกต้อง ในปริมาณที่เหมาะสม และมีความทนทาน ความแข็งแรงเพิ่มมากขึ้นนั่นเอง
คุณลักษณะจำเพาะของวิธีการฝึก

  • ​เป็นการทำงานประสานกันของกล้ามเนื้อแบบ Closed Kinetic Chain คือการออกกำลังต้านแรงโดยที่มือหรือเท้ายึดอยู่กับที่ไม่ขยับ ซึ่งจะใช้กล้ามเนื้อหลายมัดประสานงานกัน มีการขยับหลายข้อต่อ และใกล้เคียงกับการใช้งานกล้ามเนื้อในกิจวัตรประจำวัน
  • ​มีการสร้างความไม่มั่นคงบางจุดเพื่อกระตุ้นกล้ามเนื้อบางมัดอย่างจำเพาะเจาะจง
  • ​มีการเคลื่อนไหวในหลายๆระนาบ
  • ​มีการปรับระดับความยากขึ้นเรื่อยๆ โดยเน้นการเคลื่อนไหวไปในแต่ละทิศทางที่แน่นอน (Precise Progression)
  • ​ไม่กระตุ้นให้เกิดอาการเจ็บปวดใดๆ ในขณะที่เคลื่อนไหว (Painless Training)

​ใครบ้างที่ควรใช้การรักษาด้วยวิธี NEURAC​

​ผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับกล้ามเนื้อและข้อชนิดเรื้อรัง เช่น

  • ​มีอาการปวดเรื้อรังบริเวณ คอ บ่า ไหล่ เอว สะโพก หรือข้ออื่นๆในร่างกาย​
  • ​ความมั่นคงและความทนทานของกล้ามเนื้อแกนกลางลำตัวลดลง
  • ​องศาการเคลื่อนไหวของ​กล้ามเนื้อแกนกลางลำตัว หรือข้ออื่นๆในร่างกาย ลดลงกว่าปกติ
  • ​​กำลังกล้ามเนื้อถดถอย คุณภาพของระบบสั่งการกล้ามเนื้อ (Motor control ) ​ลดลง
  • ​มีความคล่องตัวในการเคลื่อนที่ลดลง
  • ​ความสมดุลของร่างกายทั้งสองข้างไม่เท่ากัน หรืออิริยาบถของร่างกายไม่ดี
คะแนนบทความ

มีบัญชีผู้ใช้อยู่แล้ว?