“มะเร็งเต้านม” มะเร็งร้าย ถ่ายทอดทางพันธุกรรม

“มะเร็งเต้านม” มะเร็งร้าย ถ่ายทอดทางพันธุกรรม

HIGHLIGHTS:

  • มะเร็งเต้านมที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรมพบได้ 5-10% ซึ่งเกิดจากการกลายพันธุ์ของยีนที่ควบคุมการแบ่งเซลล์ และยีนชนิดนี้สามารถถ่ายทอดสู่ลูกหลานได้
  • มีบุตรช้า หรือไม่มีบุตร มีประจำเดือนเร็ว หรือ หมดประจำเดือนช้า ได้รับฮอร์โมนทดแทน หรือยาคุมกำเนิดเป็นระยะเวลานาน เหล่านี้เป็นปัจจัยที่ทำให้เสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งเต้านม
  • มะเร็งเต้านมเกิดขึ้นโดยไม่ทราบสาเหตุจึงไม่สามารถป้องกันได้ ดังนั้นการตรวจคัดกรองหามะเร็งให้พบตั้งแต่ระยะต้นจึงเป็นวิธีที่ดีที่สุด เพื่อการรักษาที่ทันท่วงทีให้มีโอกาสหายและรอดชีวิตสูง

มะเร็งเต้านม (Breast cancer) ถือเป็นภัยร้ายในผู้หญิง เป็นมะเร็งที่พบมากเป็นอันดับหนึ่งในผู้หญิงทั่วโลก และยังเป็นสาเหตุการตายอันดับต้นๆ โดยอาจไม่มีอาการแสดงใดๆ เตือนให้ทราบล่วงหน้าเลย

สาเหตุและปัจจัยเสี่ยงเป็นมะเร็งเต้านม

มะเร็งเต้านมเริ่มต้นจากการกลายพันธุ์ของยีนควบคุมการแบ่งเซลล์เยื่อบุท่อน้ำนมทำให้ไม่สามารถควบคุมการสร้างเซลล์ให้อยู่ในระดับสมดุลได้ ซึ่งปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุแน่ชัดของการเกิดมะเร็งเต้านม ทราบเพียงปัจจัยเสี่ยงที่เพิ่มโอกาสการเกิดมะเร็งเต้านม โดยผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงข้อใดข้อหนึ่งดังต่อไปนี้ ควรได้รับการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านม

  • อายุ 40 ปีขึ้นไป
  • มีประวัติคนในครอบครัวเป็นมะเร็งเต้านม หรือมะเร็งที่เกี่ยวข้อง เช่น มะเร็งรังไข่ มะเร็งต่อมลูกหมาก มะเร็งตับอ่อน เป็นต้น
  • เคยฉายแสงที่ทรวงอกเพื่อรักษามะเร็งต่อมน้ำเหลืองก่อนอายุ 30 ปี
  • มีบุตรหลังอายุ 30 ปี หรือไม่มีบุตร
  • มีประจำเดือนก่อนอายุ 12 ปี หรือ หมดประจำเดือนช้า หลังอายุ 55 ปี
  • ได้รับฮอร์โมนทดแทน (Hormone replacement therapy) หรือยาคุมกำเนิดเป็นระยะเวลานาน
  • สูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์ เป็นเบาหวาน

อาการ   อาการที่พบบ่อยคือ คลำพบก้อนที่เต้านม ส่วนอาการอื่นๆ ได้แก่

  • มีผื่นหรือแผลที่หัวนม มีน้ำไหลจากหัวนม
  • หัวนมบุ๋ม ผิวหนังบวมแดงหรือบุ๋ม เจ็บ
  • อาจจะคลำพบต่อมน้ำเหลืองใต้รักแร้
  • บางส่วนยังไม่แสดงอาการแต่ตรวจพบจากการตรวจคัดกรอง

การตรวจคัดกรอง  มีวัตถุประสงค์เพื่อ ตรวจหามะเร็งก่อนแสดงอาการ ซึ่ง หมายถึงมะเร็งระยะต้น (early breast cancer) ซึ่งเป็นระยะที่ให้ผลการรักษาดีมาก โอกาสรอดชีวิตสูง การรักษาไม่ซับซ้อน และมีโอกาสผ่าตัดแบบสงวนเต้านมได้มากกว่า

  • การตรวจเต้านมด้วยตัวเอง

การตรวจเต้านมด้วยตนเองเป็นประจำ ทำให้คุ้นเคยกับเต้านมตนเอง และสามารถพบความผิดปกติและพบแพทย์ได้เร็วขึ้น แนะนำให้ตรวจเดือนละครั้งในช่วงวันที่ 3-7 ของรอบประจำเดือน ไม่ควรตรวจในช่วงที่เต้านมคัดตึง เพราะการตรวจอาจผิดพลาดได้

  • การตรวจเต้านมโดยใช้อัลตราซาวด์ (ultrasound)

การตรวจโดยคลื่นเสียงความถี่สูง เสริมจากการตรวจด้วยแมมโมแกรม และเหมาะสำหรับตรวจเต้านมในอายุต่ำกว่า 35 ปี

  • การตรวจเต้านมด้วยเครื่องแมมโมแกรม (mammogram)

เป็นการถ่ายถาพรังสีเต้านม ซึ่งเป็นวิธีตรวจคัดกรองมาตรฐานในผู้หญิงอายุ 40 ปีขึ้นไป

การตรวจยีน (gene)

มะเร็งเต้านมที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรมพบได้ 5-10% ซึ่งเกิดจากการกลายพันธุ์ของยีนที่ควบคุมการแบ่งเซลล์ และยีนชนิดนี้สามารถถ่ายทอดสู่ลูกหลานได้ ยีนที่สำคัญคือ BRCA1 และ BRCA2 คนที่มียีนกลายพันธุ์สองชนิดนี้มีโอกาสเป็นมะเร็งเต้านมในช่วงชีวิต 60-80% ปัจจุบันแนะนำให้ตรวจในรายที่สงสัยที่จะมีการกลายพันธุ์ เช่น เป็นมะเร็งเต้านมอายุน้อยกว่า 50 ปี เป็นมะเร็งเต้านมสองข้าง ผู้ชายที่เป็นมะเร็งเต้านม มีคนในครอบครัวเป็นมะเร็งเต้านมหรือรังไข่ 2 คนขึ้นไปหรือเป็นมะเร็งเต้านมอายุน้อยกว่า 35 ปี เป็นต้น

การทราบว่าตนเองมียีนกลายพันธุ์นั้นมีประโยชน์สำหรับการวางแผนในการผ่าตัด การป้องกันมะเร็งในเต้านมอีกข้างนึง (ซึ่งเสี่ยงเพิ่มจากคนปกติ 4 เท่า) และป้องกันมะเร็งอวัยวะที่เกี่ยวข้อง และยังมีผลต่อคนในครอบครัวที่ต้องมาตรวจเพื่อหายีนกลายพันธุ์เช่นกัน

การรักษา

เมื่อถูกวินิจฉัยพบความผิดปกติของเต้านม ผู้ป่วยมักตื่นตระหนกและกังวลถึงกระบวนการรักษาที่จะตามมา การได้รับกำลังใจที่ดีและข้อมูลการรักษาอย่างครบถ้วน เป็นส่วนสำคัญในการสร้างความมั่นใจช่วยประคับประคองผู้หญิงทุกคนให้ก้าวผ่านช่วงเวลาอันแสนยากลำบากนี้ไปได้การรักษามะเร็งเต้านมมีเป้าหมายเพื่อให้หายขาดจากโรค หรือลดการกลับเป็นซ้ำ โดยการรักษาในแต่ละรายจะไม่เหมือนกัน ขึ้นกับชนิดของมะเร็ง ระยะของโรค และข้อจำกัดของผู้ป่วย การรักษาหลัก ได้แก่

  • การผ่าตัด ปัจจุบันการผ่าตัดมะเร็งเต้านม มี 3 แบบ คือ
    • ตัดเต้านมทั้งหมด (mastectomy)
    • ผ่าตัดสงวนเต้านม (breast conservative therapy, BCT) และตัดเต้านมทั้งหมดร่วมกับการสร้างเต้านมใหม่ (mastectomy with reconstruction) โดยเลือกการรักษาตามข้อบ่งชี้ทางการแพทย์และความต้องการของคนไข้ ซึ่งถ้าเป็นมะเร็งระยะต้นจะมีโอกาสที่จะผ่าตัดด้วยวิธีสงวนเต้านมได้สูง จะคงความสวยงามของเต้านมได้มากกว่าวิธีอื่น
    • การผ่าตัดต่อมน้ำเหลืองที่รักแร้ มะเร็งเต้านมมีโอกาสกระจายไปที่ต่อมนำเหลืองใต้รักแร้โดยเฉลี่ยประมาณ20-60% แต่เดิมจะทำการเลาะต่อมน้ำเหลืองใต้รักแร้ทุกราย แต่ปัจจุบันการเลาะต่อมน้ำเหลืองจะมีประโยชน์เฉพาะในรายที่มีการแพร่กระจายของมะเร็งเท่านั้น การทำ Sentinel lymph node biopsy เป็นวิธีตรวจเพื่อเลือกผู้ป่วยที่จำเป็นต้องเลาะต่อมน้ำเหลืองใต้รักแร้ โดยผลการรักษาดีเทียบเท่ากับการผ่าตัดแบบเดิม และลดผลแทรกซ้อนจากการเลาะต่อมน้ำเหลืองใต้รักแร้ลงได้
  • ฉายรังสี เป็นการรักษาเฉพาะที่เสริมจากการผ่าตัด ลดการกลับเป็นซ้ำเฉพาะที่และลดการแพร่กระจายของโรค โดยใช้รังสีทำลายเซลล์มะเร็ง
  • เคมีบำบัด การรักษาด้วยเคมีบำบัด หรือคีโม เป็นการใช้ยาทำลายและหยุดการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็ง เพื่อลดการกลับเป็นซ้ำและแพร่กระจายของมะเร็ง อย่างไรก็ตาม เคมีบำบัดไม่ได้ออกฤทธิ์แค่กับเซลล์มะเร็งเท่านั้น แต่ยังมีผลกระทบต่อเซลล์ที่ปกติและการทำงานของอวัยวะอื่นๆ ด้วย ดังนั้นการรักษาด้วยวิธีการนี้ จึงอาจเกิดอาการข้างเคียงได้ เช่น ผมร่วง คลื่นไส้ อาเจียน หรือเบื่ออาหาร โดยอาการข้างเคียงจะมากหรือน้อยขึ้นกับชนิดยา และความแข็งแรงด้านร่างกายและจิตใจของผู้ป่วยแต่ละราย
  • ยาต้านฮอร์โมน มะเร็งเต้านม 60-70% มีตัวรับฮอร์โมนเอสโตรเจนหรือโปรเจสเตโรน (Estrogen Receptor/ER, Progesterone Receptor/PgR) ซึ่งเมื่อมีการกระตุ้นผ่านตัวรับนี้จะทำให้มะเร็งเติบโต การให้ยาต้านฮอร์โมนจะช่วยยับยั้งการกระตุ้นตัวรับลดการกลับเป็นซ้ำและการแพร่กระจายของโรคได้
  • ยาต้าน HER-2 มะเร็งเต้านม 15-20% มีตัวรับHER-2 ซึ่งเป็นชนิดที่มีโอกาสกลับเป็นซ้ำและแพร่กระจายได้สูงกว่า การให้ยาต้าน HER-2 จะช่วยยับยั้งการกระตุ้นตัวรับลดการกลับเป็นซ้ำและการแพร่กระจายของโรคได้มะเร็งเต้านมเสมือนภัยเงียบใกล้ตัว กว่าจะปรากฏอาการผิดปกติให้เห็น ก็เมื่ออยู่ในระยะที่ก้อนมะเร็งมีขนาดใหญ่ มีการกระจายไปต่อมน้ำเหลือง ทำให้การรักษาซับซ้อน มีการสูญเสียเต้านม หรือถ้ามีการแพร่กระจายนอกเต้านม การรักษาอาจจะไม่ได้ผลผู้ป่วยส่วนใหญ่จึงมักเสียชีวิต

และเนื่องจากมะเร็งเต้านมไม่ทราบสาเหตุจึงไม่สามารถป้องกันได้ ดังนั้นการตรวจคัดกรองหามะเร็งให้พบตั้งแต่ระยะต้นจึงเป็นวิธีที่ดีที่สุด เพื่อการรักษาที่ทันท่วงทีให้มีโอกาสหายและรอดชีวิตสูง

คะแนนบทความ

มีบัญชีผู้ใช้อยู่แล้ว?