ฟันน้ำนมซี่แรก…จุดเริ่มต้นสุขภาพช่องปากเจ้าตัวเล็ก

ฟันน้ำนมซี่แรก…จุดเริ่มต้นสุขภาพช่องปากเจ้าตัวเล็ก

คุณพ่อคุณแม่คงจะมีคำถามในใจมากมายเกี่ยวกับการพบคุณหมอฟันครั้งแรกของลูกๆ อาทิเช่น เด็กเล็กต้องมาหาหมอฟันครั้งแรกเมื่อไร? คุณหมอจะทำอะไรบ้าง? ลูกจะยอมอ้าปากให้หมอดูหรือไม่? รวมถึงคุณแม่บางท่านก็กังวลเรื่องลูก 1 ขวบมีฟันบิดเก หรือลูก 2 ขวบฟันล่างยื่นด้วยเช่นกัน โอกาสนี้จึงอยากบอกเล่าว่าเมื่อเด็กๆ ในแต่ละช่วงอายุมาพบหมอฟัน คุณหมอจะคำนึงถึงเรื่องใดบ้าง ตรวจสิ่งใดบ้าง และมีแนะนำคุณแม่อย่างไรบ้างค่ะ ซึ่งแต่ละช่วงอายุมีคำแนะนำในส่วนปลีกย่อยที่ต่างกันอยู่บ้าง แต่มีเป้าหมายเดียวกัน คือ การทำให้ฟันของเด็กๆ สวยสะอาดและไม่ผุ  

ชมรมทันตกรรมสำหรับเด็กแนะนำว่า เด็กๆ ควรมาพบทันตแพทย์ครั้งแรกตั้งแต่ฟันน้ำนมซี่แรกขึ้น ซึ่งอายุที่ฟันน้ำนมซี่แรกขึ้นอยู่ในช่วง 6-12 เดือน แต่หากเด็กคนใดมีอายุเกินแล้วก็สามารถพาไปหาได้เลยเช่นกัน และคุณพ่อคุณแม่ไม่จำเป็นต้องกังวลเรื่องการร้องไห้ของลูกนะคะ เพราะเด็กเล็กๆ ร้องไห้เวลาหาหมอเป็นเรื่องธรรมดา และนับว่าเป็นข้อดีคือ เวลาร้องไห้คุณหมอจะสามารถเห็นฟันลูกหมดทุกซี่ได้อย่างง่ายๆ เลยค่ะ การตรวจจะใช้เวลาไม่ถึง 1 นาที ในกรณีที่มีหัตถการต้องทำคุณหมอจะอธิบายให้คุณแม่ทราบก่อนค่ะ หลังจากนี้มาดูกันนะคะว่าหมอฟันจะตรวจอะไรลูกน้อยบ้าง…

ตรวจดูฟันขึ้น

ทั้งในด้านจำนวน และลำดับของฟันที่ขึ้น สัมพันธ์กับอายุของเด็ก

ตรวจหาฟันผุ  

ที่สำคัญคือรอยเริ่มจะผุ ซึ่งคุณพ่อคุณแม่อาจไม่ทราบเพราะยังไม่เป็นรูผุ หากคุณหมอตรวจพบก็จะให้คำแนะนำการดูแล เพื่อหยุดรอยผุระยะเริ่มต้นนี้ไม่ให้ลุกลามต่อได้ รวมถึงเป็นการป้องกันโอกาสที่น้องจะต้องอุดฟันในอนาคตด้วยเช่นกัน แต่หากฟันผุเป็นรูแล้ว อาจต้องอุดฟันเพื่อไม่ให้รูผุลุกลามมากจนเกิดอาการปวด ซึ่งทำให้การรักษายากขึ้น จากประสบการณ์ส่วนตัวของหมอ เด็กเล็กที่สุดที่มีฟันผุจนต้องเข้ารับการรักษามีอายุเพียง 11 เดือนเท่านั้นเองค่ะ

ดูลักษณะของฟัน  

ลักษณะผิวฟันบางตำแหน่งต้องระวังว่าจะผุได้ง่าย รวมไปถึงรูปร่างของฟัน เช่น บริเวณหลุมร่องบนฟันกรามมักมีขนมติดค้างบนตัวฟัน หรือด้านหลังของฟันหน้าบนเด็กบางรายมีลักษณะเป็นแอ่ง (lingual fossa) ตื้นบ้างลึกบ้าง หากแอ่งลึกก็ต้องพิถีพิถันแปรงฟันมากขึ้นเพื่อให้สะอาดลึกถึงในแอ่งด้วย  เนื่องจากตำแหน่งนี้มักเป็นบริเวณที่คุณแม่มองเห็นได้ยาก เมื่อเห็นยากก็จะเสี่ยงผุได้ง่าย

ดูลักษณะการเรียงตัวของฟัน

ฟันที่เรียงเรียบกันดีจะทำให้แปรงทำความสะอาดง่าย ส่วนฟันที่เบียดซ้อนเกต้องใส่ใจมากขึ้นเวลาแปรงฟัน เนื่องจากเศษอาหารติดซอกฟันง่าย จึงต้องระวังฟันผุในซอกฟัน

ดูความสะอาดของฟันและลิ้น  

เด็กที่ฟันเพิ่งขึ้นฟันมักจะยังไม่มีคราบ คุณหมอจะตรวจดูว่าลิ้นมีคราบขาวบนลิ้นหรือไม่ ส่วนเด็กที่มีฟันขึ้นมาระยะหนึ่งแล้ว คุณหมอก็จะได้เห็นผลงานการแปรงฟันของคุณพ่อคุณแม่ว่าสามารถแปรงฟันให้ลูกๆ ได้สะอวดมากน้อยเพียงใด มีจุดไหนที่ต้องแนะนำเพิ่มเติมหรือไม่

นอกจากการตรวจฟันของลูกน้อยแล้ว การพูดคุยซักถามคุณพ่อคุณแม่ก็เป็นสิ่งสำคัญมากไม่แพ้กัน เพราะจะทำให้คุณหมอสามารถประเมินความเสี่ยงฟันผุของลูกได้ว่ามีมากน้อยเพียงไร และจะให้คำแนะนำ รวมถึงจัดมาตรการป้องกันฟันผุอย่างเหมาะสม ซึ่งเรื่องที่หมอจะพูดคุยกับคุณพ่อคุณแม่ มีดังนี้

โรคประจำตัว

โรคประจำตัวที่อาจเกี่ยวเนื่องกับสุขภาพช่องปากและฟัน เช่น โรคลมชัก ที่ต้องรับประทานยาเป็นประจำ ซึ่งยารักษาโรคนี้ทำให้เหงือกบวมง่ายกว่าปกติ การดูแลช่องปากไม่ให้มีขี้ฟันเลยจึงเป็นสิ่งสำคัญ หรือเด็กที่มีโรคหัวใจแต่กำเนิด ต้องมีมาตรการป้องกันฟันผุอย่างเข้มข้น  รวมทั้งเด็กที่ป่วยบ่อยด้วยโรคต่างๆ การดูแลเรื่องสุขภาพช่องปากก็อาจถูกละเลยได้ง่าย เนื่องจากยาเด็กที่เป็นยาน้ำหวานๆ หลายชนิดมีน้ำตาลซูโครส จึงต้องแนะนำให้ทานน้ำตามด้วยทุกครั้ง

ประวัติครอบครัว  

การที่เด็กมีพ่อ แม่ หรือพี่ฟันผุ ก็มีโอกาสเสี่ยงฟันผุมากขึ้นด้วย เพราะพฤติกรรมการรับประทานอาหารอาจเป็นสาเหตุให้ฟันผุได้ด้วยการส่งต่อเชื้อโรคฟันผุ ผ่านการเป่า ชิม หรือทานช้อนเดียวกันกับคนที่มีฟันผุ หากเด็กได้รับเชื้อแบคทีเรียดังกล่าวในปริมาณมากๆ นี้ไปรอในช่องปาก ฟันก็จะผุได้ง่ายขึ้น

การดูดนม

ปัจจัยต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นประเภทของนม (นมขวดหรือนมแม่) ระยะเวลาการดูดนมแต่ละมื้อ การได้ดื่มน้ำตามหลังทานนม และการตื่นขึ้นมาทานนมกลางดึก ล้วนแล้วแต่เกี่ยวข้องเกี่ยวข้องกับอาการฟันผุของเด็กทั้งสิ้น

การทานอาหารอื่นๆ 

อาหารเสริม รวมทั้งขนมต่างๆ พฤติกรรมการรับประทานที่เกี่ยวข้อง

การพูดคุยกับคุณพ่อคุณแม่และคนที่มีส่วนสำคัญในการดูแลลูกเป็นเรื่องสำคัญมากในการหาหมอฟันครั้งแรกของลูก เพื่อให้คุณหมอได้อธิบายว่าคุณพ่อคุณแม่ควรใส่ใจจุดใดเป็นพิเศษ ทั้งยังแนะนำวิธีแปรงฟันที่มีประสิทธิภาพ การใช้ยาสีฟันที่มีส่วนผสมของฟลูออไรด์ รวมถึงการดูดนมขวดอย่างไร ควรจะเลิกนมขวดเมื่อไร หรือแม้แต่นมแม่เองก็ต้องมีวิธีดูดนมแม่อย่างไรให้ฟันไม่ผุด้วยเช่นเดียวกัน (จากประสบการณ์ของหมอที่ทำงานมาร่วม 20 ปี พบเด็กน้อยนมแม่ล้วนที่ฟันผุมากๆอยู่จำนวน 5 คน อยู่ในช่วงอายุ 1 ขวบ 1 เดือน – 1 ขวบ 4 เดือน หากเทียบเป็นสถิติถือว่าน้อยมาก แต่..ไม่ควรมี! จากการสัมภาษณ์คุณแม่พบว่า ปัจจัยที่เหมือนกันของเด็กทั้ง 5 คน คือ เด็กดูดนมแม่เป็นอาหารหลัก แทบจะไม่ทานอย่างอื่นเลย ดูดทั้งวันและทั้งคืน ระยะเวลาการดูดนมแต่ละครั้งนานเกือบชั่วโมง กลางคืนแทบจะอมนมคาบค้างกันเลยมีเดียว และอีกข้อที่สำคัญคือการแปรงฟันให้ลูกไม่ได้ ลูกร้องไห้มากมายทุกครั้ง จึงยอมใจไม่ค่อยได้แปรง) นอกจากนี้เรื่องขนมที่เป็นของคู่กับเด็กๆ คุณหมอสามารถให้คำแนะนำที่คุณพ่อคุณแม่นำไปปรับใช้ให้เข้ากับครอบครัวของตนเอง ไม่ว่าจะเป็นสิ่งใดที่ต้องฝึกลูกหรือขัดใจลูกบ้าง หากเป็นเรื่องที่ส่งผลต่อเสียต่อสุขภาพ คุณพ่อคุณแม่ก็ต้องใจแข็งค่ะ

การเริ่มต้นที่ดี ตั้งแต่ฟันน้ำนมซี่แรกของลูก ช่วยให้ลูกมีฟันสวยสะอาดแข็งแรงไปจนถึงฟันแท้ได้นะคะ…

คะแนนบทความ

มีบัญชีผู้ใช้อยู่แล้ว?