เสริมสร้างเต้านมใหม่ เมื่อต้องตัดเต้านมทิ้งจากมะเร็ง

เสริมสร้างเต้านมใหม่ เมื่อต้องตัดเต้านมทิ้งจากมะเร็ง

HIGHLIGHTS:

  • การผ่าตัดรักษามะเร็งเต้านมสามารถทำได้ทั้งการผ่าตัดแบบเก็บสงวนเต้านมและตัดเต้านมทิ้ง การจะเลือกใช้วิธีใดจะขึ้นอยู่กับชนิดและระยะของมะเร็งที่เป็น
  • ผ่าตัดเสริมสร้างเต้านม ควรทำเมื่อการผ่าตัดมะเร็งเต้านมออกแล้วเสริมทันที หรือเสริมสร้างเต้านมหลังการรักษามะเร็งจนเสร็จสิ้นก่อน

ขึ้นชื่อว่ามะเร็งไม่ว่าจะเกิดกับส่วนใดของของร่างกาย ย่อมส่งผลกระทบทางใจให้ผู้ป่วยเสมอ โดยเฉพาะมะเร็งเต้านมซึ่งเป็นปัญหาสำคัญของผู้หญิงทั่วโลกโดยเฉพาะผู้หญิงไทย เพราะนอกจากเสี่ยงต่อการเสียชีวิตแล้ว คนไข้จำนวนหนึ่งต้องถูกตัดเต้านมทิ้ง ซึ่งเป็นเรื่องที่กระทบกระเทือนจิตใจของผู้หญิงเป็นอย่างมาก

ปัจจุบันการเป็นมะเร็งเต้านมในระยะเริ่มแรกสามารถรักษาให้หายขาดได้ การผ่าตัดรักษามะเร็งเต้านมสามารถทำได้ทั้งการผ่าตัดแบบเก็บสงวนเต้านมและตัดเต้านมทิ้ง การจะเลือกใช้วิธีใดจะขึ้นอยู่กับชนิดและระยะของมะเร็งที่เป็น

การผ่าตัดเสริมสร้างเต้านมใหม่ (Breast Reconstruction) สำหรับผู้ป่วยมะเร็งเต้านมที่ถูกตัดเต้านมทิ้งนั้นมีมานานแล้วและมีวิวัฒนาการที่เจริญก้าวหน้ากว่าในอดีตมาก การเสริมสร้างเต้านมใหม่จะช่วยคลายความกังวลใจหลังการผ่าตัดมะเร็ง คงไว้ซึ่งภาพลักษณ์และความมั่นใจให้กับคุณสุภาพสตรีอีกครั้ง แต่ไม่ได้หมายความว่าผู้ป่วยมะเร็งเต้านมทุกคนจะทำผ่าตัดเสริมสร้างเต้านมได้ ศัลยแพทย์ผู้ทำผ่าตัดมะเร็งเต้านมจะเป็นผู้ให้คำปรึกษาอย่างละเอียด พร้อมร่วมวางแผนกการดูแลรักษาร่วมกับผู้ป่วยและครอบครัว

ผ่าตัดเสริมสร้างเต้านม เมื่อใด ?

การผ่าตัดมะเร็งเต้านมออกแล้วเสริมทันที (Immediate breast reconstruction)

การผ่าตัดวิธีนี้เหมาะสำหรับมะเร็งที่ยังไม่มีการแพร่กระจายและไม่มีความจำแป็นที่ต้องรักษาด้วยการฉายแสง ศัลยแพทย์ตกแต่งสามารถทำการผ่าตัดเสริมเต้านมทันทีเมื่อผ่าตัดเต้านมออกไป เป็นการผ่าตัดในครั้งเดียวกับการผ่าตัดมะเร็งจะช่วยลดความวิตกกังวลเสมือนผู้ป่วยไม่ได้ถูกตัดเต้านมออกไป

เสริมสร้างเต้านมหลังการรักษามะเร็งจนเสร็จสิ้นก่อน (Delayed breast reconstruction)

เป็นการรอจนการรักษาทุกอย่างดีขึ้น ไม่พบการเกิดใหม่ของเซลล์มะเร็ง ผิวหนังเต้านมด้านนอกดีพอควรและผู้ป่วยมีความพร้อมทั้งด้านร่างกายและจิตใจที่ต้องการจะทำผ่าตัดแก้ไข ศัลยแพทย์ตกแต่งจะเป็นผู้พิจารณาวางแผนการรักษาและเลือกเทคนิคที่เหมาะสมกับผู้ป่วยเฉพาะราย

ผู้ป่วยมะเร็งเต้านม ที่ไม่สามารถผ่าตัดเสริมสร้างเต้านมได้ ได้แก่

  • ผู้ป่วยมะเร็งเต้านมที่ยังไม่ได้รับการรักษามะเร็งเต้านมจนหายขาด
  • ผู้ป่วยที่มีผิวหนังบริเวณหน้าอกบางมากไม่เอื้อต่อการผ่าตัดเสริมหน้าอก หรือผิวหนังเกิดความเสียหายจากการฉายรังสีหลายครั้ง โดยแพทย์จะเป็นผู้วินิจฉัย
  • ผู้ป่วยที่ยังไม่ได้ทำการผ่าตัดเอาเนื้อร้าย หรือเนื้อเต้านมเดิมออก ซึ่งอาจก่อให้เกิดการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็ง
  • ผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงด้านอื่นๆ ที่อาจก่อให้เกิดอันตรายสูง ระหว่างหรือหลังการผ่าตัด
  • ผู้ป่วยที่มีความเสี่ยง รวมถึงมีประวัติแพ้สิ่งแปลกปลอมในร่างกาย

วิธีเสริมสร้างเต้านมใหม่

  • การย้ายเนื้อเยื่อจากบริเวณอื่นของร่างกายเพื่อสร้างเต้านมใหม่ เนื่อเยื่อที่นิยมใช้ ได้แก่กล้ามเนื้อหน้าท้อง (TRAM Flap) และกล้ามเนื้อที่หลัง (LD Flap) มาสร้างเป็นเต้านมใหม่ วิธีการผ่าตัดนี้มีความยุ่งยากจึงจำเป็นต้องอาศัยทักษะและความชำนาญการของศัลยแพทย์ตกแต่ง
  • การเสริมเต้านมด้วยซิลิโคน ในกรณีที่ผิวหนังไม่ได้ถูกตัดออกไปมาก ทางเลือกที่นิยมคือการเสริมเต้านมด้วยถุงเต้านมเทียม ซึ่งมีทั้งแบบบรรจุซิลิโคนเหลวหรือบรรจุน้ำเกลือ ศัลยแพทย์ตกแต่งจะทำการผ่าตัดเสริมถุงเต้านมเทียมใต้กล้ามเนื้อ การผ่าตัดวิธีนี้เป็นวิธีที่ไม่ซับซ้อนมาก ทำการผ่าตัดด้วยวิธีดมยาสลบ ระยะเวลาในการพักฟื้นในโรงพยาบาลสั้นกว่าการผ่าตัดแบบการย้ายเนื้อเยื่อ
  • การใช้ Tissue expander ยืดหนังบริเวณหน้าอกก่อนแล้วตามด้วยการใส่ถุงซิลิโคน
  • การเสริมเต้านมด้วยการ เติมไขมัน เพิ่มขนาดหน้าอก (Fat grafting) โดยนำไขมันจากส่วนหน้าท้อง สะโพก หรือบริเวณต้นขามาฉีดเพื่อเสริมสร้างเต้านมใหม่ เป็นวิธีเสริมเต้านมที่ได้ผลดี แต่ยังไม่ได้เป็นมาตรฐานของการรักษา เนื่องจากมีข้อจำกัดหลายอย่าง เช่น มีความเสี่ยงของการสลายหรือตายของเซลล์ไขมันในระยะยาวได้  ผู้ป่วยจึงอาจต้องกลับมาฉีดไขมันเติมอีกหลายครั้ง ไขมันที่รวมตัวเป็นก้อนอาจเป็นปัญหาต่อการวินิจฉัยมะเร็งในอนาคต และการรักษาด้วยวิธีนี้ไม่สามารถเสริมให้มีขนาดใหญ่มากได้ ทั้งยังต้องอาศัยความชำนาญของแพทย์ผู้ทำหัตถการ

ไม่ว่าการเสริมสร้างเต้านมด้วยวิธีใด  เต้านมที่สร้างขึ้นใหม่จะไม่มีคุณสมบัติบางอย่างเหมือนเต้านมเดิม เช่น ไม่มีการสร้างน้ำนม และมีความรู้สึกน้อยกว่าปกติหากได้รับการสัมผัส ทั้งนี้การผ่าตัดเสริมสร้างเต้านมในปัจจุบันเป้าหมายหลักเป็นการคืนความรู้สึกของความเป็นผู้หญิงให้กับผู้ป่วยมะเร็งเต้านมที่ต้องตัดเต้านมออกไป

การใช้ถุงเต้านมเทียมไม่ถือเป็นการเพิ่มความเสี่ยงการเกิดมะเร็งเต้านมแต่อย่างใด ทั้งนี้ผู้ที่ผ่านการเสริมเต้านมกับผู้ที่ไม่เคยเสริมมีอัตราการเกิดมะเร็งเต้านมได้ไม่ต่างกัน ขึ้นอยู่กับปัจจัยเสี่ยงและพฤติกรรมการใช้ชีวิตของแต่ละบุคคล

สมิติเวชมีทีมพร้อมช่วยเหลือและให้บริการ

  • ปรึกษาแผนการรักษากับแพทย์ วิดีโอคอลผ่านทางออนไลน์ (Second Opinion)
  • วางแผนการรักษาหากมีประวัติการรักษาหรือใบประเมินราคาจากโรงพยาบาลอื่น
  • วางแผนค่าใช้จ่ายโดยทีมประเมินราคา พร้อมการันตีราคาให้ (เฉพาะหัตถการที่มีแพ็กเกจที่ไม่มีความซับซ้อน)
  • ตรวจสอบสิทธิความคุ้มครองเบื้องต้นกับบริษัทประกัน ทั้งไทยและต่างประเทศ (เฉพาะบริษัทประกันคู่สัญญา)

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม คลิกที่นี่

คะแนนบทความ

มีบัญชีผู้ใช้อยู่แล้ว?