การปลูกถ่ายไต

การปลูกถ่ายไต

การปลูกถ่ายไต คือการรักษาผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย โดยการใช้ไตจากผู้อื่น (ซึ่งผ่านการตรวจแล้วว่าสามารถเข้ากันได้) ให้มาทำหน้าที่แทนไตเก่าของผู้ป่วยที่สูญเสียหน้าที่ไปอย่างถาวรแล้ว ปัจจุบันถือเป็นการรักษาที่ดีที่สุดสำหรับผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายทั้งในวัยเด็กและผู้ใหญ่ เนื่องจากถ้าไตใหม่ทำหน้าที่ได้ดีแล้ว สามารถทดแทนไตเดิมได้สมบูรณ์ คุณภาพชีวิตจะดีขึ้น รวมทั้งอายุที่ยืนยาวกว่าการรักษาทดแทนไตโดยวิธีอื่น ไม่ว่าจะเป็นการฟอกเลือด หรือการล้างไตทางผนังหน้าท้อง ผู้ป่วยจะมีความรู้สึกเหมือนกับการได้รับชีวิตใหม่

วิธีการปลูกถ่ายไต

วิธีการปลูกถ่ายไต คือ การนำไตของผู้อื่นที่เข้าได้กับผู้ป่วยมาปลูกถ่ายให้กับผู้ป่วย มิใช่การเปลี่ยนเอาไตผู้ป่วยออกแล้วเอาไตผู้อื่นใส่เข้าไปแทนที่ การผ่าตัดทำโดยวางไตใหม่ไว้ในอุ้งเชิงกรานข้างใดข้างหนึ่งของผู้ป่วย แล้วต่อหลอดเลือดของไตใหม่เข้ากับหลอดเลือดของผู้ป่วย และต่อท่อไตใหม่เข้าในกระเพาะปัสสาวะของผู้ป่วย การปลูกถ่ายไตนี้ใช้ไตเพียงข้างเดียวก็พอ ถ้าร่างกายของผู้ป่วยรับไตใหม่ได้ดีและไม่มีภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ไตที่ได้รับใหม่จะทำงานได้ดี แต่ผู้ป่วยต้องได้รับยากดภูมิต้านทานตลอดชีวิต และจะต้องอยู่ในความดูแลของแพทย์ตลอดไป หากขาดยากดภูมิต้านทาน ร่างกายจะต่อต้านไตที่ได้รับใหม่ ทำให้ไตเสียและยังอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้

ผู้บริจาค (Donor)

ไตที่นำมาใช้ปลูกถ่ายได้มาจาก 2 แหล่งคือจากคนบริจาคที่ยังมีชีวิต (Living Donor) และจากคนบริจาคที่เสียชีวิตแล้ว (Cadaveric Donor)

คนบริจาคที่ยังมีชีวิต

ตามกฏหมายของแพทยสภาที่ประเทศไทยถือปฏิบัติอยู่ คนบริจาคที่มีชีวิตต้องเป็นญาติโดยทางสายเลือด, สามีหรือภรรยา ซึ่งรวมถึงพ่อ แม่ พี่ น้อง ลูก หลาน และญาติ ที่ได้รับการพิสูจน์แล้วว่าเป็นญาติโดยทางสายเลือดอย่างแท้จริง ทั้งทางด้านการแพทย์และหรือทางด้านกฏหมาย สำหรับสามี/ภรรยาที่จะบริจาคไตให้คู่ครองของตน จะต้องแต่งงานโดยมีทะเบียนสมรสมาไม่ต่ำกว่า 3 ปี และ/หรือมีลูกสืบสกุลที่เกิดจากสามีภรรยาคู่นั้น ผู้บริจาคและผู้รับบริจาคควรมีเลือดกรุ๊ปเดียวกันหรือเป็นกรุ๊ปเลือดที่เข้ากันได้ และผลการทดสอบเข้ากันได้ของเลือดจะต้องไม่มีปฏิกริยาต่อต้านกัน

ผู้บริจาคที่ยังมีชีวิตต้องได้รับการตรวจร่างกาย ตรวจเลือด ตรวจ ปัสสาวะ อัลตราซาวน์ ตรวจคลื่นหัวใจอย่างละเอียด เพื่อให้มีความแน่ชัดว่ามีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรงสมบูรณ์ มีความเสี่ยงน้อยที่สุด ผู้บริจาคต้องมีความเข้าใจในเรื่องการบริจาค มีความตั้งใจ เต็มใจ ที่จะช่วยเหลืออย่างบริสุทธิ์ใจ ปราศจากอามิสสินจ้างตอบแทน ภายหลังการบริจาคไต ผู้บริจาคไตจะเหลือไตเพียงข้างเดียว เพียงพักฟื้น 2-4 สัปดาห์ ก็จะสามารถทำงานได้ตามปกติ ผู้บริจาค
จะยังคงมีสุขภาพปกติ แข็งแรงเหมือนคนที่มีไต 2 ข้างตามปกติ สามารถทำงาน ออกกำลังกาย เดินทาง และมีอายุยืนยาวเหมือนคนปกติ เพียงแต่ควรระมัดระวังดูแลไตที่เหลือไม่ให้เกิดการติดเชื้อ ไม่ให้เกิดอุบัติเหตุกระทบกระเทือนต่อไต

คนบริจาคที่เสียชีวิตแล้ว

คนบริจาคที่เสียชีวิตแล้ว หมายถึง ผู้บริจาคที่เสียชีวิตหรือตายแล้ว การตายนี้ได้รับการพิสูจน์และยืนยันโดยคณะแพทย์ และญาติผู้ตายแสดงความประสงค์จะบริจาคอวัยวะของผู้ตายคนนั้น ขั้นตอนในการวินิจฉัยการตายและการรับบริจาคอวัยวะ ต้องปฏิบัติตามกฏเกณฑ์ของแพทยสภาและของศูนย์รับบริจาคอวัยวะสภากาชาดไทยอย่างเคร่งครัด แพทย์ในประเทศไทยสามารถให้การวินิจฉัยการตายของคนไข้ได้ โดยยึดหลักเกณฑ์ที่กำหนดโดยแพทยสภาเมื่อแพทย์ตรวจพบว่าคนไข้มีแกนสมองไม่ทำงานอย่างถาวร โดยมีสาเหตุที่ชัดเจน ถือว่าแกนสมองตาย ถือว่าสมองตาย จึงจะถือว่าเป็นการตายที่สมบูรณ์ ถึงแม้ว่าหัวใจยังเต้นอยู่ก็ตาม ญาติของผู้ตายในลักษณะนี้ควรและสามารถแสดงความประสงค์บริจาคอวัยวะของผู้ตายได้

การเสียชีวิตที่ชัดเจนแบบข้างต้น ส่วนใหญ่จะเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางรถยนต์ และมีการบาดเจ็บของสมองอย่างรุนแรงและถาวร หรืออาจจะมาจากผู้เสียชีวิตจากเส้นเลือดในสมองแตกและสมองถูกทำลายอย่างรุนแรงถาวร เมื่อไตที่บริจาคถูกนำออกจากร่างกายของผู้บริจาคแล้ว ถ้าได้รับการเก็บรักษาอย่างถูกวิธี ก็สามารถเก็บได้นานถึง 48 ชม.

โอกาสประสพความสำเร็จในการปลูกถ่ายไต

ผลสำเร็จในการปลูกถ่ายไตขึ้นกับหลายปัจจัย ปัจจัยที่สำคัญที่สุดคือชนิดของไตที่ได้รับ ดังนี้

ไตจากผู้มีชีวิต

  • ผลสำเร็จใน 1 ปี  ประมาณ 95%
  • ผลสำเร็จใน 5 ปี  ประมาณ 90 %

ไตจากผู้เสียชีวิต

  • ผลสำเร็จใน 1 ปี  ประมาณ 85 %
  • ผลสำเร็จใน 5 ปี  ประมาณ 70 %
คะแนนบทความ

มีบัญชีผู้ใช้อยู่แล้ว?