ภาวะน้ำคร่ำอุดตันหลอดเลือดที่ปอดขณะคลอด

ภาวะน้ำคร่ำอุดตันหลอดเลือดที่ปอดขณะคลอด

HIGHLIGHTS:

  • คุณแม่เสียชีวิตขณะคลอด เพราะเกิดจาก ภาวะน้ำคร่ำอุดตันหลอดเลือดที่ปอด ยังมีปรากฎอยู่ แต่มีโอกาสเกิดขึ้นเพียง 1 : 20,000 รายของการคลอดทุกประเทศทั่วโลก
  • ภาวะน้ำคร่ำอุดตันหลอดเลือดที่ปอด อาจเกิดขึ้นกับใครก็ได้และไม่สามารถบอกได้ว่าจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ จึงเป็นภาวะที่ไม่สามารถป้องกันได้
  • คุณแม่ตั้งครรภ์ควรฝากท้องและดูแลสุขภาพให้แข็งแรง รวมถึงทำจิตใจให้แจ่มใส ไม่เครียดกับข่าวสารต่างๆ ที่ส่งต่อกันในโลกออนไลน์ หากมีข้อสงสัยควรปรึกษาแพทย์ เพื่อข้อมูลที่ถูกต้องและปลอดภัย

แม้โลกจะเจริญก้าวหน้าไปมากเพียงไร แต่เหตุการณ์ที่คุณแม่เสียชีวิตขณะคลอดก็ยังปรากฏอยู่เสมอ หนึ่งในความเสี่ยงที่ทำให้คุณแม่เสียชีวิต คือภาวะน้ำคร่ำอุดหลอดเลือดที่ปอด

ภาวะน้ำคร่ำอุดหลอดเลือดที่ปอด อันตรายเกินคาดเดา

ภาวะน้ำคร่ำอุดตันหลอดเลือดที่ปอด (Amniotic fluid embolism; AFE) เป็นภาวะที่มีน้ำคร่ำหรือชิ้นส่วนเล็กๆ ของทารกหลุดเข้าสู่กระแสเลือดของคุณแม่ แล้วไปอุดกั้นบริเวณหลอดเลือดดำที่ปอด ส่งผลให้ระบบคุ้มกันร่างกายต่อต้านอย่างรุนแรง จนทำให้ระบบหมุนเวียนเลือด การหายใจ หรือหัวใจล้มเหลว ถือเป็นภาวะที่อันตรายมาก ซึ่งหากรักษาไม่ทันคุณแม่อาจเสียชีวิตภายใน 1 ชั่วโมง อีกทั้งยังมีอัตราการเสียชีวิตสูงถึง 80% เลยทีเดียว สำหรับทารกในครรภ์ก็มีความเสี่ยงเสียชีวิตได้เช่นกัน หากคุณแม่เกิดภาวะน้ำคร่ำอุดตันหลอดเลือดที่ปอดขณะที่ทารกยังไม่คลอด และแพทย์ไม่สามารถผ่าตัดคลอดช่วยชีวิตทารกได้ทันท่วงที ทั้งนี้ภาวะดังกล่าวไม่สามารถคาดเดาได้ว่าจะเกิดขึ้นหรือไม่ จะเกิดขึ้นเมื่อใด อีกทั้งยังไม่มีวิธีป้องกัน

สาเหตุและความเสี่ยง

ปัจจุบันยังไม่สามารถหาสาเหตุภาวะน้ำคร่ำอุดตันหลอดเลือดที่ปอดได้ชัดเจน อาจเกิดจากการหดรัดตัวที่รุนแรงของมดลูก ส่งผลให้เกิดความดันในโพรงมดลูกสูงจนดันน้ำคร่ำเข้าสู่กระแสเลือด หรือจากการที่ถุงน้ำคร่ำแตกหลุดเข้าไปในกระแสเลือด รวมถึงอาจเนื่องจากทารกเสียชีวิตในครรภ์และเยื่อหุ้มทารกเปื่อยขาด ทำให้น้ำคร่ำเข้าสู่กระแสเลือดก็เป็นได้

นอกจากนี้ยังมีปัจจัยที่อาจเกี่ยวข้องทำให้เกิดความเสี่ยงภาวะดังกล่าว ดังนี้

  • คุณแม่ตั้งครรภ์ที่มีอายุมาก หรือเคยตั้งครรภ์มากกว่า 5 ครั้ง
  • การเร่งคลอดโดยใช้ยากระตุ้นการหดรัดตัวของมดลูก
  • ภาวะรกเกาะต่ำ รกลอกตัวก่อนกำหนด มดลูกแตก หรือการบาดเจ็บในช่องคลอด
  • การใช้เครื่องมือช่วยคลอด การผ่าตัดคลอดทางหน้าท้อง
  • ภาวะชักจากครรภ์เป็นพิษ ภาวะทารกเครียดในครรภ์

อย่างไรก็ดี ยังไม่มี ข้อมูลเพียงพอในการยืนยันปัจจัยเสี่ยงเหล่านี้ว่าเกี่ยวข้องกับภาวะน้ำคร่ำอุดหลอดเลือดที่ปอด ดังนั้นการดูแลผู้ป่วย ยังคงเป็นไปตามมาตรฐานทางสูติศาสตร์

อาการ

คุณแม่คลอดบุตรจะมีอาการกระสับกระส่าย เหงื่อออก เจ็บหน้าอก หายใจลำบาก ปาก เล็บและผิวหนังตามตัวเขียวคล้ำ อาเจียน และช็อก หมดสติ และอาจเสียชีวิตได้ทั้งคุณแม่และทารก หรือแม้แพทย์จะช่วยชีวิตได้ทันก็พบว่ามีผลกระทบกระเทือนต่อระบบประสาทและระบบอื่นๆ ของร่างกายอย่างรุนแรง ซึ่งต้องใช้เวลาฟื้นฟูสุขภาพเป็นเวลานานหรืออาจไม่มีโอกาสหายเป็นปกติ

แม้ภาวะน้ำคร่ำอุดตันหลอดเลือดที่ปอด อาจเกิดขึ้นกับใครก็ได้ และไม่สามารถบอกได้ว่าจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ รวมถึงยังไม่สามารถป้องกันได้ แต่การคลอดลูกแล้วตายจากภาวะน้ำคร่ำอุดตันหลอดเลือดที่ปอดก็มีโอกาสเกิดขึ้นเพียง 1 : 20,000 รายของการคลอดทุกประเทศทั่วโลก

คุณแม่ตั้งครรภ์ควรฝากท้องกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญและดูแลสุขภาพให้แข็งแรง รวมถึงทำจิตใจให้แจ่มใส ไม่เครียดกับข่าวสารต่างๆ ที่ส่งต่อกันในโลกออนไลน์ หากมีข้อสงสัยควรปรึกษาแพทย์ เพื่อข้อมูลที่ถูกต้องและปลอดภัย

โรงพยาบาลสมิติเวช สุขุมวิท ริเริ่มโปรแกรมการดูแลสุขภาพ ป้องกันการคลอดก่อนกำหนด และประสบความสำเร็จตั้งแต่ปี 2559

โรงพยาบาลสมิติเวช สุขุมวิท คว้ารางวัลทรงเกียรติ “Healthcare Asia Award 2023” สาขา “Clinical Service Initiative of the Year”

ริเริ่มโปรแกรมการดูแลสุขภาพ ป้องกันการคลอดก่อนกำหนด และประสบความสำเร็จตั้งแต่ปี 2559

โดยมี รศ.ดร.นพ.บุญศรี จันทร์รัชชกูล ประธานโครงการและหัวหน้าคลินิกป้องกันการคลอดก่อนกำหนด เป็นตัวแทนขึ้นรับรางวัลในครั้งนี้

โรงพยาบาลสมิติเวชยังคงมุ่งมั่นที่จะพัฒนาโปรแกรมป้องกันการคลอดก่อนกำหนด เพื่อลดอัตราการคลอดก่อนกำหนดให้ดีขึ้นกว่าเดิม โดยจะทำงานร่วมกับโรงพยาบาลในประเทศไทยและในต่างประเทศ ช่วยเพิ่มคุณภาพในการดูแลสตรีตั้งครรภ์และทารกแรกเกิด เพื่อลดอัตราการคลอดก่อนกำหนด


คะแนนบทความ

มีบัญชีผู้ใช้อยู่แล้ว?