คุณแม่ตั้งครรภ์กับไมเกรน

คุณแม่ตั้งครรภ์กับไมเกรน

HIGHLIGHTS:

  • คุณแม่ตั้งครรภ์อาจปวดศีรษะได้ตลอดเวลา บางครั้งอาจเป็นจากภาวะปวดไมเกรน หรือเป็นสัญญาณเตือนของโรคภัยอื่นๆ โดยเฉพาะภาวะครรภ์เป็นพิษ
  • ระหว่างการตั้งครรภ์ หากไม่จำเป็นคงไม่มีคุณแม่คนใดอยากที่จะทานยา เพราะยาแก้ปวดบางตัวมีผลต่อการบีบตัวของมดลูก อาจส่งผลต่อการคลอดก่อนกำหนดหรือมดลูกบีบตัวน้อยกว่าปกติ

 

ไมเกรน คือ ภาวะปวดศีรษะที่มีความรุนแรงมากกว่าอาการปวดศีรษะทั่วไปหลายเท่า โดยมักเกิดขึ้นบริเวณด้านใด ด้านหนึ่งของศีรษะ หรือทั้งสองข้างก็ได้ อีกทั้งยังเกิดขึ้นบ่อย โดยอาจจะมีหรือไม่มีสัญญาณเตือนล่วงหน้า และส่วนใหญ่มักจะปวดข้างเดิมซ้ำๆ บางกรณีอาจมีความรู้สึกไวต่อแสง เสียง และกลิ่น ส่งผลให้คลื่นไส้และอาเจียนได้

นอกจากนี้ ไมเกรน ยังเป็นโรคที่พบได้ตั้งแต่วัยเด็กจนถึงผู้สูงอายุ  เนื่องมาจากปัจจัยทางพันธุกรรม ความเครียด ฮอร์โมนเพศ โรคประจำตัว และการใช้ยาบางชนิดต่อเนื่องกันเป็นเวลานาน  ทั้งนี้พบว่าผู้หญิงจะเป็นไมเกรนมากกว่าผู้ชายประมาณ 3 เท่า  โดยหากเกิดในหญิงตั้งครรภ์จำเป็นต้องได้รับการตรวจวินิจฉัยและให้ความสำคัญมากเป็นพิเศษ

สาเหตุ ของไมเกรนในคุณแม่ตั้งครรภ์

คุณแม่ตั้งครรภ์อาจต้องประสบภาวะปวดศีรษะได้ตลอดเวลา บางครั้งอาจเป็นภาวะปวดไมเกรน หรือปวดศีรษะธรรมดา แต่บางกรณีอาจเป็นสัญญาณเตือนของโรคภัยอื่นๆ โดยเฉพาะภาวะครรภ์เป็นพิษได้ ดังนั้นคุณแม่ตั้งครรภ์ควรทำความเข้าใจถึงสาเหตุของการเกิดไมเกรน ดังนี้

  • การเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมน ในช่วงไตรมาสแรกของการ ตั้งครรภ์อาจส่งผลให้เกิดภาวะปวดศีรษะได้ โดยอาการมักทุเลาลงในไตรมาสที่ 2 ซึ่งเป็นช่วงที่ระดับฮอร์โมนเริ่มคงที่ และร่างกายสามารถปรับตัวได้แล้ว
  • การยืนหรือการนั่งที่ไม่เหมาะสม ส่วนใหญ่เกิดในช่วงการตั้งครรภ์ไตรมาสที่ 3 ซึ่งครรภ์ของคุณแม่เริ่มใหญ่ขึ้น ส่งผลให้กล้ามเนื้อส่วนต่างๆ ต้องแบกรับน้ำหนักที่เพิ่มมากขึ้น หากคุณแม่ตั้งครรภ์มีอริยาบทที่ไม่เหมาะสมอาจส่งผลให้ปวดศีรษะได้เช่นกัน ซึ่งภาวะปวดศีรษะในช่วงนี้ อาจเป็นสัญญาณบ่งบอกว่าเกิดจากภาวะความดันโลหิตสูงหรือครรภ์เป็นพิษ หากพบอาการผิดปกติควรรีบพบแพทย์ทันที
  • ขาดสารอาหารและความหิว เพราะกลัวน้ำหนักขึ้นมากเกินไปในช่วงตั้งครรภ์ ทำให้คุณแม่อดอาหาร จนขาดสารอาหารหรือรู้สึกหิวระหว่างวัน
  • พักผ่อนน้อย เนื่องจากนอนได้ลำบากขึ้น หรือรู้สึกอึดอัดจนนอนไม่ค่อยหลับ
  • การงดการดื่มชา กาแฟ เมื่อร่างกายไม่ได้รับคาเฟอีนเหมือนเดิม ส่งผลให้ปวดศีรษะได้
  • ความวิตกกังวลและความเครียด ส่งผลโดยตรงกับอาการปวดศีรษะ
  • ขาดน้ำ คุณแม่ตั้งครรภ์ที่ไม่อยากเข้าห้องน้ำบ่อย อาจแก้ปัญหาด้วยการดื่มน้ำน้อยลง จนเกิดภาวะขาดน้ำ และปวดศีรษะ

สัญญาณเตือนที่ควรพบแพทย์ทันที

 

ในระหว่างปลายไตรมาสที่ 2 จนถึงไตรมาสที่ 3 ของการ ตั้งครรภ์ อาการปวดศีรษะอาจเกิดจากภาวะการเจ็บป่วยอื่นๆ ที่เป็นอันตรายต่อครรภ์และตัวคุณแม่   โดยเฉพาะภาวะครรภ์เป็นพิษ  ความดันโลหิตสูง รวมถึงความผิดปกติของตับและไต ดังนั้น หากมีอาการปวดศีรษะอย่างรุนแรง แม้รับประทานยาแก้ปวด เช่น พาราเซตามอล แล้วยังไม่หาย หรือหากมีอาการปวดศีรษะร่วมกับอาการอื่นเหล่านี้ ควรรีบไปพบแพทย์ทันที

  • อาการปวดศีรษะอย่างรุนแรงที่เกิดขึ้นแบบฉับพลัน
  • มีไข้ และคอแข็ง
  • ตาพร่ามัว มีปัญหาการมองเห็น
  • เสียดท้อง เวียนศีรษะ คลื่นไส้
  • น้ำหนักตัวเพิ่มเร็วเกินไป
  • มือหรือใบหน้าบวม

การรักษาไมเกรนในคุณแม่ตั้งครรภ์

คุณแม่ทุกคนคงไม่อยากทานยาใดๆ ระหว่างการ ตั้งครรภ์ แต่หากเกิดภาวะปวดศีรษะ อาจทานยาแก้ปวด เช่น

พาราเซตามอล ร่วมกับการรักษาแบบประคับประคองอื่นๆ เช่นการประคบเย็น การนวดผ่อนคลาย การนอนพัก การฟังเพลง แต่ถ้าจำเป็นต้องใช้ยาแก้ปวดอื่นๆ ที่มีความแรงมากขึ้นควรปรึกษาแพทย์ก่อนการใช้ยาทุกครั้ง เนื่องจากยาแก้ปวดบางตัวมีผลต่อการบีบตัวของมดลูก อาจส่งผลต่อการคลอดก่อนกำหนดหรือมดลูกบีบตัวน้อยกว่าปกติ

การป้องกัน ไมเกรน ระหว่าง ตั้งครรภ์

  • หลีกเลี่ยงอาหารกระตุ้นภาวะไมเกรน เช่น ผงชูรส น้ำตาลเทียม ชีส ไวน์ ช็อกโกแล็ต ชา และกาแฟ
  • ดื่มน้ำปริมาณมาก
  • พักผ่อนให้เพียงพอ หากนอนไม่เต็มที่ในช่วงกลางคืน อาจหาเวลางีบช่วงกลางวันบ้าง
  • เมื่อมีอาการปวดศีรษะควรนอนพักในห้องที่เงียบสงบ และไม่มีแสงจ้า
  • ใช้วิธีประคบเย็น ด้วยผ้าขนหนูและน้ำแข็งบริเวณศีรษะ
  • หลีกเลี่ยงการซื้อยาแก้ปวดศีรษะและยาไมเกรนมารับประทานเอง ควรพบแพทย์เพื่อพิจารณาแนวทางการรักษาที่เหมาะสม และตรวจดูว่ามีอันตรายต่อการตั้งครรภ์หรือไม่
  • รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ รวมถึงดื่มน้ำให้เพียงพอทุกวัน และไม่ควรลดน้ำหนักในช่วง ตั้งครรภ์ เด็ดขาด
  • พบแพทย์เพื่อปรึกษาเรื่องการใช้ยาที่อาจส่งผลให้ปวดศีรษะไมเกรน

อาการปวดศีรษะธรรมดาก็สร้างความทุกข์ทรมานให้ผู้ป่วยทุกเพศทุกวัย แต่การปวดศีรษะไมเกรนนั้นมีความรุนแรงและเพิ่มความเจ็บปวดมากขึ้นอีกเท่าทวี ดังนั้นการรู้เท่าทันทั้งการป้องกัน อันตราย และการสังเกตอาการเบื้องต้น เพื่อรีบพบแพทย์ จึงเป็นหนทางคลายความเจ็บปวดที่มีประสิทธิภาพ

คะแนนบทความ

มีบัญชีผู้ใช้อยู่แล้ว?