ภาวะแทรกซ้อนของตับแข็ง

ภาวะแทรกซ้อนของตับแข็ง

เนื่องจากในฉบับก่อนหน้านี้ได้มีการกล่าวถึงสาเหตุและอาการแสดงของผู้ป่วย ตับแข็ง ไปบ้างแล้ว ในฉบับนี้จะขอขยายความในส่วนของภาวะแทรกซ้อนที่พบในผู้ป่วยตับแข็ง

เป็นที่ทราบกันดีว่า “ตับ” เป็นอวัยวะที่มีหน้าที่สำคัญหลายอย่างไม่ว่าจะเป็นการสร้างสารโปรตีน – สารภูมิคุ้มกันในกระแสเลือด สร้างสารที่ช่วยในการแข็งตัวของเลือด ขจัดสารพิษ หรือแม้แต่การกำจัดเชื้อโรคที่ปนเปื้อนมากับระบบทางเดินอาหารออกจากร่างกาย

ภาวะตับแข็ง จะส่งผลกระทบต่อร่างกายจาก 2 สาเหตุใหญ่ๆ คือ

1) จากการทำงานของตับที่ลดลง

2) จากแรงดันเลือดในตับสูงขึ้น (อันเนื่องมาจากพังผืดที่มีปริมาณมากดเบียดหลอดเลือดฝอยในตับ)

ภาวะแทรกซ้อนตับแข็ง ที่พบได้บ่อยได้แก่

1. ภาวะหลอดเลือดขอดในหลอดอาหาร (Esophagealvarices)

เกิดจากพังผืดในตับ ดึงรั้งทำให้เกิดความดันเลือดในตับและในหลอดอาหารสูงขึ้น จนเกิดเส้นเลือดขอดในหลอดอาหารโดยหากเส้นเลือดขอดในหลอดอาหารแตกจะทำให้ผู้ป่วยอาเจียนเป็นเลือด อาจถึงซ็อกและเสียชีวิตได้

2. ท้องมาน ( Ascites )

เป็นภาวะที่มีน้ำในช่องท้องปริมาณมากกว่าปกติ เกิดจากการที่แรงดันของหลอดเลือดในตับสูงขึ้นจนเกิดการรั่วซึมของน้ำออกมาจากตับร่วมกับภาวะที่ผู้ป่วย ตับแข็ง มักมีระดับโปรตีนอัลบูมินที่ต่ำลง (โปรตีน ชนิดนี้จะช่วยอุ้มน้ำให้อยู่ในหลอดเลือด) จึงเกิดการสะสมปริมาณน้ำในช่องท้องเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ผู้ป่วยจะมีอาการท้องบวม ขาบวม สะดือจุ่น ภาวะนี้รักษาได้โดยการให้ยาขับปัสสาวะ นอกจากนี้ผู้ป่วยดังกล่าวอาจเกิดการติดเชื้อในช่องท้องแทรกซ้อนได้เนื่องจากภูมิคุ้มกันที่ลดลง ส่งผลให้มีอาการไข้ ปวดท้อง หรือท้องเสีย แพทย์จะวินิจฉัยโดยการเจาะน้ำในช่องท้องไปตรวจ และให้การรักษาด้วยยาปฏิชีวนะ

3. ภาวะไตวายจากตับแข็ง ( Hepatorenal syndrome )

เกิดจากภาวะตับที่เสื่อมสภาพทำให้มีไนตริกออกไซด์และระบบฮอร์โมนทีควบคุมการบีบตัวของเส้นเลือดแดงผิดปกติ มีผลให้เลือดไปเลี้ยงที่ไตลดลงทำให้เกิดภาวะไตวายขี้น โดยภาวะนี้พยาธิสภาพของเนื้อไตจะปกติดี

4. ภาวะทางสมองของผู้ป่วยตับแข็ง

เกิดจากความสามารถในการขจัดสารพิษของตับลดลงร่วมกับการเปลี่ยนแปลงของระบบไหลเวียนเลือดในตับที่ผิดปกติ ส่งผลให้ของเสีย (โดยเฉพาะสารแอมโมเนีย) บางส่วนไม่ผ่านการกรองที่ตับ ทำให้เกิดสารพิษดังกล่าวปนกับกระแสเลือดและมีผลกระทบต่อการทำงานของสมองโดยผู้ป่วยมีอาการง่วงตอนกลางวัน, มือสั้น, พูดจาสับสนความรู้สึกตัวลดลง หรือหมดสติได้ โดยปัจจัยที่กระตุ้นให้เกิดภาวะนี้ได้แก่ การติดเชื้อ ท้องผูก เป็นต้น

5. เลือดออกผิดปกติ

ตับเป็นอวัยวะทีสร้างโปรตีนที่เกี่ยวข้องกับการแข็งตัวของเลือด ในภาวะตับแข็งจะทำให้เกิดการลดลงของโปรตีนเหล่านี้ ร่วมกับเกล็ดเลือดที่ต่ำจากม้ามโตทำให้ผู้ป่วยตับแข็งมีปัญหาเลือดออกง่ายกว่าปกติ

6. ความผิดปกติของฮอร์โมน

โดยผู้ป่วยตับแข็งจะมีความสามารถในการกำจัดฮอร์โมนบางอย่างลดลง ทำให้ฮอร์โมนเอสตราไดออลเพิ่มขึ้น ทำให้เต้านมโตขึ้น รวมถึงมีภาวะเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ ภาวะมีบุตรยาก

การรักษาและคำแนะนำสำหรับผู้ป่วย ตับแข็ง

  1. หาสาเหตุของตับแข็ง และรักษาสาเหตุเพื่อลดการทำลายเนื้อตับ และสามารถทำให้พังผืดลดลงได้ เช่นรักษาหรือกำจัด ไวรัสตับอักเสบบี ซี หรือ งดแอลกอฮอล์ เป็นต้น
  2. โภชนาการ ผู้ป่วยตับแข็งควรทำรับอาหารประมาณ35 – 40 กิโลแคลอรีต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัมและมีโปรตีนอย่างน้อย 1.2 – 1.5 กรัมต่อกิโลกรัมต่อวัน และเนื่องจากตับมีความสามารถในการสะสมพลังงานได้น้อยกว่าปกติ จึงแนะนำให้ผู้ป่วยรับประทานอาหาร 4 – 6 มื้อต่อวัน โดยเฉพาะมื้อก่อนนอน นอกจากกนี้ผู้ป่วย โรคตับแข็ง ควรงดอาหารเค็ม และเกลือเพื่อลดการบวมและการสะสมของน้ำในช่องท้อง
  3. การส่องกล้องทางเดินอาหาร เพื่อดูหลอดเลือดขอดในหลอดอาหาร โดยหากพบเส้นเลือดขอดในหลอดอาหาร แพทย์อาจพิจารณาให้ยา propranolol หรือรัดเส้นเลือดดำขอดบริเวณหลอดอาหาร เพื่อป้องกันเส้นเลือดแตกและอาเจียนเป็นเลือด
  4. การตรวจคัดกรองมะเร็งตับ เนื่องจากผู้ป่วยตับแข็งจากทุกสาเหตุมีโอกาสเป็นมะเร็งที่ตับสูงกว่าคนทั่วไปดังนั้นผู้ป่วย ตับแข็ง ทุกคนควรได้รับการตรวจคัดกรองโดยอัลตราซาวด์ทุกๆ 6 เดือน
  5. ผู้ป่วยตับแข็งทุกรายควรได้รับการตรวจภูมิคุ้นต่อไวรัสตับอักเสบเอและบี และควรได้รับการฉีดวัคซีนหากผู้ป่วยยังไม่มีภูมิคุ้มกันต่อไวรัสดังกล่าว
คะแนนบทความ

มีบัญชีผู้ใช้อยู่แล้ว?