ตะคริว ตอนกลางคืน

ตะคริว ตอนกลางคืน

HIGHLIGHTS:

  • ปัจจุบันยังไม่ทราบแน่ชัดว่า ตะคริวตอนกลางคืน เกิดจากสาเหตุใด แต่มีการศึกษาพบว่าอาจมีสาเหตุมาจากอาการกล้ามเนื้อล้าและการทำงานผิดปกติของเส้นประสาท
  • การบรรเทาอาการตะคริวตอนกลางคืน ให้พยายามยืดเหยียดและนวดกล้ามเนื้อที่เป็นตะคริวช้าๆ อย่างเบามือ สามารถนวดกล้ามเนื้อด้วยความเย็นร่วมด้วยได้ หากยังหลงเหลืออาการปวดหลังจากอาการตะคริวหายไปแล้ว สามารถรับประทานยาแก้ปวด และใช้ยานวดเพื่อช่วยคลายกล้ามเนื้อได้
  • หากมีอาการตะคริวตอนกลางคืนบ่อยๆ สามารถบ่งบอกถึงสัญญาณของโรคบางชนิดได้ เช่น โรคเบาหวาน โรคไตวาย รวมถึงโรคหัวใจและหลอดเลือด ควรปรึกษาแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยและรักษาอย่างถูกต้องเหมาะสมโดยเร็ว

เชื่อว่าหลายต่อหลายคนคงเคยประสบปัญหาการเป็นตะคริวตอนกลางคืน กันมาบ้างไม่มากก็น้อย เป็นตะคริวตอนนอนก่อให้เกิดความทุกข์ทรมานเป็นอย่างมาก จนทำให้สะดุ้งตื่นจากภวังค์ได้เลยทีเดียว เคยสงสัยกันบ้างหรือไม่ว่าทำไมเมื่อเรานอนอยู่ดีๆ จู่ๆ ถึงเป็นตะคริวขึ้นมา? เป็นเพราะอะไร? แล้วเราสามารถรักษาหรือป้องกันไม่ให้มันเกิดขึ้นอีกได้หรือไม่? 

ตะคริว (Muscle Cramp) คืออะไร

ตะคริว คือ อาการที่กล้ามเนื้อเกิดการหดเกร็งตัวค้างไว้ โดยเกิดขึ้นอย่างฉับพลัน มีลักษณะเป็นก้อนแข็ง ก่อให้เกิดอาการเจ็บปวดและทรมานเป็นอย่างมาก โดยส่วนใหญ่แล้วมักเกิดกับกล้ามเนื้อน่อง กล้ามเนื้อต้นขาด้านหลัง และกล้ามเนื้อต้นขาด้านหน้า หากเป็นตอนกลางคืนทำให้ตื่นขึ้นมากลางดึก เรียกว่า ตะคริวตอนกลางคืน (Nocturnal Leg Cramps) ซึ่งมักเกิดกับคนวัยกลางคนและผู้สูงอายุ รวมถึงหญิงตั้งครรภ์

สาเหตุการเกิดตะคริวตอนกลางคืน

ปัจจุบันยังไม่ทราบแน่ชัดว่าตะคริวตอนกลางคืนเกิดจากสาเหตุใด แต่มีหลักฐานพบว่าอาจมีสาเหตุมาจากอาการกล้ามเนื้อล้า การทำงานผิดปกติของเส้นประสาท หรือการไหลเวียนเลือดไปเลี้ยงกล้ามเนื้อไม่ดี มากกว่าเรื่องของระดับเกลือแร่และความผิดปกติอื่นๆ ทั้งนี้ ยังมีปัจจัยเสี่ยงที่กระตุ้นให้เกิดอาการได้ ดังนี้

  • กล้ามเนื้อขาดความยืดหยุ่น มีการหดตึงตัวของกล้ามเนื้อและเส้นเอ็น
  • การทำงานผิดปกติของเส้นประสาท
  • มีภาวะหลอดเลือดแดงแข็งหรือหลอดเลือดตีบตัน
  • ดื่มน้ำน้อยระหว่างวัน
  • การนั่งไขว่ห้างที่มีการกระดกข้อเท้าลงมากเกินไป
  • การยืนหรือทำงานบนพื้นแข็งนานเกินไป
  • มีการใช้งานกล้ามเนื้อมากเกินไป เช่น ออกกำลังกายมากเกินไป
  • นอน นั่ง หรือยืน ในท่าเดิมหรือท่าที่ไม่สะดวกเป็นระยะเวลานานจนเกินไป

ตะคริวตอนกลางคืน อาจเกี่ยวข้องกับภาวะต่างๆ ดังนี้

  • การตั้งครรภ์
  • ภาวะผิดปกติของต่อมไทรอยด์
  • ความผิดปกติของระบบประสาท เช่น โรคพาร์กินสัน
  • ความผิดปกติในเส้นประสาท เช่น โรคปลายประสาทอักเสบ (Peripheral Neuropathy) หรือ โรคเซลล์ประสาทนำคำสั่งเสื่อม (Motor neuron disease)
  • ความผิดปกติของการเผาผลาญ เช่น โรคเบาหวาน
  • โรคหัวใจและหลอดเลือด เช่น โรคหัวใจ หรือโรคหลอดเลือดส่วนปลายอุดตัน (Peripheral vascular disease)
  • โครงสร้างร่างกาย เช่น เท้าแบน หรือโรคโพรงกระดูกสันหลังตีบแคบ (Spinal stenosis)
  • การใช้ยาเพื่อรักษาโรคบางชนิด เช่น ยาสแตติน (Statins) หรือยาที่ใช้ลดระดับคอเลสเตอรอล ยารักษาโรค COPD ยาขับปัสสาวะ (Diuretic) และยาลดความดัน

เมื่อไหร่ที่ควรพบแพทย์

เมื่อเกิดอาการตะคริวตอนกลางคืนขึ้นบ่อยครั้ง จนเริ่มรบกวนการนอน และทำการรักษาเบื้องต้นด้วยตัวเองแล้วอาการไม่ดีขึ้น รวมถึงมีอาการขาบวมแดงหรือผิวหนังเปลี่ยนแปลงไป หรือมีอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรงร่วมด้วย ควรพบแพทย์เพื่อรับการตรวจประเมิน วินิจฉัยแยกโรค และรักษาอย่างถูกต้องเหมาะสมต่อไป ทั้งนี้ แพทย์จะซักประวัติถึงอาการและประวัติการใช้ยา ตรวจร่างกายเพื่อค้นหาสาเหตุที่เป็นไปได้ รวมถึงอาจมีการเจาะเลือดเมื่อแพทย์สงสัยว่ามีปัญหาอย่างอื่นร่วมด้วย

แพทย์อาจพิจารณาให้ยาบรรเทาอาการปวดหลังเกิดตะคริวตอนกลางคืน เช่น ยาคลายกล้ามเนื้อชนิดรับประทาน และยาแก้ปวดจำพวกพาราเซตามอลหรือไอบูโปรเฟน และอาจพิจารณาให้แร่ธาตุแมกนีเซียมแก่ผู้ใหญ่และหญิงตั้งครรภ์เนื่องจากมีหลักฐานว่าให้ประโยชน์แก่กลุ่มคนเหล่านี้ แต่ไม่แนะนำให้ใช้ยาควินินในการรักษาเนื่องจากประโยชน์ของยามีน้อยมากเมื่อเทียบกับผลข้างเคียงที่ได้รับ

การรักษา และการบรรเทาอาการตะคริวตอนกลางคืน

  • หยุดพักการใช้กล้ามเนื้อที่เป็นตะคริวทันที
  • พยายามยืดเหยียดกล้ามเนื้อที่เป็นตะคริวตอนกลางคืนช้าๆ อย่างเบามือ เพราะการยืดเหยียดกล้ามเนื้อจะไปกระตุ้นให้เกิดการยับยั้งการหดตัวของกล้ามเนื้อ ทำให้อาการตะคริวหายไปในที่สุด หากเป็นที่น่อง ให้นั่ง เหยียดขาตรง แล้วพยายามกระดกปลายเท้าขึ้นอย่างช้าๆ ค้างไว้ 10-15 วินาที แล้วปล่อย ทำซ้ำ 5-10 ครั้ง
  • นวดกล้ามเนื้อที่เป็นตะคริว เพื่อช่วยให้กล้ามเนื้อคลายตัวมากยิ่งขึ้น
  • สามารถนวดกล้ามเนื้อด้วยความเย็นเพื่อบรรเทาอาการได้
  • หากยังหลงเหลืออาการปวดหลังจากอาการตะคริวหายไปแล้ว สามารถรับประทานยาแก้ปวด เช่น พาราเซตามอล และสามารถนวดยาได้เพื่อช่วยคลายกล้ามเนื้อ

การป้องกันและดูแลตัวเองเพื่อลดโอกาสการ เป็นตะคริวตอนนอน

  • พยายามยืดเหยียดกล้ามเนื้อบ่อยๆ เช่น หากเป็น ตะคริวที่น่อง ก็ให้ยืดกล้ามเนื้อน่องโดยหันหน้าเข้ากำแพง ยืนห่างจากกำแพงออกมาประมาณ 1 ก้าว แล้วก้าวขาข้างหนึ่งไปข้างหลัง พร้อมกับเอียงตัวไปข้างหน้า โดยวางเท้าให้แบนราบไปกับพื้น ใช้มือดันกำแพงทั้ง 2 ข้าง ทำค้างไว้ 5-10 วินาที นับเป็น 1 ครั้ง ทำ 10 ครั้งนับเป็น 1 เซต แนะนำให้ทำ 3 เซตต่อวันเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ดี
  • หากมีการออกกำลังกายหรือเล่นกีฬา ให้ยืดเหยียดกล้ามเนื้อทั้งก่อนและหลัง
  • ในระหว่างวัน ควรดื่มน้ำให้เพียงพอ ประมาณ 8-10 แก้ว เพื่อหลีกเลี่ยงการขาดน้ำของร่างกาย โดยเฉพาะเวลาออกกำลังกาย
  • พยายามกระดกข้อเท้าขึ้นลงบ่อยๆ เพื่อให้เลือดไหลเวียนดี และป้องกันกล้ามเนื้อน่องหดตัว
  • อาบน้ำอุ่นหรือแช่น้ำอุ่นอยู่เสมอ
  • หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์ หรือดื่มแต่พอเหมาะ
  • จำกัดการรับประทานอาหารที่มีส่วนผสมของคาเฟอีน เช่น กาแฟ ช็อกโกแลต เป็นต้น
  • ในหญิงตั้งครรภ์ ควรเลือกรับประทานอาหารที่อุดมไปด้วยแคลเซียม (โยเกิร์ต ชีส นมถั่วเหลือง)  โปแตสเซียม (โกโก้ ลูกพรุน เมล็ดทานตะวัน กล้วย ปลาแซลม่อน ผักโขม) และแมกนีเซียม (กล้วย ถั่วลันเตา ผักโขม ข้าวโพด เมล็ดฟักทอง งา)

เนื่องจากการเกิดตะคริวตอนกลางคืนนั้นยังไม่มีสาเหตุที่แน่ชัด แต่ในขณะเดียวกัน การเกิดอาการนี้ก็สามารถบ่งบอกถึงสัญญาณของโรคบางชนิดได้ เช่น โรคเบาหวาน โรคไตวาย รวมถึงโรคหัวใจและหลอดเลือดด้วย ดังนั้น เมื่อเกิดอาการตะคริวตอนกลางคืนบ่อยๆ ก็ไม่ควรนิ่งนอนใจ แต่ควรพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยและการรักษาที่ถูกต้องเหมาะสมโดยเร็วที่สุด

คะแนนบทความ

มีบัญชีผู้ใช้อยู่แล้ว?