นวัตกรรมการตรวจหาเชื้อไวรัส HPV จากปัสสาวะ

นวัตกรรมการตรวจหาเชื้อไวรัส HPV จากปัสสาวะ

A New Innovation in Finding HPV Infection from Urine Samples

มะเร็งปากมดลูก

มะเร็งปากมดลูกเป็นมะเร็งที่พบเป็นอันดับ 2 ในผู้หญิงไทย รองจากมะเร็งเต้านม แต่เป็นสาเหตุการเสียชีวิตจากโรคมะเร็งในผู้หญิงไทยมากเป็นอันดับ 1  พบในผู้หญิงช่วงอายุ 30-60 ปีจากข้อมูลล่าสุดของสถาบันวิจัยมะเร็งนานาชาติ องค์การอนามัยโลก (GLOBOCAN 2008)  พบว่าในประเทศไทยมีผู้ป่วยมะเร็งปากมดลูกรายใหม่ประมาณ10,000  คนต่อปี และในแต่ละปีมีผู้หญิงไทยเสียชีวิตจากมะเร็งปากมดลูกประมาณ 5,200 คนหรือเฉลี่ยวันละ 14 คน  ทั้ง ๆ ที่มะเร็งปากมดลูกนั้นเป็นมะเร็งที่ป้องกันได้

สาเหตุของมะเร็งปากมดลูก

จากการศึกษาวิจัยตั้งแต่ปี ค.ศ. 1980  พบว่ามะเร็งปากมดลูกนั้นมีสาเหตุจากไวรัสฮิวแมนแปปิโลมา (HPV) ซึ่งสามารถจำแนกสายพันธุ์ที่มีความเกี่ยวข้องกับการเกิดมะเร็งปากมดลูกได้เป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงและกลุ่มที่มีความเสี่ยงต่ำ ซึ่งสายพันธุ์ที่พบได้บ่อยคือ HPV สายพันธุ์ 16 และ 18 พบรวมกันราวร้อยละ 70 ของทั้งหมด ส่วนใหญ่ของการติดเชื้อ HPV บริเวณอวัยวะเพศจะเกิดจากการมีเพศสัมพันธ์กับผู้ชายที่มีเชื้อ HPV ซึ่งส่วนใหญ่จะไม่มีอาการทั้งในผู้หญิงและในผู้ชาย สาเหตุหรือปัจจัยเสี่ยง (risk factors) อื่น ๆ เช่น

ปัจจัยเสี่ยงทางนรีเวช

  • การมีคู่นอนหลายคน
  • การมีเพศสัมพันธ์เมื่ออายุน้อย
  • การตั้งครรภ์หรือมีลูกหลายคน
  • การมีประวัติเป็นกามโรค
  • การรับประทานยาคุมกำเนิดเป็นเวลานาน
  • การไม่มารับการตรวจคัดโรคมะเร็งปากมดลูก

ปัจจัยเสี่ยงทางฝ่ายชาย

  • สตรีที่มีสามีเป็นมะเร็งขององคชาต
  • สตรีที่แต่งงานกับชายที่เคยมีภรรยาเป็นมะเร็งปากมดลูก
  • ผู้ชายที่เคยเป็นกามโรค
  • ผู้ชายที่มีประสบการณ์ทางเพศตั้งแต่อายุน้อย
  • ผู้ชายที่มีคู่นอนหลายคน

ปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ

  • การสูบบุหรี่
  • ภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ
  • สตรีที่มีฐานะทางเศรษฐกิจและสังคมต่ำ
  • พันธุกรรม
  • การขาดสารอาหารบางชนิด

การป้องกันมะเร็งปากมดลูก

การป้องกันทำได้โดยการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง ในสตรีที่เคยมีเพศสัมพันธ์แล้ว ควรเริ่มตรวจตั้งแต่อายุ 25 ปี หรือเริ่มตรวจในสตรีที่มีอายุ 30 ปีขึ้นไป นอกจากนี้ควรหลีกเลี่ยงสาเหตุหรือลดปัจจัยเสี่ยงของมะเร็งปากมดลูก เช่น การละเว้นการมีเพศสัมพันธ์ การใช้ถุงยางอนามัยคุมกำเนิด การซื่อสัตย์ต่อคู่นอนโดยการมีคู่นอนคนเดียว การฉีด HPV vaccine เพื่อสร้างเสริมภูมิคุ้มกันต่อการติดเชื้อ HPV

การตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกคือการตรวจหาความผิดปกติในระยะเริ่มแรกของปากมดลูกที่สูตินรีแพทย์ใช้อยู่และเป็นที่ยอมรับในปัจจุบัน คือ

  • การตรวจทางเซลล์วิทยาของปากมดลูก (cervical cytology) หรือ Pap smear ซึ่งเป็นการตรวจหาความผิดปกติของเซลล์ปากมดลูกที่เป็นผลจากการติดเชื้อ HPV เพื่อทำการสืบค้นและรักษาไม่ให้ดำเนินโรคเป็นมะเร็งปากมดลูก
  • การตรวจหาเชื้อ HPV สายพันธุ์ก่อมะเร็งที่ปากมดลูก หรือ HPV DNA testing เป็นการตรวจหาตัวเชื้อโดยตรงบริเวณปากมดลูกและผนังช่องคลอด

การตรวจหาเชื้อไวรัส HPV จากปัสสาวะ

ในอดีตได้เริ่มมีการตรวจทางเซลล์วิทยาปากมดลูก ซึ่งพบว่าสามารถลดอุบัติการณ์ของการเกิดมะเร็งปากมดลูกได้ ถ้ามีความครอบคลุมของการตรวจในกลุ่มประชากรสูง เช่น ในกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว  ดังนั้นจึงใช้การตรวจทางเซลล์วิทยาเป็นวิธีการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกที่เป็นมาตรฐานทั่วโลก

ตัวอย่างส่งตรวจนิยมใช้ liquid-based cytology (LBC) โดยอาศัยนรีแพทย์ในการเก็บตัวอย่างเซลล์ที่บริเวณปากมดลูก แม้จะเป็นที่ยอมรับและมีประสิทธิภาพ แต่ก็มีข้อจำกัดหลายประการ ที่สำคัญคือ ผู้หญิงส่วนใหญ่ก็ยังไม่กล้าตรวจ ด้วยเหตุผลหลักคือเขินอายกลัวเจ็บ ไม่มีเวลา และไม่สะดวก

จากงานวิจัยที่ร่วมกันระหว่าง 3 สถาบัน ได้แก่ สถาบันมะเร็งแห่งชาติ, ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และโรงพยาบาลสมิติเวช การตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกทางเลือกใหม่จึงถูกพัฒนาขึ้นโดยใช้เซลล์ที่ได้จากน้ำปัสสาวะเพื่อตรวจหา HPV DNA ซึ่งช่วยแก้ปัญหาสตรีที่กลัวและอายการขึ้นขาหยั่ง และช่วยลดจำนวนผู้ป่วยมะเร็งปากมดลูกลงได้   

ขั้นตอนการตรวจหาเชื้อไวรัส HPV จากปัสสาวะ

ขั้นตอนแรกคือการเก็บปัสสาวะลงในบรรจุภัณฑ์ที่ปลอดเชื้อให้มีปริมาตรอย่างน้อย 15-30 มิลลิลิตร (ที่เหมาะสมที่สุดคือปัสสาวะในช่วงแรก) หลังจากส่งตัวอย่างให้เจ้าหน้าที่แล้ว จะใช้ระยะเวลาในการตรวจทางห้องปฏิบัติการประมาณ 4 ชั่วโมง และสามารถแจ้งผลการตรวจได้ภายใน 3 วัน

ในกรณีที่ผลการตรวจเป็น Positive คือพบเชื้อ HPV จากปัสสาวะ ต้องเข้ารับการตรวจเพื่อยืนยันผล โดยการทำ pap smear โดยสูตินรีแพทย์ต่อไป

ส่วนกรณีที่ผลการตรวจเป็น Negative คือตรวจไม่พบเชื้อ HPV ก็สบายใจได้ แต่ก็ควรทำการตรวจคัดกรองเป็นประจำทุกปี

ข้อดี

  • เป็นอีกหนึ่งทางเลือกของผู้หญิงในการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกเบื้องต้น (Pre-screening program) ที่ผู้หญิงที่กลัวและไม่ยอมเข้ารับการตรวจภายในเพื่อเก็บตัวอย่างส่งตรวจ
  • มีความสะดวกในการเก็บตัวอย่างด้วยตนเอง
  • ลดจำนวนผู้ป่วยมะเร็งปากมดลูกเนื่องจากมีผู้รับการตรวจคัดกรองมากขึ้น

ข้อด้อย

  • การตรวจหา DNA ในปัสสาวะนั้นทำได้ยาก เนื่องจากตัวอย่างที่ได้อาจมีความเจือจาง และมีการปนเปื้อนของ urea และ nitrites และสารอื่นๆที่สามารถยับยั้งปฏิกิริยา polymerase chain reaction ได้
  • อาจมีการปนเปื้อนของแบคทีเรียอื่นๆ และอาจทำให้ตรวจไม่พบ HPV DNA หรือให้ผลการทดลองที่คลาดเคลื่อน
  • ความแม่นยำของผลการตรวจไม่เทียบเท่าการตรวจโดยการเก็บเซลล์ตัวอย่างจากปากมดลูกโดยตรง (Pap smear)

กลุ่มที่เหมาะกับการตรวจหาเชื้อไวรัส HPV จากปัสสาวะ

  • วัยรุ่น หรือเด็กหญิง ที่ต้องการตรวจก่อนหรือหลังรับบริการฉีดวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก
  • ผู้สูงอายุ ที่ไม่สะดวกในการตรวจ Pap smear
  • คนที่เขินอาย กลัวเจ็บ และปฏิเสธการตรวจ Pap smear อย่างสิ้นเชิง

“การตรวจหาเชื้อไวรัส HPV จากปัสสาวะ ไม่ใช่วิธีที่มาทดแทนการตรวจ pap smear แต่จะมีประโยชน์มากสำหรับกลุ่มผู้หญิงที่กลัวหรืออาย และไม่ยอมเข้ารับการตรวจภายใน วิธีนี้จึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการแก้ปัญหาดังกล่าว ทำให้ผู้หญิงได้รับการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกมากขึ้น สามารถลดจำนวนผู้ป่วยมะเร็งปากมดลูกลงได้แต่สำหรับผู้หญิงที่เคยตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกโดยการตรวจ pap smear เป็นประจำทุกปีโดยสูตินรีแพทย์อยู่แล้วนั้นวิธีการนี้คงไม่จำเป็น เพราะคุณได้รับการตรวจที่ดีที่สุดและแม่นยำที่สุดอยู่แล้ว”

คะแนนบทความ

มีบัญชีผู้ใช้อยู่แล้ว?