การดูแลหลังคลอด แบบผ่าตัดทางหน้าท้อง

การดูแลหลังคลอด แบบผ่าตัดทางหน้าท้อง

คุณหมอมีคำแนะนำเกี่ยวกับ การดูแลหลังผ่าคลอด ดังต่อไปนี้

กิจวัตรประจำวัน

หลังจากผ่าคลอดทางหน้าท้อง คุณแม่ควรพลิกตัวบ่อยๆ เพื่อช่วยให้ลำไส้ฟื้นตัวเร็วขึ้นและลดอาการท้องอืด พยาบาลจะเข้ามาวัดความดันโลหิตทุกๆ 30 นาที ในระยะแรกหลังคลอด ถ้ารู้สึกเจ็บหรือปวดแผล ควรแจ้งพยาบาลเพื่อที่จะให้หมอสั่งยาลดปวด คุณแม่สามารถให้น้ำนมลูกได้เลยเมื่อคุณแม่พร้อม

  • วันแรก หลังผ่าคลอด
    คุณแม่ควรขยับตัวให้เร็วที่สุดหลังคลอด เช่น ลุกนั่ง หรือยืนข้างๆ เตียง แต่ถ้ามึนศีรษะ ควรนอนราบบนเตียง คุณแม่อาจจะเดินไปรอบๆ ห้อง เพื่อป้องกันท้องอืด และทำให้ลำไส้ได้ขยับและกลับมาทำงานได้ตามปกติเร็วขึ้น และจะช่วยให้คุณแม่ฟื้นตัวได้เร็ว
  • วันที่ 2 เป็นต้นไป
    คุณแม่อาจจะนั่งหรือยืนได้เอง อย่างไรก็ดี คุณแม่อาจรู้สึกเจ็บแปลบที่แผลผ่าตัดได้ ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องปกติ หากไอ ควรใช้มือหรือหมอนกดที่แผล หายใจลึกๆ กลั้นไว้ก่อน แล้วจึงค่อยไอออกมาแรงๆ 2-3 ครั้งเพื่อกำจัดเสมหะ

การดูแลหลังผ่าคลอด

การพักผ่อน

ควรนอนให้ได้มากที่สุดเมื่อลูกหลับ เพราะร่างกายของคุณแม่จะยังคงอ่อนเพลีย เนื่องจากการผ่าตัดและการให้นมลูกในตอนกลางคืน

อาหาร

คุณแม่ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารหรือดื่มน้ำ แล้วจึงค่อยๆ เริ่มจิบน้ำ หรือของเหลว หรือ
อาหารใสๆ เช่น ซุป หรือน้ำแกงใสๆ ทีละนิด ก่อนจะค่อยเพิ่มเป็นอาหารเหลว หรือโจ๊ก (ที่โรงพยาบาลจัดให้) หลังจากนั้นจึงค่อยเปลี่ยนเป็นอาหารย่อยง่ายรสจืด พยายามเลี่ยงการดื่มนมหรือน้ำอัดลม เพราะจะทำให้ท้องอืด คุณแม่ควรงดอาหารรสจัด อาหารหมักดอง แอลกอฮอล์ กาแฟ ชา และน้ำอัดลมหรือมีคาเฟอีน

ห้องน้ำ

การดูแลหลังผ่าคลอด ในวันสองวันแรก คุณแม่จะมีสายสวนปัสสาวะ หลังจากหมอเอาสายสวนปัสสาวะออกแล้ว คุณแม่ต้องปัสสาวะเองภายใน 6 ชั่วโมง เมื่อสามารถปัสสาวะได้เองแล้ว ต้องทำความสะอาดอย่างดี ในระยะแรกลำไส้ใหญ่อาจจะยังไม่ขยับตัวเพราะได้มีการสวนอุจจาระก่อนที่จะผ่าคลอด แต่ถ้าวันที่ 3 แล้วยังไม่ถ่าย ควรต้องใช้ยาถ่ายช่วย

น้ำคาวปลา

การดูแลมารดาหลังผ่าคลอด แม้ว่าจะผ่าคลอดแล้ว แต่คุณแม่ก็จะยังคงมีน้ำคาวปลาอยู่ ในวันแรกๆ จะมีสีแดงสด และมีปริมาณมาก หลังจากนั้นจะมีสีอ่อนลงและปริมาณลดลง (น้ำคาวปลาจะหยุดหรือแห้งไปเองในสัปดาห์ที่ 2-3) คุณแม่ควรใช้ผ้าอนามัยและเปลี่ยนบ่อยๆ

แผลผ่าตัดและมดลูก

คุณแม่จะรู้สึกเจ็บในมดลูกเป็นครั้งคราวเนื่องจากมดลูกกำลังหดตัว และอาจรู้สึกเจ็บมากขึ้นในขณะที่กำลังให้นมลูก สำหรับแผลผ่าตัดนั้น จะมีผ้ากอซปิดไว้ และต้องไม่ให้แผลโดนน้ำ คุณแม่ควรหมั่นสังเกตอาการผิดปกติ เช่น แผลบวม แดง ร้อน เลือดซึมจากแผลหรือมีไข้

การให้นมลูก และการดูแลลูก

น้ำนมแม่

เนื่องจากการผ่าตัดคลอดและการให้ยา คุณแม่อาจจะผลิตน้ำนมได้ช้า แต่ไม่ใช่ปัญหาใหญ่ เพราะเรามีวิธีช่วยเพิ่มน้ำนม วิธีที่ดีคือการเริ่มให้นมลูกให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ ยิ่งอุ้มลูกให้ลูกดูดนมตั้งแต่ยังอยู่บนเตียงผ่าตัดจะยิ่งช่วยให้ร่างกายผลิตน้ำนมได้ดีขึ้น

ให้นมลูกบ่อยๆ

คุณแม่ควรให้นมลูกบ่อยๆ ทุกๆ 2-3 ชั่วโมงในตอนกลางวัน และทุกๆ 3-4 ชั่วโมงในตอนกลางคืนเพื่อจะช่วยให้ร่างกายผลิตน้ำนมได้ดี หลังจากพ้นระยะแรกไปแล้ว คุณแม่สามารถให้นมลูกได้ทันทีเมื่อลูกหิว

การอุ้มลูกขณะให้นม

ให้คางของลูกอยู่ใกล้กับเต้านมแม่ เพื่อให้ปากของลูกงับได้ถึงบริเวณลานหัวนม และคุณแม่อาจจะได้ยินเสียงลูกดูดและกลืนนมได้

การอุ้มลูกขณะให้นมในวันแรก หลังผ่าคลอด

คุณแม่อาจจะนอนตะแคง ให้ศีรษะของลูกอยู่ในระดับเดียวกับเต้านม ให้ท้องของแม่แนบไปกับตัวลูก โดยให้คางลูกอยู่ติดกับเต้านม

การอุ้มลูกขณะให้นมในวันต่อๆ มา

หลังจากคุณสามารถขยับตัวได้สะดวกขึ้นแล้ว ควรนั่งในขณะให้นมลูก โดยอุ้มลูกแนบตัว ศีรษะของลูกอยู่ที่เต้านม ใช้แขนรองหลังลูก ท่านี้เรียกว่าท่าอุ้มลูกบอล เนื่องจากแขนจะอยู่ในลักษณะเดียวกันกับเวลาที่เราอุ้มลูกบอล อาจจะใช้หมอนรองใต้แขนเพื่อความสบาย ท่านี้ช่วยให้คุณแม่ให้นมลูกได้สะดวก และตัวลูกไม่ทับแผลผ่าตัดด้วย

หน้าที่ของคุณพ่อและคุณแม่ในการให้นมลูก

คุณพ่อสามารถให้กำลังใจคุณแม่และสนับสนุนให้คุณแม่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ การที่คุณพ่อช่วยให้กำลังใจจะทำให้คุณแม่สามารถให้นมลูกได้นานเท่าที่ลูกต้องการ

คะแนนบทความ

มีบัญชีผู้ใช้อยู่แล้ว?