ข้อเท้าแพลง ประคบร้อนหรือเย็น

ข้อเท้าแพลง ประคบร้อนหรือเย็น

HIGHLIGHTS:

  • ข้อเท้าแพลง (ankle sprain) เกิดได้จากหลายสาเหตุหลักๆ คือ เกิดจากอุบัติเหตุเล็กๆ น้อยๆ เช่น ตกบันได ก้าวพลาด ตกส้นสูง เท้าพลิก หรือ อุบัติเหตุจากการเล่นกีฬาหรือออกกำลังกาย
  • การปฐมพยาบาลของอาการบาดเจ็บข้อเท้าแพลงสามารถใช้แนวปฏิบัติ “RICE” และควรหลีกเลี่ยงการใช้ความร้อนในรูปแบบต่างๆ 48 ชั่วโมงแรกของการบาดเจ็บ เพราะจะทำให้เส้นเลือดขยายตัว มีเลือดออกในบริเวณนั้นบาดเจ็บขึ้น

ข้อเท้าแพลง (ankle sprain) เกิดได้จากหลายสาเหตุ หลัก ๆ คือ เกิดจากอุบัติเหตุเล็กๆน้อยๆ เช่น ตกบันได ก้าวพลาด ตกส้นสูง ข้อเท้าพลิก หรือ อุบัติเหตุจากการเล่นกีฬาหรือออกกำลังกาย

ข้อเท้าแพลง บวม มีวิธีรักษาอย่างไร

การดูแลเบื้องต้นหากเกิดอาการเท้าแพลง จะเริ่มจากการประเมินความรุนแรงของอาการบาดเจ็บ เช่น มีอาการบวม กดเจ็บ มีอาการปวดขณะเคลื่อนหรือขยับหรือไม่ หลังจากนั้นจึงทำการปฐมพยาบาล โดยใช้แนวปฏิบัติ “RICE”

R = Rest การพัก

หยุดใช้งานส่วนของร่างกายที่ได้รับบาดเจ็บทันที โดยเฉพาะช่วง 6 ชั่วโมงแรกของการบาดเจ็บ อย่างไรก็ตามส่วนใหญ่แล้วการบาดเจ็บจากการเล่นกีฬาหรือออกกำลังกายต้องการเวลาพักประมาณ 48 ชั่วโมง ก่อนที่จะมีการเริ่มเคลื่อนไหวอีกครั้ง

I = Ice การประคบเย็น

ข้อเท้าแพลงควรประคบเย็น เพื่อลดการมีเลือดออกบริเวณเนื้อเยื่อ ลดบวม และอาการปวด โดยทั่วไปควรประคบเย็นครั้งละ 10-20 นาที หยุดประคบ 5 นาที ทำเช่นนี้ไปเรื่อยๆ จนกระทั่งไม่บวม หรือทำวันละ 2 – 3 ครั้ง อุปกรณ์ประคบเย็น ได้แก่ ถุงเย็น (ice pack) ซึ่งจะคงความเย็นประมาณ 45-60 นาที และต้องมีผ้าห่อไว้ไม่ให้ถุงเย็นสัมผัสโดยตรงกับผิวหนัง หากไม่มีถุงเย็นหรือบริเวณของการบาดเจ็บกว้างเกินขนาดของถุงเย็น สามารถใช้ถุงใส่น้ำแข็งหรือผ้าชุบน้ำเย็น นอกจากนี้ยังมีการพ่นด้วยสเปรย์เย็น (cooling spray) อาจใช้ลดปวดเฉพาะที่ได้ชั่วคราว สามารถใช้ได้กับบริเวณที่เนื้อเยื่อใต้ผิวหนังไม่หนา เช่น คาง สันหมัด ข้อเท้า

C = Compression การพันผ้ายืด

เพื่อกดไม่ให้มีเลือดออกในเนื้อเยื่อมาก การพันผ้ายืดควรพันให้กระชับส่วนที่บาดเจ็บ และควรใช้ผ้าสำลีผืนใหญ่รองไว้ให้หนาๆ ก่อนพันด้วยผ้ายืด ควรพันผ้ายืดคลุมเหนือและใต้ต่อส่วนที่บาดเจ็บ ซึ่งมักใช้ร่วมกับการประคบเย็น

E = Elevation การยกส่วนของร่างกายที่ได้รับบาดเจ็บให้สูงกว่าระดับหัวใจ

เพื่อให้เลือดไหลกลับสู่หัวใจได้สะดวก ช่วยลดการกดของน้ำนอกเซลล์ที่หลั่งออกมาสู่เนื้อเยื่อบริเวณนั้นทำให้ลดการบวมลงได้ โดยการนอนวางขาหรือเท้าบนหมอน หรือนั่งโดยวางเท้าบนเก้าอี้ หากบาดเจ็บรุนแรงควรยกสูงไว้ประมาณ 24-48 ชั่วโมง

48 ชั่วโมงแรกของการบาดเจ็บ ควรหลีกเลี่ยงการใช้ความร้อนในรูปแบบต่างๆ เพราะจะทำให้เส้นเลือดขยายตัว มีเลือดออกในบริเวณนั้นบาดเจ็บขึ้น นำไปสู่การบวมของเนื้อเยื่อโดยรอบ อาจมีอาการปวดมากขึ้น และทำให้หายช้าลง

คะแนนบทความ

มีบัญชีผู้ใช้อยู่แล้ว?