ลูกร้องไห้แบบไหน ไม่ปกติ

ลูกร้องไห้แบบไหน ไม่ปกติ

HIGHLIGHTS:

  • หลังกินนมต้องอุ้มลูกน้อยพาดบ่าลูบหลังเบาๆ เพื่อให้เรอทุกครั้ง เพื่อให้ลูกน้อยสบายตัวขึ้นและป้องกันอาการท้องอืด
  • หากทารกร้องกวนมาก ปวดท้องตัวงอ อุจจาระเป็นเลือด คลำได้ก้อนที่ท้องอาจ มีอาการแหวะนมมาก อาเจียนพุ่ง ควรรีบพามาพบแพทย์
  • พื้นฐานทางอารมณ์ของทารกที่มีความแตกต่างกันนั้น ส่วนนึงเป็นผลจากพันธุกรรม

ปกติแล้วทารกแรกเกิด ช่วงแรกมักจะนอนมาก ไม่ค่อยร้องกวน จนเมื่ออายุ 2 สัปดาห์ขึ้นไปจะพบว่าทารกอาจร้องไห้มากขึ้นเรื่อยๆ โดยไม่มีสาเหตุชัดเจน ทำให้พ่อแม่และผู้เลี้ยงดูเกิดความวิตกกังวลได้

โดยธรรมชาติ เมื่อทารกอายุประมาณ 6 – 8 สัปดาห์ จะร้องไห้โดยเฉลี่ยวันละ 3 ชั่วโมง หลังจากนั้นเมื่ออายุ 10 – 12 สัปดาห์ ทารกจะร้องไห้น้อยลงเหลือประมาณวันละ 1 ชั่วโมง ซึ่งการร้องไห้นี้ไม่ส่งผลเสียใดๆ ต่อร่างกาย หรือพัฒนาการของทารก การร้องลักษณะนี้เราเรียกว่า โคลิก (Colic)

ปัญหาทารกร้องไห้ อาจทำให้คุณพ่อคุณแม่และผู้เลี้ยงดู เกิดความวิตกกังวลไม่รู้ว่าจะแก้ปัญหาอย่างไร เพราะทารกนั้นยังพูดไม่ได้ ไม่สามารถบอกได้ว่าเป็นอะไรหรือต้องการอะไร ลองมาดูกันว่าสาเหตุที่ทารกร้องไห้และคุณพ่อคุณแม่จะรับมือกับปัญหานี้ได้อย่างไรกันค่ะ

สาเหตุที่ทารกร้องไห้และวิธีปลอบโยน

1. ลูกร้องเพราะหิว

เป็นสาเหตุอันดับแรกที่คุณแม่ทุกคนคิดถึง เนื่องจากทารกที่กินนมแม่นั้น นมแม่จะย่อยง่าย จึงทำให้ทารกหิวบ่อย คุณแม่ควรให้นมลูกทุก 2 – 3 ชั่วโมงและสังเกตอาการหลังกินนมว่าลูกดีขึ้นหรือไม่ หยุดร้องหรือเปล่า หากหยุดร้องก็แสดงว่ามาถูกทางแล้วค่ะ

2. ลูกร้องเพราะเจ็บปวด

อาจจะเกิดจากหลายสาเหตุเช่น

  • เด็กปวดท้อง พบได้บ่อย เนื่องจากระบบย่อยอาหารของเด็กยังทำงานได้ไม่ดี จึงทำให้มีอาการท้องอืดได้ หลังกินนมให้อุ้มพาดบ่าลูบหลังเบาๆ เพื่อให้เรอทุกครั้ง จะทำให้เด็กสบายตัวขึ้น และอาการท้องอืดดีขึ้น หากทารกร้องกวนมาก ปวดท้องตัวงอ อุจจาระเป็นเลือด คลำได้ก้อนที่ท้องอาจเป็นอาการของลำไส้กลืนกัน หรือ อาการอื่นๆ เช่น มีอาการแหวะนมมาก อาเจียนพุ่ง ควรรีบพามาพบแพทย์โดยด่วนค่ะ
  • การปวดหู จากหูอักเสบ ควรมาพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุ และให้การรักษาต่อไป
  • มดหรือแมลงกัด ควรถอดเสื้อผ้าเพื่อสำรวจดูว่ามีรอยแมลงกัดหรือไม่

3. ผ้าอ้อมเปียกแฉะ

หากลูกร้องควรดูผ้าอ้อมก่อนทุกครั้งว่าเปียกแฉะ ทำให้ลูกไม่สบายตัวหรือไม่

4. เหนื่อย เพลีย อยากนอน

เด็กบางคนง่วงนอน แต่ก็ไม่ยอมหลับ เนื่องจากสภาพแวดล้อมไม่เอื้ออำนวยให้หลับ ยิ่งง่วงแล้วไม่หลับ ก็ทำให้ลูกเหนื่อย และร้องไห้มากได้

5. ลูกมีไข้ อาการไข้จากการเจ็บป่วย

สังเกตได้จากเด็กมีอาการตัวร้อน วัดไข้ด้วยปรอทวัดไข้พบว่ามีไข้ ในกรณีที่

  • ในเด็กแรกเกิดถึง 1 เดือน อุณหภูมิมากกว่าหรือเท่ากับ 37.5 องศาเซลเซียส ถือว่ามีไข้
  • ในเด็กอายุมากกว่า 1 เดือน อุณหภูมิมากกว่าหรือเท่ากับ 37.8 องศาเซลเซียส ถือว่ามีไข้

หรือมีอาการอื่นร่วมด้วยเช่น ซึม กินได้น้อย อาเจียน ท้องเสีย ไอ น้ำมูก ให้รีบพามาพบแพทย์บางครั้งอุณหภูมิร่างกายที่สูงขึ้นของลูกน้อย อาจเกิดจากสภาพแวดล้อมที่ร้อนเกินไป การห่อตัวหนา หรืออากาศถ่ายเทไม่สะดวก ก็ได้

ทั้งนี้พื้นฐานทางอารมณ์ของทารกแต่ละคน ก็มีความสำคัญและส่งผลต่อการร้องไห้ของลูกน้อยได้ โดยพบว่าพื้นฐานทางอารมณ์ของทารกมีความแตกต่างกันนั้นส่วนนึงเป็นผลจากพันธุกรรม และสภาพแวดล้อมที่อยู่ในครรภ์ ซึ่งแบ่งออกเป็น 4 กลุ่มคือ

  • กลุ่มเด็กเลี้ยงง่าย : พบมากที่สุดร้อยละ 40 เด็กอารมณ์ดี กินง่าย หลับง่าย ปรับตัวง่าย จึงเลี้ยงดูง่าย
  • กลุ่มเด็กเลี้ยงยาก : พบร้อยละ 10 ตอบสนองต่อสิ่งกระตุ้นด้วยปฏิกิริยารุนแรง ร้องไห้มาก หงุดหงิดง่าย ปรับตัวยาก คุณพ่อคุณแม่ควรมีความอดทน ยอมรับพื้นฐานทางอารมณ์ของลูก และให้การตอบสนองอย่างเหมาะสม
  • กลุ่มเด็กปรับตัวช้า : พบร้อยละ 15 เด็กเป็นคนเครียดง่าย ปรับตัวช้า ขี้อาย ควรให้เวลาในการปรับตัวและฝึกทักษะต่างๆเพิ่มขึ้น เพื่อให้เด็กพัฒนาต่อไปอย่างดี
  • กลุ่มที่อยู่ในระดับเฉลี่ยปานกลาง หรือผสมหลายแบบ พบได้ร้อยละ 35

พื้นฐานทางอารมณ์ กลุ่มเลี้ยงยาก ก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ทารกร้องไห้มาก คุณพ่อคุณแม่ควรมีความอดทน และตอบสนองลูกน้อยอย่างเหมาะสม ลูกก็จะปรับตัวได้ดีขึ้นต่อไป

วิธีการช่วยเหลือเจ้าตัวน้อยเมื่อร้องไห้

  • สังเกตพฤติกรรมและลักษณะพื้นฐานทางอารมณ์ของลูก เพื่อที่จะได้ตอบสนองให้ตรงกับความต้องการ พ่อแม่ควรตอบสนองความต้องการของลูกในช่วง 6 เดือนแรกโดยทันทีตามที่ลูกต้องการ เพื่อให้ลูกเรียนรู้ที่จะไว้ใจพ่อแม่ ทำให้เกิดความรู้สึกผูกพันที่มั่นคง เชื่อมั่นว่าพ่อแม่จะสามารถช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาได้ การอุ้มและสัมผัสทารกอย่างสม่ำเสมอระหว่างวัน สามารถช่วยให้ทารกร้องไห้ลดลงได้
  • สร้างบรรยากาศสบายๆ ในการเลี้ยงดู พ่อแม่ควรผ่อนคลาย ไม่วิตกกังวลมากไป อาจหาคนมาช่วยแบ่งเบาภาระในการดูแลลูกบ้าง ผู้เลี้ยงดูควรผลัดกันดูแล อุ้ม ปลอบโยนเด็ก อาจเปิดเพลงเบาๆ หรือถ้าเด็กร้องอยู่นานจนเหงื่อแตก ก็ให้เช็ดตัว หรืออาบน้ำให้สดชื่น
  • พ่อแม่ควรปรับอารมณ์ ไม่เครียดหรือวิตกกังวลมากไป ควรเข้าใจว่าการร้องไห้ของลูกเป็นเรื่องธรรมชาติของทารก

ที่สำคัญหากสงสัยว่ามีความผิดปกติของร่างกาย เช่น สงสัยปวดท้อง มีการถ่ายอุจจาระผิดปกติ อาเจียนพุ่ง หูอักเสบ มีไข้ ซึม กินได้น้อย ควรรีบมาพบแพทย์นะคะ

คะแนนบทความ

มีบัญชีผู้ใช้อยู่แล้ว?