เส้นยึด เส้นตึง

เส้นยึด เส้นตึง

HIGHLIGHTS:

  • “เส้นยึด เส้นตึง” พบมากในกลุ่มคนทำงานออฟฟิศ และกลุ่มผู้สูงอายุ ที่ไม่ได้ออกกำลังกาย
  • การฉีดยาคลายกล้ามเนื้อตรงบริเวณที่มีอาการยึดตึง จะช่วยกล้ามเนื้อบริเวณนั้นให้คลายตัวและกลับมามีความยึดหยุ่น แต่ควรต้องปรับเปลี่ยนนิสัย ออกกำลัง

“เส้นยึด เส้นตึง”

คำพูดที่ฟังดูคุ้นหูแต่ไม่ค่อยจะน่าเอ็นดูสักเท่าไหร่ เพราะถ้ามีอาการขึ้นมาทีไร เป็นต้องรีบแจ้นไปหาหมอนวดทุกที เวลาที่เราพูดถึงเส้นยึดนั้นเข้าใจกันหรือไม่ว่าอาการเป็นอย่างไร เส้นอะไรที่ยึด แล้วกับการที่ต้องไปนวดกันทุกสัปดาห์นั้นช่วยได้จริงหรือ

“เส้น” หมายถึง เส้นเอ็น ที่ยึดระหว่างข้อกับกล้ามเนื้อ ซึ่งมีอยู่ทุกส่วนของร่างกาย แต่เส้นที่ยึดกันส่วนใหญ่ มักเป็นเส้นเอ็นระหว่างสะโพกที่เกาะจากสะโพกไปข้อเข่า เส้นเอ็นข้างข้อเข่า เส้นเอ็นต้นคอ เส้นหลัง และส่วนมาก 80% เส้นที่สามารถตึงตัวได้บ่อย คือ เส้นเอ็นบ่า หรือที่มักเรียกกันว่า สะบักจม

“ยึด” คือ เส้นยึด ที่ทำให้อาการที่เส้นเอ็นเกิดการตึงตัว เกิดการหดเกร็งของกล้ามเนื้อ ทำให้กล้ามเนื้อเกิดการหดรั้ง ขาดความยืดหยุ่น หากทิ้งให้กล้ามเนื้อหดตัวนานๆ ไม่คลาย จะเป็นก้อนแข็งตึง กดแล้วเจ็บ พบมากในกลุ่มคนทำงานออฟฟิศ และกลุ่มผู้สูงอายุ ที่ไม่ได้ออกกำลังกาย สาเหตุเกิดจากการใช้ร่างกายซ้ำๆ อยู่ในท่าเดิมนานๆ รวมไปถึงการใช้อิริยาบถที่ผิดท่าผิดทาง

การนวดเป็นการบรรเทา หรือการรักษาชั่วคราว เพื่อให้กล้ามเนื้อคลายตัว แต่ถ้านวดแล้วไม่ปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์ ชีวิตก็กลับไปตึงเหมือนเดิม ถ้าคุณยังนั่งอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์ วันละ 8 ชั่วโมง สัปดาห์ละ 7 วัน เมื่อมีอาการปวด พอถึงวันหยุดก็วิ่งไปหาหมอนวดกันสักครั้ง เช้าวันจันทร์ก็กลับไปนั่งกันใหม่ ชีวิตวนไปอยู่แบบนี้ บอกได้ทันทีว่าอาการเส้นยึด เส้นตึง ก็จะวนเวียนอยู่กับคุณแบบนี้ไม่มีทางหาย

เส้นยึด เส้นตึง

การรักษาภาวะเส้นยึด ให้หายขาดและได้ผลในระยะยาวต้องทำให้กล้ามเนื้อที่ยึดนั้นยืดออก ประกอบกับการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตเสียใหม่ คนไข้ต้องให้ความร่วมมือกับคุณหมอ

การรักษาทำได้โดยการฉีดยาคลายกล้ามเนื้อตรงบริเวณที่มีอาการยึดตึง เพื่อแก้ไขกล้ามเนื้อบริเวณนั้นให้คลายตัวและกลับมามีความยึดหยุ่น การรักษาโดยการฉีดยาเป็นเหมือนการขึ้นทางด่วน เพราะฉีดแล้วอาการจะดีขึ้นทันที แต่คุณต้องลงให้ถูกที่ ต้องปรับเปลี่ยนนิสัย ออกกำลังกายสม่ำเสมอเพื่อป้องกันการกลับมาเป็นซ้ำ แบบนี้ชีวิตดีขึ้นแน่นอน แต่หากขึ้นทางด่วนแล้วหลงลงไม่ถูกที่ จะไปลาดพร้าวแต่ดันไปลงบางนา ฉีดยาแล้วก็กลับไปใช้ชีวิตแบบเดิม อาการก็กลับมาเป็นใหม่ ต้องขับวนไปอยู่แบบนี้ไม่หายขาดสักทีขอบอก

การออกกำลังกาย คือหัวใจสำคัญของการรักษาอาการเส้นตึง หากคุณไม่อยากถูกเส้นทำมึนตึงด้วย ต้องคอยช่วยกันเหยียดยืดเอาไว้ โดยการทำ Stretching Exercise หรือการออกกำลังกายด้วยโยคะ เพราะการยืดเหยียดจะช่วยทำให้กล้ามเนื้อคลายตัว และมีความยืดหยุ่นอยู่เสมอ

ท่าบริหารร่างกายแสนง่ายช่วยผ่อนคลายกล้ามเนื้อ

  1. ท่ายืดกล้ามเนื้อ ท่านี้จะช่วยยืดกล้ามเนื้อขาด้านหลัง และกล้ามเนื้อน่อง เริ่มด้วยการนั่งตัวตรง ยืดขาทั้งสองข้างไปด้านหน้า แล้วโน้มตัวไปข้างหน้าโดยเหยียดแขนทั้งสองข้างไปเตะที่ปลายเท้า ทำให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ นับ 1-20 แล้วผ่อนคลาย
  2. ท่าออกกำลังกายยืดกล้ามเนื้อคอด้านข้าง ช่วยยืดกล้ามเนื้อคอบริเวณกกหู เริ่มโดยการนั่งหรือยืนหันหน้าตรง เอียงคอไปด้านซ้ายจนสุด แล้วใช้มือขวายกขึ้นจับบริเวณกกหู ออกแรงกดเล็กน้อยเพื่อให้เอียงคอได้มากขึ้นจนรู้สึกตึงที่กล้ามเนื้อคอใกล้ๆ กับกกหู ค้างท่าไว้ 10-20 วินาที แล้วคลายท่า เริ่มต้นใหม่สลับไปทำอีกข้าง
เส้นยึด เส้นตึง

ท่าออกกำลังกายยืดกล้ามเนื้อไหล่ด้านข้าง เริ่มบริหารร่างกายโดยยืนตรงแขนแนบลำตัว ยกแขนซ้ายขึ้นพาดไปตามขวางของลำตัว แล้วยืดแขนออกไปให้มากที่สุดยกมือขวาดันบริเวณต้นแขนซ้าย จนรู้สึกตึงบริเวณหัวไหล่ซ้าย ค้างท่าไว้ 10-20 วินาที แล้วคลายท่า แล้วสลับไปทำอีกข้าง

เส้นยึด เส้นตึง

ยังมีท่าบริหารร่างกายอีกมากมายนะครับ ลองไปศึกษาแล้วลองบริหารร่างกายกันดู ทำบ่อยๆ รับรองว่าอาการเส้นยึด เส้นตึงจะทุเลาเบาบางลงทันที แต่ทำในช่วงแรกอาจมีการปวดหรืออักเสบของกล้ามเนื้อบ้างเพราะเส้นยึดตึงมานาน ต้องใช้เวลาให้เส้นและกล้ามเนื้อปรับตัวกันหน่อยครับ แต่เมื่อผ่านไปสักพักกล้ามเนื้อจะชินไปเอง

คะแนนบทความ

มีบัญชีผู้ใช้อยู่แล้ว?