การวัดไข้อย่างไรให้ถูกวิธี

การวัดไข้อย่างไรให้ถูกวิธี

HIGHLIGHTS:

  • การวัดอุณหภูมิร่างกาย สามารถวัดได้หลายรูปแบบ ตามความเหมาะสมของแต่ละทุกช่วงวัย
  • หากวัดอุณหภูมิทางปาก รักแร้ หู ได้เกิน 37.5 องศาเซลเซียส หรือวัด ทางทวารหนัก เกิน 38 องศาเซลเซียส ก็จะถือว่ามีไข้

การวัดไข้อย่างไรให้ถูกวิธี

คุณแม่คงเคยเจอกับปัญหาที่วัดอุณหภูมิให้ลูกแต่ละครั้งได้ค่าที่ต่างกันมาก ส่วนหนึ่งอาจเกิดจากการวัดที่ไม่ถูกต้อง เราลองมาดูการวัดอุณหภูมิแต่ละแบบกันนะคะ ว่าควรมีเทคนิคอย่างไรให้ได้ค่าที่ถูกต้องแม่นยำที่สุด

วัดไข้ทางรักแร้

เหมาะกับเด็กทุกวัย แต่ต้องแน่ใจว่าปลายปรอทอยู่ใต้รักแร้ และสอดไว้นาน 2-3 นาที จึงจะได้ค่าที่แน่นอน เป็นวิธีที่ง่าย สะดวก แต่ใช้เวลาวัดนานบางครั้งเด็กดิ้นปลายปรอทเคลื่อน จึงอาจได้ค่าต่ำกว่าความเป็นจริง

วัดไข้ทางปาก

เหมาะสำหรับเด็กอายุ 5 ปีขึ้นไป เพราะเด็กต่ำกว่า 5 ปี อาจยังอมปรอทไม่เป็นและอาจกัดปรอทแตก และควรให้อมไว้ใต้ลิ้น เพราะมีเส้นเลือดจำนวนมาก จะทำให้ได้อุณหภูมิที่ถูกต้องที่สุด

อมปรอทไว้นาน 3 นาที ขณะวัดไม่ควรหายใจทางปากและไม่ดื่มน้ำเย็นหรือน้ำร้อนก่อนจะวัดปรอท อย่างน้อย 10-15 นาที

วัดไข้ทางหู

เหมาะสำหรับเด็กอายุ 3เดือนขึ้นไป เพราะรูหูมีขนาดใหญ่พอที่แสงอินฟาเรดจะเข้าไปถึงเยื่อแก้วหู ใช้เวลาสั้น 2-3 วินาทีและค่าค่อนข้างแม่นยำ

ขณะวัดควรดึงใบหูไปทางด้านหลังเล็กน้อยเพื่อให้รูหูตรง ควรวัดอย่างน้อย 2 ครั้งเพื่อหาค่าเฉลี่ย แต่ค่าอาจคลาดเคลื่อนถ้าใช้ในเด็กเล็กเกินไปเพราะรูหูเล็ก หรือเด็กที่มีขี้หูปิดรูหูไว้

วัดไข้ทางทวารหนัก

จะได้ค่าที่ใกล้เคียงอุณหภูมิแกนกลางร่างกายที่สุด เหมาะกับเด็กอายุน้อยกว่า 1 ปี

โดยทาวาสลีนที่ปรอท แล้วใส่เข้าไปที่ทวารหนัก ลึก 1 นิ้ว นาน 2 นาที

โดยต้องจับปลายไว้ให้แน่นเพื่อไม่ให้ปรอกไหลลึกเข้าไป สามารถทำได้ทั้งท่านอนหงาย คว่ำ ตะแคง แต่ถ้าทำไม่ถูกต้องอาจเกิดแผลฉีกขาดได้ และปรอทอ่านผลได้ยาก

วัดทางผิวหนัง

โดยใช้แถบวัดไข้ สะดวกเหมาะกับทุกวัย โดยต้องเช็ดเหงื่ออออกก่อน แล้วใช้แถบวัดไข้แปะที่หน้าผากนานประมาณ 15 วินาที จนตัวเลขขึ้น แต่มีข้อเสียที่ค่าคลาดเคลื่อนได้ง่าย ไม่แม่นยำ

นอกจากนี้ ปรอทวัดไข้ ที่ใช้ในปัจจุบันยังมีให้เลือกมากมายหลายชนิด เช่น

  • ปรอทแก้ว แตกได้ง่าย มีสารปรอทเป็นสีเงินอยู่ด้านใน ก่อนใช้ต้องสลัดปรอทให้ลงมาอยู่ที่ 35 องศาเซลเซียส อ่านค่าได้ยาก
  • ปรอทดิจิตอล สะดวก มีเสียงเตือนเมื่อได้ค่าอุณหภูมิคงที่ อ่านง่าย แต่ราคาแพง ถ้าถูกน้ำ หรือตก จะเสียได้ง่าย

ถ้าวัดอุณหภูมิได้เกิน 37.5 องศาเซลเซียสทางปาก รักแร้ หู หรือ เกิน 38 องศาเซลเซียสทางทวารหนัก ก็จะถือว่ามีไข้ค่ะ

คะแนนบทความ

มีบัญชีผู้ใช้อยู่แล้ว?