คุณกำลังเสี่ยงกับนิ่วในถุงน้ำดีหรือเปล่า?

คุณกำลังเสี่ยงกับนิ่วในถุงน้ำดีหรือเปล่า?

HIGHLIGHTS:

  • สัญญาณบอกว่าคุณกำลังเสี่ยงกับการเป็นนิ่วในถุงน้ำดี คือ ปวดเสียดท้องบริเวณลิ้นปี่ข้างขวา ปวดร้าวที่สะบักขวา โดยเฉพาะเวลาหลังอาหาร ปวดระบมที่ชายโครงขวา คลื่นไส้ อาเจียน มีไข้ ตัวเหลือง ตาเหลือง (ดีซ่าน)
  • ปัจจุบันการผ่าตัดส่องกล้องถุงน้ำดี เจาะแผลเล็กที่หน้าท้อง 3-4 แผลคนไข้ฟื้นตัวเร็ว พักรักษาตัวในโรงพยาบาลเพียง 2-3 วัน ก็สามารถกลับไปใช้ชีวิตตามเดิมได้ภายใน 1 สัปดาห์
  • นอกจากวิธีการผ่าตัดแล้วยังไม่พบวิธีการรักษานิ่วในถุงน้ำดีวิธีอื่นที่ได้ผลดี ส่วนเครื่องสลายนิ่วนั้นจะใช้ได้ดีเฉพาะนิ่วในท่อไต (แต่ไม่ได้ผลสำหรับนิ่วในถุงน้ำดี)

คุณกำลังเสี่ยงกับนิ่วในถุงน้ำดีหรือเปล่า? (Gallstone)

สารละลายหลัก 3 อย่างในถุงน้ำดี ที่ตับได้ขับออกมา คือ คลอเรสเตอรอล ไขมันฟอสเฟต กรดน้ำดี จะต้องอยู่ในอัตราส่วนที่เหมาะสมพอดี หากผิดสัดส่วนเพียงนิดเดียวจะเกิดการตกตะกอนกลายเป็นนิ่วในถุงน้ำดีได้

ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดนิ่วได้ง่าย

  1. คนที่รับประทานอาหารที่มีไขมัน และคลอเรสเตอรอลมาก และคนที่มีน้ำหนักตัวมากเกิน (อ้วน)
  2. คนที่มีอายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป
  3. ผู้หญิง และผู้ที่รับประทานฮอร์โมนเอสโตรเจน
  4. การรับประทานยาลดไขมันบางชนิด
  5. การลดน้ำหนักลงอย่างรวดเร็ว
  6. โรคเลือดบางชนิดที่มีการแตกตัวของเม็ดเลือดแดงเร็วกว่าปกติ เช่น โรคธาลัสซีเมีย

นิ่วในถุงน้ำดี อาการ เป็นอย่างไร

สัญญาณเตือนที่บอกว่าคุณอาจจะกำลังเสี่ยงกับนิ่วในถุงน้ำดีมีหลากหลายด้วยกัน อาทิ

  • นิ่วในถุงน้ําดีจะมีอาการ ปวดเสียดท้องบริเวณลิ้นปี่ข้างขวา ปวดร้าวที่สะบักขวา โดยเฉพาะเวลาหลังอาหาร หรือหลังมื้ออาหารที่มีคลอเรสเตอรอลสูง สาเหตุเกิดจากการอุดตันของปากถุงน้ำดี
  • ปวดระบมที่ชายโครงขวา คลื่นไส้ อาเจียน มีไข้ เพราะถุงน้ำดีอักเสบอย่างเฉียบพลัน
  • ท้องอืด ท้องเฟ้อ และอาหารไม่ย่อย เนื่องจากถุงน้ำดีอักเสบเรื้อรัง
  • ตัวเหลือง ตาเหลือง (ดีซ่าน) เนื่องจากนิ่วในถุงน้ำดีหลุดเข้าไป ทำให้ท่อน้ำดีใหญ่อุดตัน
  • ปวดท้องส่วนบน (บางรายอาจปวดมากหากนิ่วในถุงน้ําดีมีอาการรุนแรง) อาเจียนมาก สาเหตุมาจากตับอ่อนอักเสบเพราะนิ่วไปอุดตันอยู่ที่ส่วนปลาย ของท่อตับอ่อน

การวินิจฉัย

เมื่อคนไข้เข้ามาพบแพทย์ เบื้องต้นแพทย์จะทำการซักประวัติตรวจร่างกาย และเจาะเลือด แต่หากมีเหตุปัจจัยให้สงสัยว่าอาจเป็นนิ่วในถุงน้ำดี แพทย์จะแนะนำให้คนไข้อัลตราซาวนด์ตรวจบริเวณช่องท้องส่วนบน (จำเป็นต้องงดอาหารก่อนทำ 6 ชั่วโมง) เพื่อตรวจดูว่ามีนิ่วในถุงน้ำดีหรือไม่ ซึ่งการตรวจด้วยวิธีนี้ให้ผล
แม่นยำมากกว่า 80 เปอร์เซนต์และทำได้อย่างรวดเร็ว แต่หากสงสัยว่ามีนิ่วในท่อน้ำดีใหญ่ด้วยจะใช้วิธีตรวจสอบด้วยการส่องกล้องผ่านกระเพาะลงไปตรวจที่ท่อน้ำดีใหญ่หรืออาจใช้เครื่อง MRI ก็ได้เช่นกัน

การรักษา นิ่วในถุงน้ำดี

สำหรับคนไข้ที่ตรวจพบนิ่วในถุงน้ำดีและมีอาการอื่นร่วมด้วย ควรจะเข้ารับการผ่าตัดเอานิ่วและถุงน้ำดีออกเพื่อรักษารวมถึงป้องกันอาการแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นตามมา ปัจจุบันการผ่าตัดถุงน้ำดีที่ดีที่สุดและเป็นมาตรฐานทั่วโลกคือวิธีผ่าตัดส่องกล้อง (Laparoscopic Cholecystectomy) โดยจะเจาะเป็นแผลเล็ก ๆ บริเวณสะดือและชายโครงขวาเพื่อสอดกล้องขนาดเล็กและเครื่องมือเข้าไปตัดเลาะถุงน้ำดีออกจากตับ ซึ่งการผ่าตัดด้วยวิธีนี้ให้ผลดีคือ

  • เจ็บแผลน้อยมาก เนื่องจากเจาะแผลเล็กที่หน้าท้อง 3-4 แผล อีกทั้งกล้ามเนื้อผนังหน้าท้องจะไม่ถูก ตัดผ่านเหมือนวิธีการผ่าตัดนิ่วในถุงน้ำดีแบบเปิดหน้าท้องซึ่งจะมีแผลยาว 15-20 เซนติเมตร)
  • คนไข้ฟื้นตัวเร็ว พักรักษาตัวในโรงพยาบาลเพียง 2-3 วัน ก็สามารถกลับไปใช้ชีวิตตามเดิมได้ภายใน 1 สัปดาห์ แต่หากใช้วิธีการผ่าตัดนิ่วในถุงน้ำดีแบบเปิดหน้าท้อง คนไข้จำเป็นต้องพักที่โรงพยาบาล 5-7 วัน และยังต้องพักฟื้นอีกเป็นเวลา 3-4 อาทิตย์
  • อาการแทรกซ้อนหลังผ่าตัดนิ่วในถุงน้ำดี จะมีน้อยกว่าวิธีการผ่าตัดแบบดั้งเดิม อาทิแผลอักเสบ ติดเชื้อ ปอดอักเสบปอดบวม แผลผนังหน้าท้องโป่งแบบ ไส้เลื่อน กรณีคนไข้ถุงน้ำดีบวมมาก และมีผังพืดล้อมรอบมาก ทำให้แพทย์ไม่สามารถแยกได้ชัดเจนจากอวัยวะข้างเคียง จะต้องเปลี่ยนการผ่าตัดนิ่วในถุงน้ำดีมาเป็นวิธีเปิดแผลหน้าท้องแบบธรรมดาแทน ฉะนั้นการรักษาขณะที่อาการยังไม่รุนแรงจะได้ผลดีกว่าและมีความเสี่ยงน้อยกว่า นอกจากวิธีการผ่าตัดแล้วยังไม่พบวิธีการรักษานิ่วในถุงน้ำดีวิธีอื่นที่ได้ผลดี ไม่ว่าจะเป็นยาละลายนิ่วซึ่งใช้ได้เฉพาะนิ่วบางชนิดและต้องรับประทานยาเป็นเวลานาน รวมถึงเมื่อหยุดยาก็อาจเกิดนิ่วใหม่ได้ ส่วนเครื่องสลายนิ่วนั้นจะใช้ได้ดีเฉพาะนิ่วในท่อไต (แต่ไม่ได้ผลสำหรับนิ่วในถุงน้ำดี)ส่วนผลแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นจากการผ่าตัดถุงน้ำดีนั้น คนไข้อาจมีอาการดังต่อไปนี้
  • ตกเลือดในช่องท้อง
  • ผ่าตัดถูกท่อน้ำดีใหญ่ ทำให้น้ำดีรั่ว ช่องท้องอักเสบ ท่อน้ำดีใหญ่อุดตันมีอาการดีซ่าน
  • เจาะถูกอวัยวะข้างเคียง (โดยเฉพาะผู้ที่เคยผ่าตัดช่องท้องมาก่อน) การผ่าตัดโดยศัลยแพทย์ที่เชี่ยวชาญและมีประสบการณ์ จะช่วยให้ความเสี่ยงต่อผลแทรกซ้อนลดน้อยลง หากวันนี้คุณเริ่มมีอาการปวดท้องที่ชวนให้กังวลใจว่าอาจเป็นนิ่วในถุงน้ำดี ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจภายใน 1-2 สัปดาห์ แต่ถ้ามีไข้ มีอาการดีซ่าน หรือกดเจ็บตรงบริเวณใต้ชายโครงขวา ควรรีบไปโรงพยาบาลภายใน24 ชั่วโมง

ทั้งหมดนี้คือสัญญาณอันตรายที่คุณควรสังเกตและเฝ้าระวัง เพราะการป้องกันก่อนที่ทุกอย่างจะสายเกินไปคือวิธีการรักษาโรคนิ่วในถุงน้ำดีที่ดีที่สุด

คะแนนบทความ

มีบัญชีผู้ใช้อยู่แล้ว?