ครรภ์เป็นพิษ ภัยร้ายที่ควรรู้

ครรภ์เป็นพิษ ภัยร้ายที่ควรรู้

HIGHLIGHTS:

  • อาการ ครรภ์เป็นพิษ อาจทำให้มีอาการความดันโลหิตสูง ร่วมกับมีโปรตีนอยู่ในปัสสาวะ ถ้าเป็นขั้นรุนแรง อาจมีการทำงานของตับไตเสียไป เกล็ดเลือดต่ำ มีภาวะชัก เป็นสาเหตุส่วนใหญ่ที่ทำให้มารดาและทารกเสียชีวิตหรือคลอดก่อนกำหนด
  • วิธีการตรวจในปัจจุบันสามารถตรวจพบโอกาสเสี่ยงได้มากถึง 90% ซึ่งดีกว่าการดูโอกาสเสี่ยงจากประวัติและปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ อย่างเดียว

ความผิดปกติของหญิงตั้งครรภ์ที่พบได้บ่อยคือ ภาวะความดันโลหิตสูงซึ่งพบได้ประมาณ 10% และภาวะครรภ์เป็นพิษพบได้ 3% และยังพบว่า 10-15% ของสตรีตั้งครรภ์ที่เสียชีวิต เกิดจากภาวะครรภ์เป็นพิษ!!!

อาการครรภ์เป็นพิษ ที่ผู้หญิงตั้งครรภ์ควรระวัง

ภาวะครรภ์เป็นพิษจะมีอาการความดันโลหิตสูง ร่วมกับมีโปรตีนอยู่ในปัสสาวะ อาจมีอาการตัวบวม ถ้าเป็นขั้นรุนแรง อาจมีการทำงานของตับไตเสียไป มีเกล็ดเลือดต่ำ และมีภาวะชักตามมาได้ ซึ่งเป็นสาเหตุส่วนใหญ่ที่ทำให้มารดาและทารกเสียชีวิตหรือคลอดก่อนกำหนด

 

สาเหตุของ ครรภ์เป็นพิษ

เกิดได้จากหลายปัจจัย หากครรภ์เป็นพิษเกิดก่อนอายุครรภ์ 37 สัปดาห์ สาเหตุมักเกิดจากการพัฒนาของรกที่ผิดปกติ  ส่วนครรภ์เป็นพิษที่เกิดหลังอายุครรภ์ 37 สัปดาห์ มักเกิดจากระบบหัวใจและหลอดเลือดของมารดา เช่น มารดามีภาวะความดันโลหิตสูงเรื้อรังอยู่เดิม

ปัจจัยเสี่ยงภาวะ ครรภ์เป็นพิษ

สมัยก่อนแพทย์จะดูปัจจัยเสี่ยงของหญิงตั้งครรภ์ว่ามีโอกาสเกิดครรภ์เป็นพิษหรือไม่ โดยดูจากประวัติ ดังนี้

หากพบประวัติเหล่านี้อย่างน้อย 1 ข้อ แสดงว่ามีความเสี่ยง

  • มีประวัติว่าการตั้งครรภ์ครั้งก่อน
  • เคยมีภาวะครรภ์เป็นพิษหรือความดันโลหิตสูง
  • มารดาเป็นโรคไตเรื้อรัง
  • โรคภูมิต้านทานต่อตัวเอง หรือ SLE
  • โรคเบาหวาน
  • โรคความดันโลหิตสูงเรื้อรัง

หากพบประวัติเหล่านี้อย่างน้อย 2 ข้อ แสดงว่ามีความเสี่ยง

  • มารดาอายุมากกว่าหรือเท่ากับ 40 ปี และตั้งครรภ์ครั้งแรก
  • ดัชนีมวลกาย BMI เมื่อมาตรวจครั้งแรก มากว่ากว่าหรือเท่ากับ 35kg/m2
  • ประวัติครอบครัวมีภาวะครรภ์เป็นพิษ

ซึ่งการตรวจคัดกรองจากปัจจัยเสี่ยงดังกล่าวข้างต้น สามารถตรวจพบความเสี่ยงครรภ์เป็นพิษ ได้ 30 %

ปัจจุบันมีวิธีการตรวจหาความเสี่ยงของภาวะครรภ์เป็นพิษและสามารถป้องกันการเกิดภาวะครรภ์เป็นพิษได้ ตั้งแต่อายุครรภ์ 11-13 สัปดาห์กับ 6 วัน และสามารถพบโอกาสเกิดภาวะครรภ์เป็นพิษ สูงถึง 90% โดยการทำอัลตราซาวด์วัดการไหลเวียนของเส้นเลือดที่ไปเลี้ยงมดลูก (Uterine artery Doppler) ทั้ง 2 ข้างซ้ายและขวา ร่วมกับ การเจาะเลือดแม่เพื่อตรวจวัดระดับ PIGF (Placental growth factor) หรือโปรตีนส่งเสริมการสร้างหลอดเลือด โดยในหญิงตั้งครรภ์ที่มีการพัฒนาของรกผิดปกติ ระดับสาร PIGF ในเลือดจะต่ำกว่าปกติ

การตรวจคัดกรองนี้ จะนำค่าการไหลเวียนของ Uterine artery ทั้ง 2 ข้าง ระดับค่า PIGF ในเลือดและค่าความดันโลหิตของมารดา เข้า Software และคำนวณออกมาเป็น ค่าความเสี่ยงของแต่ละบุคคลในการเกิดครรภ์เป็นพิษ  หากพบว่ามีความเสี่ยงสูง สามารถป้องกัน การเกิดภาวะครรภ์เป็นพิษได้ โดยแพทย์จะให้รับประทานยา ก่อนอายุครรภ์ 16 สัปดาห์ ไปจนถึงอายุครรภ์ 36 สัปดาห์ ซึ่งจะช่วยลดโอกาส เกิดครรภ์เป็นพิษ ก่อนอายุครรภ์ 37 สัปดาห์ได้ถึง 70%

ข้อมูลอ้างอิง

  1. Ultrasound obstet gynecol 2018; 51: 743-750
  2. Ultrasound obstet gynecol 2018 (ISUOG Practice Guidelines)
คะแนนบทความ

มีบัญชีผู้ใช้อยู่แล้ว?