รู้ทัน PrEP ช่วยป้องกันการติดเชื้อ HIV

รู้ทัน PrEP ช่วยป้องกันการติดเชื้อ HIV

HIGHLIGHTS:

  • ปี พ.ศ. 2561 มีผู้ติดเชื้อเอชไอวีรายใหม่จำนวน 6,300 คน เฉลี่ยวันละ 17 คน และตลอดทั้งปีมีผู้ติดเชื้อเอชไอวีเสียชีวิตทั้งหมด 18,000 คน เฉลี่ยวันละ 50 คน
  • PrEP คือ หนึ่งในวิธีการป้องการติดเชื้อเอชไอวี โดยการให้ยาต้านไวรัสเอชไอวีในผู้ที่ยังไม่เคยติดเชื้อ เพื่อป้องกันการติดเชื้อจากการสัมผัส
  • แม้ว่า PrEP จะเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี แต่การใช้ควรอยู่ในความดูแลของแพทย์ และใช้ร่วมกับการใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งเนื่องจาก PrEPไม่สามารถป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่นๆ ได้

 

ข้อมูลจาก The Joint Nations Programme on HIV/AIDS (UNIAIDS) รายงานว่า ในปี พ.ศ. 2561 ประเทศไทยมีผู้ติดเชื้อเอชไอวีทั้งหมด 480,000 คนโดยเป็นผู้ติดเชื้อรายใหม่ 6,300 คน เฉลี่ยวันละ 17 คน และตลอดทั้งปีมีผู้ติดเชื้อเอชไอวีเสียชีวิตทั้งหมด 18,000 คน เฉลี่ยวันละ 50 คน  

เนื่องจากยังคงมีจำนวนผู้ป่วยรายใหม่จำนวนมากและปัจจุบันการติดเชื้อเอชไอวียังไม่สามารถรักษาให้หายขาด หน่วยงานทางด้านสาธารณสุขจึงรณรงค์เกี่ยวกับการป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี เช่น การใช้ถุงยางอนามัย  หลีกเลี่ยงการมีคู่นอนหลายคน  หลีกเลี่ยงการใช้เข็มฉีดยาร่วมกับผู้อื่น เป็นต้น ปัจจุบันเริ่มมีผู้ให้ความสนใจเกี่ยวกับการรับประทานยาต้านไวรัสก่อนที่จะมีความเสี่ยงสัมผัสเชื้อเอชไอวี หรือที่เรียกว่า PrEP ที่กำลังจะเป็นหนึ่งในวิธีการป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีร่วมกับวิธีอื่นๆ ที่ใช้ในปัจจุบัน

PrEP คือ อะไร?

PrEP ย่อมาจาก pre-exposure prophylaxis หมายถึง การให้ยาต้านไวรัสเอชไอวีในผู้ที่ยังไม่ติดเชื้อ ก่อนมีการสัมผัสที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อเอชไอวีเพื่อป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีจากการสัมผัสนั้น

PrEP เหมาะสำหรับใคร?

เหมาะสำหรับผู้ที่มีความเสี่ยงสูงต่อการติดเชื้อเอชไอวีอย่างต่อเนื่องในช่วงระยะเวลาใดระยะเวลาหนึ่ง ได้แก่

  • ผู้มีคู่ผลเลือดบวกและคู่กำลังรอเริ่มยาต้านเอชไอวีอยู่หรือคู่ได้รับยาต้านเอชไอวีแล้วแต่ยังคงตรวจพบเชื้อไวรัสในเลือดอยู่
  • ผู้ที่มีคู่ผลเลือดบวกที่ไม่สามารถใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งเมื่อมีเพศสัมพันธ์
  • ผู้ที่มาขอรับ Post-Exposure Prophylaxis (PEP)* อยู่เป็นประจำโดยไม่สามารถลดพฤติกรรมเสี่ยงลงได้
  • ชายมีเพศสัมพันธ์กับชาย
  • ชายหรือหญิงที่ทำงานบริการ
  • ผู้ใช้ยาเสพติดด้วยวิธีฉีดที่กำลังฉีดอยู่หรือฉีดครั้งสุดท้ายภายใน 6 เดือน
  • ผู้ที่มีโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ภายใน 6 เดือนที่ผ่านมา

*หมายเหตุ

PEP หรือ Post-Exposure Prophylaxis คือการรับประทานยาต้านไวรัสเอชไอวีเป็นกรณีฉุกเฉินภายใน 72 ชั่วโมงหลังการสัมผัสที่มีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อเอชไอวีและรับประทานติดต่อกันนาน 28 วัน มักให้ในผู้ที่เกิดอุบัติเหตุทางการแพทย์ เช่น การสัมผัสเลือดหรือสารคัดหลั่งของผู้ป่วยหรือผู้ที่มีเพศสัมพันธ์กับผู้ที่อาจจะมีเชื้อเอชไอวีและไม่ได้ใช้ถุงยางอนามัยหรือถูกล่วงละเมิดทางเพศ

ก่อนจะรับ PrEP ต้องตรวจอะไรบ้าง?

ก่อนการรับPrEP ต้องมีการตรวจเอชไอวีและการตรวจเลือดอื่นๆ เช่น การทำงานของตับและไตว่าปกติหรือไม่ หลังจากที่ได้รับ PrEP ครั้งแรกและแพทย์จะนัดตรวจอาการและเลือดทุก 1-3 เดือนจนกว่าจะหยุดยา

PrEP รับประทานอย่างไร?

ยา PrEP คือ ยา 1 เม็ดประกอบไปด้วย Tenofovir disoproxil fumarate ขนาด 300 มิลลิกรัม กับ Emtricitabine ขนาด 200 มิลลิกรัม (TDF/FTC)

วิธีการรับประทานยา

  • รับประทานวันละ 1 ครั้ง หลังอาหาร ต้องรับประทานตรงเวลาทุกวันไปตลอดช่วงเวลาที่มีความเสี่ยง โดยต้องรับประทานก่อนมีความเสี่ยงอย่างน้อย 7 วัน และต้องรับประทานต่อหลังความเสี่ยงครั้งสุดท้ายอย่างน้อย 4 สัปดาห์
  • มีอีกวิธีคือรับประทานยา 2 เม็ด ก่อนมีความเสี่ยง 2-4ชั่วโมง, 1 เม็ดหลังความเสี่ยง 24 ชั่วโมงและอีก 1 เม็ดที่ 48 ชั่วโมงหลังมีความเสี่ยง ซึ่งวิธีนี้เรียกว่า on-demand PrEP แต่ปัจจุบันยังไม่จัดว่าเป็นวิธีมาตรฐานที่แนะนำให้ใช้โดยทั่วไป

การรับประทานPrEP ต้องอยู่ในความดูแลของแพทย์ เนื่องจากต้องมีการเจาะเลือดติดตามและต้องเฝ้าระวังผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นได้ เช่น เวียนศีรษะ คลื่นไส้ รวมไปถึงอาจส่งผลต่อกระดูกหรือไตในระยาวได้ แม้ว่าการใช้ PrEP คือ หนึ่งในวิธีที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีแต่ควรใช้ร่วมกับการใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งเนื่องจาก PrEPไม่สามารถป้องกัน โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่นๆ เช่น ซิฟิลิส, หนองใน ได้

คะแนนบทความ

มีบัญชีผู้ใช้อยู่แล้ว?