โรคความดันและ โรคหัวใจ ทำไมเสี่ยงโรค COVID-19

โรคความดันและ โรคหัวใจ ทำไมเสี่ยงโรค COVID-19
  • โรค Covid-19 หากติดแล้ว โอกาสเสียชีวิตประมาณ 2-3% ในกลุ่มคนปกติ และ 14-20% ในคนสูงอายุมากกว่า 60 ปี หรือ มีโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง และโรคหัวใจ
  • อาการของโรค Covid-19 มีตั้งแต่ระดับความรุนแรงน้อย ได้แก่ คัดจมูก เจ็บคอ ไอ และมีไข้ โดยในบางรายที่มีอาการรุนแรงจะมีอาการปอดบวม หรือ หอบเหนื่อยและหายใจลำบากร่วมด้วย
  • ผู้ที่มีโรคประจำตัว ควรทานยาอย่างสม่ำเสมอ หากออกไปข้างนอกควรใส่หน้ากากป้องกันทุกครั้งโดยไม่มีข้อแม้ หมั่นล้างมือบ่อยๆ ไม่ทานข้าวร่วมกับบุคคลอื่นๆ และหลีกเลี่ยงการไปในสถานที่ที่ผู้คนหนาแน่น

โคโรนาไวรัส

โคโรนาไวรัสเป็นไวรัสขนาดใหญ่ พบได้ทั้งในคนและสัตว์จำนวนมาก ซึ่งจัดอยู่ในไวรัสกลุ่มเดียวกับ MERS และ SARS แต่ความรุนแรงของไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ จะมีความรุนแรงน้อยกว่า MERS และ SARS ซึ่งอัตราการเสียชีวิตของ MERS นั้นอยู่ที่ 30 % และ SARS อยู่ที่ประมาณ 10 % แต่โคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่อยู่ที่น้อยกว่า 3% และในปัจจุบัน องค์การอนามัยโลก (WHO) ประกาศชื่อเรียกไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่นี้ว่า SARS-CoV-2

ผู้ป่วยโรคใดบ้างที่ควรระมัดระวังโรค COVID-19

จากข้อมูลของวารสารการแพทย์ The Lancet ระบุว่าโรค COVID-19 มักจะมีความอันตรายกับระบบต่าง ๆ ในร่างกาย โดยเฉพาะในผู้ป่วยสูงวัยที่มีอายุมากกว่า 60 ปี หรือผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โรคเบาหวาน และโรคมะเร็ง หากติดเชื้อแล้วไม่รีบรักษา อาจมีความเสี่ยง นำไปสู่ภาวะหัวใจวายและเสียชีวิตได้ โดยพบว่าเชื้อไวรัส SARS-CoV-2 ส่งผลให้มีภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะได้ 17% กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบได้ 7% ส่งผลให้ระบบไหลเวียนโลหิตล้มเหลวได้ 9% ดังนั้นผู้ที่มีโรคความดันโลหิตสูงและโรคหัวใจควรระมัดระวังมากเป็นพิเศษ แม้ยังไม่มีข้อสรุปที่แน่ชัดและมีนัยสำคัญถึงความแตกต่างในหลายงานวิจัยก็ตาม

ข่าวลือหรือข่าวจริง? ยาลดความดันโลหิต เพิ่มความเสี่ยงติด COVID-19

ปัจจุบันโรค COVID-19 มีการระบาดไปทั่วทุกทวีป และนักวิทยาศาตร์พยายามทำความเข้าใจกลไกการติดเชื้อไวรัส ทำให้พบว่า เชื้อไวรัส SARS-CoV-2 เมื่อเข้าในร่างกายจะมีเป้าหมายคือ ไปที่ปอด เพราะที่ปอดของคนเราจะมีตัวรับ (receptor) ชนิดหนึ่งที่ชื่อ Angiotensin-converting enzyme 2 (ACE II) เปรียบ ACE II คือ แม่กุญแจ สำหรับเปิดประตูให้ไวรัส เข้าไปในเซลล์ของร่างกาย เมื่อไวรัสเดินทางมาพร้อมลูกกุญแจ หรือ ที่เราเห็นเป็นหนามแหลมๆ รอบตัวคล้ายมงกุฏ  เมื่อหนามแหลมๆ เจอกับตัวรับ นั่นคือ วินาทีที่มีการติดเชื้อนั่นเอง

มีสมมติฐานว่า ยาลดความดันสูง ในกลุ่ม ACE inhibitor หรือยาที่ควบคุมการทำงานของ ACEII (ใช้รักษาโรค ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ และโรคไตในผู้ป่วยเบาหวาน) ทำให้เสี่ยงต่อการติดเชื้อไวรัส SARS-CoV-2เนื่องจากไปทำให้เซลล์ในร่างกายมีตัวรับ หรือแม่กุญแจ รับไวรัสเพิ่มมากขึ้น

ผู้ป่วยที่จำเป็นต้องทานยากลุ่มนี้ เช่น ผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ ที่ยังไม่ติดหรือติดเชื้อไวรัสไปแล้ว ต้องหยุด ลดขนาด หรือ เปลี่ยนยา ACEI ARB หรือไม่?

จากวารสารทางการแพทย์หลายฉบับ เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2563 (Position Statement ของ Council on Hypertension of the European Society of Cardiology, Hypertension Canada และ The Canadian Cardiovascular Society and the Canadian Heart Failure Society) ระบุตรงกันว่าหลักฐานในปัจจุบันยังมีไม่มากและชัดเจนพอในการบ่งชี้ว่าต้องหยุด ลดขนาด หรือเปลี่ยนยาลดความดันเป็นกลุ่มอื่น ดังนั้นขอให้ผู้ป่วยใช้ยาในกลุ่มนี้ตามเดิม การหยุดอาจส่งผลเสียกับผู้ป่วยมากกว่าประโยชน์ที่ได้รับ

สรุปคนมีโรคประจำตัว ควรรับมืออย่างไร

หากมีโรคประจำตัว ควรหมั่นตรวจสุขภาพเป็นประจำ ออกกำลังกายสม่ำเสมอและปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด อันที่จริงแล้ว ทุกคน ทุกเพศ ทุกวัยควรระมัดระวังการติดเชื้อด้วยการดูแลสุขอนามัยของตนเองด้วยเช่นกัน  หากมีประวัติสัมผัสหรือใกล้ชิดกับผู้ป่วยที่ต้องสงสัยภายใน 14 วันแล้วมีอาการไข้ ไอ น้ำมูก หายใจเหนื่อย ควรพบแพทย์เพื่อคัดกรองและหาสาเหตุแต่เนิ่น ๆ จะช่วยป้องกันภาวะแทรกซ้อนทางปอด หัวใจ และไตที่อาจเกิดขึ้นได้ รวมถึง ควรฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่และวัคซีนป้องกันปอดบวม Pneumococcal Vaccine หากมีข้อบ่งชี้ในผู้สูงวัยที่มีโรคปอดหรือโรคหัวใจ เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้ร่างกายควบคู่ไปด้วยกันกับการดูแลตัวเอง

คะแนนบทความ

มีบัญชีผู้ใช้อยู่แล้ว?