ศูนย์รักษากระดูกสันหลังคด

ศูนย์รักษากระดูกสันหลังคด แผนกศัลยกรรมกระดูกและข้อ ชั้น 1 เปิดตลอด 24 ชั่วโมง 66 (0) 2378-9000 info@samitivej.co.th
สมิติเวช ศรีนครินทร์

โรงพยาบาลสมิติเวช ศรีนครินทร์ เป็นศูนย์รวมของแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญในเรื่องกระดูกสันหลังที่มีประสบการณ์สูงและมีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับทั้งในและต่างประเทศ มีการใช้นวัตกรรมใหม่ในการรักษาโรคกระดูกสันหลังทั้งแบบไม่ผ่าตัดและแบบผ่าตัด เพื่อให้ได้ผลการรักษาแม่นยำ ตรงจุด

มีความเชี่ยวชาญในการรักษากระดูกสันหลังคด โดยทีมแพทย์ที่มีความประสบการณ์นำทีมโดย ศ.นพ.เกียรติคุณ เจริญ โชติกวณิชย์ ผู้มีประสบการณ์ตรงในการรักษากระดูกสันหลังคดเป็นอย่างดี

ผู้อำนวยการศูนย์รักษากระดูกสันหลังคด / อดีตประธานสมาคมโรคกระดูกและข้อของประเทศ ภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก

ผู้อำนวยการศูนย์รักษากระดูกสันหลังคด / อดีตประธานสมาคมโรคกระดูกและข้อของประเทศ ภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก


พร้อมทั้งได้จัดตั้ง “กองทุนสมิติเวชเพื่อชีวิตใหม่ แก้ไขกระดูกสันหลังคด” (Samitivej New Life Fund for Scoliosis) เพื่อถวายเป็นพระราชกุศล เนื่องในวโรกาสพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระชนมายุครบ 88 พรรษา ความพร้อมในการรักษาโรคกระดูกสันหลังคด ศูนย์รักษากระดูกสันหลังคด (Scoliosis Center) โรงพยาบาลสมิติเวช ศรีนครินทร์ มีความพร้อมในด้านอุปกรณ์ นวัตกรรมและเทคโนโลยีที่ทันสมัยในด้านการให้บริการ การตรวจวินิจฉัย การให้การรักษา รวมถึงการบำบัดรักษาโรคกระดูกสันหลังคดอย่างครบวงจร

  • ห้องตรวจผู้ป่วยที่ทันสมัย ห้องรักษาที่มีอุปกรณ์เครื่องมืออย่างครบครัน
  • ห้องผ่าตัดที่มีมาตรฐานสูงพร้อมด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย
  • เครื่องมืออุปกรณ์ และเทคโนโลยีในการวินิจฉัยโรคทางด้านกระดูกสันหลังและข้อ เช่น เครื่องวัดความหนาแน่นของกระดูก
  • เครื่องคอมพิวเตอร์ระบบนำวิถี เครื่องตรวจด้วยระบบแม่เหล็ก (MRI) ที่ทันสมัย
  • ทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางด้านเวชศาสตร์ฟื้นฟู นักกายภาพบำบัดที่ผ่านการฝึกอบรมและมีประสบการณ์สูงในการดูแลฟื้นฟูผู้ป่วยโรคกระดูกสันหลังคด ทั้งก่อนและหลังการผ่าตัดคอยให้คำแนะนำเพื่อฟื้นฟูสมรรถภาพของร่างกายให้สมบูรณ์อย่างต่อเนื่อง


โรคกระดูกสันหลังคด คืออะไร

โรคกระดูกสันหลังคด หมายถึง การผิดรูปของแนวกระดูกสันหลัง ที่มีการคดออกไปด้านข้าง หรือการที่กระดูกสันหลังเบี้ยวเป็นรูปตัวเอส “S” หรือ ตัว “C” คำว่า Scoliosis มาจากภาษากรีก แปลว่า ความโค้ง (Curvature)

โรคกระดูกสันหลังคดในเด็ก

สาเหตุที่ทำให้เกิดกระดูกสันหลังคดในเด็ก (Scoliosis) นั้นยังไม่ทราบสาเหตุที่ชัดเจน อาจเป็นเพราะกรรมพันธุ์ หรือฮอร์โมนใต้สมองทำงานผิดปกติ เด็กจึงพัฒนาไม่เต็มที่ กล้ามเนื้อ หรือระบบประสาทผิดปกติ เกิดร่วมกับโรคท้าวแสนปม และสาเหตุอื่นๆ อีกหลายประการ

โรคกระดูกสันหลังคดในผู้ใหญ่

ส่วนกระดูกสันหลังคดในผู้ใหญ่ (Degenerative Lumbar Scoliosis) อาจมาจากอุบัติเหตุ การหัก หรือการเสื่อมของกระดูกสันหลังเอง ในบางรายอาจไม่ได้เป็นมากจึงไม่แสดงอาการใดๆ ในวัยเด็ก แต่มากำเริบเมื่อโตขึ้นก็ได้ ซึ่งอาจจะทำให้มีอาการปวดรุนแรง

ที่พบบ่อยที่สุด ประมาณร้อยละ 80 ของผู้ป่วยกระดูกสันหลังคดทุกชนิด คือ กระดูกสันหลังคดชนิดที่ไม่ทราบสาเหตุ มักพบในช่วงอายุระหว่าง 10-15 ปี ซึ่งเป็นช่วงที่มีการเจริญเติบโตของกระดูกอย่างรวดเร็ว

อาการกระดูกสันหลังคด ของผู้ป่วยคือ

  • มีแนวกระดูกสันหลังไม่ตรง
  • ระดับหัวไหล่ 2 ข้างไม่เท่ากัน
  • ระดับเอวไม่เท่ากัน
  • ตัวเอียง
  • ด้านหลังนูน คิดว่าหลังโก่ง

ผู้ป่วยหรือผู้ปกครองจึงมักมาพบแพทย์ด้วยความกังวลเกี่ยวกับรูปร่าง มีส่วนน้อยเท่านั้นที่อาจมีอาการปวดหลัง

กระดูกสันหลังคด สามารถแบ่งประเภทได้ดังนี้

1. กระดูกสันหลังปกติตั้งแต่แรก แต่มาคดในภายหลัง ส่วนใหญ่ไม่ทราบสาเหตุของการเกิดโรค แต่อาจเกี่ยวกับสารฮอร์โมนบางอย่าง ที่ควบคุมการทำงานของระบบประสาทที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการทรงตัว ทำให้มีผลต่อการเกิดกระดูกสันหลังคดได้ พบได้ประมาณร้อยละ 80 แบ่งออกเป็น 3 กลุ่มอายุ

  • กลุ่มอายุ แรกเกิด – 1 ปี จะเริ่มยืนและเดิน แต่กลุ่มนี้ร้อยละ 90 จะหายได้เอง
  • กลุ่มอายุ 3-10 ปี มีจำนวนมากขึ้น ถ้าเป็นมากไม่รักษาจะมีปัญหาในระยะยาวได้
  • กลุ่มอายุ 10-18 ปี กระดูกสันหลังคดในวัยรุ่นพบได้มากกว่ากลุ่มอายุอื่น ซึ่งหลังคดถ้าเป็นไม่มาก ก็ไม่จำเป็นต้องรักษา

แพทย์แนะนำให้เฝ้าติดตามดูความเปลี่ยนแปลง เพราะกระดูกสันหลังอาจคดมากขึ้นเรื่อยๆ และมากจนผิดปกติได้ ทำให้การเจริญเติบโตของร่างกายผิดปกติ ถ้าแพทย์ตรวจวัดองศาความคดของกระดูก พบว่าคดระหว่าง 30-40 องศา อายุต่ำกว่า 15 ปี จะแก้ไขได้ด้วยการใส่เสื้อสำหรับแก้ความคด แต่ถ้าไม่ดีขึ้น ความคดเพิ่มขึ้น ต้องแก้ไขด้วยวิธีการผ่าตัด โดยใส่เหล็กดามให้กระดูกสันหลังตรงขึ้นได้

2. กระดูกสันหลังคดตั้งแต่เกิดโดยไม่ทราบสาเหตุ อาจจะเกิดจากยาที่แม่ รับประทานระหว่างตั้งครรภ์ กลุ่มนี้เกิดจากกระดูกผิดปกติ เช่น การเจริญของกระดูกสันหลังไม่เท่ากันหรือไม่สมดุลกัน ถ้ากระดูกสันหลังคดแล้วจะคดมากขึ้นค่อนข้างเร็ว แพทย์จะทำการรักษาทันที เพราะถ้าเป็นมากๆ อาจเป็นอัมพาตได้

3. มีความผิดปกติเกี่ยวกับกล้ามเนื้อและระบบประสาท เช่น มีความผิดปกติของสมอง สมองพิการ โรคโปลิโอ โรคของระบบกล้ามเนื้อ ฯลฯ มีโอกาสทำให้กระดูกสันหลังคดเมื่อโตขึ้นได้

4. โรคเท้าแสนปม ร่างกายจะมีปุ่ม และหรือปานตามตัว และพบกระดูกสันหลังคดร่วมด้วยประมาณร้อยละ 30


การตรวจกระดูกสันหลังด้วยตัวเอง

วิธีการคือ ยืนตัวตรง แล้วดูแนวสันหลังว่าตรงหรือไม่ จากนั้นให้ก้มหลังลง มือแตะพื้น ถ้ามองตามเส้นแนวกระดูกสันหลังแล้วไม่คด ก็แสดงว่าปกติ แต่ถ้ามีแนวไม่ตรง และสงสัยว่าจะคด หรือสังเกตุเห็นอาการดังนี้

  • แนวกระดูกสันหลังไม่ตรง
  • ระดับหัวไหล่หรือบ่าทั้ง 2 ข้างไม่เท่ากัน สะบักหรือกระดูกที่เป็นคล้ายๆ ปีกมีการนูนตัวมากกว่าอีกด้านหนึ่ง
  • ศีรษะไม่อยู่กึ่งกลางในระหว่างแนวกระดูกเชิงกรานทั้ง 2 ข้าง
  • สะโพกด้านใดด้านหนึ่งยกขึ้น สูงกว่าอีกด้าน
  • กระดูกซี่โครงมีระดับความสูงไม่เท่ากัน
  • ระดับเอวไม่เท่ากัน
  • สภาพผิวมีการเปลี่ยนแปลงแตกต่างจากอีกด้าน เช่น มีรอยบุ๋ม มีขนขึ้น สีผิวเปลี่ยนไปจากเดิม
  • มีการเอียงของลำตัวไปด้านใดด้านหนึ่ง

หากพบอาการผิดปกติควร มาพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยหาสาเหตุที่แท้จริง พร้อมแนวทางการรักษาที่ถูกต้อง และติดตามผล ว่าอาจมีอาการมากขึ้นในระยะยาวต่อไปหรือไม่ในอนาคต

กระดูกสันหลังคด ถ้าไม่รักษาอาจจะคดเพิ่มขึ้น

มีผลกระทบต่อสุขภาพได้มาก เช่น ตัวเอียง ไหล่ตก แนวสะโพกเอียง รูปร่างพิการ ปวดหลัง มีปัญหาต่อระบบการย่อย ระบบหายใจ หอบเหนื่อยง่าย เป็นโรคปอดบวม ปอดอักเสบ หัวใจทำงานหนัก อาจทำให้หัวใจล้มเหลวได้ ในเพศหญิงอาจมีปัญหาถ้ามีการตั้งครรภ์และคลอด

กระดูกสันหลังคด

การตรวจวินิจฉัย

นอกจากการตรวจดูลักษณะที่ผิดรูปแล้ว แพทย์จะตรวจการทำงานของระบบประสาท และส่งตรวจทางรังสีเพื่อการวินิจฉัย ประเมินระดับความรุนแรงของกระดูกสันหลังคด และพิจารณาให้การรักษา  

แนวทางในการรักษาโรคกระดูกสันหลังคด

  • การสังเกตอาการ ในกรณีที่มีความคดน้อยกว่า 20-30 องศา แพทย์จะนัดตรวจติดตามอาการอย่างใกล้ชิดทุก 4-6 เดือน
  • การใส่เฝือก หรือเสื้อเกราะ ในกรณีที่กระดูกสันหลังมีความคดมากกว่า 30 องศา ควรใส่เฝือก หรือเสื้อเกราะให้รัด กระชับ เพื่อดัดกระดูกสันหลัง ป้องกันไม่ให้กระดูกสันหลังคดมากขึ้น โดยใส่ประมาณ 23 ชั่วโมงต่อวัน ยกเว้นเวลาอาบน้ำ การใส่เสื้อเกราะจะต้องใส่จนกว่าผู้ป่วยหยุดการเจริญเติบโต และค่อย ๆ ลดจำนวนชั่วโมงที่ใส่ลงจนแน่ใจว่า กระดูกสันหลังไม่คดมากขึ้นจึงจะหยุดใส่
  • การรักษาด้วยการ ผ่าตัดกระดูกสันหลังคด จัด/ดามกระดูกให้เข้ารูป จะใช้ในกรณีที่ผู้ป่วยมีกระดูกคดมากกว่า 45 องศา ในวัยกำลังเจริญเติบโต หรือมากกว่า 50-55 องศา ในวัยที่หยุดการเจริญเติบโต โดยการใช้โลหะดามกระดูกสันหลัง จัดกระดูกสันหลังให้ตรงขึ้น และเชื่อมข้อกระดูกสันหลังให้ติดแข็งในแนวที่จัดไว้
    • ข้อดี ของการรักษาโดยการผ่าตัดคือ สามารถทำให้หลังที่คดตรงได้ถาวร ซึ่งหลังผ่าตัดควรงดกิจกรรมที่เคลื่อนไหวด้วยกระดูกสันหลังเช่น การก้ม บิดตัว ประมาณ 6-9 เดือน แล้วจึงออกกำลังกายที่ไม่เสี่ยงต่อการบาดเจ็บ เช่น ว่ายน้ำ เดิน เป็นต้น แต่การรักษาโดยการผ่าตัดนั้นจะมีค่าใช้จ่ายที่สูงมาก และอาจเสี่ยงต่อการที่ไขสันหลัง และเส้นประสาทถูกยืดหรือถูกกดทับ ทำให้เส้นประสาทไม่ทำงาน ดังนั้นจึงต้องทำการรักษาโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางที่มีความรู้และความชำนาญ
  • การรักษาโดยการทำกายภาพ โดยการสอนการจัดท่าขณะนอน การทรงตัว และการออกกำลังกายต่างๆ ที่เหมาะสมเพื่อช่วยรักษาให้กระดูกสันหลังกลับเข้าสู่แนวเดิม หรือให้ใกล้เคียงแนวปกติให้มากที่สุด การรักษาจะจำเพาะแตกต่าง กันไปขึ้นอยู่กับแต่ละคน และการให้การรักษานี้ควรเป็นนักกายภาพบำบัดที่ได้รับการอบรมเฉพาะทางเกี่ยว กับโรคกระดูกสันหลังคด เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการรักษาสูงสุด


แนวทางในการรักษาโรคกระดูกสันหลังคด

ทีมแพทย์ในการดูแลรักษาโรคกระดูกสันหลังคด

  • ศาสตราจารย์เกียรติคุณนายแพทย์เจริญ โชติกวณิชย์
    – ศัลยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านกระดูกสันหลังและข้อ
    – อดีตประธานสมาคมโรคกระดูกและข้อของประเทศในภาคพื้นเอเซียแปซิฟิก 
    และอดีตประธานสมาคมโรคกระดูกสันหลัง ในภาคพื้นเอเซียแปซิฟิค
    – ผู้อำนวยการอาวุโสแผนกศัลยกรรมกระดูกและข้อ และผู้อำนวยการศูนย์รักษากระดูกสันหลังคด โรงพยาบาลสมิติเวช ศรีนครินทร์
  • ศาสตราจารย์คลินิก นายแพทย์สุรินทร์ ธนพิพัฒนศิริ
    ศัลยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านกระดูกสันหลังและข้อ
  • ผู้ช่วยศาสตราจารย์นายแพทย์มนต์ชัย เรืองชัยนิคม
    ศัลยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านกระดูกสันหลังและข้อ

Success Story

กิจกรรมที่เกี่ยวข้อง

World Scoliosis Day - เนื่องในวันกระดูกสันหลังคดโลก โดยได้รับความสนใจเป็นอย่างดีจากคุณพ่อ คุณแม่ ที่พาลูกน้อยมาร่วมกิจกรรมการตรวจกระดูกสันหลังในเด็กเบื้องต้น เพื่อให้คุณพ่อ คุณแม่ได้ตระหนักถึงผลกระทบจากโรคกระดูกสันหลังคดในเด็ก ซึ่งอาจเป็นปัญหากับลูกน้อยในอนาคต หากไม่สังเกตและรักษา พร้อมทั้งกิจกรรมตรวจสุขภาพฟัน และสินค้าสำหรับเด็กมากมาย เมื่อวันที่ 28-29 มิถุนายน 2557 ที่ผ่านมา

ภาพบรรยากาศ ศูนย์รักษากระดูกสันหลังคดในเด็ก