มองการณ์ไกล หรือสายตายาว

มองการณ์ไกล หรือสายตายาว

HIGHLIGHTS:

  • สายตายาวตามอายุ (Presbyopia) เป็นภาวะที่พบได้แทบทุกคนที่มีอายุมากขึ้น  และยังไม่สามารถป้องกันได้
  • ผู้สูงอายุควรเข้ารับการวัดสายตา หากพบว่าสายตายาว การสวมแว่นตาที่เป็นเลนส์นูน จะช่วยเพิ่มกำลังในการปรับภาพและหักเหแสง  ควรตัดแว่นที่ได้คุณภาพและเหมาะกับสายตาของแต่ละคน
  • คอนแทคเลนส์สำหรับการมองเห็นชัดได้ในหลายๆ ระยะ (Multifocal contact lens) สามารถปรับระยะการมองในผู้มีปัญหาสายตายาวตามวัย รวมถึงผู้ที่เคยสายตาสั้นมาก่อน แต่ใช้ไม่ได้สำหรับผู้ที่มีสายตาเอียง

เมื่อมีอายุมากขึ้นนอกจากจะมีประสบกาณ์ชีวิตมากขึ้นและมองการณ์ไกลแล้ว เมื่อเวลาผ่านไปผู้สูงวัยยังต้องมองกันไกลๆ อีกด้วย เนื่องจากสายตาที่เปลี่ยนไป ไม่สามารถมองวัตถุใกล้ๆ ได้ชัดเจนเหมือนเดิม

ทางการแพทย์  “สายตายาว” หมายถึง ภาวะสายตายาวที่เกิดขึ้นกับคนอายุน้อย แต่หากสายตายาวในวัยตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป เรียกว่าสายตาผู้สูงอายุ  หรือสายตายาวตามอายุ (Presbyopia)  ซึ่งเป็นภาวะที่พบได้แทบทุกคนที่มีอายุมากขึ้น ไม่ว่าจะเคยสายตาสั้น สายตายาว หรือสายตาปกติมาก่อนก็ตาม  โดยเกิดขึ้นจากเปลี่ยนแปลงของดวงตาตามธรรมชาติ  ยังไม่สามารถป้องกันได้

(มอง)ไกลแค่ไหน คือใกล้

ปกติดวงตาของคนเรา สามารถปรับระยะการมองได้ทั้งไกลและใกล้ โดยระบบประสาทอัตโนมัติเป็นผู้ควบคุมคำสั่งไปยังกล้ามเนื้อมัดเล็กรอบๆ เลนส์ตา (Ciliary muscles) ให้เลนส์ในลูกตาโป่งออกเพื่อเพิ่มกำลังในการปรับภาพและหักเหแสง (Accommodation)  ให้สามารถมองวัตถุระยะใกล้ได้ชัดเจน และมีการคลายตัวลงเมื่อต้องมองไกล

ภาวะสายตายาวในผู้สูงวัย หมายถึงการมองดูวัตถุไกล ๆ ได้ปกติทั่วไป แต่กลับมองดูวัตถุที่อยู่ใกล้ได้ไม่ชัด เนื่องจากความเสื่อมของกล้ามเนื้อมัดเล็กรอบๆ เลนส์ตา  ซึ่งแข็งตัวและมีความยืดหยุ่นลดน้อยลง ส่งผลให้ความสามารถในการปรับภาพและหักเหแสงลดลง  ไม่สามารถเพิ่มกำลังของเลนส์ให้โป่งออกเมื่อต้องมองระยะใกล้ได้อีกต่อไป

อาการของสายตายาวตามอายุคือการมองวัตถุในระยะใกล้ (ประมาณ 33เซนติเมตรหรือ 14นิ้ว) ไม่ชัดเจนเหมือนเดิม หรืออาจต้องใช้สายตาเพ่งมากขึ้น ซึ่งทำให้เกิดอาการไม่สบายตาหรือสายตาล้าง่ายขึ้น ทั้งนี้ในผู้มีสายตาสั้นอยู่ก่อนแล้ว จะต้องถอดแว่นตาออกถึงจะมองใกล้ได้ชัดเจน

วิธีแก้ไขสายตายาว

หากมองข้ามปัญหาสายตายาวตามวัยโดยไม่แก้ไข จะส่งผลให้ดวงตารู้สึกเมื่อยล้า และกระทบต่อการใช้ชีวิต โดยเฉพาะเมื่อต้องอ่านตัวหนังสือ หรือกรอกเอกสารสำคัญ

แว่นตา

วิธีแก้ปัญหาที่ง่ายและราคาไม่แพง ด้วยการสวมแว่นตาที่เป็นเลนส์นูน  ช่วยเพิ่มกำลังในการปรับภาพและหักเหแสง  เพื่อให้มองใกล้ได้  ซึ่งผู้สูงอายุควรเข้ารับการวัดสายตาและตัดแว่นที่ได้คุณภาพและเหมาะกับสายตาของแต่ละคน

คอนแทคเลนส์ (Contact lens)

แม้ผู้สูงวัยจะไม่ค่อยคุ้นกับการใส่คอนแทคเลนส์นัก แต่การใช้คอนแทคเลนส์ก็ทำให้สะดวก และไม่เกิดปัญหาลืมแว่นตา  คอนแทคเลนส์สำหรับการมองเห็นชัดได้ในหลายๆ ระยะ (Multifocal contact lens) สามารถปรับระยะการมองในผู้มีปัญหาสายตายาวตามวัย รวมถึงผู้ที่เคยสายตาสั้นมาก่อน แต่ใช้ไม่ได้สำหรับผู้ที่มีสายตาเอียง

เลสิก (Lasik)

การรักษาสายตายาวตามอายุด้วยการใช้เลเซอร์ผ่าตัด แม้จะมีราคาค่อนข้างแพง แต่ก็สามารถแก้ปัญหาการมองเห็นได้อย่างเห็นผล

เมื่ออายุมากขึ้น   อวัยวะต่างๆ ในร่างกายย่อมเสื่อมสภาพลง โดยเฉพาะอาการสายตายาวตามอายุ ที่แม้จะไม่ใช่โรคร้าย และไม่สามารถป้องกันได้ แต่การแก้ไขที่ถูกต้องเพื่อการมองเห็นได้ชัดเจนก็เป็นทางเลือกที่ดี เพื่อการใช้ชีวิตที่มีคุณภาพ ในทุกๆ ด้าน ทั้งการทำงาน ท่องเที่ยว หรือทำกิจกรรมต่างๆ ได้อย่างเต็มที่

คะแนนบทความ

มีบัญชีผู้ใช้อยู่แล้ว?