ไวรัสตับอักเสบซี โรคร้ายที่มาแบบไม่เตือน

ไวรัสตับอักเสบซี โรคร้ายที่มาแบบไม่เตือน

HIGHLIGHTS:

  • ไวรัสตับอักเสบซีเมื่อเข้าไปในร่างกาย อาการจะไม่รุนแรง ไม่ชัดเจน ทำให้ผู้รับเชื้อไม่ทราบว่าตนเองเริ่มมีอาการตับอักเสบ ถ้าปล่อยไว้จะเข้าสู่ระยะตับแข็ง ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดมะเร็งตับได้
  • ผู้ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซีมักจะไม่ทราบมาก่อนว่ามีเชื้อนี้อยู่ในร่างกาย จะทราบก็ต่อเมื่อไปตรวจร่างกายแล้วพบค่าการอักเสบของตับผิดปกติ และตรวจเลือดพบการติดเชื้อ การตรวจด้วยเครื่องไฟโบรสแกน (Fibroscan) จะช่วยดูความสี่ยงของมะเร็งตับได้
  • ปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนสำหรับป้องกันไวรัสตับอักเสบซี การป้องกันไวรัสตับอักเสบซีคือหลีกเลี่ยงการสัมผัสเลือด เช่น ไม่ใช้มีดโกนหนวด แปรงสีฟันร่วมกัน

หากพูดถึงไวรัสตับอักเสบซี โดยทั่วไปผู้ป่วยมักจะไม่ทราบมาก่อนว่ามีเชื้อนี้อยู่ในร่างกาย จะทราบได้ก็ต่อเมื่อไปตรวจร่างกายแล้วพบค่าการทำงานของตับผิดปกติ และตรวจเลือดพบการติดเชื้อ สำหรับเชื้อไวรัสตับอักเสบซีเมื่อเข้าสู่ร่างกาย จะมีระยะฟักตัวประมาณ 6 – 8 สัปดาห์ มีการแบ่งตัวและไปอยู่ในตับ ผู้ป่วยที่ได้รับเชื้อระยะแรกจะเกิดตับอักเสบเฉียบพลัน อาการจะไม่รุนแรง เป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป อาจมีอาการเหมือนโรคทั่วไป เช่นเหนื่อยง่าย ไม่ค่อยมีแรง อ่อนเพลีย หรือมึนงง ทำให้ผู้ที่ได้รับเชื้อไม่ทราบว่าตนเองเริ่มมีอาการตับอักเสบ เป็นสาเหตุให้ผู้ติดเชื้อปล่อยทิ้งไว้จนกลายเป็นตับอักเสบเรื้อรัง โรคจะดำเนินไปจนเข้าสู่ระยะตับแข็ง ซึ่งอาจกินเวลานานเป็น 10 – 30 ปี บางรายกว่าผู้ป่วยจะมาพบแพทย์ก็เป็นระยะสุดท้ายของโรคตับแข็งแล้ว ซ้ำร้ายในผู้ป่วยบางรายอาการตับแข็งยังส่งผลให้เกิดมะเร็งตับอีกด้วย

การติดต่อของไวรัสตับอักเสบซี

ไวรัสตับอักเสบซีสามารถติดต่อกันทางเลือดหรือเพศสัมพันธ์คล้ายกับไวรัสตับอักเสบบี แต่ไม่ติดต่อทางการไอจามรดกัน การรับประทานอาหารหรือดื่มน้ำด้วยกัน และการใช้ถ้วยชามร่วมกัน

ความรุนแรงของเชื้อไวรัสตับอักเสบซี

มักทำให้เกิดตับอักเสบเรื้อรัง และยังไม่มีวัคซีนสำหรับป้องกันเหมือนไวรัสตับอักเสบบี เนื่องจากผู้ป่วยไวรัสตับอักเสบซีแบบเฉียบพลันมักไม่ค่อยมีอาการ จึงมักไม่ได้รับการรักษา และกลายเป็นตับอักเสบเรื้อรังตามมา

ใครเสี่ยงที่จะเป็นไวรัสตับอักเสบซี

เนื่องจากไวรัสตับอักเสบซีติดต่อกันทางเลือด บุคคลที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงมีโอกาสได้รับเชื้อจึงมีได้หลากหลาย ดังนี้ ผู้ที่เคยมีประวัติในการรับเลือดหรือเกล็ดเลือดจากกรณีเจ็บป่วย ผ่าตัดหัวใจ หรือเสียเลือดมาก กลุ่มผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรัง ผู้ที่ติดสารเสพติดชนิดฉีดเข้าเส้น นอกจากนั้นผู้ที่สัก เจาะหู เจาะตามร่างกาย ด้วยอุปกรณ์ที่ไม่ได้ผ่านการฆ่าเชื้อ คนที่รสนิยมเปลี่ยนคู่นอนบ่อย ๆ ก็มีโอกาสได้รับเชื้อได้ง่ายเช่นกัน

ไม่อยากเป็นไวรัสตับอักเสบซี ต้องทำอย่างไร

เนื่องจากยังไม่มีวัคซีนป้องกันโรคไวรัสตับอักเสบซี หลักสำคัญในการป้องกันไวรัสตับอักเสบซีคือหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงเสี่ยงของการติดเชื้อ เช่นหลีกเลี่ยงการใช้ของมีคมหรือเข็มฉีดยาร่วมกับผู้อื่น ไม่ใช้มีดโกนหนวด ยาสีฟันร่วมกัน หลีกเลี่ยงการรับเลือดโดยไม่จำเป็น อย่างไรก็ตามเชื้อไวรัสตับอักเสบซีไม่ติดต่อทางการรับประทานอาหารร่วมกัน การใช้จามชาม ช้อนส้อมด้วยกัน การให้นมบุตร การกอด หรือการจูบ รวมถึงไม่ติดต่อผ่านการสัมผัส หรือไอ จาม รดกัน

การวินิจฉัยโรคไวรัสตับอักเสบซีทำได้อย่างไรบ้าง

ในเบื้องต้นแพทย์จะทำการตรวจเลือดเพื่อหาเชื้อ หากตรวจพบเชื้อแพทย์ก็จะส่งตรวจทำอัลตราซาวนด์ตับเพื่อดูว่ามีร่องรอยของตับแข็งหรือมะเร็งตับหรือไม่ ในกรณีที่ผลของอัลตราซาวนด์ยังไม่ชัดเจน แพทย์ก็จะส่งตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์หรือคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าเพิ่มเติม สำหรับในผู้ป่วยบางรายแพทย์อาจแนะนำให้ทำการตรวจชิ้นเนื้อตับโดยใช้เข็มขนาดเล็กเข้าไปตัดตัวอย่างชิ้นเนื้อตับมาตรวจดูทางพยาธิวิทยา ซึ่งเป็นการตรวจวิเคราะห์โรคที่แม่นยำอีกวิธีหนึ่งก่อนจะทำการรักษา

ค้นหาความเสี่ยงภาวะตับแข็งและพังผืดในตับ

ด้วยเครื่องไฟโบรสแกน (Fibroscan) โดยใช้หลักการสะท้อนของคลื่นเสียงแล้วนำมาแปลผล ประเมินระดับความรุนแรงของภาวะตับแข็ง พังผืดที่ตับ หรือระดับไขมันเกาะตับ เพื่อดูระดับความรุนแรงของโรคโดยไม่ต้องตรวจเจาะชิ้นเนื้อตับ ไฟโบรสแกนใช้เวลาตรวจเพียง 5-10 นาทีก็ทราบผล ปลอดภัย และไม่เจ็บ สามารถตรวจได้โดยไม่ต้องงดน้ำ งดอาหาร การตรวจไฟโบรสแกนยังใช้แทนการเจาะเนื้อตับในผู้ป่วยที่มีข้อห้ามหรือปฏิเสธการเจาะตับ

การรักษาผู้ป่วยไวรัสตับอักเสบซี

แพทย์จะพิจารณาตามภาวะของโรคและโรคร่วมต่างๆ ที่ผู้ป่วยเป็น โดยโรคนี้สามารถรักษาให้หายได้โดยการรับประทานยาร่วมกับยาฉีด สามารถกำจัดเชื้อให้หายขาดอย่างถาวร โดยประเมินจากจำนวนเชื้อไวรัสในเลือดหลังการรักษา ซึ่งจะช่วยให้อาการตับอักเสบดีขึ้นและหายไป ป้องกันไม่ให้เกิดตับแข็งและมะเร็งตับ

คะแนนบทความ

มีบัญชีผู้ใช้อยู่แล้ว?