จังหวะของหัวใจ เร็วไป ช้าไป ไม่น่าจะดี

จังหวะของหัวใจ เร็วไป ช้าไป ไม่น่าจะดี

โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ หรือ Cardiac Arrhythmia เป็นโรคที่มีมานานแล้ว โดยปกติหัวใจเราจะเต้นประมาณ 60-100 ครั้งต่อนาที แต่ถ้าออกกำลังกาย หรือ ตื่นเต้นตกใจ อาจเต้นเร็วขึ้นบ้างนิดหน่อย ถ้าเป็นโรคหัวใจเต้นผิดปกติจริงๆ แล้ว จะมีอาการใจสั่น มึนงง เวียนศีรษะ หน้ามืด เป็นลมหมดสติไปได้ ทั้งในกรณีที่หัวใจเต้นเร็วเเละเต้นช้า ซึ่งอาการหัวใจเต้นผิดจังหวะสามารถเกิดได้กับคนทุกเพศทุกวัย ถ้าปล่อยทิ้งไว้นานอาจมีความเสี่ยงต่อการเป็นอัมพฤกษ์อัมพาต ในกรณีหัวใจเต้นพลิ้ว (Atrial Fibrillation) หรือหัวใจวายซึ่งจะอันตรายและยากต่อการรักษาให้ผู้ป่วยมีสุขภาพ และคุณภาพชีวิตที่ดีได้เหมือนเดิม

อาการต่างๆ เหล่านี้เกิดได้จากทั้งปัจจัยภายในเเละภายนอกร่างกาย จะขอกล่าวถึงปัจจัยภายในร่างกายของเราก่อน อาทิ

  •  ความเสื่อมตามวัยหรือ degenerative change
  •  เกลือเเร่ในร่างกายขาดความสมดุล (electrolyte imbalance)
  •  รูปร่างหัวใจผิดปกติ (Structural Heart Disease) ซึ่งประกอบไปด้วยหัวใจพิการเเต่กำเนิด, กล้ามเนื้อหัวใจหนาผิดปกติ, กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด ฯลฯ
  •  โรคไหลตาย (Brugada Syndrome)
  •  ฮอร์โมนในไทรอยด์ต่ำหรือสูงจนเป็นพิษ

ปัจจัยภายในเหล่านี้ อาจมีสาเหตุมาจากกรรมพันธุ์ได้ในบางกรณี ส่วนสาเหตุภายนอกก็มีหลายปัจจัยด้วยกัน เช่น ความร้อนของอากาศ ความเครียด ทำงานหนักเกินไป พักผ่อนไม่เพียงพอ ดื่มเหล้า สูบบุหรี่ นอกจากนี้ โรคบางโรคที่ไม่ใช่สาเหตุหลักเเต่เป็นเพียงทางอ้อม ที่อาจนำไปสู่โรคของระบบไฟ้ฟ้าหัวใจคือ ความดันโลหิตสูง หรือไขมันในเลือดสูง โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะนี้สามารถตรวจหาความผิดปกติเบื้องต้นได้จากการตรวจกราฟหัวใจ หรือ ที่เรารูจักกันดีว่า EKG หรือ ECG (Electrocardiography) ซึ่งจะบอกได้คร่าวๆ ว่า หัวใจของเราเต้นปกติไหม “ตามปกติแล้ว หมอก็แนะนำทุกคนที่อายุ 30 ปีขึ้นไปให้ตรวจสุขภาพประจำปีอยู่แล้ว ซึ่ง ECG ส่วนใหญ่จะเป็นหนึ่งในรายการที่ต้องตรวจ แต่ถ้าหากหัวใจไม่ได้เต้นผิดจังหวะในช่วงที่ตรวจด้วยเครื่อง ECG ก็อาจตรวจไม่พบ ดังนั้นคนที่เริ่มมีอาการใจสั่น หน้ามืด เป็นลม มึนงง หรือวิงเวียน ควรเข้ามารับการตรวจเพื่อหาสาเหตุ เช่น เจาะเลือด นอกจากนี้ยังมีการตรวจที่ละเอียดกว่า ECG นั่นก็คือการติดเครื่องบันทึกคลื่นไฟฟ้าหัวใจ 24 ชั่วโมง (Holter Monitor) เพื่อดูความผิดปกติของกราฟหัวใจให้ชัดเจน”

การรักษาโรคหัวใจเต้นผิดปกตินี้ ต้องดูจากสาเหตุ และความรุนแรงของโรค

เช่น ในรายที่เกิดจากไทรอยด์ฮอร์โมนตํ่า หรือเป็นพิษ หรือกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด ถ้ารักษาอาการต้นเหตุนี้หายแล้ว อาจป้องกันไม่ให้เกิดโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะได้ ส่วนคนไข้ที่เป็นโรคนี้จากสาเหตุอื่นๆ ที่กล่าวมาแล้วนั้น ถ้าไม่มีอาการรุนแรงมากนักอาจจะรักษาด้วยการรับประทานยา ซึ่งต้องมีการติดตามรักษา และปรับยาไปเรื่อยๆ คือต้องมาโรงพยาบาลเป็นประจำ อาจจะทำให้หลายคนหมดกำลังใจ

แต่ปัจจุบันมีการรักษาที่สามารถทำให้ชีวิตปกติสุขได้หลายวิธี เช่น การจี้ด้วยไฟฟ้า สำหรับคนที่หัวใจเต้นผิดจังหวะ จะได้ไม่ต้องมาพบเเพทย์บ่อยๆ และรับประทานยาประจำ การจี้ด้วยไฟฟ้า หรือ Radiofrequency Ablation ซึ่งเหมาะสำหรับการรักษาโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะชนิดเร็ว “วิธีการรักษาด้วยการจี้ไฟฟ้านี้ จะต้องมีการตรวจที่เรียกว่า Electrophysiology Study ซึ่งเป็นการศึกษาระบบไฟฟ้าในหัวใจและต้องทำในห้อง Cath Lab เพื่อจะหาสาเหตุของการเต้นผิดปกติว่ามาจากส่วนไหนของหัวใจให้แน่ชัดก่อน แล้วจึงจะทำการจี้ไฟฟ้าที่บริเวณนั้น”

การรักษาโดยการจี้ไฟฟ้า

หรือ Radiofrequency Ablation นี้หลังจากตรวจพบว่าส่วนใดของหัวใจที่มีปัญหาแล้ว เราก็จะทำการสอดสายที่ใช้ในการจี้กระแสไฟฟ้าขึ้นไปโดยใส่ผ่านบริเวณขาหนีบข้างขวา คือพบความผิดปกติด้านใดก็สอดลวดที่เส้นเลือดแดงหรือดำข้างที่จะไปถึงส่วนที่ผิดปกติ จะเป็นการทำหัตถการแบบ Minimal Invasive Procedure ซึ่งหลังการรักษา ใช้เวลาพักฟื้นใน รพ.หนึ่งคืนเท่านั้น วิธีนี้คนไข้ก็ไม่ต้องกังวลกับการลดยาหรือเพิ่มยาอีกต่อไป

นั่นเป็นเรื่องของโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะชนิดเร็ว เเต่ในบางรายโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะชนิดเร็วเพราะดื่มแอลกอฮอล์ สูบบุหรี่ หรือทานยาบางชนิด แนะนำให้ลดๆ เพลาๆ หรือเลิกไปเลยก็จะช่วยได้มากเลยทีเดียว สำหรับโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะชนิดช้านั้นอาจมีสาเหตุจากความเสื่อมของระบบการนำกระเเสไฟฟ้าหัวใจ “การรักษาคนไข้ที่โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะชนิดช้านั้น ในปัจจุบันมีเครื่องกระตุ้นหัวใจรุ่นใหม่ๆ ที่มีขนาดเล็กลงมาก และสามารถฝังไว้ในตัวคนไข้ได้เลย จะทำให้ใช้ชีวิตประจำวันได้เหมือนเดิม”

การใส่เครื่องกระตุ้นหัวใจแบบถาวร

หรือ Permanent Pacemaker นั้น เป็นการผ่าตัดแบบ minimally invasive surgery (MIS) เหมือนกัน โดยผ่าตัดเปิดเเผลที่บริเวณหน้าอกด้านซ้ายแล้วสอดเส้นลวดเข้าไปทางเส้นเลือดดำที่เข้าไปถึงหัวใจ ตัวสายนี้จะนำมาต่อเข้ากับตัวเครื่อง Permanent Pacemaker ซึ่งมีความกว้างยาวประมาณ 0.5 – 3 เซนติเมตรนั้นจะถูกฝังไว้ที่หน้าอกด้านซ้าย ดังนั้นคนไข้ไม่ต้องกังวลอีกต่อไป เครื่อง Permanent Pacemaker จะทำงานโดยคอยกระตุ้นให้หัวใจทำงานเป็นปกติ เครื่องทำงานโดยใช้แบตเตอรี่ซึ่งมีอายุการทำงานตั้งแต่ 5-10 ปี และถ้าแบตเตอรี่หมด ก็มาเปลี่ยนโดยผ่าออกเปลี่ยนแบตเตอรี่อย่างง่ายๆ

“สมัยนี้การผ่าตัดแบบนี้ บางครั้งเพียงแค่ฉีดยาชาเฉพาะที่ก็ทำได้แล้ว ถ้าต้องฉีดยาสลบจะเป็นแบบอ่อนให้หลับพอสบายๆ และต่อให้เป็นผู้สูงอายุที่ต้องมาผ่าตัดจะเป็นการใส่เครื่อง หรือ เปลี่ยนแบตเตอรี่ก็ตาม เท่าที่ผ่านมา complication ถือว่าพบน้อยมาก ซึ่งคนไข้ส่วนใหญ่ที่มีปัญหาหัวใจเต้นผิดจังหวะจะเป็นผู้สูงอายุอยู่เเล้ว”

คุณหมอยํ้ามาว่าเหล้า บุหรี่ และยาบางชนิด ตลอดจนความเครียดถือเป็นสาเหตุบั่นทอนความปกติของหัวใจเพราะฉะนั้นเลี่ยง หรือ งดไปเลยจะเป็นการป้องกันการเสื่อมของหัวใจได้

 

คะแนนบทความ

มีบัญชีผู้ใช้อยู่แล้ว?