มะเร็งปากมดลูก ป้องกันง่ายนิดเดียว

มะเร็งปากมดลูก ป้องกันง่ายนิดเดียว

HIGHLIGHTS:

  • แต่ละปีจะมีผู้หญิงไทยเป็น มะเร็งปากมดลูก ประมาณ 6,000 – 8,000 คน และเสียชีวิตเฉลี่ยวันละ 8-10 คน* (ข้อมูลจากสถาบันมะเร็งแห่งชาติ)
  • มะเร็งปากมดลูก เกิดจากการติดเชื้อ HPV คนที่เคยมีเพศสัมพันธ์มาแล้ว มีโอกาสติดเชื้อ HPV ครั้งหนึ่งในชีวิต 80-90% แต่อาจจะเป็นเชื้อ HPV ที่ก่อมะเร็ง หรือ ไม่ก่อมะเร็งก็ได้
  • ผู้หญิงในวัยเจริญพันธุ์ควรตรวจเช็กมะเร็งปากมดลูก เพราะจากสถิติพบว่ามีโอกาสพบเชื้อ หรือเสี่ยงเป็นมะเร็งปากมดลูก ถึง 15% จากผู้ที่มาตรวจทั้งหมด

ผู้หญิงไทยเป็นมะเร็งปากมดลูกอันดับสองรองจากมะเร็งเต้านม แต่เป็นมะเร็งชนิดเดียว ที่ถ้ารู้ก่อนจะป้องกันและรักษาให้หายได้ด้วยการใส่ใจตัวเอง ตรวจภายในเป็นประจำ และปัจจุบันยังสามารถตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกลงลึกแบบ HPV DNA

มะเร็งปากมดลูก เกิดจากอะไร

มะเร็งปากมดลูก เกิดจากเชื้อ HPV สาเหตุเดียวเท่านั้น แต่ก็ต้องเป็น HPV ชนิดที่ก่อให้เกิดมะเร็ง ซึ่งมีทั้งหมด 15 สายพันธุ์ จากทั้งหมด 100 สายพันธุ์ โดยเฉพาะสายพันธุ์ที่ 16 และ 18

สถิติมะเร็งปากมดลูก ของผู้หญิงไทย

แต่ละปีจะมีผู้หญิงไทยเป็นมะเร็งปากมดลูกประมาณ 6,000-8,000 คน  และเสียชีวิตเฉลี่ยวันละ 8-10 คน* (ข้อมูลจากสถาบันมะเร็งแห่งชาติ)

ผู้หญิงทุกคนมีความเสี่ยงที่จะเป็นมะเร็งปากมดลูกตั้งแต่เรามีเพศสัมพันธ์ครั้งแรก และเกือบ 100% ของมะเร็งปากมดลูกเกิดจากการติดเชื้อ HPV เพราะเป็นเชื้อที่ติดง่าย นอกจากเพศสัมพันธ์แล้ว ยังสามารถติดต่อทางการสัมผัสได้ด้วย (แต่จะเป็นลักษณะเหมือนพาหะที่นำพาเชื้อไปสู่ช่องคลอดได้) แต่พอติดเชื้อแล้วกลับไม่มีอาการ ไม่เจ็บ ไม่ปวด ไม่มีบาดแผลอะไรเกิดขึ้น ทำให้กว่าจะรู้ตัวก็ใช้เวลาหลายปี

2 ปัจจัย ที่มีผลต่อการพัฒนาจากเชื้อไวรัส HPV เป็นมะเร็งปากมดลูก

  • เชื้อ HPV ต้องเป็นเชื้อไวรัส HPV กลุ่มความเสี่ยงสูงเท่านั้น ซึ่งมีอยู่ทั้งหมด 15 สายพันธุ์ และใน 15 สายพันธุ์นี้มีทั้งสายพันธ์ุที่เสี่ยงมาก เสี่ยงน้อย เพราะฉะนั้นคนที่ติดเชื้อ HPV จะมีโอกาสหายมากน้อยแค่ไหน ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของเชื้อ
  • ภูมิคุ้มกันเราเอง เมื่อไหร่ที่ภูมิคุ้มกันเราดีก็จะป้องกันการเกิดโรคได้ เช่นคนที่เป็นหวัด ส่วนหนึ่งก็เกิดจากพักผ่อนน้อย ร่างกายย่ำแย่ เครียด ทำให้ภูมิคุ้มกันลดลง จึงเป็นหวัด หรือคนที่เป็นเริม พอร่างกายแข็งแรง พักผ่อนเพียงพอ ดื่มน้ำเยอะๆ ก็สามารถหายเองได้ แต่โรคพวกนี้ยังมีอาการที่บอกให้รู้ว่าเราเริ่มป่วย หรือเราหายป่วยแล้ว ส่วนคนที่ติดเชื้อ HPV จะไม่มีอาการใดๆ แสดงออกมา ซึ่งปกติ 60-70% ของคนที่เป็นจะหายเองได้ แต่ต้องใช้เวลานาน

5 ปัจจัยหลักๆ ที่ทำให้ห่างจากเชื้อ HPV ต้นเหตุของมะเร็งปากมดลูก

ผู้หญิงแทบทุกคนเคยติดเชื้อไวรัส HPV

รู้หรือไม่? ผู้ชายก็มีโอกาสติดเชื้อไวรัส HPV ได้

แต่มีโอกาสตรวจเจอเชื้อน้อยมาก ผู้ชายจะเป็นแค่พาหะเท่านั้น แพทย์จึงไม่แนะนำให้ตรวจไวรัส HPV ในผู้ชาย

3 วิธีป้องกันมะเร็งปากมดลูก

1. การฉีดวัคซีน HPV

เป็นการป้องกันมะเร็งปากมดลูกก่อนติดเชื้อ ที่มีในเมืองไทยมาแล้ว กว่า 20 ปี เน้นป้องกันอยู่ 2 สายพันธุ์หลักๆ 70% ที่เป็นต้นเหตุของการก่อให้เกิดมะเร็งปากมดลูก คือ สายพันธุ์ที่ 16 และ 18

เพราะฉะนั้นถ้าฉีดวัคซีนป้องกันตั้งแต่ยังไม่มีการสัมผัสเชื้อสองตัวนี้ได้ก็จะดีที่สุด และสามารถฉีดได้ตั้งแต่เด็ก อายุ 9-10 ขวบ และมีการทำวิจัยพบว่า สำหรับเด็ก ไม่จำเป็นต้องฉีด 3 เข็มเหมือนผู้ใหญ่ ถ้าเด็กอายุน้อยกว่า 15 ปี สามารถฉีดวัคซีน แค่ 2 เข็มก็มีภูมิคุ้มกันต่อ 2 สายพันธุ์หลัก ป้องกันได้ 100%


2. การป้องกันด้วยการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก คือการตรวจแปปสเมียร์ (Pap Smear หรือ Pap Test)

เป็นการหาความผิดปกติก่อนที่จะเป็นโรคมะเร็งปากมดลูก เพื่อหาวิธีดูแลรักษาให้หาย ปัจจุบันมีวิธีตรวจคัดกรองเพื่อหาความผิดปกติของปากมดลูกด้วยกัน 2 วิธี ดังนี้

  • 1) การป้ายเก็บตัวอย่างเซลล์ไปตรวจหาความผิดปกติ (แปปสเมียร์ : Pap Smear)

การตรวจหาเชื้อไวรัส HPV ที่เรียกว่า HPV Test หรือ HPV DNA เป็นการตรวจหาเชื้อไวรัส HPV โดยการตรวจหา DNA ของเชื้อไวรัส ถ้าพบว่าเป็น Positive แสดงว่าพบกลุ่มเชื้อที่ก่อมะเร็ง (เสี่ยงสูง) และ Negative หมายถึงไม่พบเชื้อที่ก่อมะเร็ง ซึ่งล่าสุดตัว HPV Test หรือ HPV DNA นี้ สามารถระบุกลุ่มของเชื้อและสายพันธุ์ได้ทันที

  • 2) การตรวจหาเชื้อไวรัส HPV จากปัสสาวะ

เป็นการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกทางเลือกใหม่ที่ถูกพัฒนาขึ้นโดยใช้เซลล์ที่ได้จากน้ำปัสสาวะเพื่อตรวจหา HPV DNA ซึ่งช่วยแก้ปัญหาสตรีที่กลัวและอายการขึ้นขาหยั่ง และช่วยลดจำนวนผู้ป่วยมะเร็งปากมดลูกลงได้


3. การตรวจภายใน

สามารถทำได้โดยไม่ต้องมีการเตรียมตัวใดๆ

  • การตรวจภายใน ควรหลีกเลี่ยงช่วงที่มีประจำเดือน
  • ไม่ควรมีเพศสัมพันธ์ หรืออยู่ในระหว่างใช้ยาเพื่อรักษาภาวะช่องคลอดแห้งอย่างน้อย 1-2  วัน ก่อนการตรวจ

และควรเข้ารับการตรวจภายในเป็นประจำทุกปี ในกรณีที่มีความผิดปกติ หรือมีความเสี่ยงควรพบแพทย์ตามนัดเพื่อตรวจเพิ่มเติม

เคยตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกแล้ว ทำไมยังเสี่ยง ?

เพราะกระบวนการเกิดโรคที่ช้า ใช้เวลาในการพัฒนาเป็นมะเร็งนาน มะเร็งปากมดลูกเป็นโรคเดียวที่สามารถรักษาให้หายได้ถ้ารู้ตัวก่อน เพราะฉะนั้นคนที่จะเป็นมะเร็งปากมดลูกได้ คือคนที่ไม่มารับการตรวจเป็นเวลานาน หรือเคยมาตรวจแล้วไม่มาฟังผล หรือทราบผลตรวจแล้วว่าผิดปกติ แต่ไม่มีอาการ จึงไม่รับรักษาหรือติดตามต่อ บางคนตรวจแค่ครั้งเดียวได้ผลปกติ ก็คิดว่าชีวิตนี้ไม่ต้องตรวจแล้ว

อะไรคือการตรวจ HPV DNA ? ต่างจากการตรวจมะเร็งปากมดลูกด้วยวิธี แปปสเมียร์ (Pap Smear) อย่างไร

เวลาตรวจภายในคุณหมอจะเอาอุปกรณ์ใส่เข้าไปในช่องคลอด แล้วดูช่องคลอดพร้อมปากมดลูก โดยเฉพาะปากมดลูกจะเป็นจุดที่ไวรัสชอบ เพราะมีกระบวนการของการแบ่งตัวอยู่เสมอ

เชื้อไวรัสก็จะเข้าไปทำให้เกิดการแบ่งตัวที่ผิดปกติขึ้นมา แต่ก็จะเล็กมาก มองด้วยตาเปล่าไม่เห็น ไม่มีอาการอะไรที่แสดงถึงความผิดปกติ ไม่มีเลือดออก ไม่ปวดท้อง ต้องทำการตรวจที่เรียกว่าแปปสเมียร์ (Pap Smear หรือ Pap Test) เพิ่มเติม แต่วิธีนี้มีโอกาสตรวจไม่พบเชื้อหรือรอยโรคก่อนมะเร็งถึง 15-20%

แต่ความก้าวหน้าทางการแพทย์ทำให้สามารถตรวจลึกลงไปอีกขั้น ด้วยการตรวจ HPV DNA ถ้าเจอเชื้อก็สามารถระบุได้เลยว่าเป็นสายพันธุ์ที่ทำให้เป็นมะเร็งได้หรือไม่ คนที่ติดเชื้อ HPV จะไม่แสดงอาการผิดปกติใดๆ ทำให้ไม่มีทางรู้เลยว่าติดเชื้อ ถ้าไม่เข้ารับการตรวจ ผลที่ตามมาก็คือ มีโอกาสเป็นมะเร็งปากมดลูกโดยไม่รู้ตัว

คนที่ตรวจแล้วไม่พบเชื้อ HPV กลุ่มก่อมะเร็ง สามารถเว้นการตรวจได้นานถึง 3 ปี

ปัจจุบันหลายประเทศใช้ HPV DNA เป็นมาตรฐานในการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก คนที่ตรวจแล้วไม่พบเชื้อกลุ่มก่อมะเร็ง สามารถเว้นการตรวจได้นานถึง 3 ปี เพราะเมื่อถึงเวลามาตรวจซ้ำแล้วเจอความผิดปกติก็อาจจะไม่รุนแรงถึงขั้นเป็นมะเร็ง สามารถรักษาได้ทัน ปกติแพทย์จะแนะนำให้ตรวจแปปสเมียร์ทุกปี โดยไม่ต้องทำ HPV Test

คะแนนบทความ

มีบัญชีผู้ใช้อยู่แล้ว?