เอ็นไขว้หน้าขาด

เอ็นไขว้หน้าขาด
  • เอ็นไขว้หน้า ทำหน้าที่ให้ความมั่นคงกับข้อเข่า ป้องกันการพลิกหรือบิดของเข่า หากเอ็นไขว้หน้าได้รับบาดเจ็บหรือฉีกขาด จะทำให้เข่าเสียความมั่นคง ข้อเข่าทรุด ทรงตัวไม่อยู่ขณะเดินเปลี่ยนทิศทางเร็วๆ
  • เมื่อเอ็นไขว้หน้าฉีกขาด ควรได้รับการักษาอย่างถูกต้องเหมาะสม หากปล่อยทิ้งไว้ในกรณีผู้ที่ได้รับบาดเจ็บมีความจำเป็นที่จะต้องใช้เข่าในการทำงานหรือประกอบอาชีพ อาจทำให้เกิดภาวะข้อเข่าไม่มั่นคง เกิดการบาดเจ็บซ้ำซ้อน หรือเป็นอันตรายต่อชีวิตได้
  • การฟื้นฟูสมรรถภาพของข้อเข่าและกล้ามเนื้ออย่างถูกต้องเหมาะสมหลังการ ผ่าตัดเอ็นไขว้หน้า มีความสำคัญในการช่วยป้องกันการกลับมาบาดเจ็บซ้ำ และเสริมสมรรถนะการกลับคืนมาทำงานของข้อเข่าให้ใกล้เคียงปกติได้มากที่สุด

เอ็นไขว้หน้า คืออะไร

เอ็นไขว้หน้า (anterior cruciate ligament ; ACL ) คือส่วนของเส้นเอ็นซึ่งอยู่ในข้อเข่า หากตัดผ่ากลางข้อเข่าจะเห็นเอ็นไขว้หน้าวางตัวคล้ายรูปกากบาทเมื่อเทียบกับเอ็นไขว้หลัง

เอ็นไขว้หน้า ทำหน้าที่ให้ความมั่นคงกับข้อเข่า ป้องกันการพลิกหรือบิดของเข่า หากเอ็นไขว้หน้าได้รับบาดเจ็บหรือฉีกขาด จะทำให้เข่าเสียความมั่นคง โดยมีอาการ เช่น รู้สึกเข่าหลวมไม่มั่นคง ข้อเข่าทรุด ทรงตัวไม่อยู่ขณะเดินเปลี่ยนทิศทางเร็วๆ หรือบนพื้นผิวขรุขระ  รวมถึงอาการปวดเข่าจากการอักเสบเนื่องจากข้อเข่าไม่มั่นคง หากไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกวิธี อาจส่งผลให้เกิดการบาดเจ็บเพิ่มเติมหรือต่อเนื่อง เช่น หมอนรองเข่าฉีกขาด หรือกระดูกอ่อนผิวข้อแตกได้   ซึ่งภาวะบาดเจ็บซ้ำซ้อนเหล่านี้หากเป็นซ้ำ ๆ จะทำให้เกิดภาวะข้อเข่าเสื่อมเร็วกว่าปกติ

สาเหตุและปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้ เอ็นไขว้หน้าขาด

สาเหตุและปัจจัยที่ทำให้เอ็นไขว้หน้าขาด สามารถแบ่งเป็น 2 กลุ่มคือ

1. สาเหตุจากการปะทะ หรือการกระแทกอย่างรุนแรง (contact injury)

ในกลุ่มนี้มักพบการฉีกขาดร่วมกับการบาดเจ็บของเอ็นรอบข้อเข่าได้บ่อย ส่วนมากมักเกิดจากอุบัติเหตุจากการเล่นกีฬา โดยเฉพาะกีฬาที่มีการปะทะ เช่น ฟุตบอล บาสเกตบอล รักบี้ หรือกีฬาที่ต้องมีการเคลื่อนไหวในลักษณะหมุนตัว เช่น เทนนิส แบดมินตัน หรือกีฬาที่ต้องใช้การกระโดดตัวขึ้นลงอย่างยิมนาสติก หรืออาจเกิดจากกิจกรรมอื่น ๆ เช่น ตกจากที่สูง ตกบันได หรือ อุบัติเหตุการจราจร

2. กลุ่มที่ไม่ได้เกิดจากการปะทะ (non-contact injury)

ในกลุ่มนี้มักสัมพันธ์กับภาวะล้าอ่อนแรง หรือ เกิดการไม่สมดุลระหว่างกล้ามเนื้อเข่าด้านหน้าและด้านหลัง โดยที่กล้ามเนื้อหน้าขา (Quadriceps muscle ) ในจังหวะที่ออกแรงที่มากกว่ากล้ามเนื้อแฮมสตริง (Hamstring) เช่น การเกร็งตัวกล้ามเนื้อรอบเข่าในจังหวะ การลงพื้นเวลากระโดดร่วมกับการบิดเข่า ส่งผลให้เข่ามีการแอ่นและบิดเกิน ทำให้เอ็นไขว้หน้าขาด     นอกจากนี้ยังมีปัจจัยทางด้านโครงสร้างของแต่ละบุคคล เช่น ในผู้หญิงมักพบว่าช่องกระดูกทางด้านหน้าข้อเข่ามีลักษณะค่อนข้างแคบเมื่อเทียบกับผู้ชาย หรือ ภาวะที่ข้อเข่าเป็นลักษณะสอบเข้า ที่เรียกว่า เข่าฉิ่ง (valgus knee)  ก็เป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดภาวะการบิดหมุนของข้อเข่าในลักษณะการบิดหมุนเข้าด้านใน ส่งผลให้เส้นเอ็นไขว้หน้าขาดได้เช่นกัน

อาการของเอ็นไขว้หน้าขาด

  • ผู้ที่ได้รับการบาดเจ็บของข้อเข่าหรือเอ็นไขว้หน้าขาด มักมีอาการเจ็บในทันที (น้อยกว่า 15-20 นาที) และมักจะสามารถทบทวนว่าเหตุการณ์ใดที่ทำให้เอ็นไขว้หน้าขาดได้ เช่น ในระหว่างเล่นฟุตบอลหรือบาสเกตบอล
  • หลังจากเกิดอุบัติเหตุหรืออาการบาดเจ็บ พบว่าเข่ามักจะบวมขึ้นทันที ภายในเวลาไม่เกิน 2 ชั่วโมง แสดงว่ามีเลือดออกในข้อเข่า
  • ไม่สามารถเดินได้ปกติ ส่วนใหญ่จะมีอาการปวดตึงในข้อเข่า เดินกะเผลกหลังการบาดเจ็บ เป็นเวลานานกว่า 2-3 สัปดาห์ จึงจะกลับมาเดินได้ดีขึ้น
  • อาจพบภาวะข้อเข่าหลวม เข่าทรุด หลังจากอาการปวดลดลงแล้ว
  • ไม่สามารถเดินซิกแซกหรือเปลี่ยนทิศทางทันทีทันใดได้ เนื่องจากผู้ที่ได้รับบาดเจ็บมักกังวลว่าเข่าจะมีอาการทรุดหรืออ่อนแรงฉับพลันอีก

สัญญาณที่ควรพบแพทย์

ปกติอาการเจ็บเล็กน้อยๆ เช่น ปวดเคล็ด กล้ามเนื้อฟกช้ำ มักหายไปภายในเวลาประมาณ 1-2 สัปดาห์  แต่หากได้รับบาดเจ็บข้อเข่าแล้วมีอาการเจ็บต่อเนื่องเรื้อรังหรือนานมากกว่า 2-3 สัปดาห์ขึ้นไป  โดยเฉพาะหากมีอาการบวมร่วมด้วย ควรรีบปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญที่ดูแลการบาดเจ็บทางด้านการกีฬา (Sports Orthopedic surgeon) หรือ ศัลยแพทย์กระดูกและข้อ (แพทย์ออร์โธปิดิกส์)  เพื่อตรวจหาสาเหตุและรับการรักษาที่ถูกต้อง

การวินิจฉัยเอ็นไขว้หน้าขาด

  • ควรได้รับการตรวจวินิจฉัยโดยแพทย์ที่มีประสบการณ์ในการดูแลการบาดเจ็บของข้อเข่า โดยแพทย์จะทำการซักประวัติและตรวจร่างกาย เพื่อวินิจฉัยว่าเป็นอาการของเอ็นไขว้หน้าขาดหรือไม่
  • ทำการตรวจอวัยวะอื่นๆ ที่อาจบาดเจ็บร่วมด้วย โดยเฉพาะหมอนรองข้อเข่า กระดูกอ่อนผิวข้อ เอ็นประกับด้านนอกและด้านในข้อเข่า รวมถึงตรวจดูว่าอาการบาดเจ็บนี้เป็นการบาดเจ็บที่เกิดขึ้นใหม่หรือเป็นการบาดเจ็บซ้ำซ้อน การตรวจดูข้อข้างเคียง เช่น ข้อเท้า หรือสะโพก มีความจำเป็นในการช่วยประเมินอาการและวางแผนการรักษาด้วยเช่นกัน
  • การเอกซเรย์ เป็นการตรวจที่มีความจำเป็น เพื่อดูการบาดเจ็บของกระดูก เช่น ภาวะการแตกหักในกระดูกข้อเข่า ภาพรวมของแนวข้อเข่า ความเอียงชันของกระดูก
  • การตรวจ MRI เป็นการตรวจที่มีความละเอียดและไม่ทำให้ผู้ป่วยรู้สึกเจ็บหรือมีผลข้างคียงใด ๆ แต่แพทย์จะใช้การตรวจด้วยวิธีนี้ในกรณีที่มีความจำเป็นเท่านั้น เพื่อดูความรุนแรงของการบาดเจ็บ ตำแหน่งของเอ็นไขว์หน้าที่ขาด และช่วยในการวินิจฉัยถึงอวัยวะอื่นๆ ที่แพทย์สงสัยว่าอาจมีอาการบาดเจ็บร่วมด้วย เช่น หมอนรองข้อเข่า ผิวข้อ เอ็นประกับข้าง และเอ็นไขว้หลัง

การรักษา เอ็นไขว้หน้าขาด

การรักษาเอ็นไขว้หน้าฉีกขาด ต้องใช้หลายปัจจัยในการประเมินการรักษา ได้แก่ อายุ อาชีพ ไลฟ์สไตล์ และที่สำคัญคือความคาดหวังในการใช้ข้อเข่าของผู้ที่ได้รับบาดเจ็บ มาพิจารณาว่าจะเลือกการรักษาแบบใด

โดยการรักษาสามารถแบ่งเป็น 2 วิธี คือ

1.การรักษาแบบไม่ต้องผ่าตัด

เหมาะสำหรับผู้ที่ไม่มีการบาดเจ็บร่วมในข้อเช่า (single isolate ACL injury)  รวมถึงสามารถปรับเปลี่ยนกิจกรรม หน้าที่การงาน เพื่อหลีกเหลี่ยงภาวะบิดข้อเข่าเร็วได้ เช่น ผู้สูงอายุ หรือ ผู้ที่ไม่ค่อยมีกิจกรรมด้านการออกกำลังกาย

ส่วนใหญ่จะเป็นการรักษาโดย การฝึกฝนความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ การทรงตัว การประสานงานของกล้ามเนื้อมัดต่างๆ เพื่อทำหน้าที่ทดแทนเอ็นไขว้หน้าที่เสียไป

2.การรักษาด้วยการ ผ่าตัดเอ็นไขว้หน้า

ใช้รักษาในผู้ที่มีการบาดเจ็บร่วมในข้อเข่า (associate lesion with ACL injury) เช่น เส้นเอ็นไขว้หน้าขาดร่วมกับผิวข้อแตกหัก กระดูกหัก หมอนรองข้อเข่าฉีกขาด หรือเส้นเอ็นขาดหลายเส้น

ผู้ที่มีกิจกรรม การงาน ที่ต้องมีการบิดข้อเข่าเร็วได้ เช่น วัยหนุ่มสาว ผู้ที่ออกกำลังกายหรือเล่นกีฬาเป็นประจำ  เช่น ฟุตบอล บาสเกตบอล แบดมินตัน วอลเลย์บอล เทนนิส รวมไปถึงกลุ่มนักกีฬาอาชีพ ทหาร ตำรวจ หรือผู้ที่มีอาชีพต้องปีนขึ้นที่สูง

นอกจากนี้ยังเหมาะสำหรับผู้ที่ไม่ประสบความสำเร็จจากการรักษาแบบไม่ผ่าตัด

โดยปัจจุบันนิยมรักษาภาวะเอ็นไขว้หน้าขาดด้วยการผ่าตัดผ่านกล้อง เพื่อหลีกเลี่ยงการบาดเจ็บต่อกล้ามเนื้อและเนื้อเยื่อข้างเคียง ส่งผลให้การฟื้นตัวเร็ว นอกจากนี้การผ่าตัดแบบส่องกล้องยังช่วยให้การตรวจประเมินและการซ่อมแซมรักษาหมอนรองข้อเข่าได้ดีกว่าการผ่าตัดแบบเปิด

การผ่าตัดรักษาเอ็นไขว้หน้าขาด ในปัจจุบันมีหลายวิธี โดยแพทย์จะเชื่อมโยงความรู้เกี่ยวกับโครงสร้างของร่างกายเพื่อเลือกพิจารณาแนวทางที่เหมาะสมที่สุดในการผ่าตัด เช่น การผ่าตัดสร้างเอ็นไขว้หน้าข้อเข่าทดแทน (ACL reconstruction) การผ่าตัดสร้างเอ็นไขว้หน้าทดแทนแบบ 1 มัดหรือ 2 มัด (Single or Double bundle anatomic reconstruction) การผ่าตัดเย็บซ่อมเส้นเอ็นไขว้หน้า (ACL repair)

วิธีการผ่าตัดรักษาเอ็นไขว้หน้าขาด มี 4 วิธี ดังนี้ (คลิกอ่านต่อ...)

1. การผ่าตัดสร้างเอ็นไขว้หน้าข้อเข่าทดแทน (ACL reconstruction)

การผ่าตัด ACL reconstruction ในอดีตจะยึดหลักที่ว่า ความยาวและแรงตึงของเส้นเอ็นไขว้หน้าจะคงที่และไม่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดการเคลื่อนไหวของข้อเข่า โดยตำแหน่งที่เชื่อว่าเส้นเอ็นไขว้หน้า มี Isometry มากที่สุด คืออยู่สูงและชิดกับขอบหลังใน Intercondylar notch แพทย์จะเรียกเทคนิคการผ่าตัดนี้ว่า Over the top

(ภาพเอกซเรย์หลังการผ่าตัด ACL reconstruction ของเข่าขวา โดยยึดแนวคิด Isometry สังเกตตำแหน่งของ Femoral tunnel ที่อยู่สูงแบบ Over the top position*)

แต่ในภายหลังพบว่าการผ่าตัดด้วยเทคนิคนี้มีประสิทธิภาพในการรับแรงในการบิดหมุนของเข่าที่ต่ำ ทำให้มีการใช้เทคนิคนี้น้อยลง

การผ่าตัดสร้างเอ็นไขว้หน้าข้อเข่าทดแทน (ACL reconstruction) ในปัจจุบันที่ทำกันอย่างแพร่หลายเป็นแบบ anatomic reconstruction คือการพยายามหาตำแหน่งที่เหมาะสมที่สุดใน anatomic femoral footprint เพื่อให้ได้เส้นเอ็นไขว้หน้า ที่ใกล้เคียงธรรมชาติที่สุด ซึ่งตำแหน่งนี้ หากอ้างอิงตามหลักกายวิภาค จะเป็นส่วนที่อยู่ชิดและหลังต่อจาก Lateral intercondylar ridge และมักจะอยู่หน้าต่อจาก Lateral bifurcate ridge ซึ่งก็คือตำแหน่ง femoral footprint posterolateral bundle ACL

(ภาพแสดงขอบเขตของ ACL บน Lateral femoral condyle โดยมีสันกระดูกแนวเส้นประแสดง Lateral intercondylar ridge และแนวจุดแสดง Lateral bifurcate ridge)

*หนังสือ ออร์โธปิดิกส์ปัญญาวัตร 2563; ชลวิช จันทร์ลลิตพิงควรรศ คงมาลัย. Anatomic anterior cruciate ligament reconstruction. ไตร พรหมแสง หัวหน้าบรรณาธิการ.


2) การผ่าตัดสร้างเอ็นไขว้หน้าทดแทนแบบ 2 มัด (Double bundle ACL reconstruction)

เส้นเอ็นไขว้หน้า แบ่งได้ออกเป็น 2 มัดใหญ่ๆ ตามจุดยึดเกาะด้านกระดูกแข้ง (Tibia) เรียกว่า Anteromedial และ Posterolateral bundle

  • Anteromedial bundle มีขนาดใหญ่กว่า มีหน้าที่รับแรงในแนวหน้าหลังเป็นหลัก และจะตึงตลอดทุกมุมองศาในการขยับเข่า โดยจะตึงที่สุดขณะอยู่ในท่างอเข่า 45-60 องศา
  • ส่วน Posterolateral bundle จะคอยรับแรงในแนวการบิดหมุนเป็นหลัก และจะตึงที่สุดในท่าเหยียดเข่าตรง การทำงานของเอ็นไขว้หน้าทั้ง 2 มัด จะเสริมกัน คือจะมีบางส่วนของเส้นเอ็นทั้ง 2 ที่ตึงในมุมงอเข่าต่างๆ กัน

จากข้อมูลที่กล่าวมาข้างต้น อาจดูเป็นการสนับสนุนการผ่าตัดสร้างเอ็นไขว้หน้าทดแทนแบบ 2 มัด แต่ด้วยเทคนิคการผ่าตัดและเครื่องมือที่ใช้ในการผ่าตัดในปัจจุบันนี้ยังไม่สามารถสร้างเอ็นไขว้หน้าทดแทนตามจุดเกาะแบบเติมเต็มจุดเกาะทั้งหมดได้


3) การผ่าตัดสร้างเอ็นไขว้หน้าทดแทนแบบ 1 มัด (Anatomic Single bundle ACL reconstruction)

หลักการนี้ในปัจจุบันเป็นที่ยอมรับในวงกว้างว่าได้ผลการรักษาที่ดี ในการผ่าตัดให้กับประชากรโดยทั่วไป จนถึงแม้จะใช้ในนักกีฬาอาชีพก็สามารถให้ผลการรักษาที่ดีได้ นอกจากนั้นก็อาจมีปัจจัยอื่นเข้ามาเกี่ยวข้องเช่น ขนาดของเอ็นที่จะใช้ (graft size) ชนิดของเอ็นที่จะใช้ ( graft type: bone patellar or Hamstring) การวางตำแหน่งของเส้นเอ็น ( graft orientation) ซึ่งต้องทำความเข้าใจและได้รับการชี้แจ้งรายละเอียดจากแพทย์ผู้ทำการผ่าตัด

แม้การศึกษาในห้องปฏิบัติการจะพบว่า การผ่าตัดสร้างเอ็นไขว้หน้าทดแทนแบบ 2 มัด จะดีว่าการผ่าตัด สร้างเอ็นไขว้หน้าทดแทนแบบ 1 มัด ในแง่ของความมั่นคงในแนวบิดหมุน แต่ในความเป็นจริง กลับพบว่า ผลการรักษาในแง่ของความแข็งแรง การใช้งาน หรือการเกิดการบาดเจ็บซ้ำ ไม่มีความแตกต่างกัน และการผ่าตัดสร้างเอ็นไขว้หน้าทดแทนแบบ 1 มัด ยังช่วยลดเวลาในการผ่าตัด อุปกรณ์ที่ใช้ โอกาสเสี่ยงหรือภาวะแทรกซ้อนจากการผ่าตัด รวมถึงค่าใช้จ่ายอีกด้วย


4) การผ่าตัดเย็บซ่อมเส้นเอ็นไขว้หน้า (ACL repair)

ในอดีตการผ่าตัดเย็บซ่อมเส้นเอ็นไขว้หน้า (ACL repair) เป็นการรักษาหลักในการผ่าตัดรักษาเอ็นไขว้หน้า จนถึงช่วงปี 1980 พบว่าผลการซ่อมเอ็นไขว้หน้าประสบความสำเร็จเพียงแค่หนึ่งในสามเท่านั้น ต่อมาจึงพบว่า การผ่าตัดแบบเอ็นไขว้หน้าทดแทน (ACL reconstruction) กลับได้ผลการรักษาที่ดีกว่ามาก ทำให้การผ่าตัดแบบ ACL reconstruction กลายมาเป็นที่นิยมจนทุกวันนี้

แต่อย่างไรก็ตามในช่วงหลังพบว่า การเก็บรักษาเส้นเอ็นเดิมของตัวผู้ป่วยเองไว้โดยการผ่าตัดเย็บซ่อมเส้นเอ็นไขว้หน้า (ACL repair) มีข้อดีคือ มีเส้นประสาทการรับรู้ตำแหน่งที่ดี (proprioception) การฟื้นฟูตนเองที่ง่ายกว่าในแง่ของการลดความเจ็บปวดและการเคลื่อนไหว รวมถึงไม่ต้องใช้เส้นเอ็นเส้นอื่นจากร่างกายผู้ป่วย ช่วยแก้ปัญหาการเสียหน้าที่ของเส้นเอ็นที่นำมาใช้แทน ข้อดีอีกอย่างหนึ่งคือ หากการผ่าตัดเย็บซ่อมเส้นเอ็นไขว้หน้า (ACL repair) ไม่ประสบผลสำเร็จหรือ เกิดอุบัติเหตุเกิดการฉีกขาดใหม่ แพทย์สามารถให้การรักษาโดยการทำ revision ACL reconstruction ได้เนื่องจากข้อเข่ายังไม่ช้ำและผลการรักษาจะเทียบได้กับการผ่าตัดสร้างเอ็นไขว้หน้าข้อเข่าทดแทน (ACL reconstruction) ครั้งแรก

ประเด็นที่สำคัญในการผ่าตัดเย็บซ่อมเส้นเอ็นไขว้หน้า คือ การเลือกลักษณะของการฉีกขาดของเอ็นไขว์หน้าที่จะทำการเย็บซ่อมให้เหมาะสม ซึ่งศัลยแพทย์ที่ทำการผ่าตัดจะเป็นผู้อธิบายแก่ผู้ป่วย


วิธีการผ่าตัดรักษาเอ็นไขว้หน้าขาด ในประสบการณ์ของแพทย์ผู้เขียน (คลิกอ่านต่อ...)

การเลือกวิธีการผ่าตัดรักษาเอ็นไขว้หน้าขาด เพื่อให้ได้ผลการรักษาที่ดีที่สุดแก่ผู้บาดเจ็บ แพทย์ผู้เขียนจะพิจารณาจากหลากหลายปัจจัยที่กล่าวมาข้างต้น เพราะเชื่อในหลักการที่ว่า ไม่มีสูตรใดเหมาะกับทุกคน ไม่ว่าจะเป็นการเลือกใช้ การผ่าตัดสร้างเอ็นไขว้หน้าข้อเข่าทดแทน (ACL reconstruction) หรือ การผ่าตัดเย็บซ่อมเส้นเอ็นไขว้หน้า (ACL repair)

โดยการสร้างเอ็นไขว้หน้า จะพิจารณาตามเทคนิคการผ่าตัดที่ได้กล่าวในข้างต้น ชนิดของ graft ที่จะใช้ อาชีพ การบาดเจ็บร่วม เป็นต้น

โดยส่วนใหญ่แพทย์ผู้เขียนมักทำการสร้างเอ็นไขว้หน้า แต่จะพยายามเก็บบางส่วนที่เหลือของเอ็นไขว้หน้าเดิมไว้และสร้างเอ็นให้ครอบคลุมตำแหน่งที่ต้องการให้มากที่สุด (ACL reconstruction by augmentation preserve remnant) หรือหากเอ็นไขว้หน้ามีการฉีกขาดออกจากที่เกาะทางด้านกระดูกต้นขา (femur) โดยรอยฉีกไม่แยกตัวจากเนื้อเส้นเอ็นไขว้หน้า แพทย์อาจจะพิจารณารักษาด้วยการเย็บซ่อมเอ็นไขว้หน้า ซึ่งจะช่วยลดอาการปวดและฟื้นฟูได้เร็วขึ้น

(ภาพส่องกล้องเข่าซ้าย โดยมีแนวเส้นสีดำแสดงและเส้นสีเขียวแสดงขอบเขตของเอ็นไขว้หน้าที่สร้างเสริมเข้าไปในเส้นเอ็นเดิมที่เหลืออยู่)

ภาพแสดงเส้นเอ็นไขว้หน้า ในลักษณะต่าง ๆ

Normal ACL right knee

Normal ACL right left knee

แสดงภาพเอ็นไขว้หน้าที่มีการฉีกขาดในรูปแบบต่างๆ

สร้างเอ็นไขว้หน้าทดแทนแบบ 1 มัด (Anatomic Single bundle ACL reconstruction)

การสร้างเอ็นให้ครอบคลุมตำแหน่งเอ็นไขว้หน้าเดิมให้มากสุดและเก็บเอ็นไขว้หน้าเดิมไว้ให้มากที่สุด (ACL reconstruction by augmentation preserve remnant) ในเคสต่างๆ กัน

การผ่าตัดเย็บซ่อมเส้นเอ็นไขว้หน้า (ACL repair)

การฟื้นฟูร่างกายหลังการ ผ่าตัดเอ็นไขว้หน้า

การผ่าตัดเป็นการรักษาที่สำคัญ แต่การฟื้นฟูสมรรถภาพของข้อเข่าและกล้ามเนื้อ อย่างถูกต้องเหมาะสมหลังผ่าตัด ก็มีความสำคัญและมีประโยชน์อย่างยิ่ง   ดังนี้

  • ช่วยป้องกันการกลับมาบาดเจ็บซ้ำ และลดการฉีกขาดซ้ำของเอ็นไขว้หน้า
  • ช่วยสร้างเสริมสมรรถนะ การกลับคืนมาทำงานของข้อเข่าให้ใกล้เคียงปกติได้มากที่สุด
  • ช่วยในการพัฒนาความรู้สึกของการรับรู้ตำแหน่งของข้อเข่า
  • ช่วยให้กล้ามเนื้อซึ่งมีความสำคัญ มีการทำงานอย่างสมดุลซึ่งกันและกันเพื่อลดการบาดเจ็บต่อเอ็นไขว้หน้า และอวัยวะต่างๆ ในข้อเข่า ซึ่งอาจมีการบาดเจ็บซ้ำได้  

เอ็นไขว้หน้าขาด ถ้าปล่อยไว้ไม่รักษาจะเกิดอะไรขึ้น

เมื่อเอ็นไขว้หน้าฉีกขาด ควรได้รับการักษาอย่างถูกต้องเหมาะสม เพราะหากปล่อยทิ้งไว้โดยไม่ได้รับการรักษา ในกรณีผู้ที่ได้รับบาดเจ็บมีความจำเป็นที่จะต้องใช้เข่าในการทำงานหรือประกอบอาชีพ เช่น การปีนขึ้นที่สูง หรือนักกีฬา ซึ่งต้องใช้ข้อเข่าในการวิ่งซิกแซก การวิ่งที่ต้องใช้ความเร็ว หรือการกระโดด รวมถึงในกลุ่มอาชีพที่ต้องการความสมบูรณ์ของข้อเข่า เช่น ตำรวจ ทหาร หากเกิดภาวะข้อเข่าไม่มั่นคง อาจเกิดภาวะบาดเจ็บซ้ำซ้อน หรือเป็นอันตรายต่อชีวิตได้

นอกจากนั้น กลุ่มที่มีอาการข้อเข่าหลวมจากภาวะเอ็นไขว้หน้าฉีกขาด มักเกิดภาวะข้อเข่าทรุดได้ง่ายขึ้น ซึ่งอาจทำให้เอ็นไขว้หน้าฉีกขาดเพิ่ม  หมอนรองข้อเข่าฉีกขาด หรือข้อแตกได้ ซึ่งภาวะเหล่านี้เมื่อเป็นซ้ำจะทำให้เกิดภาวะเสื่อมของข้อเข่าเร็วกว่าปกติ (post traumatic osteoarthritis) ส่งผลให้คุณภาพชีวิตลดลง

คะแนนบทความ

มีบัญชีผู้ใช้อยู่แล้ว?